ใบแจ้งข่าว 17 องค์กรส่งข้อเสนอเรื่องสิทธิในที่ดินต่อคณะกรรมการ ว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ เน้นเรื่องความชอบธรรมด้านสิทธิในที่ดินของชนเผ่าชาติพันธุ์ทั้งในพื้นที่ป่าและทะเล
กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมประเทศไทยจำนวน 17 องค์กร ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อร่างความเห็นทั่วไปที่ 26 (2564) ว่าด้วยเรื่องสิทธิในที่ดิน ให้กับ คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 โดยความเห็นในเอกสารฉบับนี้ได้ถูกรวบรวมโดยจากการแลกเปลี่ยนพูดคุย ในการสัมมนาหัวข้อ “สิทธิในที่ดิน: หลักสากลและสถานการณ์ในประเทศไทย” ในรูปแบบออนไลน์ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ระหว่างภาคประชาสังคมในประเทศไทยจำนวน 17 องค์กร ภายใต้การสนับสนุนของ ดร. เสรี นนทสูติ 1https://mfa.go.th/th/content/1492563?page=5d5bd3c915e39c306002a907&menu=5d5bd3d815e39c306002aac5 ในฐานะสมาชิกของ คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยการประสานงาน และการสนับสนุนข้อมูลโดย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล
ข้อเสนอแนะต่อร่างความเห็นทั่วไปที่ 26 ฉบับนี้ แบ่งออกเป็น 6 ประเด็น ได้แก่ 1. ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วม การปรึกษาหารือ และความโปร่งใส 2. ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับพันธกรณีของรัฐภาคีภายใต้ ICESCR ที่เกี่ยวกับที่ดินตามหลักการเคารพ 3. ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับพันธกรณีของรัฐภาคีภายใต้ ICESCR ที่เกี่ยวกับที่ดินตามหลักการคุ้มครอง 4. พันธกรณีข้ามพรมแดน 5. ประเด็นจำเพาะ และ 6. การเยียวยา
“ปัญหาที่ดินที่สำคัญคือการรับรองการใช้สิทธิในที่ดินอย่างชอบธรรมของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งรวมถึงชนเผ่าและชนกลุ่มนัอยทั้งในพื้นที่ป่า และทะเลซี่งเป็นประเด็นหลักในร่าง General comment ที่จัดส่งให้คณะกรรมการสหประชาชาติด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ฉบับนี้” ดร. เสรี นนทสูติ ในฐานะสมาชิกของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าว
ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีใน อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 (1999) รัฐสมาชิกมีพันธกรณีที่จะต้องส่งรายงานความคืบหน้าเป็นประจำทุก 5 ปี และคณะกรรมการฯ จะพิจารณาให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้รัฐสมาชิกนำไปพิจารณาปรับปรุงการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศฯ ซึ่งประเทศไทยได้ส่งรายงานครั้งแรกในปี 2558 ล่าช้าไป 16 ปีหลังให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคี โดยมีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยในรายงานเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 2https://crcfthailand.org/wp-content/uploads/2015/06/int_cescr_coc_tha_20933_thai-clean.pdf และยังไม่ได้ส่งรายงานต่อองค์การสหประชาชาติอีกจนปัจจุบัน
สำหรับสถานการณ์สิทธิในที่ดินในไทยที่ได้นำเสนอโดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. การบริหารจัดการการถือครองที่ดินที่เชื่อมโยงกับการเข้าถึงและการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติอื่นๆ เช่น น้ำและแร่ธาตุ อีกทั้งระบุเกี่ยวกับการประกันการมีส่วนร่วม และการปรึกษาหารือในบริบทของการจัดการที่ดินไว้ เราเห็นว่าในความเห็นทั่วไปที่ 26 โดยเฉพาะในย่อหน้าที่ 18 ควรจะระบุให้รัฐประกันการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดิน โดยรวมไปถึงแร่ธาตุ และทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นใต้ดินหรือในน้ำโดยชัดแจ้ง ก่อนจัดสรรที่ดินของรัฐเพื่อให้สัมปทานแก่เอกชนหรือเพื่อใช้ประโยชน์อื่นใด โดยยึดหลักการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
2. รูปแบบการใช้ที่ดินเพื่อการดำรงชีพตามวัฒนธรรม เช่น “การทำไร่หมุนเวียน หรือการประมง” เข้าไปในย่อหน้าดังกล่าวด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้จะได้รับความคุ้มครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำไร่หมุนเวียนที่มักถูกตีตราว่าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาต่อชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
3. พันธกรณีของรัฐในการคุ้มครองการเข้าถึงที่ดินของผู้ถือครองสิทธิโดยชอบ รวมถึงจากบุคคลที่สาม และสิทธิในการเข้าถึงแหล่งน้ำ และพื้นที่จับปลาที่ถูกใช้ร่วมกันในชุมชนอย่างไรก็ตาม เราพบว่าหนึ่งในปัญหาที่ประสบในประเทศไทยคือการที่ประชาชนที่อาศัย และพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ชาวเลย์ ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยบริเวณทะเลอันดามัน และมีวิถีชีวิตในเชิงวัฒนธรรมพึ่งพิงกับท้องทะเลมาเป็นเวลานานประมาณ 300 ปี ต้องประสบกับผลกระทบอันเนื่องมาจากนโยบายการท่องเที่ยวทางทะเลของรัฐ รวมถึงการที่รัฐประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่คนกลุ่มนี้อยู่อาศัย และดำเนินวิถีชีวิตในเชิงวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลให้ชาวเลย์ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งจับปลาเพื่อการดำรงชีพ และประกอบอาชีพของตนได้ รวมถึงถูกบังคับให้ต้องโยกย้ายออกจากพื้นที่
4. นโยบายการอนุรักษ์ป่าที่ส่งผลเป็นการบังคับขับไล่บุคคลที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงป่าไว้อย่างจำกัด ในประเทศไทย มีกรณีมากมายที่นโยบายและกฎหมายคุ้มครองป่าไม้ถูกใช้เพื่อละเมิดสิทธิ ดำเนินคดีอาญาฐานบุกรุก และบังคับขับไล่ผู้อยู่อาศัยและมีวิถีชีวิตพึ่งพิงที่ดินดังกล่าวก่อนที่จะมีการประกาศพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตป่าไม้ หรือเขตป่าสงวน ทำให้บุคคลเหล่านี้ถูกตีตราว่าเป็นอาชญากร และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
5. ในประเทศไทยยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการบังคับขับไล่ชนเผ่าพื้นเมือง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ เราจึงขอเสนอให้ความเห็นทั่วไปที่ 26 ระบุถึงกลไกการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศสมาชิกว่าควรจะพิจารณามิติด้านสิทธิมนุษยชน ประเด็นเรื่องวิถีชีวิตดั้งเดิม และมิติทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของเหล่าบุคคลที่พึ่งพิงอาศัยที่ดินดังกล่าวด้วย
6. ในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีเจ้าของที่ดินจำนวนมากยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินที่ผู้เช่าทำการเช่าเพื่ออยู่อาศัย เพื่อการเพาะปลูก และดำรงชีพ และขายที่ดินดังกล่าวแก่นักลงทุนเพื่อใช้ในการอุตสาหกรรมสำหรับสำหรับโครงการพัฒนาต่างๆ โดยผู้ถูกบอกเลิกสัญญาจำนวนมากไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ เลย
7. กลุ่มบุคคลที่ถูกดำเนินคดีมักเป็นผู้ที่อยู่อาศัยหรือพึ่งพาที่ดินที่ออกมาร้องเรียนถึงผลกระทบที่ตนได้รับจากนโยบายของรัฐในการจัดการที่ดิน และโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ยากจน ทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมักไม่ได้รับการสนับสนุนทางคดีจากรัฐ เราจึงขอเสนอให้ความเห็นทั่วไปมีเนื้อความสนับสนุนให้รัฐพิจารณาจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือทางคดีสำหรับผู้ถูกดำเนินคดีโดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยกองทุนหรือความช่วยเหลือด้านคดีดังกล่าวต้องสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ
8. ในการทบทวนกฎหมาย และยกเลิกหรือแก้ไขปรับปรุงบรรดากฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่มีโทษทางอาญาและไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยมิชอบ รวมถึงยุติการนำกฎหมายมาใช้โดยไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการร่างกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยมีการนำเอาบทบัญญัติลงโทษปรับผู้ที่กระทำการให้โลกร้อนมาใช้เพื่อลงโทษผู้ที่อยู่อาศัยและพึ่งพิงที่ดินมาก่อนการประกาศเขตป่าสงวน แต่ปฏิเสธที่จะโยกย้ายออกจากพื้นที่
9. การเยียวยาแก่การละเมิดที่เกิดจากบริษัท เราเห็นว่าความเห็นทั่วไปควรระบุโดยชัดแจ้ง เช่นที่ระบุในความเห็นทั่วไปฉบับอื่นว่ารัฐมีพันธกรณีในการที่จะกำจัดอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้ได้รับผลกระทบจากการลงทุนข้ามพรมแดนรวมถึงในบริบทที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำจัดอุปสรรคด้านอายุความในคดีที่มีการฟ้องร้องให้มีการเยียวยา อุปสรรคภายใต้กฎหมายขัดกัน หรืออุปสรรคเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลอื่นๆ
องค์กรที่ร่วมลงนาม
1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
2. มูลนิธิชุมชนไท
3. ศูนย์พิทักษ์ และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
4. ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
5. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
6. วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
7. เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน
8. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
9. กลุ่ม the Mekong Butterfly
10. มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย
11. กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน
12. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
13. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
14. ศูนย์ มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
15. สมาคมความมั่นคงด้านอาหารอันดามัน
16. มูลนิธิส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
17. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
- 1
- 2