[:th]CrCF Logo[:]
[:th]พิพากษาคดีอดีต ผกก. โจ้[:]

ร่วมติดตาม ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีอดีต ผกก. โจ้ ถุงดำ 8 มิ.ย. 2565

Share

ใบแจ้งข่าว ร่วมติดตาม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีอดีต ผกก. โจ้ ถุงดำ วันพรุ่งนี้ 8 มิ.ย. 65

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 เวลา 09.30 น. ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง (ศาล อท.) กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีอัยการยื่นฟ้อง พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ อดีต ผกก.โจ้ สภ. เมืองนครสวรรค์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 7 นาย จากเหตุใช้ถุงพลาสติกสีดำคลุมศีรษะนายจิระพงษ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติด จนเสียชีวิตในการควบคุมตัวเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 โดยมีหลักฐานกล้องวงจรปิดจับภาพช่วงเวลาก่อเหตุไว้ได้เกือบตลอดขั้นตอนการบังคับขู่เข็ญจนเสียชีวิต

“อดีต ผกก. โจ้” และเจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 7 นาย ถูกดำเนินคดี 4 ข้อหา คือ เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง หรือหน้าที่โดยมิชอบ, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน หรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย และร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่น โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157, 288, 289 (5), 309 วรรค 2 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4, 127

การสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งหมดรวม 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 -20 กุมภาพันธ์ วันที่ 5-6 และ 12-13 มีนาคม 2565 ในระบบไต่สวนของศาลทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง  โดยทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ทำหนังสือขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดี แต่ไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่คดีนี้ศาลไม่ได้สั่งให้เป็นการ “พิจารณาลับ” ตามมาตรา 177 ของ ป. วิอาญาฯ นอกจากนี้ยังเป็นคดีที่สาธารณะชนให้ความสนใจ และเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ผิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิในชีวิตอย่างร้ายแรง ทำให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ดีทางมูลนิธิฯ ได้รับอนุญาตให้เข้ารับฟังการอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในวันพรุ่งนี้ 8 มิถุนายน 2565

“การนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้เป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งอาจเป็นมาตรฐานของรัฐในการนำคนผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว และให้ได้รับการลงโทษอย่างเหมาะสมกับความร้ายแรงของความผิด ลดสภาวะของสังคมไทยที่มักมีการปล่อยให้คนผิดลอยนวลพ้นผิดเหมือนดังกรณีอื่น ๆ ในอดีต รวมทั้งน่าตั้งคำถามว่าจะมีการเยียวยาผู้เสียหายและญาติอย่างเหมาะสมหรือไม่” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรรม

ทั้งนี้ การพิจารณาคดีอดีต ผกก.โจ้ เป็นการพิจารณาคดีซ้อมทรมานภายใต้ ป. วิอาญาฯ ขณะที่กฎหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการป้องปรามกรณีเช่นนี้โดยตรง คือ (ร่าง) พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…… ยังคงค้างการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา

การพิจารณาเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ. นี้โดยสว.จะยังไม่เสร็จในเร็ววัน ทั้งคาดว่าวุฒิสภาอาจมีการแก้ประเด็นสำคัญๆ หลายประการ โดยประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เช่น เรื่องหลักการห้ามทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นเรื่องต้องห้ามโดยเด็ดขาด (Absolutely prohibited), หลักการห้ามส่งผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตราย (Non-refoulement), การให้เจ้าหน้าที่ที่จับ และควบคุมตัวบุคคลแจ้งหน่วยงานอื่นด้วย (Cross Authorities)

การให้เจ้าหน้าที่ติดกล้องบันทึกภาพและเสียงติดตามตัว (Body Camara) ในขณะปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะเกี่ยวกับการค้นและการจับกุม, การให้หลายหน่วยงานมีอำนาจสืบสวนสอบสวน, ความผิดฐานปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม และการกำหนดให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาคดีที่เจ้าหน้าที่ทหารกระทำผิดฐานทรมานและกระทำให้สูญหายต่อบุคคลที่เป็นพลเรือน เป็นต้น

หากหลักการสำคัญๆ ดังกล่าวถูกแก้ไขหรือบิดเบือนไปจากร่างที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับรองไว้โดยมติเอกฉันท์แล้ว จะทำให้ พ.ร.บ. นี้ แม้ว่าจะผ่านออกมาบังคับใช้ก็จะไม่สามารถป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม และการกระทำให้บุคคลสูญหายได้จริงดังชื่อและเจตนารมณ์

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนติดตามคำพิพากษาคดีอดีต ผกก. โจ้ และพวก ที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ 8 มิถุนายน 2565 อย่างใกล้ชิด และร่วมกันติดตาม และเร่งรัดให้วุฒิสภาผ่านร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. เป็นกฎหมายโดยเร็ว โดยไม่มีการแก้ไขหลักการสำคัญที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับรองไว้แล้ว เพื่อไม่ให้มีเจ้าหน้าที่ที่กระทำทรมานหรือบังคับบุคคลให้สูญหายลอยนวลพ้นผิดอีกต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  0659793836

RELATED ARTICLES