[:th]CrCF Logo[:]
[:th]โล่ห์มนุษย์[:]

ข้อเรียกร้องของกลุ่มด้วยใจ ต่อผู้ปฏิบัติงาน ผู้บังคับบัญชาสามฝ่าย และเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ เรื่องการใช้ “โล่ห์มนุษย์”

Share

โล่มนุษย์หมายถึงผู้ไม่สู้รบ (หรือกลุ่มผู้ไม่สู้รบ) โดยส่วนใหญ่จะเป็นไปได้ทั้งอาสาสมัคร หรือถูกบังคับให้ปกป้องกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้เพื่อเป้าหมายทางการทหารที่ต้องการโจมตีกองกำลัง (ที่ถูกต้องตามกฎหมาย) ของรัฐ เพื่อยับยั้งการจู่โจม ซึ่งในทางกลับกันโล่มนุษย์ได้ถูกนำมาใช้เป็นกลวิธีโดยกองกำลังที่ถูกต้องตามกฎหมาย (เช่นรัฐ) ยกตัวอย่างเช่น การปิดล้อมตรวจค้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

จากเหตุการณ์การปิดล้อมตรวจค้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ตั้งแต่เวลา 13:00-20:00 น. ในพื้นที่หมู่ 7 ตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่พยายามนำประชาชน เด็ก คนชรา และผู้ป่วยติดเตียงในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านผู้ต้องสงสัยออกมา และพยายามเกลี้ยกล่อมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรง โดยให้ผู้ใหญ่บ้าน และกำนันเป็นผู้เกลี้ยกล่อมให้ผู้ต้องสงสัยที่หลบซ่อนอยู่ภายในบ้านออกมามอบตัว

ในเวลาต่อมาเกิดการปะทะกันระหว่าง 2 ฝ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 2 นาย และเจ๊ะมูหามะญากี เจ๊ะเด็ง อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ต.ดอนรัก ถูกคนร้ายถูกยิงได้รับบาดเจ็บโดยได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปัตตานี แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ผู้อยู่ในเหตุการณ์ได้เล่าว่านายเอได้เช่าบ้านในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านที่ผู้ต้องสงสัยหลบซ่อนอยู่ ในเวลา 14:00 น. เจ้าหน้าที่ได้ทำการปิดล้อม และอพยพคนบางส่วนรวมถึงครอบครัวของนายเอไปยังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลดอนรัก และขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารก็ควบคุมตัวนายเอไว้ในบริเวณที่มีการปิดล้อมนั้นด้วย และให้นายเอไปเคาะประตูบ้านเช่าเพื่อค้นหาผู้ต้องสงสัย โดยที่นายเอไม่มีเสื้อเกราะป้องกัน ไม่มีโล่ และไม่มีอาวุธ

โดยเจ้าหน้าได้เดินตามหลังนายเอ พร้อมกับเอาปืนจี้ที่หลัง และถือโล่ป้องกันตัวเจ้าหน้าที่เอง ในขณะที่มีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกับผู้ต้องสงสัยเมื่อเวลา 18:00 น. ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 2 นายและผู้ใหญ่บ้านถูกยิง ณ บริเวณด้านนอกบ้านที่ผู้ต้องสงสัยหลบซ่อนอยู่ โดยมีผู้ให้ข้อมูลว่าผู้ใหญ่บ้านไปเคาะประตูบ้านที่สงสัยโดยปราศจากอุปกรณ์ป้องกันใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเกราะหรือโล่ ขณะมีการปะทะนายเอจึงได้นอนราบกับพื้นถนนพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหาร

และเวลาประมาณ 18:12 น มีรถสีดำขับออกไปจากพื้นที่อย่างเร็วคือรถเจ้าหน้าที่นำผู้บาดเจ็บ 2 คน ส่งโรงพยาบาล ในขณะที่ผู้ใหญ่บ้านได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลประมาณ 19:00 น ทั้งนี้ครอบครัวทราบข่าวการถูกยิงจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่เมื่อเวลา 19:00 น จึงได้ไปที่โรงพยาบาลต่อมาผู้ใหญ่บ้านได้เสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 20:00 น จากการเสียเลือดมากและทนพิษบาดแผลไม่ไหว โดยถูกยิงที่ต้นขาขวาด้านหน้ากระสุนเฉียงไม่ทะลุมีรอยสีม่วงช้ำ บวมบริเวณช่วงขาขวาบริเวณสะโพกและด้านหน้ากระสุนตัดเส้นเลือดใหญ่

ต่อมานายเอได้เห็นว่ามีพลเรือนวิ่งออกมาหลายคนขณะที่มีการปะทะกัน หลังจากเสียงปืนสงบนายเอจึงได้ขอเจ้าหน้าที่ทหารว่าจะไปอยู่รวมกับพลเรือน

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะปฏิเสธว่าเราไม่มีสงครามภายในประเทศก็ตามแต่การปฏิบัติและยุทธวิธีที่ใช้ก็ไม่ได้แตกต่างจากการต่อสู้ภายใต้ภาวะความขัดแย้งด้วยอาวุธภายในประเทศซึ่งรัฐจะต้องให้การปกป้อง และคุ้มครองพลเรือนโดยไม่ให้อยู่ในวงล้อมของการปะทะ แต่ทว่าจากข้อมูลที่ปรากฎรัฐได้มีการบังคับให้ผู้ที่ไม่ใช่นักสู้ทำหน้าที่เป็นโล่มนุษย์ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม

บรรทัดฐานของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ใช้บังคับทั้งในความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างประเทศและนอกประเทศระบุในกฎข้อที่ 97 เรื่องห้ามใช้โล่มนุษย์ ระบุว่า

“ในส่วนที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางอาวุธที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ พิธีสารเพิ่มเติม II ไม่ได้กล่าวถึงการใช้โล่มนุษย์อย่างชัดเจน แต่การปฏิบัติดังกล่าวจะต้องห้ามตามข้อกำหนดที่ว่า “พลเรือนและพลเรือนแต่ละคนจะได้รับการคุ้มครองโดยทั่วไปต่ออันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติการทางทหาร ” เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ บ่อยครั้งการใช้โล่มนุษย์เทียบเท่ากับการจับตัวประกันซึ่งถูกห้ามโดยพิธีสารเพิ่มเติม II และตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (ดูกฎ 96)”

ในขณะที่กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไม่ได้ห้ามมิให้ใช้โล่มนุษย์ แต่การปฏิบัตินี้จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิที่ในการมีชีวิตตามอำเภอใจ (ดูคำอธิบายในกฎข้อ 89) . คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคได้ระบุว่าสิทธินี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับสิทธิที่จะไม่ถูกสังหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน้าที่ของรัฐในการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องชีวิต

ทั้งนี้ในหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้กำลังและอาวุธปืนโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officialsระบุในข้อ 5 ว่า “เมื่อใดก็ตามที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้กำลังและอาวุธปืนโดยชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้อง (b) ลดความเสียหายและการบาดเจ็บให้น้อยที่สุด และเคารพและปกป้องชีวิตมนุษย์ (c) ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการให้ความช่วยเหลือและความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้บาดเจ็บหรือผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุดและ (d) ตรวจสอบให้แน่ใจว่าญาติหรือเพื่อนสนิทของผู้บาดเจ็บหรือผู้ได้รับผลกระทบได้รับแจ้งโดยเร็วที่สุด

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารต่างก็ได้รับการฝึกฝนยุทธวิธีในการต่อสู้ และการใช้อาวุธอย่างเชี่ยวชาญ ในขณะที่ผู้ใหญ่บ้านจะได้รับการฝึกฝนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนประชาชนจะไม่ได้รับการฝึกฝนเลยแม้แต่น้อย จากการเก็บข้อมูลของกลุ่มด้วยใจพบว่าการใช้มนุษย์เป็นโล่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องเมื่อมีการปิดล้อมตรวจค้นบ้านผู้ต้องสงสัย โดยจะใช้วิธีการเดียวกันคือเจ้าหน้าที่แต่งกายด้วยชุดดำปิดหน้ามีหมวกสีดำคลุม ใส่เสื้อเกราะ และมีโล่ และใช้ปืนจี้หลังให้เจ้าของบ้านไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายให้นำค้นในบ้านเพียงแต่ยังไม่เคยมีกรณีการสูญเสียชีวิตดังเช่นกรณีผู้ใหญ่บ้าน

กลุ่มด้วยใจ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ปฏิบัติงาน ผู้บังคับบัญชาสามฝ่ายและหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ดำเนินการดังนี้

1. จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติการที่มีพลเรือนและหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันแต่ต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการที่เกิดการสูญเสีย

2. ดำเนินการเยียวยาพลเรือน และหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่ได้รับผลกระทบจากการตกอยู่ในวงล้อมที่อันตราย และการเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

3. แสวงหามาตรการการปฏิบัติการที่ทำให้พลเรือน และหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันมีความปลอดภัย

4. ขอให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงจากการสอบสวนเพื่อลดอคติและความตึงเครียดจากสถานการณ์ที่คลุมเครือในแต่ละปฏิบัติการ

โปรดดูข้อมูลเพิ่มเติม
Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials
Rome Statute of the International Criminal Court
Customary IHL