[:th]CrCF Logo[:]
[:th]กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย[:]

เปิดมุมมอง ส.ว. “รศ. ดร. สังศิต” เมื่อการแก้ปัญหากะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ต้องใช้ “ความรู้” และ “หลักความเป็นกลาง”

Share

เรื่องโดย: รศ. ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้เชิญคุณ อภินันท์ ธรรมเสนา รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้ และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มานำเสนอสถานการณ์และปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หลังจากได้ฟังแล้ว ผมมีมุมมองในเรื่องนี้คือ:

กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ก่อนที่พื้นที่นี้จะถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติในปี 2524

มีหลักฐานว่ากะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาราว 600-700 ปีตั้งแต่สมัยอยุธยา พวกเขาเคยร่วมสร้างชาติไทยโดยเข้าร่วมรบกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และหนึ่งในนักรบคนสำคัญของพระนเรศวรที่เป็นชาวกะเหรี่ยงคือ “สิน” นอกจากนี้พวกเขายังได้เข้าร่วมกับกองทัพไทยในการทำศึกสงครามกับกองทัพพม่าในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วยในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าให้หัวหน้ากะเหรี่ยงชื่อ “ศรีสุวรรณ” ทำหน้าที่ปกครองคนกะเหรี่ยง และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าอนุญาตให้คนกะเหรี่ยงเข้ารับราชการอีกด้วย

ปัจจุบันมีคนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ใน 15 จังหวัดของไทย ในปี 2545 มีตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการว่าน่าจะมีกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 4 แสนคน ปัจจุบันคนกะเหรี่ยงอาจมีจำนวนราว 5 แสนคน พวกเขาอาศัยอยู่ที่ภาคเหนือ (เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน) ภาคตะวันตก(เช่น ตาก) ภาคกลาง(เช่น สุพรรณบุรี ราชบุรี กำแพงเพชร) และภาคใต้ (เช่น เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์)

กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกเรียกรวมๆ ว่า “กะเหรี่ยง” ในประเทศไทยมี 4  กลุ่ม คือ ปกาเกกอะญอ (สะกอ)  โผล่ว (โปว์)  ปะโอ และ  คะยา และมีภาษาพูดที่แตกต่างกัน กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงและที่ราบเชิงเขา “กะเหรี่ยง” (karen) เป็นชื่อที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษใช้เรียกชนเผ่านี้ แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ปกาเกอะญอ” หรือ “โผล่ว” ซึ่งมีความหมายว่า “คน”

กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย มีภาษาพูดที่แตกต่างจากกลุ่มกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในแถบภาคกลาง และภาคตะวันตกของไทย ทำให้คนเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียงเข้าใจผิดว่าเป็นกะเหรี่ยงที่อพยพมาจากที่อื่น จึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “กะหร่าง” เพื่อให้แตกต่างจากกะเหรี่ยงที่อยู่ในที่ราบ และมีความสัมพันธ์กับคนเมืองมากกว่า

อัตลักษณ์ประการหนึ่งของชนชาติกะเหรี่ยง คือการมีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เพราะเหตุที่กะเหรี่ยงเชื่อว่าป่า เขา แม่น้ำ ลำธารล้วนแล้วแต่มี “เทพ” หรือสิ่งศักดิ์สิทธ์สิงสถิตอยู่ ด้วยเหตุนี้เองพวกเขาจึงให้ความเคารพนับถือต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างสูง

บริเวณพื้นที่ต้นน้ำ กะเหรี่ยงจะถือว่าเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” จึงเป็น “ข้อห้าม” มิให้คนกะเหรี่ยงเข้าไปอาศัยหรือทำกิจกรรมด้านการเกษตร เช่นเดียวกับการถางป่าเพื่อทำสวน และทำไร่ พวกเขาจะเลือกตัดเฉพาะต้นไม้ขนาดเล็กเพียงแค่ความสูงในระดับเอวเท่านั้น มิใช่การตัดแบบถอนรากถอนโคน เพื่อให้ต้นไม้เหล่านั้นสามารถฟื้นตัวจนเป็นป่าที่สมบูรณ์ในเวลาเพียงปีเดียว ในการทำสวน และไร่

กะเหรี่ยงจะระมัดระวังไม่ให้หน้าดินถูกทำลายไป ส่วนต้นไม้ใหญ่เป็นข้อห้ามเด็ดขาดมิให้มีการตัดออกไป สำหรับแม่น้ำ ห้วย และลำธารมีข้อห้ามมิให้ทิ้งสิ่งสกปรกลงไป และห้ามมิให้ถ่ายหนัก หรือถ่ายเบาลงไปในน้ำ เพราะเหตุแห่งความเชื่อต่อเจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าดอย คนกะเหรี่ยงจึงเชื่อว่าการดูแลรักษาดิน น้ำ ป่า เขาให้อยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์ จะช่วยให้การดำเนินชีวิตของพวกเขาได้รับการคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธ์เป็นการตอบแทน

กล่าวได้ว่าสำหรับคนกะเหรี่ยงแล้ว ป่าจึงไม่ใช่เป็นเพียงที่ดินทำกิน หากแต่เป็นจิตวิญญาณของพวกเขาอย่างมิพักต้องสงสัย ผมคิดว่าสำหรับคนกะเหรี่ยงแล้ว พวกเขาปฏิบัติให้เห็นจริงมาช้านานแล้วว่า “คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้” และคงไม่เป็นการกล่าวอ้างเกินจริงว่า การที่อุทยานแก่งกระจานได้รับการรับรองให้เป็น “มรดกโลก” ก็เป็นเพราะวิถีการดำเนินชีวิตของคนกะเหรี่ยงที่มีความเคยชิน (habitat) กับการรักษาพื้นที่ป่า เขา ลำธารและสัตว์ป่าให้อยู่ในภาวะที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง นิยมทำการเกษตรแบบพอยังชีพ เป็นเกษตรแบบอินทรีย์ และไม่เคยมีการนำสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการผลิตเลยสำหรับการทำการเกษตร กะเหรี่ยงจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นไร่ นาและสวน การทำ “ไร่หมุนเวียน” เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขา โดย “การเปิดป่า” ในระยะสั้นเป็นเวลา 4 เดือน ส่วนเวลาที่เหลืออีก 8 เดือนซึ่งเป็นระยะยาวจะปล่อยให้เป็นป่าได้ฟื้นฟูตัวเอง ในการทำไร่หมุนเวียน พวกเขาจะย้ายที่ทำไร่ไปเรื่อยๆ และจะวนกลับมาทำไร่ในที่เดิมอีกครั้งในปีที่ 7

จากการศึกษาพบว่าวงจรการทำเกษตรแบบนี้ ป่าสามารถฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาสู่สภาพที่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิมได้จริง ดังนั้นการแก้ปัญหากะเหรี่ยงบ้านบางกลอยจึงจำเป็นต้องใช้ “ความรู้” ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความเป็นมา วิถีการดำเนินชีวิตและความเชื่อของพวกเขาประกอบกันไป

ปัญหาของ กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เริ่มในปี 2539 เมื่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้บีบบังคับด้วยความรุนแรงให้กระเหรี่ยงกลุ่มนี้ ต้องละทิ้งพื้นที่ดั้งเดิมของพวกเขาลงมาอยู่ที่ราบแทน ด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคง คนท้องถิ่นเรียกพื้นที่บนภูว่า “บางกลอยบน” คนกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ถูกบังคับให้อยู่ที่หมู่บ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี คนท้องถิ่นเรียกที่นี่ว่า “บางกลอยล่าง”

สาเหตุที่กะเหรี่ยงยินยอมทิ้งถิ่นฐานเดิมลงมา เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานได้สัญญากับพวกเขาว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินให้กับ 57 ครอบครัวที่อพยพลงมา แต่เจ้าหน้าที่อุทยานเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่ได้จัดหาที่ดินให้แก่ทุกครอบครัวได้จริง บางครอบครัวที่ได้ที่ดิน แต่ก็ไม่สามารถทำกินได้ เพราะสภาพที่ดินไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก (เป็นหิน) กะเหรี่ยงส่วนใหญ่จึงหนีกลับขึ้นไปอยู่บนภูอีก

ในปี 2554 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ใช้กองกำลังติดอาวุธบีบบังคับด้วยความรุนแรงให้ กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ต้องอพยพกลับสู่ที่ราบอีกครั้งหนึ่ง กระบวนการบีบบังคับชาวกะเหรี่ยงในคราวนี้ ได้ปรากฏภาพการเผาบ้านเรือน และยุ้งฉางของคนกะเหรี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาบ้านของ “ปู่คออี้” ซึ่งในขณะนั้นมีอายุกว่า 100 ปีแล้ว

ปู่คออี้ เกิดที่ “ใจแผ่นดิน” และเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่อุทยานได้ดำเนินคดีกับชาวกะเหรี่ยงในข้อหาบุกรุกป่า รวมทั้งกล่าวหาว่ากะเหรี่ยงบางกลอยมีกองกำลังติดอาวุธอีกด้วย ณจุดนี้ถือได้ว่าเจ้าหน้าที่อุทยานได้ใช้กลไกความรุนแรง (repressive apparatus) ในรูปแบบต่างๆ และสร้างวาทกรรมชุดหนึ่งที่เป็นการกล่าวหากะเหรี่ยงบางกลอยว่าทำลายป่า ครอบครองอาวุธ (สงคราม) และเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของชาติ

ภายหลังจากที่ กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อพยพลงมาอยู่ที่พื้นราบ ครอบครัวส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาการไม่มีที่อยู่อาศัย และไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้คนกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต (mode of life) ของพวกเขาไปเป็นแรงงานรับจ้าง (wage earner) ในตัวเมืองแก่งกระจาน และเพชรบุรี การถูกบีบบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตจากแบบยุคโบราณ (primitive) ที่เป็นแบบพึ่งตนเอง และมีความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นแบบชุมชนเครือญาติ ไปอยู่ในวิถีการผลิตแบบทุนนิยม (capitalism) ที่ความสัมพันธ์ทางการผลิตเป็นแบบนายจ้างกับลูกจ้าง มีกำหนดเวลาการทำงาน และกฎเกณฑ์ต่างๆในการทำงานที่แน่นอน

ที่สำคัญคือค่าแรงที่ต่ำจนไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวของตนเองได้ ล้วนแล้วแต่เป็นวิถีใหม่ที่ขัดแย้งกับวิถีการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง คนกะเหรี่ยงเหล่านี้จึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่เหมือนคนไร้บ้าน (homeless mind) เพราะบ้านใหม่ที่เจ้าหน้าที่อุทยานกำหนดขึ้นตามอำเภอใจ (moral coercion) ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกผูกพันว่าเป็น “บ้าน” ของพวกเขาเลย เพราะวิถีการผลิต วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ความเชื่อต่างๆ ของพวกเขาที่เป็นโลกที่พวกเขาคุ้นเคยมาตลอดชีวิตได้ถูกทำลายลงไปจนหมดสิ้น

ช่องว่างระหว่างโลกใหม่กับโลกเก่าสำหรับพวกเขาแล้ว มันกว้างใหญ่ไพศาลจนเกินไป จนไม่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้เลย ดูเหมือนว่าชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ต้องอยู่ในโลกที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ซึ่งแตกต่างจากการมีชีวิตอยู่ในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมอย่างสุดขั้วภาวะที่เกิดความรู้สึกแปลกแยก (alienation) กับการผลิต ที่ผลผลิตที่พวกเขาสร้างขึ้นมา กลับมิใช่ของตัวเองอีกต่อไป

พวกเขาแปลกแยกกับสังคม และวัฒนธรรมที่เป็นแบบ “ตัวใครตัวมัน” ในสถานการณ์ที่ถูกกดทับ และบีบคั้นจากสภาพแวดล้อมใหม่ ความคิดและจิตใจของพวกเขาจึงแตกสลาย เพราะพวกเขาไม่สามารถทนกับแรงบีบคั้นทางด้านเศรษฐกิจ (economic coercion) ได้อีกต่อไป ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีใครจ้างพวกเขาทำงาน พวกเขากลายเป็นคนว่างงาน ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีอาหาร และไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ กะเหรี่ยงทุกครอบครัวจึงตัดสินใจอพยพกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ดั้งเดิมของพวกเขาอีกครั้ง

เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานตรวจพบกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ในช่วงเดือนมกราคม 2564 และได้เปิดยุทธการพิทักษ์ต้นน้ำเพชรเมื่อวัน 22 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังบีบบังคับด้วยความรุนแรงให้กะเหรี่ยงกลุ่มนี้ ต้องอพยพกลับลงมาที่พื้นราบอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งได้แจ้งความดำเนินคดีกับชาวกะเหรี่ยงจำนวน 30 คน ซึ่งกลายเป็นที่มาของการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อย่างเร่งด่วน แทนที่จะปล่อยให้ปัญหานี้อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานเหมือนที่ผ่านมา

ชาว กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลให้ความคุ้มครอง และรับรองสิทธิทางวัฒนธรรม โดยการยอมรับว่าชาว กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานมาก่อนประกาศของกรมอุทยาน

ขณะนี้มีวาทกรรมอยู่สองชุด ชุดแรกเป็นรายงานของกรมอุทยาน อีกชุดหนึ่งเป็นเรื่องเล่าของชาว กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เรื่องเล่าที่เป็นข้อมูลของสองฝ่ายแตกต่างกันแบบตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าไม่มีความเป็นไปได้ที่ความจริงของทั้งสองฝ่ายจะมีจุดนัดพบกันได้

ผมเห็นว่าในการพิจารณาปัญหานี้ต้องยึดถือ “หลักความเป็นกลาง” ซึ่งความเป็นกลางในที่นี้ก็คือ “ความเป็นธรรม” หรือ “ความเป็นจริง” (truth) นั่นเอง การที่เราจะพบความเป็นจริงได้ ต้องเริ่มต้นค้นหา “สัจจะ” (fact) จาก“ความเป็นจริง” ก่อน

วาทกรรมหรือข้อมูลสองชุดที่แข่งขัน และต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงและครอบครองพื้นที่สาธารณะ เป็นเพราะมีมุมมองและหลักคิดที่แตกต่างกัน ข้อมูลชุดที่รัฐบาลสมควรเชื่อถือ คือข้อมูลชุดที่เมื่อวินิจฉัยด้วยอำนาจของผู้รับผิดชอบแล้วจะต้องนำไปสู่ความเป็นธรรม และความสงบสุขของสังคมได้จริง หากวินิจฉัยแล้วกลับนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้นไปอีก วาทกรรมชุดนั้นไม่สมควรได้รับการยอมรับ

ผมเห็นว่าคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงควรมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและสิทธิโดยชอบธรรม (legitimacy) ตามธรรมชาติที่จะกำหนดและเลือกรูปแบบการดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของตนเองได้ มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าในหลายพื้นที่ๆในประเทศ ไทยที่มีการปลูกพืชหมุนเวียน แต่ป่ายังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ดังกรณีตัวอย่างที่ชุมชนไล่โว่ซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้รัฐบาลสมควรประกาศให้พื้นที่ทำกินของ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงรักษาอัตลักษณ์เฉพาะตัว (unique) ของพวกเขาทั้งในเรื่องวิถีการผลิต วิถีชีวิต และความเชื่อต่อไปได้

นี่ควรเป็นจุดยืนของรัฐบาลที่มีต่อปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทย ที่กำลังมีข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐกับชนกลุ่มน้อยอยู่ทั่วไป

สวัสดีครับ

รศ.ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ (วุฒิสภา)
ประธาน กมธ. การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ

28 มีนาคม 2564