[:th]CrCF Logo[:]
[:th]พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย[:]

สรุปหลักการสำคัญใน พรบ. ป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย 13 ประเด็นหลัก | Thaipost

Share

สรุปหลักการสำคัญใน พ.ร.บ. ป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายว่ามี 13 ประเด็นหลักๆ คือ

1. ให้การกระทำทรมาน การกระทำ และลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ เป็นความผิดในทางอาญา มีโทษทั้งจำ และปรับ หากผู้ถูกกระทำเสียชีวิตรับโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต ผู้บังคับบัญชาที่ทราบไม่ป้องกันหรือระงับการกระทำผิดต้องรับผิดกึ่งหนึ่ง

2. ​ไม่ให้อ้างสถานการณ์พิเศษใดๆ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นใดมาเป็นเหตุแห่งการอนุญาตให้มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ได้

3. ​การห้ามผลักดันหรือส่งกลับบุคคล หากมีเหตุให้เชื่อว่าจะถูกกระทำทรมาน กระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหายเมื่อถูกส่งกลับประเทศ

4. ​การบัญญัติให้ผู้เสียหายครอบคลุมถึง สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะ และผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย

5. ตั้งคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมาจากหน่วยงานต่างๆ โดยตำแหน่ง 11 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง 6 คน เพื่อติดตามตรวจข้อเท็จจริงการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้

6. เมื่อมีการจับกุม และควบคุมตัวบุคคล จะต้องมีการบันทึกภาพ และเสียงต่อเนื่องขณะจับกุม และระหว่างการควบคุมตัว และต้องแจ้งให้พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครองในท้องที่นั้นๆ ทราบโดยทันที

7. ​เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการควบคุมตัวบุคคล จะต้องลงบันทึกการจับกุมซึ่งเป็นข้อมูลอัตลักษณ์ตัวตนบุคคล วัน เวลา สถานที่จับ และปล่อยตัว รวมทั้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งจับกุม

8. ผู้มีส่วนได้เสีย สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ ผู้แทนหรือทนายความ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตาม พ.ร.บ. นี้ มีสิทธิเข้าถึงข้อมูล และขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวได้

9. สามีภริยา คู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ สามารถร้องศาลกรณีรับทราบข้อมูลการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว หรือถ้าไม่มีเหตุจำเป็นให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว รวมทั้งให้ได้พบญาติ ผู้ไว้วางใจ และทนายความเป็นการส่วนตัว และต้องได้รับการรักษาการฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจ

10. การกระทำให้บุคคลสูญหายก่อน พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับให้ดำเนินการสอบสวนจนกว่าจะพบผู้ถูกกระทำให้สูญหาย และทราบรายละเอียดของผู้กระทำผิด และรู้ตัวผู้กระทำผิด

11. นอกจากตำรวจแล้ว ให้ ดีเอสไอ อัยการ และฝ่ายปกครองมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวนดำเนินคดี และมีหน้าที่แจ้งสิทธิให้แก่ผู้เสียหายในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากการถูกกระทำตาม พ.ร.บ. นี้

12. ​แม้ผู้กระทำความผิดเป็นทหารกระทำผิดตาม พ.ร.บ. นี้จะต้องขึ้นศาลยุติธรรม โดยให้ศาลทุจริตประพฤติมิชอบเป็นศาลพิจารณาคดีความผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้

13. ผู้พบเห็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า และคุ้มครองผู้พบเห็น ผู้แจ้ง ผู้ร้องเรียนโดยสุจริต ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย

ไทยโพสต์ 2 พฤศจิกายน 2565

อ้างอิง https://www.facebook.com/CrCF.Thailand/photos/a.607763569270933/5561182677262306