[:th]CrCF Logo[:]

แถลงการณ์ ขอให้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทางการเมือง รวมใบปอ-บุ้ง

Share

แถลงการณ์ เรื่อง ขอให้พิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ถูกจับเพราะมีสาเหตุจากการแสดงความความคิดเห็นทางการเมือง รวมถึงนางสาวณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ และนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง

ตามที่ปรากฏจากสื่อมวลชนว่า มีเยาวชนตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดอื่นๆ ในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร อันมีสาเหตุจากการแสดงความคิด เห็นทางการเมืองซึ่งการแสดงความคิดเห็น และแสดงออกดังกล่าวเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับความคุ้มครอง ภายใต้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเยาวชนดังกล่าวเป็นผู้ที่ศาลยังมิได้พิพากษาว่ามี ความผิด ซึ่งได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แต่กลับไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราว

ดังกรณีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนางสาวณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ และนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้งโดย ศาลให้เหตุผลว่าคำร้องขอปล่อยชั่วคราวทั้ง 2 ฉบับ ยังคงไม่ปรากฏข้อความหรือข้อเท็จจริง อื่นใดที่จะแสดงให้เห็นว่า หากจําเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา แล้วจะสามารถปฏิบัติ ตามเงื่อนไขข้อห้าม และคำสั่งศาลได้อย่างเคร่งครัด

ซึ่งหมายถึงเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวที่ห้ามผู้ต้องหา ทำกิจกรรม หรือกระทำการ ใดที่อาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามโพสต์ข้อความปลุกปั่น ยั่วยุชักชวนผู้ใดให้เข้าร่วม กิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชี่ยล หรือชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ฯลฯ กรณีจึงยังไม่มีพฤติการณ์ใหม่ ที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง นั้น

ด้วยความห่วงใยต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา และความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันศาลยุติธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และหน่วยงานต่างๆ ท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอเสนอความเห็น ทางกฎหมาย ดังต่อไปนี้

การปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา หรือจำเลยนั้นต้องอยู่บนฐานของหลักการ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of innocence) อย่างเคร่งครัด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจําเลยไม่มีความผิด และ ก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็น ผู้กระทําความผิด มิได้”

ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 ข้อย่อย 3 ที่ว่า มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนด ให้มีการประกันว่าจะกลับมาปรากฎตัวในการพิจารณาคดี ในขั้นตอนอื่นของ การพิจารณา และจะมาปรากฏตัว เพื่อการบังคับตามคำพิพากษาเมื่อถึงวาระนั้น และหลักตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมวดปล่อยชั่วคราว ซึ่งมี 2 มาตรา เกี่ยวข้องกัน

คือมาตรา 108 เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยคำร้องหากศาลจะใช้ ดุลพินิจในการ สั่งปล่อยชั่วคราว และมาตรา 108/1 เป็นเกณฑ์ที่กำหนดให้ศาลใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว หากมีเหตุ อันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งใน 5 เหตุ ดังต่อไปนี้ (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี (2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไป ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น (4) ผู้ร้องขอประกันหรือ หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และ (5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน ของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล

สสส. และหน่วยงานต่างๆ ท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ เห็นว่าหากศาลอาญากรุงเทพใต้ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ให้ ปล่อยชั่วคราวนางสาวณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ และนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง และผู้ต้องหาในคดีที่ ถูกจับเพราะมีสาเหตุจากการแสดงความความคิดเห็นทางการเมืองอื่นๆ ศาลต้องอธิบายถึงเกณฑ์อันเป็นเหตุ อันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งใน 5 เหตุดังกล่าวข้างต้นตามมาตรา 108/1 ในการใช้ดุลพินิจ

และหากจะพิจารณา เงื่อนไขการให้ประกันตามมาตรา 108 วรรคสาม มีข้อสังเกตที่ควรพิจารณา กล่าวคือ กฎหมายใช้คำว่า “หรือ” เพื่อให้เป็นทางเลือกของศาลในการพิจารณาว่าจะใช้เงื่อนไขข้อใดในการอนุญาตให้ประกัน ซึ่งมีให้เลือก ได้แก่ (1) เงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ หรือ (2) เงื่อนไขอื่นใดที่สามารถตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทางของผู้ ถูกปล่อยชั่วคราว หรือ (3) ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราว

การที่กฎหมาย ใช้คำว่า “หรือ” นั่นย่อมแสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้บังคับใช้มาตรานี้เลือกว่า จะใช้เงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว กฎหมายมิได้มีเจตนาอนุญาตให้ศาลกำหนดเงื่อนไขทุกข้อ เพราะกฎหมาย มีความมุ่งหมาย “เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยมีโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น”

นอกจากนี้ศาลไม่ควรอ้างถึงการกระทำอันอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมิใช่เงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาเป็นเหตุผลของเงื่อนไขที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าวมิได้อยู่ในเกณฑ์ที่ศาลจะใช้เป็นดุลพินิจในการวินิฉัยได้ เพราะยังไม่มีคำพิพากษาในประเด็นนี้

อีกทั้งการที่ศาลให้เหตุผลว่า “ยังคงไม่ปรากฏข้อความหรือข้อเท็จจริงอื่นใดที่จะแสดงให้เห็นว่า หากจําเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาแล้ว จะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อห้ามและคำสั่งศาลได้อย่างเคร่งครัด” นั้น อาจเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต เพราะมาตรา 108 ให้อำนาจศาลกำหนดเงื่อนไขเฉพาะในกรณีป้องกัน การหลบหนี หรือป้องกันภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวเท่านั้นทั้งนี้การชุมนุมโดยสงบเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมิใช่เป็นการสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองผลจากการนี้ย่อมเป็นเหตุให้เกิด

ความไม่เป็นธรรมและทำให้เกิดความลักลั่นในการผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม/นิติรัฐ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของสังคมต่อศาลหรือสถาบันตุลาการที่เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ศาลพึงหนักแน่นมั่นคงในหลักการ และเจตนารมณ์แห่งกฎหมายใน การทำหน้าที่รักษาศรัทธาในความยุติธรรมให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนอย่างเป็นธรรม และเอื้ออำนวยให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายรวมถึงสิทธิในการได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย

สสส. และหน่วยงานท้ายหนังสือฉบับนี้ จึงขอได้โปรดพิจารณาทบทวนคำสั่งปล่อยชั่วคราวนางสาวณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ และนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง และผู้ต้องหาที่ถูกจับเพราะมีสาเหตุจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอื่นๆ โดยปฏิบัติตามหลักการสันนิษฐานว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์เพื่อให้ผู้ต้องหาซึ่งในกรณีนี้ เป็นเพียงผู้ต้องหาทางความคิดได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมและได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมโดย เคร่งครัด

ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2565

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
– กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย (Non-binary Thailand)
– คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
– มูลนิธิสันติภาพ และวัฒนธรรม
– มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
– มูลนิธิเพิ่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)