[:th]นำคนไทยกลับประเทศ: สิทธิตามรัฐธรรมนูญ Vs. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 101world | May 4, 2020[:]

Share

[:th]

รื่องและภาพ: พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ นูรีซีกิน ยูโซ๊ะ
กฤตพร โทจันทร์: ภาพประกอบ

นับตั้งแต่มาเลเซียประกาศปิดประเทศเพราะสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 18 มีนาคม 2563 แล้วมีการผ่อนผันเปิดด่านชายแดน โดยเฉพาะจังหวัดภาคใต้ในพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย เช่น อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส, อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สะเดา จ.สงขลา, อ.ปะจัน จ.สตูล ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา เราได้ติดตามสถานการณ์ของคนไทยในประเทศมาเลเซียมาโดยตลอด ทั้งการแชท โทรศัพท์ ปรึกษาหารือหาทางนำข้อมูลส่งต่อส่วนต่างๆ หวังว่าจะช่วยแก้ไขความยากลำบาก เพื่อให้คนไทยสามารถกลับบ้านหรือกลับประเทศของตนได้ตามสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญไทย 2560 ดังที่เขียนไว้ในมาตรา 39  ว่า

“การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้ การถอนสัญชาติของบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด จะกระทำมิได้”

หลายคนอาจไม่เห็นด้วยว่า คนไทยที่มีสัญชาติไทยควรได้รับสิทธิในการเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ เลย หากพบว่าคนไทยติดเชื้อโควิดและต้องการกลับประเทศ เขาก็ย่อมจะกลับเข้ามาได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้บุคคลนั้นเข้าสู่การรักษาพยาบาลจนหายและอาจต้องเข้าสู่ระบบการกักตัวจนเชื่อได้ว่าจะไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อต่อบุคคลอื่นได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีกรณีผู้ติดเชื้อโควิดถูกปฏิเสธการเข้าประเทศ

สถานการณ์ร้อนในตอนนี้คือกรณีขอเดินทางเข้าเมืองจากประเทศที่มีความเสี่ยง เนื่องจากการแพร่กระจายของโควิดทั่วโลก ทำให้ทุกประเทศต้องการป้องกัน ขณะเดียวกันหลายประเทศก็กลายเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงด้วย การออกข้อกำหนดต่างๆ ของคนไทยที่เดินทางกลับประเทศย่อมกระทำได้ตามสมควรและต้องไม่จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญข้างต้น คือ “ห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร” ไม่ได้

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ซึ่งสิทธิตามรัฐธรรมนูญเข้าปะทะกับข้อจำกัดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการเดินทางเข้าประเทศ มีการทำงานของหลายภาคส่วนทั้งนักการทูต นักการเมือง นักกฎหมาย ฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข ภาคประชาสังคม และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงทหาร และตำรวจ เพื่อแก้ไขสภาพปัญหาที่คนไทยจากประเทศมาเลเซียไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้

แม้ทุกฝ่ายจะทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด แต่สำหรับชาวบ้านสถานการณ์ของเขาก็ยังเป็นเหมือนหนีเสือปะจระเข้

 

โควิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2547 ปีนี้นับเป็นปีที่ 16 ประชาชนทุกช่วงวัย ทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนา ทุกสาขาอาชีพเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบทางอาวุธที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 10,000 คน แทบจะทุกคนต้องมีคนรู้จักหรือญาติสนิทมิตรสหายเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความรุนแรงทางอาวุธ ไม่นับความรุนแรงที่เกิดจากโครงสร้างทางอำนาจที่กดดันให้ประชากรในพื้นที่ต้องอพยพออกนอกพื้นที่ไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าทั้งทางเศรษฐกิจหรือหลบหนีสถานการณ์วุ่นวายทางการเมือง หรือแม้แต่หลบหนีหมายจับ

การระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นความยุ่งยากซับซ้อนที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลากว่าสองเดือนที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนอย่างหนักหน่วง

donation malaysia

การแพร่ระบาดในพื้นที่เริ่มจากการเดินทางกลับของกลุ่มนักการศาสนาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงโควิดและเดินทางกลับภูมิลำเนาในพื้นที่ จนมีรายงานการพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดในพื้นที่ ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 มีผู้ป่วยติดเชื้อ(สะสม) 374 ราย ผู้ป่วยที่รักษาหาย 255 ราย และเสียชีวิต 4 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวนี้ มีเด็กและกลุ่มผู้สูงอายุติดเชื้อร่วมด้วย และปัจจุบันอยู่ในระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลตามภูมิลำเนา

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาครัฐประกาศมาตรการชั่วคราวทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินซ้ำซ้อนกับการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ การประกาศมาตรการดังกล่าวทำให้ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น การประกาศปิดตำบล การประกาศปิดหมู่บ้าน การประกาศปิดจังหวัด การประกาศปิดการสัญจรในบางเส้นทาง การกำหนดจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศมาเลเซียให้เข้ามาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้วันละ 100 คนต่อด่านชายแดน

ผลกระทบจากการประกาศมาตรการที่กะทันหันเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดที่กระจายตัวอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านรวมทั้งการประกอบอาชีพที่ยังพอสามารถทำได้ในช่วงของการแพร่ระบาดนั้นต้องหยุดไป โดยในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มดำเนินการช่วยเหลือในด้านปัจจัยยังชีพแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ

ไม่มีงาน ไม่มีเงิน เมื่อแรงงานไทยในมาเลเซียต้องกลับบ้าน
ด้านสถานการณ์แรงงานไทยในประเทศมาเลเซียกำลังมีความซับซ้อน แรงงานเหล่านี้ทำงานในร้านอาหารไทย ประเภทอาหารตามสั่งที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า ‘ร้านต้มยำกุ้ง’ ที่มีคนไทยเชื้อสายมลายูเป็นเจ้าของกิจการ นอกจากนั้นยังมีแรงงานทั้งคนไทยพุทธและไทยมุสลิมจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ และคนไทยพุทธจากภาคอื่นๆ ที่มาทำงานในภาคเกษตร เช่น ลูกเรือประมงหรือลูกจ้างในอุตสาหกรรมการประมง คนงานสวนยาง สวนปาล์ม และไร่ข้าวโพด และยังมีแรงงานจำนวนไม่น้อยทำงานในภาคบริการ เช่น งานนวด งานแม่บ้านหรือคนรับใช้

สำหรับกลุ่มแรงงานไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ไปทำงานที่มาเลเซียนั้น ส่วนใหญ่ไปทำงานในฐานะลูกจ้างรายวัน มาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเข้มงวดในมาเลเซียส่งผลให้แรงงานเหล่านี้ตกงาน เมื่อขาดรายได้ส่งกลับภูมิลำเนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวแรงงานเองก็ได้รับความลำบากจากการล็อกดาวน์ในประเทศมาเลเซีย จึงมีความพยายามแสวงหาทางกลับภูมิลำเนา โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 25 เมษายน-25 พฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดและจะมีเทศกาลรายอ อันเปรียบเหมือนเทศกาลสงกรานต์  ที่คนสามจังหวัดที่ไปทำงานในมาเลเซียมักจะกลับบ้านกัน

ข้อกำหนดการเดินทางที่กีดกันคน
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ออกประกาศ อ้างตามคำสั่งจังหวัดสตูลที่ให้มีการปิดด่านท่าเรือตำมะลังและด่านวังประจันและไม่อนุญาตให้คนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศ โดยสถานทูตยืนยันให้คนไทยในมาเลเซียอยู่ในที่พัก ไม่เดินทางไปที่ด่านชายแดน

ต่อมาวันที่ 13 เมษายน มีประกาศของสถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เรื่องการเปิดด่านในพื้นที่ติดชายแดนไทยมาเลเซียในวันที่ 18 เมษายน ว่าทางการไทยจะอำนวยความสะดวกให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศ แต่เฉพาะบุคคลที่มีเอกสารครบถ้วน คือ 1. หนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศที่ออกให้โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์หรือสถานกงสุลใหญ่ ที่ต้องมีการลงทะเบียนทางออนไลน์ 2. ใบรับรองแพทย์ ตรวจร่างกายภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเท่านั้น โดยเดินทางเข้าได้เฉพาะตามช่องทางที่กำหนดจำนวน 4 ด่าน ได้แก่ด่านสะเดา ด่านสุไหงโกลก วังประจัน และเบตง เป็นจำนวนรวมกันสูงสุดเพียงวันละ 300 คน

ปัญหาเรื่องการเข้าถึงเอกสารที่เป็นเอกสารทางการแพทย์และเอกสารลงทะเบียนออนไลน์กับทางสถานทูตดูเป็นสิ่งของหายากสำหรับคนไทยในประเทศมาเลเซีย หลายคนได้ลงทะเบียนเพื่อขอความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นอาหารและสิ่งของจำเป็น บางส่วนได้รับการช่วยเหลือจากสถานทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์โดยตรง แม้ว่าทางสถานทูตไทยจะมีการสื่อสารที่ดีและมีมาตรการช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียที่ต้องการกลับบ้านอย่างดีที่สุด รวมทั้งจัดรถบัสให้ไปส่งที่ด่านชายแดนไทย-มาเลเซียตามช่องทางที่กำหนด บางส่วนได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานเอกชนในประเทศมาเลเซีย แต่สิ่งที่ทุกคนต้องการคือการเดินทางกลับประเทศไทย

เมื่อช่องทางที่กำหนดถูกบีบให้แคบลงด้วยการจำกัดจำนวนคนไทยจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าประเทศตามด่านทางบกเป็นเพียงวันละ 300 คน การลงทะเบียนทางออนไลน์ก็ทำได้ยาก ต้องมีการตั้งกลุ่มอาสาสมัครช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตและไม่สามารถกรอกข้อมูลได้ เว็บไซต์ของสถานทูตก็ล่มบ่อยครั้ง

อาสาสมัครที่ช่วยเหลือในการลงทะเบียนให้ข้อมูลว่า “ระบบจะเปิดเที่ยงคืนของทุกวัน แต่ก็ลงทะเบียนไม่ได้ทุกคืน มีคนมาฝากให้ลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ต้องรอให้ส่งรหัสหกหลักมาให้ บางครั้งลงทะเบียนเสร็จไม่ได้รับรหัส ก็ต้องลงทะเบียนใหม่”

นอกจากนี้การล็อกดาวน์ทำให้ไม่สามารถหารถโดยสารเดินทางกลับได้ คนที่อยากกลับบ้านต้องเหมารถด้วยเงินเก็บที่เหลือน้อยลงทุกวัน บางคนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับเป็นจำนวนมากขึ้นจากก่อนสถานการณ์โควิดถึงสิบเท่า

บันทึกการเปิดด่าน: นายหน้า ค่าปรับ และดีเอ็นเอ
จากการสัมภาษณ์นายเอ (นามสมมุติ) อายุ 26 ปี ชาว อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส แรงงานร้านอาหารตามสั่ง (ร้านต้มยำ) เมืองแบนติง รัฐสลังงอร์ เขาเล่าว่านายหน้าคนหนึ่งชื่อ ‘แบยุ’ ได้แนะนำช่องทางออกจากมาเลเซียให้ โดยอ้างว่ามีหนังสือจากสถานทูตไทยให้มารับคนไทยในมาเลเซียกลับบ้านผ่านด่านโกลก แต่ขอค่าใช้จ่ายสำหรับเดินทางกลับ 500 ริงกิต หลังจากตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับเดินทางและนัดวันเวลาที่รถบัสจะมารับในวันที่ 18 เมษายน ระหว่างทางนายหน้าทั้งสองขอเงินเพิ่มโดยอ้างว่ามีเหตุจำเป็นต้องจ่ายไปอีก 100 ริงกิต (750 บาท)

เช่นเดียวกับนายบี (นามสมมุติ) อายุ 29 ปี มีบ้านอยู่ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ทำงานอยู่ในอีกเมืองหนึ่งในรัฐสลังงอร์ เล่าว่าเขาก็ได้รับข่าวจากเพื่อนๆ ที่ใกล้ชิดว่ามีคนรับเรื่องจะพากลับบ้านโดยแลกกับเงินค่าใช้จ่ายบางส่วน ขณะนั้นนายบีมีเงินเพียง 400 ริงกิต (2,800 บาท) เท่านั้น เพราะไม่ได้ทำงานมาตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม เมื่อทราบว่าจะมีคนสามารถพากลับบ้านได้ นายบีจึงไม่รอช้ารีบตอบรับข้อเสนอของแบยุ นายหน้าคนเดียวกันนี้ โดยเขาจ่าย 400 ริงกิต (2,800 บาท) ค่าเดินทางที่แต่ละคนโดนเรียกเก็บนั้นไม่เท่ากัน เช่นที่นายบีทราบมาว่ามีแม่ลูกคู่หนึ่งต้องจ่ายถึง 2,000 ริงกิต (14,000 บาท) โดยไม่ทราบเหตุผล และได้นั่งรถบัสคันเดียวกันใช้เวลาเดินทางกว่า 20 ชั่วโมง โดยมีการแวะรับระหว่างทางจนมีผู้เดินทางกลับในรอบเดียวกันทั้งสิ้น 72 คน

เมื่อมีการจำกัดจำนวนคนเข้าด่านตามช่องทางที่กำหนด ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสุไหงโกลกมีโควตารับผู้เดินทางกลับจากมาเลเซียเพียงวันละ 100 คนเท่านั้น แต่ผู้เดินทางมาในวันที่ 19 เมษายนมีมากกว่า 200 คนทำให้ต้องจำยอมรับผ่านด่านทั้งหมด โดยแรงงานที่ไม่มีใบรับรองแพทย์และหนังสือจากสถานทูต และอยู่ในประเทศมาเลเซียเกินกำหนดหรือพาสปอร์ตขาดอายุ จะต้องจ่ายค่าปรับ 800 บาท บางคนต้องหยิบยืมเงินจากเพื่อนๆ เพื่อจ่ายค่าปรับ พร้อมกับต้องตรวจดีเอ็นเอโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทุกคนที่ข้ามด่านในวันนั้นไม่มีใครทราบเหตุผลว่าทำไมต้องตรวจดีเอ็นเอและไม่มีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะตรวจ มีเพียงให้รีบเซ็นเอกสารโดยไม่ให้อ่าน ผู้ข้ามด่านทั้งหมดเข้าใจว่าการตรวจดีเอ็นเอเป็นกระบวนการหนึ่งของการข้ามด่าน เพราะมีการตั้งโต๊ะไว้ข้างๆ จุดจ่ายค่าปรับ หลังผ่านกระบวนการแล้วแรงงานทั้งหมดต้องเข้าสู่การกักตัว 14 วันตามภูมิลำเนาของตัวเอง

ระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์
เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นายแพทย์กิ๊ฟลัน ดอเลาะ ประธานสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข จึงได้จัดให้มีคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อร่วมกันช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.) โดยมีตัวแทนภาคประชาสังคมและบุคลากรด้านต่างๆ จำนวนรวม 11 คน

ในวันที่ประชุมกันครั้งแรก (30 มี.ค.) ตูแวดานียา มือรีงิง ประธานกรรมการ คฉ.จม. ได้เปิดเผยว่า คาดว่าก่อนหน้านี้มีแรงงานไทยในมาเลเซียจำนวนกว่า 50,000 คนที่ได้กลับบ้าน ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนใต้ และยังมีที่ตกค้างอยู่ในมาเลเซียอาจถึง 10,000 คน โดยมีผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับทางสถานทูตไทยจำนวนประมาณ 6,000 คน ที่เหลือยังกระจัดกระจาย

ข้อเสนอของ คฉ.จม. ที่มีมาตลอดหนึ่งเดือนเต็มผ่านช่องทางต่างๆ ดูเหมือนว่ายังไม่มีการตอบสนอง คือ การเปิดด่านติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์ พร้อมยกเลิกประกาศของสถานทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่กำหนดว่าทุกคนต้องมีใบรับรองแพทย์ fit to travel และต้องไม่จำกัดจำนวนคนเข้าเมืองในแต่ละวัน รวมทั้งไม่ต้องผูกโยงกับเงื่อนไขการลงทะเบียนออนไลน์ (ลงทะเบียนเพื่อกำหนดวันที่และด่านที่ต้องการเดินทางเข้า ก่อนการขอใบรับรองแพทย์ที่ต้องมีอายุ 72 ชั่วโมง) เอกสารเหล่านี้แทบจะเป็นทองซึ่งหาได้ยากมาก

ทุกคนทราบเป็นอย่างดีว่าการจะดำเนินการให้คนไทยในประเทศมาเลเซียได้กลับบ้านนั้น หมายถึงความพร้อมของงานด้านสาธารณสุขภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งการรักษา การกักตัว ทั้งของรัฐส่วนกลางและของหน่วยงานท้องถิ่น หรือชุมชนภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงมหาดไทย

หากหน่วยงานในพื้นที่มีความพร้อมทั้งทางสาธารณสุขและหน่วยงานด้านการควบคุมโรค การไม่ยกเลิกระเบียบที่เกิดขึ้นจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในความเป็นจริง เท่ากับว่าเรายังคงผลักให้คนไทยหลายคนต้องแสวงหาหนทางกลับประเทศไทยเองอย่างมืดมน รวมถึงเด็ก สตรี คนชรา ผู้ยากไร้ขาดรายได้นับเดือนในประเทศมาเลเซียต้องดั้นด้นเดินทางเข้ามาตามด่านทางธรรมชาติ เสี่ยงต่อการเล็ดลอดจากการตรวจตราของฝ่ายความมั่นคงและตกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ผ่านการคัดกรองและการป้องกันโรค

การตัดสินใจทางนโยบายในการยกเลิกระเบียบตามอำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉินเรื่อง fit to travel น่าจะเป็นแนวทางที่เร่งดำเนินการได้โดยเร็ว และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญของไทย

[:]

TAG

RELATED ARTICLES

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading