[:th]CrCF Logo[:]

การจัดเก็บ DNA ในพื้นที่ชายแดนใต้ การคุกคามโดยรัฐ ที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร

Share

เรื่องโดย ธวัลรัตน์ ม้าฤทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

มุมมองส่วนตัวในฐานะคนในพื้นที่ที่ไม่ใช่มุสลิม:

เราเป็นคนที่เกิด และใช้ชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่ในพื้นที่สามจังหวัด (ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส) พื้นฐานครอบครัวเป็นไทยพุทธ การใช้ชีวิตประจำวันในพื้นที่ที่ถูกประกาศว่าเป็นพื้นที่อันตราย เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเห็นรถหุ้มเกราะทหารตามบริเวณรอยต่อของแต่ละจังหวัดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ภาพของเจ้าหน้าที่รัฐใช้เครื่อง GT-200 ในการตรวจหาวัตถุระเบิดอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ชุด EOD ที่คอยพาสุนัขตำรวจมาเดินตรวจตราความปลอดภัยในทุกๆ เช้า ทุกกิจกรรมเป็นภาพที่เราเคยชินตา และเคยรับรู้ว่าเป็นเรื่องปกติ

จนกระทั่งได้ออกไปใช้ชีวิตที่ “ปกติ” ในจังหวัดอื่น เรากลับพบว่า นี่เป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะพื้นที่อื่นไม่มีรถหุ้มเกราะ หรือเจ้าหน้าที่รัฐสังกัดใดๆ คอยมาตรวจตาความสงบเรียบร้อยในตอนเช้า และไม่ต้องคอยหวาดระแวงว่าจะมีเสียงระเบิดดังขึ้นอีกเมื่อไหร่

ถึงกระนั้น ตลอดช่วงเวลา 22 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เด็กจนโต สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ก็ยังไม่ได้หายไปไหน แม้ปัจจุบันจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยแล้วก็ตาม แต่เวลาที่ล่วงเลยมานาน ก็ทำให้เห็นว่านโยบาย และมาตรการของรัฐที่บังคับใช้ในพื้นที่ก็เห็นทีว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน แม้จะไม่ใช่ความรุนแรงในแง่ของการใช้กำลัง แต่เป็นความรุนแรงในแง่ของการใช้อำนาจรัฐเพื่อบีบคั้นประชาชนในพื้นที่อยู่เป็นระยะๆ ดังจะเห็นได้จากการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน โดยมักจะอ้างถึงเหตุผลด้านความมั่นคง เพื่อยับยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่อยู่เสมอ

สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีมากกว่าความรุนแรง และปัญหาความขัดแย้ง แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนชาวมุสลิมในพื้นที่ เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงบ่อยเท่าไรนักในหน้าสื่อต่างๆ หรือแม้กระทั่งตนเองที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่ เราไม่เคยได้รับรู้ถึงปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเข้ามาขอตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) ของพี่น้องชาวมุสลิมเลย ทั้งๆ ที่ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555

การที่ได้รับรู้ถึงประเด็นนี้ทำให้เรามองเห็นถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติ ต่อประชาชนชาวมุสลิมอย่างชัดเจน โดยส่วนตัวเรามองว่า การที่เกิดเป็นชาวบ้านไทยพุทธในพื้นที่ ทำให้เราไม่สามารถปฏิเสธได้ถึงการมีอยู่ของสิทธิพิเศษทางเชื้อชาติ (national privilege) เพราะเราไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติเช่นนั้น เราไม่เคยเดินบนท้องถนนด้วยความหวาดกลัวว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ามาขอตรวจค้นเราเมื่อไหร่ ในขณะที่ชาวบ้านมุสลิมในพื้นที่หลายครอบครัว ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมหมู่บ้านเพื่อตรวจค้น เราไม่เคยรับรู้ถึงความหวาดกลัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐอย่างที่ครอบครัว และชุมชนของพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่ต้องเผชิญ และการที่ได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านมุสลิม ทำให้เราต้องตั้งคำถามกับระบบยุติธรรมและการใช้อำนาจของรัฐไทยในการเลือกปฏิบัติกับคนในพื้นที่มาเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ต้องการลดทอนประสบการณ์ของคนกลุ่มอื่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา แน่นอนว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบกับประชาชนทุกคนในพื้นที่แทบจะทุกมิติตั้งแต่ร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน แต่ปัญหาการเก็บสารพันธุกรรม (DNA) เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนและเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลซึ่งเป็นอีกปัญหาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับของเหยื่อความรุนแรงจากเหตุการณ์ในอดีต เพราะสิ่งที่รัฐไทยกำลังทำไม่ส่งผลดีในระยะยาวให้กับสถานการณ์ในพื้นที่แม้แต่น้อย มีแต่จะสร้างความขุ่นข้องหมองใจละไม่ไว้วางใจของคนในพื้นที่ที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งจะนำไปสู่การสร้างปัญหาที่ยืดเยื้อ

มุมมองของนักศึกษาด้านนโยบาย:

เมื่อชำแหละมาตรการการตรวจเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ของประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำเกินขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากทั้ง พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เนื่องจากกฎหมายเหล่านี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการรักษาความสงบในพื้นที่เท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 131/1 ว่าด้วยการตรวจเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ของผู้ต้องหาคดีอาญา มีอัตราจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี ซึ่งมีเงื่อนไขโดยสรุปคือ

การตรวจเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ของผู้ต้องหาเป็นไปเพื่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และต้องทำโดยเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนหรือแพทย์ที่มีความชำนาญเท่านั้น แต่การตรวจเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขใดๆ ตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 131/1 กำหนดไว้ เพราะชาวบ้านมุสลิมที่ถูกเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมทั้งหมดล้วนไม่ใช่ผู้ต้องหาคดีอาญา แม้ว่าบางครั้งเจ้าหน้าที่จะอ้างว่า มีหน่วยข่าวกรองคอยรายงานก็ตาม แต่หากยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดและไม่ตรงตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ข้อกฎหมายได้กำหนดไว้ เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีสิทธิอันชอบธรรมใดๆในการเข้าไปเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของชาวบ้านที่เป็นประชาชนคนบริสุทธิ์

มากไปกว่านั้นการเก็บ DNA ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอที่ค่อนข้างห่างไกล ชาวบ้านหลายคนไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ลงไปเก็บสารพันธุกรรมมักเป็นทหารหรือตำรวจและในบางครั้งใช้คำพูด อาวุธ และกำลังในการข่มขู่ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวจนยอมให้ความร่วมมือ และยินยอมเซ็นรับรองหน้ากล่องที่เก็บตัวอย่างสารในที่สุด บางกรณีมีการปิดหมู่บ้านเพื่อจัดเก็บสารพันธุกรรมโดยไม่มีหมายค้น และไม่แจ้งจุดประสงค์ว่าต้องการเอาไปใช้เพื่ออะไร

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐได้เอาเปรียบความไม่รู้กฎหมายของชาวบ้านว่าพวกเขาสามารถปฏิเสธการให้ความร่วมมือได้ เพราะเป็นการกระทำที่เกินอำนาจหน้าที่และขัดกับหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ที่กล่าวถึงสิทธิ และเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และมาตรา 32 ที่ระบุว่า ประชาชนมีสิทธิในความเป็นส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว มากไปกว่านั้นการกระทำดังกล่าวได้ขัดกับ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ในมาตรา 4 (1)

ซึ่งสรุปได้ว่าการใช้อำนาจของรัฐในสภาวะฉุกเฉิน ซึ่งต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติจากเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา เพศ หรือเผ่าพันธุ์ทางสังคม และมาตรา 9 (1) ที่ระบุถึงสิทธิเสรีภาพในร่างกายที่ไม่สามารถมีใครมาละเมิด และลิดรอนได้โดยการจัดเก็บสารพันธุกรรมของชาวบ้านมุสลิมขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนว่าด้วยสิทธิในร่างกาย และข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดเจน

มากไปกว่านั้นการใช้มาตรการดังกล่าวบังคับใช้เฉพาะกับกลุ่มชาวบ้านมุสลิมซึ่งแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของรัฐไทยที่มีต่อประชาชนมุสลิมโดยเป็นการเหมารวม และตีตราว่าพวกเขามีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายในพื้นที่ ทั้งนี้กล่าวได้ว่ามาตรการนี้เป็นการเลือกปฏิบัติและมีข้อสันนิษฐานที่ตั้งอยู่บนอคติทางศาสนาและเชื้อชาติที่ขัดกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ไทยได้ลงนามไว้ด้วย

มาตรการการเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ของชาวบ้านมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนึ่งในหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ และได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาของการใช้กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจฝ่ายความมั่นคงมาเป็นเวลานานกว่า 17 ปี จนมีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการละเมิด และลิดรอนสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้น เนื่องจากอำนาจที่ได้รับไม่มีกลไกในการถ่วงดุลอำนาจ ขาดการตรวจสอบ ไม่มีความโปร่งใส

อย่างเช่น การมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจค้น หรือเข้าจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีความมั่นคงโดยไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น ผลพวงจากการที่ได้รับอำนาจอย่างล้นมือทำให้รัฐไทยกลายเป็นผู้ละเมิดและบั่นทอนสิทธิมนุษยชนของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยอ้างถึงเหตุผลทางความมั่นคงมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่หน้าที่ของรัฐในพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนนั้นรัฐต้องเป็นผู้ปกป้อง คุ้มครอง และสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมตามหลักนิติรัฐ

และดูเหมือนว่ากฎหมายพิเศษดังกล่าวจะกลายเป็นกฎหมายสูงสุดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเสียแล้ว มิหนำซ้ำเมื่อมีกรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้กระทำความผิดในพื้นที่ต่อชาวบ้านในพื้นที่กระบวนการยุติธรรมมักเป็นไปอย่างล่าช้า ผิดกับเวลาที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจกระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่างๆ เช่น การบังคับเก็บ DNA ของชาวบ้านมุสลิม การเข้าจับกุมชาวบ้านโดยไม่มีหมายค้น หรือการใช้ความรุนแรงในการซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพ จนเหมือนกับว่าความยุติธรรมไม่เคยเข้าข้างประชาชนสามจังหวัดชายแดน-ภาคใต้

ชาวบ้านมุสลิมในพื้นที่ต้องใช้ชีวิตกับนโยบาย และมาตรการที่บั่นทอนสิทธิ และเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ เพียงเพราะพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ และศาสนาที่ต่างออกไปจากผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศ แม้กระทั่งทุกวันนี้ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค-19 ก็ยังมีการตรวจเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ของชาวบ้านอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้จะเป็นนโยบายที่เพิ่มความเสี่ยงการแพร่โรคระบาดต่อทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านก็ตาม รวมทั้งก่อนหน้านี้ องค์กรสหประชาชาติ (UN) ได้เคยส่งจดหมายแสดงความกังวลต่อการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่มาแล้ว

ตลอดที่ 17 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการต่ออายุบังคับใช้กฎหมายพิเศษมาโดยตลอด ทำให้นโยบาย และมาตรการที่ออกมาเป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งก็คือเพื่อความมั่นคงของประเทศ อันเป็นวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างล้าหลัง และยังสร้างความเสียหายทางสังคมอีกด้วย

โดยเฉพาะในแง่ของสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการใช้ชีวิต นโยบาย และมาตรการหลายอย่าง รวมทั้งมาตรการการเก็บสารพันธุกรรม มีแต่จะบั่นทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของประชาชนในพื้นที่ และได้ทิ้งบาดแผลทางจิตใจและความขุ่นเคืองให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวบ้านมุสลิมจากการถูกตีตราว่ามีความเกี่ยวโยงกับการก่อการร้าย เพียงเพราะรัฐต้องการที่จะควบคุมการใช้ชีวิตของประชาชน ที่สำคัญยังเป็นนโยบายที่ละเมิดสิทธิในร่างกายและข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งขัดทั้งกฎหมายภายในประเทศและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เมื่อมองในภาพกว้างแล้วการใช้กฎหมายพิเศษยังตัดโอกาส และศักยภาพพื้นที่สามจังหวัดในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม เพราะตราบใดที่ยังมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ และยังไม่สามารถยุติปัญหาความขัดแย้งได้ในอนาคตอันใกล้ ความเชื่อมั่นในการการลงทุนจากภาคธุรกิจก็ไม่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่พื้นที่จัดหวัดชายแดนภาคใต้มีจุดเด่นทางวัฒนธรรม และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ หรือรวมทั้งการลงทุนในธุรกิจภาคอื่นๆ

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐกดทับพวกเขาเอาไว้ด้วยข้อกฎหมายพิเศษ และได้พรากโอกาสและอนาคตจากคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปมากมาย ทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางเศรษฐกิจอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน และตราบใดที่รัฐยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนโดยอ้างแต่ความมั่นคง ทั้งยังดำเนินนโยบายในรูปแบบเดิมต่อไปในพื้นที่แห่งนี้ หนทางในการสร้างสันติภาพก็ดูเหมือนจะยาวไกลเกินกว่าจะเอื้อมถึง

สรุป

การจัดเก็บสารพันธุกรรม (DNA) เฉพาะแค่กับชาวบ้านมุสลิมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน และเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และหลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐไทยมีพันธกรณีในการปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศอีกด้วย

มากไปกว่านั้นมาตรการการเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่ขาดการถ่วงดุล และการตรวจสอบที่เป็นผลพวงจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษมาเป็นเวลานาน โดยการบังคับใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ยังเป็นการตัดโอกาสด้านต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย