[:th]CrCF Logo[:]
[:th]Powerful Simplicity[:]

Powerful Simplicity ความเรียบง่ายที่ไม่เคยธรรมดาของเหยื่ออยุติธรรมในหนังสือ เมื่อผมถูกทรมาน… ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม

Share

เขียนโดย ณฐพร ส่งสวัสดิ์ อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่นที่ 16

“…พ.ต.ต. หนุ่ม เอาถุงพลาสติกมาครอบหัวผม และรวบปากถุงบริเวณต้นคอเพื่อให้ผมหายใจไม่ออก ผมจึงพยายามดิ้นและกัดถุงพลาสติกที่ครอบศีรษะออกเพื่อให้มีอากาศหายใจ เมื่อเห็นเช่นนั้น พ.ต.ต. หนุ่ม จึงได้เอาถุงพลาสติกที่ครอบหัวผมออก พร้อมกับถามด้วยประโยคเดิมว่า

“มึงจะรับสารภาพได้รึยัง” (อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ, 2564, หน้า 12)

คำบอกเล่าที่เรียบง่าย แต่กลับเต็มไปด้วยเนื้อหาที่โหดร้าย และคุ้นหูคนไทยอย่างไม่น่าให้อภัยนี้ คัดมาจากเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งของบันทึกเส้นทางการต่อสู้ของครอบครัวชื่นจิตร ในหนังสือเรื่อง “เมื่อผมถูกทรมาน… ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม” ซึ่งคุณ อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารของ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เรียบเรียงขึ้นจากถ้อยความของเหยื่อและผู้เกี่ยวข้องในขบวนต่อสู้ รวมถึงข้อเท็จจริงในคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมทรมานนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เด็ก ม.6 ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของตนเองมาเป็นเวลานานกว่า 12 ปีแล้ว

ในแวบแรกที่ได้เห็น บทบรรยายเหตุการณ์ และชื่อเรื่องของหนังสือเล่มนี้คงดูซื่อๆ ทื่อๆ และถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมาเสียจนน่าประหลาดใจ แต่หากได้ดำดิ่งลงไปกับหนังสือเล่มนี้แล้ว จะได้พบว่า สิ่งเหล่านี้แทบจะเป็นสิ่งเดียวที่คุณอยากจะยึดเหนี่ยวเอาไว้ในความเรียบง่ายไร้เล่ห์เหลี่ยม และสมเหตุสมผลของมัน ท่ามกลางความบิดเบี้ยวไร้ก้นบึ้งของกระบวนการยุติธรรมที่ผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐไทยบางคนกระทำย่ำยีต้องเผชิญ

จนกลายเป็นว่า ชื่อเรื่อง และบทบรรยายที่ซื่อตรงจนเกือบจะดูแห้งแล้งในตอนแรก กลับเป็นเสมือนการประกาศกร้าวอย่างทรงพลังของภาคประชาชน ว่าจะต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมไทยอันคดงอที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา สง่าผ่าเผย เเละบริสุทธิ์ยุติธรรมตามกรอบระเบียบของกฎหมาย เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนชาวไทยทุกคนไม่ควรถูกละเมิดตั้งแต่แรก ดังที่ครอบครัวชื่นจิตรได้พยายามกระทำมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ

หนังสือเล่มนี้แบ่งเรื่องราวออกเป็น 7 บท โดยเริ่มเล่าตั้งแต่ภูมิหลังของเด็ก ม.6 ทั่วๆ ไปอย่าง ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร หรือ “พี่ช็อป” ก่อนจะเล่าถึงเรื่องราวในวันก่อนหน้าที่พี่ช็อปจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมทรมาน เหตุการณ์อย่างละเอียดในวันที่เกิดเหตุ ครอบครัวชื่นจิตรที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจมืด และพยายามฝ่าฟันความยากลำบากต่างๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไปพร้อมๆ กับพยายามรักษา และฟื้นคืนชีวิตครอบครัวอันปกติสุข ไปจนถึงการถ่ายทอดผลการตัดสินคดีของศาล

ที่เชื่อแน่ว่าจะทำให้ผู้อ่านทุกท่านตกตะลึง สับสน และรู้สึกรบกวนจิตใจไปในคราวเดียวกัน

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ คือวิธีการเปิดเปลือยให้เห็นถึงช่องโหว่อันดำมืด และความลักลั่นย้อนแย้งของกระบวนการยุติธรรมไทย รวมถึงผู้ที่เรียกตนเองว่า “ผู้บังคับใช้กฎหมาย” ที่ไม่เพียงนำเสนอผ่านพฤติการณ์ที่หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่รัฐบางภาคส่วนพยายามขัดขวาง ข่มขู่ ไกล่เกลี่ย หรือแม้กระทั่งฟ้องกลับ ไม่ให้เหยื่อความรุนแรงที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และได้รับการตัดสินอย่างเป็นธรรมเท่านั้น

แต่ยังได้นำเสนอผ่านการเลือกใช้คำ และกระบวนการเรียบเรียงเรื่องราว ที่เล่าเรื่องจากมุมมองของผู้ถูกกระทำโดยใช้ภาษาเข้าใจง่าย เปิดเผย และตรงไปตรงมา ปะทะกับการถ่ายทอดคำที่ออกมาจากฝ่ายรัฐ ซึ่งเต็มไปด้วยคำพูดที่สละสลวยสวยหรู แต่ไร้ซึ่งความหมายตามตัวอักษร ดังที่ สมศักดิ์ ชื่นจิตร คุณพ่อของพี่ช็อปซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อสู้ได้ถ่ายทอดข้อสังเกตของตนไว้ในตอนหนึ่งว่า

“รอง ผบ.ตร. (ขณะนั้น) ได้รับฟังปัญหาของลูกชายผม และมีท่าทีที่เห็นใจ พร้อมทั้งกล่าวแก่ผม และลูกชายว่า จะดำเนินการสอบสวนและทำให้ครอบครัวของผมได้รับความยุติธรรมตามกระบวนการขั้นตอนให้ได้

[…] ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้จักกับคำว่า “ตามกระบวนการขั้นตอน” มากพอนัก

ว่ามันอาจหมายถึง กระบวนการแบ่งรับแบ่งสู้เพื่อรอให้กระแสข่าวและความสนใจของสังคมซาลง เพื่อจะได้ไม่ดำเนินการอันใดต่อ ราวกับไม่เคยมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น” (หน้า 54,56)

และที่ร้ายแรงไปกว่านั้น ผู้ใช้อำนาจรัฐยังใช้ “เสียง” และอำนาจในการตัดสิน มาทำให้เกิดความรู้สึกว่า ความหมายของถ้อยความที่เหยื่อส่งเสียงออกมาเพื่อร้องเรียนความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นได้ถูกลดทอนลงไป

ดังข้อความตอนหนึ่งในหนังสือที่คัดมาจากคำพิพากษาของศาลอุธรณ์ภาค 2 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดของคดีที่ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ที่ซ้อมทรมานตน ความว่า “เมื่อพิจารณาร่องรอยบาดแผลที่โจทก์ได้รับคงเป็นเพียงรอยช้ำแดง ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจให้ความเห็นว่าใช้เวลารักษา 3 วัน” (หน้า 138)

อันเป็นการให้ความหมายที่ทำให้รู้สึกว่า ได้ลดทอนความทุกข์ทรมานเฉียดตายจากการถูกถุงพลาสติกครอบศีรษะ จนหายใจไม่ออกของพี่ช็อปอย่างเกินจะรับได้ที่สุด สำหรับทั้งครอบครัวชื่นจิตร และผู้อ่านที่ได้ติดตามเรื่องราวมาโดยตลอด ด้วยคำว่า “ร่องรอยบาดแผล…เป็นเพียงรอยช้ำแดง” ทั้งๆ ที่ “ร่องรอยบาดแผล” ที่ผู้ตัดสินตีความว่าเป็นร่องรอยอันเล็กน้อยไร้น้ำหนักนี้ ได้ฝากแผลฉกรรจ์ที่ไม่มีวันรักษาหายไว้กับพี่ช็อป และครอบครัวชื่นจิตร แม้ไม่ใช่โดยทางกาย แต่ก็เป็นทางใจ

อีกทั้งเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงความทุกข์ทรมานอื่นๆ ที่เหยื่อได้รับ ทั้งความเครียดของครอบครัว ผลกระทบอย่างร้ายแรงของการซ้อมทรมานถึงขั้นเป็นโรคทางจิตเวชของพี่ช็อป อันเป็นสิ่งที่ทำลายความฝัน ทำลายชีวิตมาตลอด 12 ปีของการต่อสู้  

และที่สำคัญที่สุดคือเป็นหลักฐานถึงความบูดเบี้ยว และผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่รัฐหลายองค์กรในประเทศนี้ ที่อ่านแล้วทำให้รู้สึกว่า ได้ทรยศหักหลัง ใช้กำลังทำร้ายประชาชนที่เป็นผู้มอบอำนาจให้กับพวกเขาเสียเอง การเลือกใช้คำ และวิธีการเรียบเรียงเรื่องราวดังนี้

จึงเผยให้เห็นโฉมหน้าที่ซุกซ่อนในมุมมืดของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ประดิษฐ์ถ้อยคำสวยหรูให้กับความว่างเปล่า และใช้อำนาจที่มีมอบความว่างเปล่าให้กับถ้อยคำที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยความทุกข์ของเหยื่อ กลบฝัง “ความจริง” ที่เหยื่อพยายามสื่อสารอย่างยากลำบากออกสู่สังคม

นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังเปี่ยมไปด้วย “ชีวิต” ดังที่พ่อสมศักดิ์ได้กล่าวไว้ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “เมื่อผมถูกทรมาน… ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม” เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา ด้วยการเลือกเล่ารายละเอียดแสนธรรมดาในการใช้ชีวิตประจำวันของพี่ช็อป และครอบครัวชื่นจิตรที่แทบไม่ต่างจากครอบครัวทั่วๆ ไป คู่ขนานไปกับเรื่องราวการต่อสู้กับอำนาจรัฐของพวกเขา

ซึ่งอาจจะฟังดูห่างไกล เกินจินตนาการ และเหลือที่จะเชื่อได้ลงสำหรับผู้คนอีกมากในสังคม อันเป็นวิธีการเรียบเรียงที่ชี้ชัดให้ผู้อ่านเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างตนเองที่เป็นประชาชนทั่วไป กับครอบครัวชื่นจิตรที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในรัฐไทย เพราะขณะที่ได้รับรู้เหตุการณ์แสนธรรมดาที่เกิดขึ้นในครอบครัวชื่นจิตร

อย่างการไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ ในงานเลี้ยงรุ่น โดดเรียนไปดูหนังกับเพื่อน การได้เจอกับคนพิเศษโดยบังเอิญ และคุยกันผ่านแชทจนพัฒนาความสัมพันธ์กลายเป็นคนรัก การได้ยินดีกับหลานที่ลืมตาขึ้นมาดูโลก หรือการค้นพบความหลงใหลในการถ่ายภาพ ผู้อ่านคงเกิดความรู้สึกหวนนึกถึงความหลังของตนเองที่เคยผ่านประสบการณ์คล้ายคลึงกันมาก่อน และได้เกิด “ประสบการณ์ร่วม” และ “ความรู้สึกร่วม” บางอย่างไปในขณะที่อ่าน

ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ยังคงอ่านเรื่องราวการต่อสู้อันน่าสลดหดหู่ของครอบครัวชื่นจิตรต่อไปได้โดยไม่รู้สึกสิ้นหวังมากนัก ก็ยังช่วยให้ผู้อ่านได้ค่อยๆ ตระหนักอย่างช้าๆ และค่อยๆ ทำใจว่า เรื่องราวมืดดำเหลือจินตนาการที่ถูกถ่ายทอดออกมาในหนังสือเล่มนี้ ก็เป็น “ความจริง” อันยากที่จะปฏิเสธ พอๆ กับความจริงแท้และปฏิเสธไม่ได้ของประสบการณ์ร่วมเหล่านั้นที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปกับมนุษย์เดินดินธรรมดาอย่างเราๆ

การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างครอบครัวชื่นจิตร และผู้อ่าน รวมถึงการช่วยให้ผู้อ่านได้ลองมีประสบการณ์ร่วมราวกับได้ยืนอยู่ในจุดเดียวกับผู้ถูกกระทำ ยังได้กระทำในหนังสือเล่มนี้ผ่านการเลือกบรรยายเรื่องราวผ่านมุมมองที่หลากหลายของหลายคน ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการต่อสู้ ซึ่งมีทั้งมุมมองของพี่ช็อป พ่อสมศักดิ์ คุณ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมุมมองของแม่ภัทราพรรณ ชื่นจิตร และคุณปุ๊ก ภรรยาของพี่ช็อป ซึ่งนำเสนอมุมมอง และบทบาทของผู้หญิงที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ในโลกของการต่อสู้ทางกฎหมาย ที่ในหลายๆ กรณีก็ถูกลบเลือน และไม่ถูกหยิบขึ้นมานำเสนออย่างน่าเสียดาย การนำเสนอเรื่องราวเดียวกันผ่านมุมมองที่หลากหลายจึงทำให้เราได้เห็นความคิด ความรู้สึก ของผู้ถูกกระทำที่ ไม่ได้มีบทบาทแค่เป็น “เหยื่อ” ของการซ้อมทรมาน และเป็น “ผู้ต่อสู้” ในกระบวนการยุติธรรม แต่ยังเป็นพ่อที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนในครอบครัวเป็นสำคัญ เป็นแม่ที่ต้องแบกรับธุรกิจของครอบครัว และหารายได้แทนพ่อที่กระโดดเข้าไปต่อสู้เพื่อลูกชาย และยังเป็นลูกของพ่อแม่ที่ห่วงใย

เป็นปู่ย่าของหลานที่เพิ่งลืมตาดูโลก หรือเป็นภรรยาที่คอยใส่ใจสามีที่แบกรับความทุกข์ และทรมานกับโรคทางจิตเวชมาเป็นเวลาหลายปี การตีแผ่ให้เห็นบทบาทอื่นๆ ที่เหยื่อยังต้องรับผิดชอบในชีวิตนอกเหนือไปจากการเรียกร้องความเป็นธรรม ในแง่หนึ่งจึงช่วยตอบคำถามที่มักเกิดขึ้นในสังคมไทยต่อกรณีเหล่านี้ เช่น “เรื่องเกิดตั้งนานแล้วทำไมถึงเพิ่งออกมาพูด” ด้วยการทำให้เห็นว่า บางครั้ง ในฐานะพ่อ แม่ ลูก หรือภรรยา ก็มีสิ่งอื่นในชีวิตที่พวกเขาอยากจะปกป้องรักษาไว้ และอาจจะสำคัญยิ่งกว่าการได้รับความยุติธรรมเสียด้วยซ้ำ

จึงหวังว่าหลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เราในฐานะคนทั่วไป จะมีความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจเส้นทางที่เหยื่อเลือกเดินมากขึ้น ไม่ทอดทิ้งเหยื่อด้วยการผลักให้พวกเขาไปต่อสู้ในสังเวียนที่มืดมนเพียงลำพัง แต่เลือกที่จะเดินเคียงข้างพวกเขาในทุกการตัดสินใจ เมื่อเราได้ตระหนักจากเรื่องราวที่ครอบครัวชื่นจิตรถ่ายทอดออกมาแล้วว่า เหยื่อความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐกำลังต่อสู้บนความเสี่ยงที่จะเสียอะไรที่เหลือในชีวิตไปบ้าง

สุดท้ายแล้ว หลังจากได้อ่านจนจบ หนังสือที่เริ่มต้นด้วยฉากหน้าแสนเรียบง่ายธรรมดา และอ่านเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็นเล่มนี้ กลับทิ้งแก่นสาร และความรู้สึกที่ไม่ธรรมดาไว้ในใจของผู้อ่าน ด้วยเรื่องราวที่ไม่ธรรมดาและไม่มีวันที่ควรจะถูกมองเป็น “เรื่องธรรมดา” ในสังคมไทย และพัฒนาการในเรื่องราวของหนังสือ ที่ขยายใหญ่ขึ้นจากเรื่องเล่าของการต่อสู้และความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนๆ เดียว เป็นการถ่ายทอดความเจ็บปวดของครอบครัว และคนใกล้ชิด

การตีแผ่ต้นธาร ไปจนถึงปลายธารของกระบวนการยุติธรรมไทยที่อาจไม่ได้ใสสะอาดต่อเหยื่อที่ถูกกระทำโดยรัฐ ดังที่ใครหลายคนเคยเข้าใจ และขบวนต่อสู้ที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ของภาคประชาชน จนเปลี่ยนการต่อสู้อันโดดเดี่ยวสิ้นหวัง เป็นการต่อสู้ที่มีพลังจนผลักดันให้เกิดการยอมรับผ่านกระบวนการยุติธรรมว่าเจ้าหน้าที่มีความผิดจริง แม้ว่าบทลงโทษที่ผู้กระทำได้รับ จะไม่สมน้ำสมเนื้อกับอาชญากรรมที่กระทำต่อประชาชนคนไทยทั้งชาติเอาเสียเลยก็ตาม

หนังสือเรื่อง “เมื่อผมถูกทรมาน… ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม” ในแง่หนึ่งจึงเป็นการย้ำเตือนถึงความสำคัญในการผนึกกำลังกันของภาคประชาชนในการยืนยันหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อาทิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักสิทธิเสรีภาพของตนที่มีเหนืออำนาจรัฐ และสร้างบรรทัดฐานใหม่เพื่อไม่ให้มีเหยื่อรายต่อไป

ซึ่งอาจเป็นตัวเราเอง ที่ต้องทุกข์ทรมานกับการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐไทย รวมทั้งเป็นเครื่องเตือนใจในทุกครั้งที่เราเริ่มจะชินชากับความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อเราว่า เรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยเป็นเรื่องธรรมดา ดังที่เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เป็นถ้อยคำที่ดูธรรมดา แต่กลับเป็นเสียงและลมหายใจที่เปล่งออกมาอย่างลำบากยากเย็น ผ่านรูเล็ก ๆ ที่ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ดิ้นรนกัดฉีกหลายต่อหลายครั้งบนถุงดำกว่า 4 ใบ ที่ครอบศีรษะของเขา เพื่อแลกอากาศหายใจ และรอดชีวิตมาบอกเล่าความฟอนเฟะเน่าเหม็นที่รัฐปกปิดเอาไว้ภายใต้ถุงดำ ซึ่งช่วงชิงชีวิตของประชาชนไทยไปแล้วมากมาย และยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง

RELATED ARTICLES