เมื่อวันที่ 19-20 เม.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิต ได้สืบพยานโจทก์ จำนวน 5 ปากเสร็จสิ้น และนัดสืบพยานจำเลย 5 ปาก นัดหน้าในวันที่ 26-27 เม.ย. 2566 ในคดีอาญา หมายเลขคดี อ.703/2565 หรือคดีที่วรชาติ อหันทริก และพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ สองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ขับเคลื่อนประเด็นการทรมาน-อุ้มหาย ตกเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันกระทำผิด พ.ร.บ. การจราจรทางบก พ.ร.บ. เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ. ความสะอาด และขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน หลังทั้งสองได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรในกิจกรรมเวทีสาธารณะเสวนา 1 ปี วันเฉลิมถูกอุ้มหาย-คืนยุติธรรม ปี 64
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 กลุ่มโมกหลวงริมน้ำได้จัดเสวนา “1 ปี วันเฉลิมถูกอุ้มหาย-คืนยุติธรรม” บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ฝั่งมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครโดยมีการจุดเทียน วางดอกไม้ และเสวนารำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหาย ในกิจกรรมดังกล่าว กลุ่มผู้จัดงานได้เชิญพรเพ็ญและวรชาติ ร่วมเสวนาถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายและให้ความรู้เกี่ยวกับ (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งในเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร คดีนี้เป็นอีกหนึ่งคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการฟ้องร้องคดีเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นการปิดปาก (SLAPP) ประชาชน โดยมีเจตนากลั่นแกล้ง เพื่อส่งสัญญาณไม่ให้นักกิจกรรมทางการเมืองออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ ก่อนหน้านี้นักปกป้องสิทธิทั้งสองได้มีความพยายามยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมและขอศาลไต่สวนมูลฟ้องแต่ความพยายามไม่เป็นผล
.
การสืบพยานเมื่อวันที่ 19-20 เม.ย. 2566 ศาลแขวงดุสิต ในครั้งนี้ศาลได้สืบพยานโจทก์จำนวนทั้งหมด 5 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายการจราจร 1 นาย พนักงานสืบสวน 2 นาย และพนักงานสอบสวน 2 นาย ตามลำดับ ทางวรชาติและพรเพ็ญยืนยันที่จะสู้จนถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนที่เป็นเพียงวิทยากรรับเชิญจากผู้จักงานเสวนาให้ไปพูดเรื่องร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เท่านั้น ไม่ได้กระทำผิดใดๆและได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ การที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นนี้ แม้รู้ว่าข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของทั้งสองคนไม่เป็นความผิดจึงเป็นการกลั่นแกล้งประชาชนและยังละเมิดสิทธิเสรีภาพของทั้งสองอีกด้วย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและสาธารณชน ร่วมกันติดตามนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 26-27 เม.ย. 2566 นี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น ไม่ให้การฟ้องปิดปากของเจ้าหน้าที่รัฐมาปิดปากประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตได้