[:th]CrCF Logo[:]
[:th]ท.ร.1/1 เอกสารยืนยันตัวตนชิ้นแรกของชีวิต[:]

ท.ร.1/1 เอกสารยืนยันตัวตนชิ้นแรกของชีวิต โดย จันทราภา จินดาทอง

Share

ในพื้นที่ชายขอบประเทศอย่างอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เด็กๆ ที่คลอดในโรงพยาบาลชุมชนเพียงแห่งเดียวซึ่งเปิดบริการเป็นโรงพยาบาล 10 เตียงครั้งแรก เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2527 จะได้รับหนังสือรับรองการเกิด ทร.1/1 ซึ่งเป็นเอกสารที่ติดอยู่กับสมุดฝากครรภ์ของคุณแม่ หลังคลอดพยาบาลผู้ทำคลอดจะเขียน ทร.1/1 ด้วยลายมือเพื่อนำไปให้สำนักทะเบียนอำเภอจัดทำสูติบัตรให้เด็ก การจัดเก็บสำเนา ทร.1/1 ของโรงพยาบาลอุ้มผางเท่าที่ปรากฏมีเอกสารในปัจจุบันเริ่มมาตั้งแต่ปี 2541 (แต่ไม่ครบทุกคน) บางฉบับแม้จะมีสำเนาอยู่แต่ก็ลบเลือนไปตามกาลเวลา

ผู้เขียน เริ่มทำงานในหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์งานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลอุ้มผาง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ด้วยความที่เป็นคนคลุกคลีกับงานสถานะบุคคลมาเป็นเวลานานพอสมควร จึงเห็นความสำคัญของ ทร.1/1 ว่า บุคคลที่มีปัญหาสถานะ การมีเอกสารแสดงตนแม้จะเป็นเพียงหนังสือรับรองการเกิดแค่ชิ้นเดียวก็มีความหมายมากมายกับคนเหล่านี้ เพราะมันเป็นเอกสารที่รับรองถึงจุดเกาะเกี่ยวระหว่างเด็กคนหนึ่งๆ กับสถานที่ที่เขาเกิด และสามารถนำไปสู่การพัฒนาสถานะบุคคลในอนาคต

ต่อมาเมื่อทราบข่าวว่า องค์การยูนิเซฟ ร่วมกับสำนกับริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพ และกระทรวงสาธารณสุข มีโครงการระบบการให้บริการหนังสือรับรองการเกิด (ทร.1/1) ออนไลน์ ผู้เขียนรู้สึกสนใจ และขออาสาร่วมเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลนำร่องของโครงการนี้

โรงพยาบาลอุ้มผาง เริ่มใช้งานระบบให้บริการ ทร.1/1 ออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2553 โดยให้งานประกันสุขภาพเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งน่าจะแตกต่างจากโรงพยาบาลอื่นที่กำหนดให้ฝ่ายการพยาบาลสูตินรีเวชกรรมมีหน้าที่ออก ทร.1/1 ในช่วงแรกที่รับผิดชอบงานนี้ ผู้เขียนพบปัญหาอุปสรรคจากการที่ไม่มีความรู้ในเรื่องการตั้งครรภ์ และการเกิดที่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลเกี่ยวกับว่า เด็กเป็นบุตรในครรภ์คนที่เท่าไหร่ มารดาผ่านการคลอดบุตรกี่ครั้ง เสียชีวิตกี่คน ยังมีชีวิตอยู่กี่คน ซึ่งใช้ตัวย่ออันเป็นที่ทราบกันเฉพาะกลุ่ม

แต่ผู้เขียนได้รับความเอื้อเฟื้อจากพี่ๆ น้องๆ ฝ่ายการพยาบาลสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลอุ้มผาง ที่คอยแนะนำและแก้ไขความผิดพลาดจนสามารถใช้งานระบบได้

หลังจากมารดาคลอดบุตรที่โรงพยาบาล และได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ก็จะนำเอกสาร ทร.1/1 ไปทำการแจ้งเกิดเพื่อออกสูติบัตรที่สำนักทะเบียนเทศบาลตำบลอุ้มผาง ซึ่งเป็นท้องที่ที่ตั้งของโรงพยาบาล ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ทะเบียนต้องประสานงานกับโรงพยาบาลเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันหลายเรื่อง อาทิ การลงรายละเอียดสถานที่เกิดของเด็ก วันเดือนปีทางจันทรคติที่ต้องระบุ เมื่อได้สูติบัตรแล้ว ในกรณีของเด็กสัญชาติไทย บิดาหรือมารดาจะนำกลับมายังโรงพยาบาลเพื่อขึ้นทะเบียนบัตรประกันสุขภาพ (บัตรทอง)

นอกจากนี้เมื่อผู้ปกครองของเด็กแจ้งเกิดจะทำให้เด็กมีเลขประจำตัว 13 หลักตามข้อเท็จจริงของพ่อแม่ ระบบการให้บริการหนังสือรับรองการเกิดเอื้ออำนวยให้โรงพยาบาลสามารถตรวจสอบได้ว่า เด็กคนใดแจ้งเกิดแล้ว และได้เลข 13 หลักเป็นคนกลุ่มใด โดยข้อมูลเหล่านี้จะแสดงเป็นสถิติที่ทั้งทางโรงพยาบาล และสำนักทะเบียนเทศบาลตำบลอุ้มผาง

ทำให้ในแต่ละปีจะสามารถเรียกดูจำนวนเด็กทั้งหมดที่มาคลอดในโรงพยาบาล และแจ้งเกิดไปแล้วกี่ราย ยังไม่ได้แจ้งเกิดกี่ราย เพื่อส่งต่อข้อมูลในงานคลินิคกกฎหมายโรงพยาบาลอุ้มผางติดตามให้เด็กทั้งหมดได้รับการแจ้งเกิดอย่างครบถ้วน และมีสูติบัตรออกจากรัฐไทยตามข้อเท็จจริงของเด็กเเต่ละคน

หลังใช้ระบบหนังสือรับรองการเกิด ทร.1/1 แบบออนไลน์ ยิ่งทำให้เกิดความสะดวก โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเด็กสัญชาติไทยทางโรงพยาบาลสามารถเช็คจากข้อมูลว่าเด็กมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเรียบร้อยแล้ว และจะติดตามตัวมาขึ้นทะเบียนได้สิทธิบัตรประกันสุขภาพ (บัตรทอง) เพื่อขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นตามความเป็นจริง

นอกจากนี้กรณีที่เป็นเด็กที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 7 และเด็กกลุ่มเลข 0 ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลข 0 หลักที่หกและเจ็ดเป็น 89) เมื่อเช็คจากระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ทางโรงพยาบาลจะแยกไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทรงสิทธิประกันสุขภาพสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะ และสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม 2553

กรณีเด็กที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 กลุ่มอื่นๆ ซึ่งยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตามมติ ครม. ได้งานประกันสุขภาพจะดำเนินการจัดซื้อประกันสุขภาพและได้รับสิทธิประกันตนคนต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรี 15 มกราคม 2556 ที่อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการให้การดูแลทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวทั้งหมดทุกคนที่ไม่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพใดๆ

ในส่วนของเด็กที่พ่อแม่บุคคลที่อาศัยอยู่ใน ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ และ บ้านอุ้มเปี้ยม ที่ส่งต่อมาคลอดที่โรงพยาบาล เมื่อได้เอกสาร ทร.1/1 จะนำไปแจ้งเกิดกับนายทะเบียน หรือปลัดอำเภอผู้ดูแลศูนย์ฯ เพื่อออกสูติบัตรประเภทเด็กในศูนย์ฯ ต่อไป

ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลอุ้มผางโดยคลินิกกฎหมาย โรงพยาบาลอุ้มผาง ร่วมกับอีกสามโรงพยาบาลชายแดนจังหวัดตาก จัดทำโครงการ 4 หมอชายแดนตาก (โรงพยาบาลอุ้มผาง, โรงพยาบาลพบพระ, โรงพยาบาลแม่ระมาด และ โรงพยาบาลท่าสองยาง) โดยมีแผนงานหลักที่ทุกโรงพยาบาลต้องจัดทำคือเด็กทุกคนที่คลอดใน 4 โรงพยาบาลต้องได้รับการแจ้งเกิดและมีสูติบัตรเพื่อไม่ตกเป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้ตัวตน โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าสถานภาพของบิดามารดาจะเป็นใครก็ตาม

อ่านเนื้อหาฉบับวารสารได้ที่

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [554.18 KB]

RELATED ARTICLES