[:th]CrCF Logo[:]

บันทึกสรุปงานเปิดตัวหนังสือ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” และงานเสวนา: ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน กับการขึ้นทะเบียนแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

Share

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับ  “ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร” และ “สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์-มหาวิทยาลัย” ได้ร่วมมือกันดำเนินการจัดกิจกรรม”งานเปิดตัวหนังสือ : ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และงานเสวนาวิชาการ : ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน กับการขึ้นทะเบียนแก่งกระจานเป็นมรดกโลก” เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องนี้ และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงพันธกรณีและหน้าที่ของรัฐไทยในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง โดยใช้กรณีของชาวกะเหรียงซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นสาระในการนำเสนอและพูดคุย

การเปิดตัวหนังสือ “ใจแผ่นดิน” ดำเนินรายการโดยคุณสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนังสือที่บันทึกเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องประสบกับการถูกบังคับโยกย้าย จากบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ในผืนป่าแก่งกระจาน สูญเสียที่ดิน บ้าน ยุ้งฉาง ไร่นา วิถีชีวิต วัฒนธรรมและจิตวิญญาณ เพื่อให้ทางการไทยเสนอต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ขอขึ้นทะเบียนผืยป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

คุณสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวเปิดงานว่า “ใจแผ่นดิน” เป็นพื้นที่ที่ไกลที่สุดของประเทศไทย เดินเท้าใช้เวลา 4-5 วันจากพื้นที่ที่รถเข้าถึง อยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานป่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คนที่อาศัยอยู่ที่ใจแผ่นดินนี้ไม่ได้ติดต่อกับภายนอกเท่าไหร่นัก แม้จะมีสัญชาติไทยแต่คนที่อยู่บริเวณดังกล่าวติดต่อคนภายนอกน้อยมาก คนเหล่านี้กลับถูกกระทำรุนแรง บ้านเรือนเป็นร้อยหลังคาเรือนจะถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้าน เผาทรัพย์สิน  แผนที่ของกรมแผนที่ทหารที่ทำการสำรวจไว้เมื่อปี 2455 ระบุชื่อหมู่บ้านใจแผ่นดินไว้อย่างชัดเจน และปรากฏบนแผนที่ฉบับอื่นๆ มาโดยตลอด หมู่บ้านใจแผ่นดินเพิ่งหายไปจากแผนที่เมื่อปี 2554 หลังจากมีการเผาหมู่บ้านทิ้ง ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ไม่มีบนแผนที่ประเทศไทยแล้วทั้งที่อยู่มากว่าร้อยปี ชาวกะเหรี่ยงที่เคยอยู่อาศัยในหมู่บ้านดังกล่าวได้ลุกขึ้นสู้เพื่อจะเรียกร้องสิทธิ สู้ไปจนถึงศาลปกครองสูงสุด เป็นเรื่องที่น่าชมเชย จนศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาที่ใช้เป็นบรรทัดฐานได้ว่า เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องในการเผาทำลายหมู่บ้านดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันนี้เรื่องเหล่านี้ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะชน มีการยืนยันตัวบุคคลปู่คออี้ ยืนยันสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ยืนยันสิทธิทรัพย์สิน สิทธิในบ้าน เหล่านี้มาจากความพยายามของทุกคนที่ช่วยกันถึงการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ศาลปกครองสูงสุด จะได้มีคำพิพากษาเช่นนี้ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ไม่มีการฟื้นฟูเยียวยาชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน

ชาวบ้านไม่ได้สู้เพียงเพื่อชุมชน แต่สู้เพื่อรักษาป่า รักษามรดกทางธรรมชาติให้พวกเรา ขณะเดียวกันรัฐพยายามยกพื้นที่นี้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติโดยการไล่คนกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่ และในวันที่ 5 กค 2562 จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก โดยประเทศไทยเสนอให้ผืนป่าแก่งกระจานและผืนป่าข้างเคียงเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เป็นเหตุให้เกิดความกังวลอย่างมาก

อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังยืนยันที่จะผลักดันให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ทำให้ในเดือนมีนาคม 2562 ชาวบ้านโป่งลึกบางกลอย 120 คนได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลกโดยมีข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ว่าไม่เห็นด้วยกับการเสนอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก หากทางการไทยยังไม่ได้แก้ปัญหาสิทธิของพวกเขาซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองเสียก่อน และอีกสองวันเราคงจะได้เห็นว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะฟังเสียงใคร ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าพร้อมแล้ว ไม่มีปัญหา โดยยอมลดพื้นที่ป่า 15 % ตามแนวชายแดนพม่า ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดนกันอยู่ เสมือนว่ารัฐยอมรับว่าป่า15% นั้นไม่ได้เป็นป่าของไทย คำถามคือแล้ว เป็นป่าของใคร

เสียงจากชาวบ้านกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน

66105897_2259828784064395_5310677557710946304_o

ลุงโจซอ กล่าว (ล่ามแปล) อายุ 75 ปี เดิมลุงโจซออยู่ละแวกใกล้เคียงบางกลอยบน ใจแผ่นดิน วิถีชีวิตตอนอยู่บนนั้นสุขสบาย ไม่ต้องคิดมากไม่ต้องลำบาก ปัจจุบันลุงต้องไปทอผ้าที่ศิลปาชีพ เพื่อหารายได้ ลุงกับปู่คออี้อยู่ไม่ไกลกัน เดินประมาณ 10 นาทีถึง เดิมลุงโจชอทำเกษตรหมุนเวียน ไม่ต้องซื้อข้าวซื้อผัก ปีหนึ่งแทบจะไม่ต้องใช้เงินซื้อของ การทำไร่หมุนเวียน ที่เรียกว่าหมุนเวียนเพราะใช้ระยะเวลาสิบกว่าปี เพื่อให้ดินและต้นไม้ได้ฟื้นฟู สมัยก่อนไม่ได้แยกไร่ว่าเป็นของใครของมัน แต่ปัจจุบันที่ดินที่ได้รับน้อยมาก ไม่สามารถแบ่งให้คนอื่นได้ บางกลอยบนมีอยู่มาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ซอเล กล่าวสั้นๆ ว่า ในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปที่ใจแผ่นดิน

คุณพรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์ ผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสือ “ใจแผ่นดิน”  กล่าวว่า จุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้เป็นการบันทึกเรื่องราวของกลุ่มชาวบ้านใจแผ่นดิน ในส่วนแรกจะเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง ส่วนที่สองเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน ส่วนที่สามเป็นบันทึกเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้ในการเรียกร้องความยุติธรรม การเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจทั้งเรื่องราวและความคิดความรู้สึกของชาวบ้านมากขึ้น

คุณทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์ ผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสือ “ใจแผ่นดิน”  กล่าวว่า  ตนทำงานในคดีนี้มาตั้งแต่ต้น หนังสือเล่มนี้รวบรวมข้อมูลในการลงพื้นที่ตั้งแต่ปี 2554 ในการลงพื้นที่ตอนแรกเข้าใจว่าการเป็นทนายคือทำแต่คดี แค่ไปเอาข้อมูลคดีแล้วก็กลับมาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม แต่พอได้เข้าพื้นที่ก็พบว่ามันมีแง่มุมที่มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียความเป็นชาติพันธุ์ สูญเสียอัตลักษณ์ ฉะนั้นระหว่างการทำคดีก็ได้รวบรวมข้อมูลชุมชน ข้อมูลมรดกวัฒนธรรม ได้พบเจอและคุยกับปู่คออี้ พบว่าไม่ใช่แค่ความเดือดร้อนในแง่การถูกทำลายข้าวของ แต่ข้าวคือหัวใจของเขา ยุ้งฉางที่ถูกเผามันกระทบจิตใจมาก จึงนึกได้ว่าไม่เพียงแต่การทำคดีเท่านั้น แต่ควรเก็บข้อมูลตลอดระยะเวลาที่ทำงานเลยกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้

 

ข้อเสนอแนะ นักวิชาการ ชาวบ้าน

อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ที่ปรึกษาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันก็ทำงานติดตามประเด็นโป่งลึกบางกลอยมาตลอด หนังสือใจแผ่นดินเล่มนี้คือ บันทึกการไล่มนุษย์ โดยมนุษย์กลุ่มหนึ่ง เหตุผลเพราะว่าเมื่อปี 2552-2553 เป็นปีจัดเตรียมทำประเด็นข้อมูลเสนอเรื่องมรดกโลก ต่อมาปี 2554 ก็เกิด “ยุทธการตะนาวศรี” ดังนั้นเรื่องการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้นมีที่มาที่ไป ใจแผ่นดินมีความลึกลับทำให้คนอยากเข้าไปค้นหา พื้นที่ใจแผ่นดินมีความน่าสนใจที่ว่า เป็นป่ากึ่งกลางระหว่างรัฐพม่ากับรัฐไทย มีความหลากหลายของผืนป่าและสัตว์ป่า ทำให้อยากยกพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มรดกโลก อย่างไรก็ตามคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ คือชาวกะหรี่ยง ไม่ถูกมองเห็นโดยทางการ

ดร.นฤมล อรุโณทัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้คือบันทึกประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์เราจะนึกถึงอะไรที่มีความเป็นทางการ ไกลตัว แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์บอกเล่าของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มาจากมุขปาฐะมักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจ ประวัติศาสตร์ในลักษณะดังกล่าวไม่ค่อยมีการบันทึกหรือหากมีการบันทึกก็กระจัดกระจาย เพราะฉะนั้นหนังสือเล่มนี้เป็นคุณูปการ เรื่องราวที่เกิดขึ้น การฟ้องคดี เป็นการลดทอนความสำคัญของเรื่องราวในพื้นที่ ประวัติศาสตร์บอกเล่านั้นเป็นเรื่องของตัวตน ความผูกพันธ์ สายใยที่สังคมปัจจุบันไม่ได้ให้ความใส่ใจมากนัก หนังสือเล่มนี้ประมวลสถานการณ์รายปี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและวิเคราะห์ และยังพูดถึงให้รัฐยอมรับและเคารพวิถีกะเหรี่ยง ซึ่งในระยะแรกความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานและชาวบ้านไม่มีความขัดแย้ง แต่ค่อยๆ พัฒนาการของความขัดแย้งมาเรื่อยๆ อาจด้วยทางเลือกที่เจ้าหน้าที่เสนอให้ชาวบ้านอาจไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริงๆ ซึ่งถือเป็นบทเรียนได้

ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การเข้าพื้นที่โป่งลึกบางกลอยไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องขออนุญาตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด   การเข้าไปในพื้นที่นี้ทุกครั้งเราจะเห็นอำนาจรัฐและความอยุติธรรม เราเห็นแต่เราทำอะไรไม่ได้ หลายคนบอกว่ามันคือการสูญเสีย บิลลี่หายไป เราหาอะไรไม่เจอสักอย่างในประเทศนี้ สังคมยังขาดความรู้อย่างมาก มีการกล่าวหาว่าชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอย ส่งอาวุธสงครามและยาเสพติดให้กับชนกลุ่มน้อยในพม่า มีการจับกุมและตัดผมชาวกะเหรี่ยงที่ถูกขังคุก ซึ่งขัดต่อวิถีปฏิบัติและวัฒนธรรมดังเดิม ของพวกเขาส่งผลกระทบต่อจิตใจ ปี 2556  หลังจากถูกอพยพโยกย้ายมาแล้ว มีการบอกให้ชาวบ้านทำนาขั้นบันได โดยหวังว่านาขั้นบันไดจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่นาขั้นบันไดไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่มีน้ำ ปลูกข้าวไม่ได้ ต้องปลูกกล้วย ทำให้วิถึชีวิตของชาวกะเหรี่ยงเปลี่ยนไป

ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ยังไม่สามารถหาทางออกได้ โอกาสที่จะกลับไปที่ใจแผ่นดินมีน้อยมาก ภายใต้นโยบายการจัดการป่าและทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนที่อยู่กับป่า ไม่ว่ากะเหรี่ยงใจแผ่นดินจะเลือกทิศทางไหนล้วนตกอยู่ภายใต้การควบคุมและอำนาจของรัฐ และชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดินก็ยังมีคำถามที่ไม่มีคำตอบอีกมาก

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้บอกเล่าจุดเริ่มต้นและจุดจบ แต่จุดประกายที่จะทำให้เส้นทางการต่อสู้เพื่อใจแผ่นดินดำเนินการต่อไป ใจแผ่นดินต้องไม่เป็นตำนาน แต่มันเป็นวรรณกรรมที่มีชีวิต ควรมีกระบวนการเชิงรุกโดยชูประเด็นมรดกโลกในเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า65698586_2259828517397755_6953433987868000256_o

ชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน  กับการขึ้นทะเบียนแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ดำเนินรายการ โดยคุณสมชาย หอมลออ

คุณสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ทางการไทยพยายามขอขึ้นทะเบียนกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติมานานแล้ว โดยมีการใช้มาตรการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว เช่นยุทธการตะนาวศรี เพื่อบังคับโยกย้ายชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมออกจากพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน การดิ้นรนต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิของชนเผ่าของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานยืดเยื้อยาวนานและสลับซับซ้อนอย่างมาก หลายเรื่องหลายคดีรัฐบาลไทยยังไม่สามารถให้คำตอบต่อชาวโลกได้ รวมทั้งการชดใช้เยียวยาให้แก่ชาวกะเหรี่ยงและการดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดในยุทธการตะนาวศรี โจทย์สำหรับวันนี้ในการแก้ปัญหาสิทธิของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นโจทย์ที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยทั้งหมด UNESCO จะขึ้นทะเบียนผืนป่าตะวันตกแก่งกระจานเป็นมรดกโลกหรือไม่ ในขณะที่สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงยังไม่ได้รับการเคารพและแก้ไข คนที่ถูกละเมิดสิทธิไปแล้วยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา

อาจารย์สุนี ไชยรส ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอคารวะต่อการต่อสู้ของพี่น้องกะเหรียงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินที่ส่วนหนึ่งมาร่วมประชุมในวันนี้ การต่อสู้นั้นเจ็บปวด แต่ยังสามารถพัฒนามาได้ยาวนานจนถึงทุกวันนี้ ในเรื่องมรดกโลกมีข่าวออกมาทุกวัน ในขณะที่ผู้คนกำลังดีใจว่าเราจะได้แก่งกระจานเป็นมรดกโลก โดยแท้จริงแล้ว เราไม่เคยปฏิเสธการที่จะให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลก แต่ขอให้แก้ปัญหาชาวบ้านให้ได้ก่อน ตามข้อเสนอของประเทศไทยคือ อยากให้ตั้งกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ คำถามคือแล้วชาวกะเหรียงอยู่ที่ไหน ในกรณีนี้มรดกโลกต้องมีคน ชาวกะเหรียงที่มีวิถีชีวิตและประเพณี วัฒนธรรมทีแท้จริงของพวกเขา  ไม่ใช่มรดกโลกที่มีแค่ธรรมชาติ มีป่า มีเขา ปราศจากผู้คนที่อยู่อาศัย มีจิตวัญญาณ เป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติมายาวนาน ดังนั้นต้องหยุดการพิจารณาการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกไว้ก่อนเพราะปัญหาของพี่น้องยังไม่ได้รับการแก้ไข มติคณะรัฐมนตรีเรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถึชีวิตชาวกะเหรี่ยงยังไม่ได้รับการปฏิบัติ คนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องมรดกโลก เพื่อให้การประกาศเป็นมรดกโลกเป็นไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

meme_pnon

คุณสุรพงษ์ กองจันทึก ได้กล่าวปิดงานเสวนา ว่า เราชนะตลอดมา เราไม่เคยแพ้ แต่มันมีความเจ็บปวดระหว่างทางของการต่อสู้ บางเรื่องเรายังไม่ชนะตอนนี้ เราชนะข้างหน้าแน่นอน เราต้องมั่นใจต่อความเป็นธรรม จึงเชื่อมั่นว่า คณะกรรมการมรดกโลกจะไม่ยอมรับการขึ้นทะเบียนกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติหากรัฐบาลไทยไม่ยอมรับและเคารพสิทธิของชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน

TAG

RELATED ARTICLES