สลายการชุมนุม ใช้อำนาจ พ.ร.ก. ฉุกเฉินโดยไม่จำเป็นเกินสัดส่วน เสี่ยงละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมหลังตำรวจควบคุมฝูงชน เข้าสลาย หมู่บ้านทะลุฟ้า สะพานชมัยมรุเชฐ
ช่วงเช้าวันที่ 28 มี.ค. 2564 เวลา 05.50 น. ณ สะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) จำนวน 4 กองร้อย ได้เข้าสลายเวทีชุมนุม หมู่บ้านทะลุฟ้า ที่ชุมนุมปักหลัก ร่วมกับ หมู่บ้านภาคี SAVE บางกลอย และ หมู่บ้านพีมูฟ มาตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2564
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า ผู้ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และประกาศผ่านเสียงตามสายให้ผู้ชุมนุมในพื้นที่เก็บข้าวของภายใน 3 นาที แต่เนื่องจากเป็นช่วงเช้าตรู่ที่ทุกคนกำลังนอนพักผ่อน ประกอบกับมีสัมภาระจำนวนมาก ทำให้การ์ดผู้ชุมนุมพยายามต่อรองเวลา โดยยืนยันว่าจะเดินทางออกจากพื้นที่แน่นอนแต่ขอเวลามากกว่านี้ แต่ตำรวจไม่ยินยอม และนำกำลังชุดตำรวจ คฝ. เข้ากระชับ และจับกุมผู้ชุมนุมทั้งหมด 68 คน
จำนวนนี้ประกอบ เยาวชน 6 คน พระสงฆ์ 2 คน และผู้สูงอายุจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ชุมนุมบางส่วนได้รับบาดเจ็บระหว่างถูกควบคุมตัวด้วย
ในจำนวนนี้ มีนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยหลายคน รวมทั้ง “พระประนมกรณ์” พระสงฆ์ที่เดินทางมาจาก อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ และเข้าร่วมขบวน เดินทะลุฟ้า จาก จ.นครราชสีมา มายังกรุงเทพฯ จำนวนระยะทาง 247.5 กิโลเมตร ในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุด คฝ. ได้เข้าจับกุมผู้ชุมนุม และนำตัวขึ้นรถตำรวจไปยัง กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภ.1) จ.ปทุมธานี
โดยผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. โรคติดต่อ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เวลา 11.00 น. ทนายความจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมทำงานด้วย ได้เดินทางไปถึง บก. ตชด. ภาค1 เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และรักษาสิทธิของผู้ถูกจับทุกคน ให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และสอดส่องการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติหน้าที่โดยเคารพหลักการสิทธิมนุษยชนสากล
ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่ได้สัดส่วน เกินความจำเป็น และแฝงไปด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองมากขึ้น เพื่อปราบปรามการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านการชุมนุมโดยสงบของประชาชน
อีกทั้งกลไกในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ ผู้พิพากษา ในคดีการเมืองลักษณะเช่นนี้มักไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน แต่กลับทำหน้าที่เพื่อธำรงรักษาอำนาจรัฐบาล พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการปราบปรามประชาชนที่ออกมาตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ และละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชน