พูดคุยสันติภาพมา 10 ปี จึงแถลงว่าเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ โดย โคทม อารียา

Share

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มีการลงนามในเอกสารชื่อ “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการสานเสวนาสันติภาพ หรือ General Consensus of Peace Dialogue Process” ผู้ลงนามในเอกสารคือตัวแทนรัฐบาลไทย (ภาคี A) ตัวแทนบีอาร์เอ็น (ภาคี B) และตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย สาระสำคัญของเอกสารคือความเห็นพ้องต้องกันระหว่างภาคีทั้งสองที่จะร่วมสานเสวนาสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

10 ปีผ่านไปนับแต่การลงนามในครั้งนั้น จึงเป็นโอกาสที่จะเหลียวหลังแลหน้ามาพิจารณาถึงสถานการณ์ความรุนแรง ตลอดจนอุปสรรคและความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

เมื่อความขัดแย้งชายแดนใต้ทวีความรุนแรงขึ้นนับแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ที่มีการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาสเป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7,000 คน ในระยะแรก ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายประชาสังคมก็ยังจับชนต้นปลายไม่ได้ว่า อะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้เห็นต่างจำนวนหนึ่งก่อความรุนแรงในพื้นที่ การดำเนินการของฝ่ายความมั่นคงได้เน้นแต่การปราบปราม ยังผลให้เหตุการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดในปี 2550 และระดับความรุนแรงลดลงเล็กน้อยหรือทรงตัวอยู่จนถึงปี 2557 จากนั้นก็เริ่มลดลงทุกปีจนถึงปี 2563 อาจเป็นเพราะฝ่ายความมั่นคงระมัดระวังมากขึ้น ใช้สันติวิธี (ในความหมายว่าทำตามกฎหมาย) และเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น หรืออาจเป็นเพราะฝ่ายขบวนการที่ต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐ อ่อนกำลังลง และกำลังจัดหาคนรุ่นใหม่เพื่อมาสืบทอดการต่อสู้ที่ยาวนาน อย่างไรก็ดี ในปี 2564 แนวโน้มความรุนแรงกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

วัตถุประสงค์ของฝ่ายความมั่นคงน่าจะได้แก่การดำรงไว้ซึ่งบูรณภาพของดินแดน และการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ตลอดจนคุ้มครองผู้ที่อาจตกเป็นเป้าของความรุนแรง โดยมีชาตินิยมรวมศูนย์ของรัฐไทยเป็นอุดมการณ์ ส่วนฝ่ายขบวนการฯซึ่งมีองค์กร บีอาร์เอ็น เป็นกำลังหลักนั้น ต่อสู้เพื่อการกำหนดวิถีของตนเอง (self-determination) และต้องการปลดปล่อยดินแดนปาตานีที่ประกอบด้วย 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ที่ประชากรประมาณ 85 % มีชาติพันธุ์มลายูและนับถือศาสนาอิสลาม (เป็นชาวมลายูมุสลิม) โดยอ้างว่าดินแดนแห่งนี้เคยรุ่งเรืองและเคยเป็นเอกราชก่อนที่ชาวสยามจะมายึดครอง จนเป็นเหมือนอาณานิคมสยามในปัจจุบัน พวกเขามีความรักชาติพันธุ์ รักถิ่นกำเนิดเป็นอุดมการณ์

ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ดังกล่าวถูกยกระดับในระหว่างการต่อสู้รุนแรง โดยการใช้ความรุนแรงมักนำไปสู่การตอบโต้เอาคืน และการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ อย่างไรก็ดี ในการปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง บางครั้งจะเน้นสันติวิธี ไม่ใช้วิธีปิดล้อมตรวจค้นในวงกว้าง จะใช้ก็แต่ในกรณีที่มีหมายจับหรือการไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิด (hot pursuit) หลังการก่อเหตุ ในปี 2557 กรณีปิดล้อมตรวจค้นตามด้วยวิสามัญฆาตกรรม (extrajudicial killing ซึ่งบางคนใช้คำว่า “การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม”) ได้ลดลงต่ำสุด เหลือเพียง 5 ราย ในช่วง 4 ปีต่อมา (ปี 2558 ถึงปี 2561) วิสามัญฆาตกรรมได้เพิ่มมากขึ้นโดยมีค่าเฉลี่ย 10.5 รายต่อปี และในช่วง 4 ปีถัดไป (ปี 2562 ถึงปี 2565) ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 21 รายต่อปี ชาวมลายูมุสลิมจำนวนหนึ่งถือว่าผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมเช่นนี้เป็น “ซะฮีด” หรือผู้เสียชีวิตในการญีฮาดเพื่อศาสนา เหตุการณ์เช่นนี้ย่อมตอกย้ำความขุ่นเคืองใจที่มีมาแต่ในอดีต

ในปลายปี 2562 องค์กรเอกชนระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งได้อำนวยความสะดวกให้มีการพูดคุยกันนอกรอบระหว่างตัวแทนรัฐบาลและบีอาร์เอ็นที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งผลการประชุมถูกตั้งชื่อว่า “การริเริ่มเบอร์ลิน หรือ Berlin Initiative” ซึ่งได้ใช้เป็นกรอบในการพูดคุยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

ในระหว่างการระบาดของโรคโตวิด-19 บีอาร์เอ็นประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว โดยไม่มีปฏิบัติการทางทหารใด ๆ ถ้าไม่ถูกโจมตีก่อน ในเดือนมกราคม 2565 เมื่อการระบาดทุเลาลง การพูดคุยอย่างเป็นทางการก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีการตกลงในประเด็นสารัตถะของการพูดคุย ได้แก่การลดความรุนแรง การเปิดโอกาสการปรึกษาหารือระหว่างผู้นำขบวนการฯกับประชาชนในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีการตกลงกันในเรื่อง “ข้ออ้างอิง” (Term of Reference หรือ TOR) ว่าด้วยกระบวนวิธีการปฏิบัติตามข้อตกลงที่จะมีร่วมกันต่อไป

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 คณะทำงานร่วมได้ยอมรับหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่รวมถึงการหาทางออกทางการเมืองตามเจตจำนงของประชาคมปาตานี ภายใต้หลักของรัฐเดี่ยวและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การตอกย้ำถึงการยอมรับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 1 นั้น เท่ากับการยอมรับว่าจะไม่มีการแบ่งแยกดินแดน หรือจะใช้สำนวนว่าการขอดินแดนคืนก็คงไม่ได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้พยายามที่จะให้การยอมรับแก่ข้อเรียกร้องหลักของฝ่ายขบวนการฯ นั่นคือ ยอมรับว่าอัตลักษณ์ปาตานีนั้นแตกต่างจากอัตลักษณ์ชนชาติไทย แม้ผู้มีอำนาจหน้าที่ระดับสูงบางคนยังห่วงกังวลเกี่ยวกับการแสดงออกของอัตลักษณ์มลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังมีแนวคิดการบังคับกลมกลืนทางวัฒนธรรมอยู่ไม่น้อย

ก่อนการครบรอบ 10 ปีของการพูดคุยสันติภาพเพียงไม่กี่วัน มีการประชุมที่เป็นทางการที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2566 หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลได้แก่ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่าย บีอาร์เอ็นได้แก่ อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน โดยมี พล.อ.ตันศรี ดาโตะซรี ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลใหม่ของมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ด้วย

แต่ก่อนจะนำเสนอผลการพูดคุยครั้งล่าสุดนี้ ขอเล่าถึงเหตุการณ์ความรุนแรงตามด้วยวิสามัญฆาตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นเหตุการณ์หนึ่ง จากรายงานข่าวของสำนักข่าวอิสรา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เวลา 11.30 น. สภ. บันนังสตา จังหวัดยะลา ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุลอบวางระเบิดและซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่บ้านสนามบิน ตำบลเขื่อนบางลาง ทำให้ พ.ต.ต.ประสาน คงประสิทธิ์ สารวัตรสืบสวน สภ. บันนังสตา ซึ่งเพิ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพักได้เพียง 1 วัน เสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน ซึ่งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลบันนังสตา ก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเดินทางด้วยรถกระบะเข้าไปตรวจสอบ หลังจากได้รับแจ้งว่ามีการเผารถทำถนนของบริษัทยะลาไฮเวย์เมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ระหว่างทาง คนร้ายได้จุดชนวนระเบิดที่ฝังไว้กลางถนนลูกรังแล้วเข้าโจมตี จนทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว แสดงว่าเป็นการล่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสถานที่เพื่อจะได้ทำร้ายด้วยระเบิด ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ผู้ก่อเหตุเคยใช้มาแล้วหลายครั้ง

ก่อนหน้านี้หนึ่งวันคือวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ได้มีการเผารถทำถนนในพื้นที่ อำเภอบันนังสตาสองจุดคือ 1) ที่บ้านสนามบิน ตำบลเขื่อนบางลาง เบาะนั่งคนขับของรถบดถนน 2 คันได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ และ 2) ที่บ้านบือซู ตำบลบันนังสตา ล้อยางของรถตัก 1 คัน ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ นอกจากนี้ ในช่วงเช้าของวันเดียวกันที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา รถเกรดถนนของหน่วยทหารช่าง 3 คัน ถูกวางเพลิง แต่ในกรณีหลัง ไม่มีการลอบวางระเบิดทำร้ายเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เมื่อเวลาประมาณ 04.30 น. เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมจังหวัดยะลา สนธิกำลัง 3 ฝ่ายเข้าพิสูจน์ทราบเป้าหมายซึ่งประชาชนให้ข้อมูลว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ทำให้ พ.ต.ต. ประสานเสียชีวิต เข้าไปอาศัยหลบซ่อนอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง ที่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จึงเข้าไปทำการ “ปิดล้อม ตรวจค้น” แล้วทำ “การเจรจาเกลี้ยกล่อม” ให้บุคคลที่หลบซ่อนอยู่ภายในบ้านออกมามอบตัว โดยมีผู้นำท้องที่และผู้นำศาสนาเข้าร่วมเจรจาด้วย แต่ไม่เป็นผล กระทั่งเวลา ประมาณ 05.20 น. มีการยิงต่อสู้กัน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทราบชื่อภายหลังว่า อิบรอเฮม สาและ อายุ 42 ปี โดยเจ้าหน้าที่สามารถยึดอาวุธปืนพกขนาด 9 มม. ที่คาดว่าเป็นของผู้ตายได้หนึ่งกระบอก

ภายหลังเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้ปิดกั้นและนำกำลังเข้าตรวจสอบ พร้อมใช้ความระมัดระวังในการเข้าจุดเกิดเหตุ ขณะเดียวกัน พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้ทุกหน่วยแจ้งกำลังพลให้มีความพร้อม ระมัดระวัง ณ ที่ตั้งฐานปฏิบัติการ ด่านตรวจ จุดตรวจ รวมทั้งชุดปฏิบัติการพิทักษ์พื้นที่ เพื่อป้องกันการก่อเหตุในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่

จากรายงานของกลุ่มด้วยใจเรื่อง “การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม” (คำคำนี้ใช้แทนคำว่าวิสามัญฆาตกรรม) โดยกลุ่มด้วยใจได้รวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2547 ถึงปี 2565 พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างการคุมขัง และจำนวนผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมภายหลังการปะทะ มีทั้งสิ้น 503 ราย (ล่าสุดในปี 2565 มี 18 ราย) วิสามัญฆาตกรรมในบางครั้งนำไปสู่การตอบโต้ของฝ่ายขบวนการฯ เช่นการวางระเบิด หลังจากนั้นฝ่ายความมั่นคงก็ตอบโต้กลับโดยเพิ่มจำนวนวิสามัญฆาตกรรม ประหนึ่งว่ามั่นใจแล้วว่าใครคือผู้ทำผิด จึงไม่ต้องเสียเวลาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะเห็นได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่อาจช่วยลดความรุนแรงคือการปฏิเสธวัฏจักร “การก่อเหตุ – วิสามัญฆาตกรรม – การก่อเหตุ – …” พร้อมทั้งปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้รวดเร็วและเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น เพื่อให้ฝ่ายขบวนการฯยอมรับว่าดีกว่าการก่อเหตุ และฝ่ายความมั่นคงยอมรับว่าดีกว่า “การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม” เมื่อเกิดการปิดล้อมตรวจค้น (เฉพาะกรณีที่มีหมายจับหรือการไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิด (hot pursuit) หลังการก่อเหตุ ดังที่กล่าวข้างต้น) ผู้ต้องสงสัยก็อาจยอมมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และฝ่ายรัฐก็รวบรวมพยานหลักฐานอย่างตรงไปตรงมาและให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน

กลุ่มด้วยใจมีข้อเสนอในการเลิกการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผมขอนำมาเสนอโดยสังเขปดังนี้

1) เมื่อเกิดวิสามัญฆาตกรรม ให้มีกระบวนการตรวจสอบที่เชื่อถือได้ (ผมขอเสริมว่า มิใช่เชื่อเพียงคำกล่าวของฝ่ายความมั่นคงว่าทำดีที่สุดแล้ว ให้เวลาการเจรจาแล้ว ฝ่ายผู้ถูกปิดล้อมยิงก่อน ฯลฯ)

2) ยกเลิกการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ (ผมขอเสริมว่า เพราะกฎหมายพิเศษให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป อีกทั้งไม่ต้องให้รับผิดชอบทางอาญาและทางแพ่ง ดังนั้น เมื่อความรุนแรงได้ลดลงมากแล้ว ควรใช้กฎหมายปกติเมื่อมีการทำผิดกฎหมาย)

3) หลักฐานประกอบการกล่าวหาต้องไม่ใช้การคำซัดทอดของผู้ต้องสงสัยอีกคน

4) ไม่ใช้พลเรือนเป็นโล่ในการเข้าตรวจค้นบ้านต้องสงสัย

5) ในเมื่อผู้เข้าปิดล้อมเป็นต่อ เพราะใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากและมีอาวุธครบมือ จึงสามารถปิดล้อมได้เป็นเวลานาน เพื่อให้โอกาสมากที่สุดแก่การเจรจาให้ผู้ต้องสงสัยเข้ามอบตัว

ขอกลับไปที่การพูดคุยสันติสุข (ราชการหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าสันติภาพ) ครั้งที่ 6 ที่กรุงกัวลาลัม เปอร์เมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ ภายหลังการประชุม ผู้อำนวยความสะดวกเป็นผู้แถลงผลการประชุม ดังนี้

1. คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และคณะผู้แทน BRN เห็นพ้องที่จะร่วมกันจัดทำ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP)” เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุย ให้คืบหน้าในรูปแบบที่ครอบคลุมและเป็นองค์รวม อีกทั้งมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (General Principles of the Peace Dialogue Process) โดย JCPP จะมีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง

2. คู่พูดคุยเห็นชอบกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ JCPP เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในปี 2566 และ ปี 2567 ซึ่งทั้งสองฝ่าย คาดหวังว่า จะสามารถบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้งและนำข้อสรุปที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาและนำสันติสุขที่ถาวรสู่พื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

3. คู่พูดคุยได้มอบหมายให้คณะทำงานทางเทคนิคของแต่ละฝ่ายนัดหมายจัดการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างไม่เป็นทางการในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2566 เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้นและนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

4. คู่พูดคุยต่างแสดงความยินดีต่อผู้อำนวยความสะดวกในโอกาสเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงในการปฏิบัติงานของตันศรี ซุลกีฟลีฯ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้คู่พูดคุยบรรลุความเห็นพ้องเบื้องต้นเกี่ยวกับ JCPP ในการพูดคุยฯ ครั้งนี้ และจะมีส่วนช่วยให้การจัดทำและการปฏิบัติตาม JCPP ในระยะต่อไปเป็นไปอย่างราบรื่นตามกรอบเวลา

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอยืนยันเจตนารมณ์ในการเดินหน้าการพูดคุยฯ อย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล และขอเชิญชวนประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนให้แก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ในบรรดาหัวข้อที่ตั้งชื่อว่าเป็นสารัตถะ 3 ข้อ ได้แก่ 1) การลดความรุนแรง 2) การปรึกษาหารือระหว่างผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายขบวนการกับประชาชนในพื้นที่อย่างเปิดกว้างและปลอดภัย 3) การหาทางออกทางการเมือง นั้น หัวข้อที่ 2) ควรมีการขยายความว่าจะปรึกษาหารือกันในประเด็นใดบ้าง ทราบมาว่าคณะทำงานทางเทคนิคมีข้อเสนอให้คุยกันใน 5 ประเด็นต่อไปนี้

1. รูปแบบการปกครอง
2. เศรษฐกิจและการพัฒนา
3. อัตลักษณ์ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม
4.กระบวนการยุติธรรมและการเยียวยา และ
5.การศึกษา

อันที่จริง ควรยกประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งในแง่การส่งเสริม และการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในข้อกฎหมายและการปฏิบัติ ตลอดจนการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มาปรึกษาหารือกันด้วย

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ผมได้ไปฟังการประชุมเรื่อง “การเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 และวิกฤติสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์กรนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีผู้ที่อยู่ในภาคประชาสังคมชายแดนใต้เข้าร่วมหลายคน ที่ประชุมได้เสนอข้อมูลและอภิปรายความเห็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ในส่วนที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างสันติภาพ มีการเน้นในเรื่องพหุวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงการเคารพความแตกต่าง มิใช่การทำให้เหมือนกัน ความปรารถนาดีมิใช่เพียงทำตาม “กฎทองคำ” ที่ว่า “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่เราปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อเรา” หากควรทำตาม “กฎทองคำขาว” ที่ว่า “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นตามที่เขาต้องการให้เราปฏิบัติ” ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ควรเอาใจเขาใส่ใจเรา เรื่องเล่าในที่ประชุมคือ นายทหารคนหนึ่งให้หมวกกอล์ฟเป็นของขวัญแก่กรรมการอิสลามประจำจังหวัด เขาชอบเล่นกอล์ฟและคิดว่ากรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะชอบหมวกกอล์ฟเช่นเดียวกับเขา หารู้ไม่ว่าผู้รับของขวัญรวมทั้งผู้นำศาสนาอิสลามไม่เล่นกอล์ฟสักคน

ถ้าจะให้เดา ผู้นำบีอาร์เอ็น ผู้นำมารา ปาตานี ที่เป็นภาคีการพูดคุยสันติภาพ ต่างต้องการให้รัฐบาลให้เกียรติและยอมรับสถานภาพของกลุ่มขบวนการฯ ว่าเป็นผู้นำในการต่อสู้ในนามของชาวปาตานีส่วนใหญ่ แต่จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไม่ยอมแม้แต่จะลงนามในเอกสารที่เป็นข้อตกลงที่คณะพูดคุยก่อนหน้านี้ได้พ้องกันอย่างดิบดี

วิทยากรคนหนึ่งในการประชุมดังกล่าว ยกตัวอย่างขบวนการเรียกร้องเอกราชของประเทศบาสก์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสเปน หลังการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างยาวนาน ปีกการเมืองของขบวนการฯได้เริ่มการต่อสู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อปีกการเมืองประสบความสำเร็จทางการเมืองมากขึ้น ดินแดนบาสก์มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การใช้ความรุนแรงก็ลดลง

ข้อเสนอที่น่าสนใจจากหลายฝ่าย คือการทำให้การพูดคุยสันติภาพเปิดกว้างขึ้น เช่น ให้อยู่ภายใต้การนำของฝ่ายพลเรือน (civilianization) รวมทั้งการมีผู้หญิงเป็นตัวแทนในคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายขบวนการฯ (สัก 1 ใน 3 ก็ยังดี) และถ้าฝ่ายขบวนการฯจะรวมกลุ่มอื่นที่เคยอยู่ในมารา ปาตานีด้วยก็น่าจะดี

หากเราช่วยกันก้าวข้ามอุปสรรค ก็หวังได้ว่าคำแถลงของผู้อำนวยความสะดวกที่ว่า เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้น จะเป็นจริงมากขึ้น

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading