นักศึกษา ปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มมส.) จัดทำบทความวารสารสังคม “การบังคับให้สูญหายโดยรัฐกรณีของประเทศไทย ปี 2530 – 2560”
เป็นที่ทราบกันดีว่า การบังคับให้บุคคลสูญหายไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเท่านั้น แต่ยังถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงในหลายประเทศอีกด้วย โดยมติที่ประชุมระหว่างประเทศ และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ (CED) ภายใต้ องค์กรสหประชาชาติ (UN) ต่างมีรายละเอียดพ้องต้องกันว่า การกระทำให้บุคคลสูญหายถือเป็นอาชญากรรมขั้นร้ายแรง และจำเป็นจะต้องถูกบัญญัติเป็นกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้อาชญากรรมเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
แต่จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยก็ยังไม่ได้มีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อให้ความผิดทั้งสองข้อหานี้เป็นความผิดอาญาที่ต้องนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แม้ว่ากฎหมายอนุวัติการฉบับดังกล่าวนี้ จะมิมติรับหลักการ และมีคำสั่งให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา แต่กระบวนการพิจารณากฎหมายรายมาตราที่ล่าช้าทำให้มีข้อกังวลอย่างมากว่า กรณีการทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายอาจยังสามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างนี้
โดยบทความ “การบังคับให้สูญหายโดยรัฐกรณีของประเทศไทย ปี 2530-2560” เป็นบทความวิจัยจากวารสารสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โดย รัฐศาสตร์ มูลมาตร นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการเมืองการปกครอง จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และณัฐกานต์ อัครพงศ์พิศักดิ์ อาจารย์ที่ปรึกษา จะมานำเสนอผลจากการศึกษาวิจัยกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยรัฐในประเทศไทย ระยะเวลาปี 2530-2560
การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ถูกแบ่งเงื่อนไขออกเป็น 2 ประการ ดังนี้
1. สาเหตุของการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขด้านบุคคลพบว่า การที่บุคคลเป็นแกนนําในการเคลื่อนไหวทางการเมือง การมีความคิดเห็นต่างทางการเมือง และการออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ และฟ้องร้องดําเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งหมดส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกว่าเป็นภัยต่อตนเอง และอาจสูญเสียความชอบธรรมในระยะยาว เป็นเหตุให้นําไปสู่การบังคับให้บุคคลสูญหาย
2. สาเหตุของการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขด้านโครงสร้าง ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประการ ได้แก่
2.1. โครงสร้างทางกฎหมายที่มีช่องว่างเอื้อให้เกิดการบังคับให้บุคคลสูญหาย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการบังคับให้สูญหาย ส่งผลให้ยังไม่สามารถนําตัวผู้กระทําความผิดในข้อหาดังกล่าวมาลงโทษได้ นี่จึงเป็นช่องโหว่ที่เอื้อให้เกิดการบังคับให้บุคคลสูญหาย นอกจากยังไม่มีกฎหมายแล้วยังพบอีกว่า ในบางประเทศที่มีกฎหมายบางจำพวกที่เอื้ออํานาจให้เจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมควบคุมตัวในสถานที่ ซึ่งมิใช่สถานีตํารวจ เรือนจํา หรือสถานที่คุมขัง ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า การควบคุมตัวนั้นจะไม่มีการใช้กําลัง การทารุณ หรือการซ้อมทรมานเกิดขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งคํารับสารภาพ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เอื้อให้เกิดความชอบธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในการกระทํา ความผิด
2.2. โครงสร้างเชิงวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดการลอยนวลพ้นผิด ประชาชนในสังคมไทยกลับเกิดความเคยชินต่อการที่รัฐใช้ความรุนแรง จนเผลอมองเป็นเรื่องปกติที่ผู้กระทําความผิดไม่ต้องได้รับการลงโทษ ประชาชนในสังคมเกิดความด้านชาต่อความรุนแรงโดยรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐเองมักอ้างว่าการกระทําเป็นเรื่องของความมั่นคง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ทําให้ผู้กระทําความผิดยังคงลอยนวลไม่ต้องรับผิด วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดจึงเป็นวัฒนธรรมที่คอยโอบอุ้มให้การบังคับให้บุคคลสูญหายยังคงเกิดขึ้นและดํารงอยู่ในสังคมไทย
ข้อเสนอแนะทั่วไป
(1) ขั้นตอนการปล่อยตัวควรจัดทําบันทึก และแจ้งให้ญาติ ครอบครัว หรือผู้นําชุมชนทราบทุกครั้งก่อนที่จะมีการปล่อยตัว เพื่อเป็นพยานในการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว ป้องกันการนําไปสู่ช่องทางของการบังคับให้สูญหาย
(2) ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นเรื่องของความโหดร้าย เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทําต่อพลเมืองในรัฐ ควรมีการรณรงค์สร้างแนวร่วมในสังคมเผยแพร่ความจริงถึงการบังคับให้สูญหายนั้นเป็นอาชญากรรมโดยรัฐที่แท้จริง เพื่อกระตุ้นให้พลเมืองตระหนักว่า ความรุนแรงโดยรัฐเป็นสิ่งที่ผิด มิใช่เรื่องของภัยต่อความมั่นคงอย่างที่รัฐกล่าวอ้าง
สามารถอ่านรายละเอียดบทความ
“การบังคับให้สูญหายโดยรัฐกรณีของประเทศไทย ปี 2530-2560” ฉบับเต็มได้ที่นี่