ก้าวสู่ปีที่ 6 คดี “ชัยภูมิ ป่าแส” เสียงของ “เหยื่อ” เมื่อกระสุนหนึ่งนัดทำลายมากกว่าหนึ่งชีวิต กระสุนปืนเอ็ม 16 หนึ่งนัดของเจ้าหน้าที่ทหารที่ยิงใส่บุคคลคนหนึ่งจนต้องถึงแก่ความตายนั้น เป็นความรุนแรงจากรัฐที่สร้างความเสียหายได้มากเพียงใด เบื้องหลังความรุนแรงตามหน้าสื่อด้วยตัวของมันเอง ซุกซ่อนความรุนแรงอีกหลายประเภทที่ทำให้ใครอีกหลายคนต้องตกเป็นเหยื่อไม่ต่างกัน
กล่าวคือ ขณะที่คนหนึ่งต้องตายจากโลกนี้ไป คนที่มีชีวิตอยู่ข้างหลัง ก็ไม่ต่างอะไรกับการต้องตกอยู่ในสถานะตายทั้งเป็น ความทนทุกข์ทรมานในแต่ละวันของพวกเขา ล้วนเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความรับรู้ของสังคมทั่วไปอย่างมาก
หนึ่งปรากฏการณ์ที่สะท้อนสภาวะข้างต้นอย่างชัดเจนที่สุดคือ คดีวิสามัญฆาตกรรม “ชัยภูมิ ป่าแส” เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยิงด้วยอาวุธปืนเอ็ม 16 เสียชีวิตลงอย่างมีเงื่อนงำเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 โดยจนถึงปัจจุบันข้อสงสัยที่สังคมตั้งคำถามตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปี ที่ผ่านมา ก็ยังไม่ได้ถูกคลี่คลายแต่อย่างใด
การเปิดเผยให้เห็นถึงความรุนแรงที่ซ่อนเร้นอยู่ บทความชิ้นนี้ จะหยิบยกบทสัมภาษณ์ของ “เหยื่อ” ในฐานะผู้ใกล้ชิดและญาติพี่น้องของ ชัยภูมิ ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตหลังจากเกิดเหตุการณ์ พร้อมด้วยทัศนะของพวกเขาที่มีต่อระบบกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับคดีดังกล่าว

ระบบกฎหมายกับความรุนแรง
ตามหลักการทั่วไป รัฐที่นิยามตนเองว่าเป็น รัฐระบอบประชาธิปไตย ระบบกฎหมายซึ่งดำรงอยู่เปรียบเสมือนกับกรอบจำกัดอำนาจรัฐ และเป็นเครื่องปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ เมื่อเกิดการใช้ความรุนแรงหรือการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้กระทำความรุนแรงก็ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายที่กฎหมายต้องเข้ามาจัดการลงโทษผู้เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองเยียวยา ปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะเดิมเกิดซ้ำขึ้นอีก
ทว่าคดีของ “ชัยภูมิ” นั้นแตกต่างออกไป แม้เรื่องราวจะล่วงผ่านมาหลายปี แต่เค้าลางของความยุติธรรมที่ระบบกฎหมายจะหยิบยื่นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ยังคงไร้วี่แวว ตรงกันข้าม กระบวนการพิสูจน์ความจริง ตามกระบวนการยุติธรรม และการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ กลับเป็นไปในทางการให้ความชอบธรรมหรือรับรองการกระทำของเจ้าหน้าที่ให้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และวางข้อเท็จจริงให้ ชัยภูมิ ตกเป็นฝ่ายกระทำผิด เนื่องจากต่อสู้ ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหาร 1ข่าว, ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีวิสามัญ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’-กองทัพบกไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาแก่ครอบครัว, 26 มกราคม 2565, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2022/01/96974 (สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2566)
นี่คือลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของระบบกฎหมายไทย ที่กลไกของกฎหมายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับการกระทำความรุนแรงของรัฐ ด้วยการบิดเบือน ซ่อนเร้น กลบเกลื่อน และให้ความชอบธรรมกับพฤติการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ผู้ก่อความรุนแรงรอดพ้นความผิดไปทั้งแบบโจ่งแจ้ง และแยบยล ราวกับเป็นกลไกที่คอยค้ำจุนโครงสร้างอำนาจที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐสามารถกระทำความรุนแรงต่อประชาชนได้อย่างชอบธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรชายขอบที่ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตลอดเวลา
ขณะเดียวกัน อาจมีข้อสังเกตสำคัญที่ว่า ทุกวันนี้ระบบกฎหมาย และรัฐไทยกำลังสร้างหรือได้สร้างความเป็นปกติให้กับสิ่งที่เรียกว่า “สภาวะยกเว้น” ที่หมายถึง 2ปิยบุตร แสงกนกกุล, “สภาวะยกเว้น” ในความคิดของ Giorgio Agamben”, วารสารฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม – กันยายน 2553, 85. การยกเว้นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน และเพิ่มอำนาจแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐอย่างล้นเกิน พร้อมกับระงับกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนได้มากกว่าเดิม
โดยตามหลักทั่วไป สภาวะยกเว้นนี้ จะต้องเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่มีลักษณะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง และรัฐจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษในการบริหารจัดการกับปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ประโยชน์สาธารณะ และความสงบเรียบร้อยของสังคม เมื่อสถานการณ์กลับเป็นปกติสภาวะดังกล่าวก็ต้องหมดไป 3Flyghed, J., Normalising the Exceptional: the case of Political Violence, Policing and Society, 13(1) (2002), 24 – 25.
แต่ทว่า วิทยาการทางอำนาจ และกฎหมายไทยในปัจจุบัน ได้ทำให้สภาวะยกเว้นแทรกซึมและขยายขอบเขตไปยังระบบกฎหมายในสภาวะปกติมากขึ้น จนเส้นแบ่งระหว่างกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินกับกฎหมายในสถานการณ์ปกติเลือนลางลง ยกตัวอย่างเช่น การประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มาหลายทศวรรษ ซึ่งกฎหมายและกลไกเหล่านี้ล้วนแฝงด้วยบทบัญญัติที่ยกเว้นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ทั้งหมด 4Ibid, 30.

สภาวะดังกล่าว เมื่อมาประกอบกับระบบกฎหมาย และวัฒนธรรมที่กดทับตีตรากลุ่มคนบางกลุ่มให้เกี่ยวโยงกับภัยคุกคามความมั่นคง เช่น ชาวไทยภูเขากับขบวนการยาเสพติด ประชาชนมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ย่อมทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องราวกับตกอยู่ในสภาวะยกเว้นรุนแรงหนักขึ้นไปอีก โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถใช้อำนาจและความรุนแรงเข้าจัดการด้วยการใช้เรื่องความมั่นคงมาเป็นฐานความชอบธรรมได้เสมอ
จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ความรุนแรงหนึ่งๆ และระบบกฎหมายที่ทำงานกลับหัวกลับหางจนเป็นเรื่องปกติ ได้สร้างสภาวะความเสียหายที่แตกกระจายเป็นวงกว้างมากกว่าที่คิด ไม่ได้หมายความว่า “ชัยภูมิ” หรือ เหยื่อความรุนแรงคนอื่นๆ ที่ต้องเสียชีวิตจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าได้ปฏิบัติ จะเป็นภาพความสมบูรณ์ของความรุนแรง แต่ความจริงยังมีคนอีกหลายคนที่จะต้องประสบชะตากรรมที่ยากลำบากและทุกข์ทรมาน เมื่อต้องตัดสินใจเลือกความยุติธรรมที่รัฐไทยอาจไม่มีวันมอบให้แต่แรก
เสียงของ “พี่ไมตรี” เหยื่อของกระบวนการยุติธรรม
เนื้อหาในส่วนนี้ จะนำเสนอประกอบกับบทสัมภาษณ์ของ ไมตรี จำเริญสุขสกุล พี่ชายผู้ดูแลชัยภูมิขณะมีชีวิตอยู่ อันเป็นส่วนหนึ่งจากเนื้อหางานวิจัยเรื่อง “วิสามัญมรณะ: ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยบทสัมภาษณ์ของไมตรีเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่หลังเกิดเหตุ และการต่อสู้คดีเรียกร้องความยุติธรรมให้กับน้องชายของเขา ล้วนสะท้อนให้เห็นรูปร่าง และภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทยที่มีความบกพร่องอย่างชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชากรคนชายขอบ
เพราะเลือกความยุติธรรม จึงต้องเจ็บปวดและไม่ปลอดภัย
ความชุลมุนวุ่นวายหลังเกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ปะแส ได้บีบบังคับให้ ไมตรีต้องพาภรรยา และลูก ย้ายออกจากหมู่บ้านที่ตนอยู่อาศัยชั่วคราว ตลอดระยะเวลา 3–4 ปี ไมตรี เข้าไปตระเวนหาบ้านเช่าบริเวณตัวเมืองเชียงใหม่เวียนไปเรื่อยๆ สาเหตุที่ต้องทำเช่นนั้น ไมตรี เล่าว่า หลังเกิดเหตุ บรรยากาศความหวาดกลัวได้เข้าปกคลุมชุมชน “…จริงๆ ตอนนั้นมันมีคนในชุมชนด้วย ที่เขากลัวด้วย เจ้าหน้าที่มาบ่อย ผมก็กลัวด้วย จู่ๆ น้องชัยภูมิก็เสียชีวิต เสียชีวิตเสร็จ ผมคิดว่าเขาจะมาเห็นใจมาดูแล ปราฏกว่าทีมอะไรไม่รู้มาแล้วมากันหลายร้อยคนล้อมหมู่บ้านไว้…” “…คือเขาเอาปืนเอาอะไรมาพร้อมมากเลยค่ะ พร้อมที่จะยิง ตั้งแต่ทางขึ้นตรงนั้นมาถึงหมู่บ้านรถเจ้าหน้าที่ทหารก็จอดเต็มไปหมด” ภรรยาของไมตรีกล่าวเสริม
การคุกคามจากเจ้าหน้าที่ทหาร มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างความรู้สึกกดดันให้ไมตรีต้องดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนในครอบครัว ไมตรี รู้ตัวว่าตน ตกเป็นเป้าหมายในการจับตาความเคลื่อนไหวจากเจ้าหน้าที่ทหารทันที หลังจากที่โพสต์เรื่องราวของชัยภูมิที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตลงในสื่อสังคมออนไลน์ ประกอบกับท่าทีที่กระด้างกระเดื่องของตัวเอง ที่ไม่ยอมเจรจาให้เรื่องยุติ ซึ่งตรงนี้ ไมตรี มองว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ฝ่ายทหารเริ่มรุกหนักมากขึ้น ดังนั้น การเลือกออกจากพื้นที่ย่อมปลอดภัยกว่า
การพยายามเข้ามาเจรจาขอให้เรื่องยุติลงหรือขอให้เรื่องเงียบ แลกกับการชดเชยเยียวยาเป็นตัวเงิน เพื่อไม่ให้เป็นคดีขึ้นสู่ศาล นับเป็นวิธีการพื้นฐานที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจะนำมาใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ ทั้งมาด้วยตนเอง ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาพูดคุย หรือให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนมาขอร้อง ปัญหานี้ ไมตรี เห็นว่า “…การเจรจาเพื่อมาปิดปากว่าไม่ต้องพูดอย่างนี้ มันไม่ใช่ความถูกต้องที่เรารับได้ ถ้าเป็นอย่างนี้คุณไปทำอีกที่หนึ่งแล้วก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เรารับไม่ได้”
หลังจากออกบ้านไป ตอนที่กลับมาแรกๆ สิ่งที่ไมตรีต้องเผชิญก็รุนแรงต่อความรู้สึกอย่างมาก “แบบไม่เหลืออะไร…ข้าวข้องหายหมด เพราะไม่มีคนดูแล ไม่เหลืออะไรให้เลย แล้วก็เจ็บช้ำจากกระบวนการคือชื่อเราได้ยินว่าองค์กรยุติธรรม ยุติธรรม เราได้ยินจากข่าวบ่อยๆ ก็รู้สึกว่าศรัทธามากเลย แต่พอเราเข้าไปมีส่วนร่วม เจอคดีกับตัวรู้สึกว่ามันยากเกินไป ที่กระบวนการพวกนี้ความคิดจะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม คนธรรมดาอย่างพวกผมถ้าเจอเข้าไปถึง มันยากมาก…”
“…ระบบศาลมันไกลเกินสำหรับคนดอยที่จะได้รับความชอบธรรม…”
ในสายตาของ ไมตรี กระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับคดีของชัยภูมิ ได้ให้บทเรียนสำคัญแก่เขาว่า สุดท้ายแล้วสถาบันศาลหรือกลไกที่จะทำให้คนที่อย่างห่างไกลได้รับความเป็นธรรม เป็นเรื่องที่เกินเอื้อมถึงอย่างยิ่ง เพียงการเรียกร้องความยุติธรรมและความต้องการพิสูจน์ความจริง กลับทำให้ไมตรีรู้สึกเจ็บปวดไม่ใช่เพียงแค่เขาเป็น “คนดอย” เท่านั้น แต่ในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์

“ตอนแรกผมก็หวังพึ่งเจ้าหน้าที่ว่าเป็นคนที่เรารู้จัก และเป็นเจ้าหน้าที่ด้วย แต่ไม่มีใครช่วยได้ หลังเกิดเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ที่เรารู้จักต้องอยู่ฝั่งเขาแล้วต้องมาจับเรา… ร่างของชัยภูมิอยู่อีกที่เขาไปดูมา นึกว่าจะมีอัยการขึ้นมาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าอัยการอยู่ตำแหน่งอะไรคือคนที่เราต้องไปขึ้นศาลกับเขา เราก็ไม่รู้ รู้แค่ว่าเจ้าหน้าที่มาก็คือช่วยเรา ผมก็บอกกับอัยการว่าผมขอบคุณมากที่มาเข้ามามีส่วน เพราะตอนนั้นเราไม่ไว้ใจ เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจแล้ว อัยการมาก็หวังพึ่งอัยการ ก็หวังพึ่งเรื่อยๆ
แต่พอมาศาล กลายเป็นว่าเราถูกใส่ความ เราต้องสู้กับเขาอีกทีหนึ่ง ผมก็เลยถามกลับไปเลยตรงนั้นว่าจิตสำนึกคุณทำด้วยอะไร เขาก็โมโหผม ผมหวังพึ่งคุณ วันนั้นผมไม่มีที่พึ่งเลย ผมหวังว่าคุณมาเนี่ยคุณจะช่วยผม แต่วันนี้ผมต้องมาสู้กับคุณเหรอ ผมถามกลับอย่างนี้แกก็ไม่คุยเลย หุบโต๊ะอย่างดังแล้วก็ไม่ถามอะไร จบคำถามครับแล้วก็ออกไปเลย
ระหว่างที่แกพูดแกก็มาสะกิดผม แกใส่เสื้อทนาย บอกว่าไม่ต้องพูดอะไร เดี๋ยวค่อยคุยกันหลังจากออกนอกศาลแล้วอย่างนี้ ผมก็ไม่พูดต่อหน้าศาล ผมก็เงียบไปแล้วก็ออกไปรอข้างนอก ผมก็นั่งรอข้างนอก ปรากฏกว่า จบแล้วไม่ได้พูดอะไรต่อ เขาก็ไม่คุยกับผม เดินผ่านผมไป มันเป็นอย่างนี้ ผมก็เลยคิดว่านี่ไม่เหมือนชาวดอยที่บอกว่าคุยกันก็คือคุยกัน คือผมไม่เคยเจอ พอผมมาเจอผมก็ เรียนรู้ทันทีว่า คนในเมืองมันเป็นอย่างนี้เหรอ ผมไม่ได้เหมารวมทุกคน แต่ที่เจอตอนนั้นคือผมรู้สึกว่าแบบนั้น”
บทสนทนาข้างต้น ยิ่งตอกย้ำให้รับรู้ถึงความเจ็บปวดที่ ไมตรี ต้องเผชิญระหว่างที่กระบวนการยุติธรรมดำเนินอยู่ และทำให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมของรัฐที่ควรเป็นที่พึ่งพาของบุคคลทุกคนเมื่อต้องตกอยู่ในช่วงเวลายากลำบากกลับไม่สามารถพึ่งพาอะไรได้
“…จริงๆ แล้วผมคิดว่ากระบวนการนี้มันไกลกับคนดอยครับ… จริงนะ ระบบศาลมันไกลเกินสำหรับคนดอยที่จะได้รับความชอบธรรม ผมเนี่ยถือว่าไปได้ไกลแล้ว ถ้าเทียบกันกับทุกคนในชุมชนนี้ ถ้าเจอคนอื่นที่ไม่รู้จักเครือข่าย ไม่มีทางเอาตัวรอดได้เลย ตั้งแต่เรื่องนี้เกิดขึ้นเวลาผมเจอข่าวในหนังสือพิมพ์ที่ว่าถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญผมจะรู้สึกโกรธ ผมไม่เชื่อทันทีเลยว่านั่นคือยา ทุกครั้งก็ยาตลอด แล้วผมก็เลยรู้ว่า เจ้าหน้าที่เขาทำแบบนี้นี่เอง ความชอบธรรมที่เราดูข่าวทุกวันนี้ว่าถูกยิงถูกจับเพราะยาเนี่ย เอาจริงๆ ชาวบ้านเขาก็ไม่กล้าเป็นพยาน ไม่อยากออกมามีส่วนร่วม…นี่ขนาดผมเป็นอาจารย์สอนศาสนายังกลัวเลย ถ้าเป็นชาวบ้านที่ยังไม่เจออะไรเขาก็กลัว นี่เป็นเหตุผลที่เขาไม่สู้”
ต้นทุนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่สูงลิบ
จากการพูดคุย ยังพบอีกว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ห่างไกลเป็นสิ่งที่สร้างภาระแก่ประชาชนอย่างมากและต้องอาศัยต้นทุนสูง เริ่มตั้งแต่ทุนทางสังคม หรือ เครือข่ายทางสังคม ซึ่งเป็นทุนสำคัญที่จะทำให้กลุ่มคนเปราะบางสามารถยืนหยัดเผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรมและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ แต่ในทางกลับกัน หากพวกเขาไม่มีเครือข่ายที่จะคอยยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ให้ความรู้ ว่าต้องทำอะไรอย่างไรบ้างในการต่อสู้
ขณะเดียวกัน การต่อสู้คดียังจำเป็นต้องอาศัยทุนทางเศรษฐกิจจำนวนมากและยังต้องสละเวลาทำมาหากิน เพื่อเดินทางไปศาล ต่อสู้คดี หรือเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาขั้นตอนต่างๆ ของศาล ซึ่งสำหรับไมตรี พวกเขาต้องใช้กำลังทรัพย์ที่มีอยู่ เพื่อจะทำให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินต่อไปได้
การเลือกความยุติธรรมกับสิ่งที่ต้องสูญเสียนั้นไม่คุ้มเอาเสียเลย
สำหรับ ไมตรี การเลือกที่จะต่อสู้ เรียกร้องความยุติธรรมให้กับน้องชายที่ถูกเจ้าหน้าที่ฆ่าตาย นั้นกลับกลายเป็นการทำให้ครอบครัวต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก และต้องสูญเสียอะไรไปหลายอย่างจนทำให้รู้สึกไม่มีคุ้มค่าเลยแม้แต่ในการต่อสู้ครั้งนี้ หากเทียบกับโอกาสที่เสียไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสที่ลูกๆ ของเขาจะได้ร่ำเรียนก็ต้องยุติลง รวมถึงยังต้องสูญเสียความสัมพันธ์อันดีกับคนในชุมชน เนื่องจากเขาและครอบครัวนั้นถูกตีตราจากสังคมหมู่บ้านให้เป็นผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการยาเสพติดเป็นที่เรียบร้อย ชาวบ้านคนอื่นๆ จึงไม่กล้าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเขา เพราะกลัวถูกหางเลขไปด้วย
“ผมคุยเรื่องนี้แล้วโมโหตัวเอง เอาความลำบากมาให้ครอบครัว ไม่เหลืออะไรเลย กลับมาตัวเปล่า อาจจะได้ดีนิดหน่อยคือคนอื่นชมว่าเก่งมาก เป็นนักสู้ เราจะได้ดีตรงนั้นนิดหน่อย แต่รู้สึกว่าไม่คุ้ม ครอบครัวไม่เหลืออะไรเลย ลูกคนอื่นเปิดเทอมเช้าใส่ชุดนักเรียนไปเรียน ลูกผมยืนดู ผมเป็นพ่อเนี่ยผมเจ็บปวด เจ็บแบบพูดยาก แล้วถ้าถามผมนี่ ผมว่าไม่คุ้ม สู้คดีเนี่ย สู้แบบนี้ไม่คุ้มเลย ไม่มีความชอบธรรมกับผมสักนิดเลย ต่อให้ชนะมา ก็อาจไม่คุ้มสำหรับผมเลย”
“…คือ มันไม่รู้จะอธิบายยังไง มันเหมือนเราติดคุกอยู่หรือเปล่า คุกอยู่ในรั้วบ้านเนี่ย ไม่มีเพื่อนเลย เมื่อก่อนที่นี่คือที่สอนเด็ก เด็กก็จะเล่นกันอยู่ทุกวัน ก่อนที่จะเกิดเรื่อง แต่พอเกิดเรื่องผมก็ถูกทิ้งและโดดเดี่ยว ถูกตัดสินว่าคุณทำผิดมาแล้ว แม้จะไม่มีหลักฐานอะไร แต่ถูกตัดสินตามความรู้สึกของคน ผมถือว่าความชอบธรรมที่โลกนี้มีให้กันมันยากมากเลย แลกกันเยอะเกิน…”
“ผมรู้สึกดีนะครับที่มีคนมาคุยกับผม เหมือนมีเพื่อน จากที่อยู่กันแค่ 4 คน ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก อยู่กันแค่ 4 คน พอกลับมาเพื่อนมาเราก็รู้สึกดี ศาลกระบวนการต่างๆ เฮงซวย ตอนลงไปกรุงเทพฯ ผมก็เจอเด็กๆ ติดคุกกันแบบเลอะเทอะ เรื่องไม่น่าติดคุกก็ติดคุกกัน แบบถ้าพูดแบบประชดประชันก็คือแบบซวย ซวยทุกคน ตอนนี้คือกระบวนการยุติธรรมเมืองไทยเละเทะ”

ถ้าในวันนั้น…
ความอยุติธรรมที่ไมตรี ได้รับจากกระบวนการที่ควรยุติธรรม ทำให้เขาต้องมาหวนคิดถึงเรื่องที่เจ้าหน้าที่ทหารและผู้ใหญ่บ้านมาขอเจรจาและหยิบยื่นเงินมาให้ เพื่อแลกกับให้เรื่องเงียบ ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปได้ ไมตรี คงไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม และเลือกรับเงินมา อาจจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยชีวิตของเขาและครอบครัว รวมถึงครอบครัวของชัยภูมิก็อาจจะไม่ต้องมาตกระกำลำบาก น้องชายของชัยภูมิก็คงไม่ต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัดและจะได้อยู่ดูแลแม่ที่กำลังป่วยอย่างเต็มที่
“น้องชายชัยภูมิ ไม่ได้เรียนตั้งแต่เกิดเรื่อง ไม่ได้เรียนเลย… เฮงซวยระบบอะไรไม่รู้ ต้องหยุดเรียน เพราะไม่มีใครช่วยเขาเลย เมื่อก่อนชัยภูมิเป็นตัวหลักของครอบครัว หาเงินหาข้าว แต่พอตายก็ไม่มีใครแล้ว แม่ก็มาขอข้าวกินที่บ้านผมนี่แหละ ผมก็ส่งข้าวสารไปให้ทุกเดือน แบ่งให้ ผมก็รู้สึกผิดต่อแม่เขาด้วย เพราะตอนนั้นทหารเขานำเงินมานำเสนอไง
คดีนี้ไม่ต้องสู้ได้ไหม เอาเท่าไหร่ อย่างนี้ แต่ผมเลือกที่จะสู้ รู้สึกว่าแบบนี้คือความไม่ถูกต้อง ผมทิ้งเงินนั้น ตอนนี้กลับรู้สึกว่าเงินนั้นคือความถูกต้องมากกว่า เจ็บใจมาก เราสู้เพื่อจะได้ ความยุติธรรม แต่มันยากขนาดนี้เลยเหรอ ถ้าผมเชื่อเจ้าหน้าที่คนนั้นตั้งแต่วันนั้น แม่ของชัยภูมิคงไม่ต้องลำบากเหมือนทุกวันนี้หรอก อย่างน้อยเขาก็ได้เงินสักก้อนหนึ่ง พอสู้แล้วไม่เหลืออะไรเลย”
“สงสารแม่เขา ว่าเราเหมือนพาครอบครัวเขาไปเดือดร้อนด้วย แม่เขาก็เชื่อเรามาก เขาก็คิดว่าถ้าชนะขึ้นมาอย่างน้อยเขาก็มีกินมีอยู่ได้ มีเงินจัดสรรให้เขา แต่สุดท้ายไม้ได้อะไรเลย ถ้าเชื่อทหารวันนั้นอย่างน้อยเขาก็ยังดีอยู่ เขาก็มีเงินใช้ รับเงินจากทหารมาแล้วก็เงียบ อย่างน้อยลูกเราก็ได้เรียนอยู่ เทียบกันแล้วคือเรากำลังสู้เพื่อความยุติธรรมเท่านั้นเอง ไม่ได้สู้เพื่อเงิน แต่พอเจอวันนี้แล้วก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราใฝ่หานั้นมันไม่มีอยู่ในโลก… ผมรู้สึกอย่างนี้
ถ้าวันนั้นสิ่งที่ผมฝันความยุติธรรมต้องเกิดขึ้นไม่ใช้เรื่องเงินทองคุณต้องรับผิดชอบทั้งศักดิ์ศรีคืนให้เรา สุดท้ายไม่เหลืออะไรเลย เพื่อนสักคนก็ไม่เหลือ คุ้มไหมที่ผมจะไปแลกขนาดนี้ แม่ชัยภูมิก็สุดท้ายไม่มีใครช่วย รับเงินจากทหารวันนั้น 8 แสนจบ เป็นตัวเลขที่เขาบอกเอง แต่ไม่ใช่ตัวทหารนะ เขาใช้ผู้ใหญ่บ้านมาคุย มาพูดมาเสนอ ถ้าเรารับก็จบแล้วจริงๆ อย่างน้อยลูกผมก็ยังได้เรียนอยู่ ผมก็ยังใช้ชีวิตปกติ แม่ของชัยภูมิก็มีข้าวกิน ทุกวันนี้เดี๋ยวไปดูชีวิตมันบัดซบแค่ไหน…”
ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ไมตรีได้รับจากการที่เขาเลือกจะต่อสู้และเรียกร้องความยุติธรรม และละทิ้ง ปฏิเสธไม่รับเงินเปื้อนเลือดที่ทหารหยิบมาให้ เพื่อแลกกับชีวิตน้องชายของเขา
รูปร่างหน้าตาของระบบกฎหมายและรัฐไทย
ปรากฏการณ์นี้ นอกจากจะทำให้เห็นถึงระบบกฎหมายที่พยายามเข้ามาปกป้องคุ้มครองฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าการประสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงภาพของความรุนแรงที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ยังสะท้อนให้เห็นถึง รูปร่างและอัตลักษณ์หน้าตาของระบบกฎหมายและรัฐไทยว่ามีลักษณะเช่นไร
ลักษณะแรก ระบบกฎหมายและรัฐไทย ได้สร้างพื้นที่ที่ก่อเกิดสภาวะที่มีการยกเว้นบทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายก็มีอำนาจอย่างล้นเกินและขาดกลไกการตรวจสอบ สภาวะเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อบกับได้รับอภิสิทธิ์ในการปลอดพ้นความผิดทุกครั้งเป็นเรื่องปกติ เพราะกลายเป็นว่า การกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่นั้นถูกรับรองว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและมีความชอบธรรมตั้งแต่แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่รัฐอ้างได้แบบพร่ำเพรื่อว่า ความรุนแรงกระทำลงไปเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของสังคม
ลักษณะต่อมา ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยนั้น “ห่างไกลเหลือเกิน” สำหรับคนชายขอบ เนื่องจากรัฐไทยเป็นรัฐราชการรวมอำนาจไว้ศูนย์กลาง และยังคงไร้เดียงสาต่อการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม การสร้างความเป็นอื่นและการกีดกันแบ่งแยกคนกลุ่มน้อยออกจากคนหมู่มากเกิดขึ้นอยู่ตลอด สิ่งนี้เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ “คนชายขอบ” หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทยต้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากรัฐเสมอมา การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐไทย ที่เห็นพวกเขาเป็นคนกลุ่มน้อย แถมยังตราหน้างให้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความมั่นคงที่รัฐต้องจัดการอย่างขบวนการค้ายาเสพติดได้ง่ายๆ จึงเป็นเรื่องห่างไกล และยากเกินกว่าจะเป็นไปได้จริง
ลักษณะสำคัญ คือ รัฐไทยมีระบบกฎหมายที่ความไม่เท่าเทียมฝังรากลึกอยู่ในทุกอณู ต่อให้รัฐไทยและผู้มีอำนาจจะประกาศว่า ประเทศไทยเป็นรัฐที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ก็ปฏิเสธได้ยากว่า นั่นคงเป็นคำพูดสวยหรู เอาไว้อวดอ้าง เพื่อให้ตนเป็นที่ยอมรับในสายตายชาวโลกและฟอกขาวให้กลุ่มเครือข่ายอำนาจของตนดูมีความชอบธรรม เพราะแท้จริงแล้ว ระบบกฎหมายและระบบกระบวนการยุติธรรมยังห่างไกลกับคำว่า “ความเท่าเทียม” และหลักการความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายของปัจเจกบุคคลอย่างมาก
กล่าวคือ ความยุติธรรมในระบบกฎหมายไทยนั้นอยู่บนหลักคิดที่ว่า บุคคลคนนั้นเป็นใครในสังคม อยู่ในฐานะหรือชนชั้นใดในสังคม และความยุติธรรมจะบังเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะกับชนชั้นที่อยู่เหนือขึ้นไปเท่านั้น ตามบุญบารมีของแต่ละคน จากนั้นจึงค่อยลดหลั่นลงมา ความยุติธรรมสำหรับคนชายขอบและคนชั้นล่างที่ไร้ซึ่งสถานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจ รวมถึงบุญบารมี ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก นี่คือ อัตลักษณ์สำคัญของรัฐและระบบกฎหมายไทย
- 1ข่าว, ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีวิสามัญ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’-กองทัพบกไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาแก่ครอบครัว, 26 มกราคม 2565, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2022/01/96974 (สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2566)
- 2ปิยบุตร แสงกนกกุล, “สภาวะยกเว้น” ในความคิดของ Giorgio Agamben”, วารสารฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม – กันยายน 2553, 85.
- 3Flyghed, J., Normalising the Exceptional: the case of Political Violence, Policing and Society, 13(1) (2002), 24 – 25.
- 4Ibid, 30.