[:th]CrCF Logo[:]

วรชาติ-พรเพ็ญ ยื่น อส. ถอนฟ้อง และยื่นศาลแขวงไต่สวน กรณี ตร. อัยการทำสำนวนไม่เป็นธรรม

Share

วรชาติ-พรเพ็ญ ยื่นขอให้อัยการสูงสุดถอนฟ้อง และยื่นให้ศาลแขวงดุสิตไต่สวนมูลฟ้อง คดีไม่มีมูลความผิด ตำรวจอัยการทำสำนวนไม่เป็นธรรม สร้างบรรทัดฐานใหม่การสั่งคดีการเมืองสมัยนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา

วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 วรชาติ-พรเพ็ญ นักกิจกรรม ขอยื่นขอให้อัยการสูงสุดถอนฟ้อง และยื่นให้ศาลแขวงดุสิตไต่สวนมูลฟ้องก่อนนัดพร้อมวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เหตุว่าอัยการสูงสุดส่งหนังสือที่ อส. 0032 (คธ 1)/9521 ถึง นายวรชาติ อหันทริก และหนังสือ ที่ อส. 0032(คธ 1)/9521 นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ตอบกลับว่า “อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเป็นธรรม” หนังสือลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นวันหลังจากที่อัยการเจ้าของสำนวนเร่งรัดฟ้องคดีไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565

ตามที่วรชาติ และพรเพ็ญได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ว่า คดีที่พนักงานสอบสวน สน. นางเลิ้ง สั่งฟ้องคดีว่านักกิจกรรมทั้งสองผิด พ.ร.บ. ความสะอาด, พ.ร.บ. เครื่องเสียง และ พ.ร.บ. จราจร ไม่เป็นธรรม และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีได้ตามมาตรา 21 ในเหตุการณ์ที่วรชาติ และพรเพ็ญได้ตอบรับเป็นวิทยากร และเข้าร่วมกิจกรรมเสวนาสาธารณะเรื่อง พ.ร.บ. ป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายที่ข้างทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 แต่กลับถูกแจ้งข้อหาอาญาดังกล่าว

“การแจ้งความกล่าวโทษต่อเราทั้งสองของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อพนักงานสอบสวน และการสอบสวนโดย สน. นางเลิ้ง มีลักษณะเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะใช้มาตรการในการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีความเห็นต่างจากรัฐบาล รวมทั้งต่อผู้ที่ร้องเรียนขอความเป็นธรรมโดยการใช้สิทธิในการชุมนุม และการแสดงความคิดเห็นอันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และตามที่ประเทศไทยมีอยู่ภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เราทั้งสองได้ขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน พนักงานอัยการก็ไม่ได้ได้ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ มืออาชีพ เพื่อตรวจสอบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด กลับเร่งที่จะนำเราทั้งสอง ส่งฟ้องต่อศาล ทำให้เราตกเป็นจำเลยในคดีอาญาอย่างไม่เป็นธรรม” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้ต้องหาที่สอง กล่าว

“เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 เราได้ทำคำร้องขอให้ศาลแขวงดุสิตไต่สวนมูลฟ้องอีกครั้งเพื่อให้ความเป็นธรรมกับเราทั้งสองด้วย ไม่ใช่เพียงเพื่อเราสองคนไม่ให้ตกเป็นจำเลยในคดีการเมืองโดยง่ายเท่านั้น แต่เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีอาญาอื่นๆ ที่ฟ้องโดยอัยการที่เป็นทนายแผ่นดินด้วยว่า การสั่งคดีของอัยการที่ไม่เป็นธรรม กลายเป็นภาระของกระบวนการยุติธรรม ทั้งกับประชาชน และศาลให้มีคดีการเมืองรกโรงรกศาลมากขึ้นนับแต่รัฐประหารปี 2557 และในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา” พรเพ็ญ กล่าวเสริม