แถลงการณ์ร่วม
เครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ยุติการคุกคามและปิดปากประชาชน
เปิดพื้นที่ทางการเมือง เปิดโอกาสให้สันติภาพ
2 มีนาคม 2561
จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในห้วงสองสามปีที่ผ่านมาอาจทำให้รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงมั่นใจว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี แห่งนี้ดีขึ้นแล้ว แต่เราในนามของเครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและผู้ที่ร่วมลงชื่อข้างท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอย้ำเตือนว่าข้อสรุปดังกล่าวไม่ได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงแต่อย่างใด เพราะตราบใดที่รัฐบาลไทยและขบวนการต่อสู้ปาตานีไม่พยายามจัดการกับปัญหารากเหง้าซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นประเด็นปัญหาในทางการเมือง อีกทั้งยังไม่มุ่งเน้นการลดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ ตราบนั้นความขัดแย้งในพื้นที่
จะยังไม่อาจคลี่คลายลงไปได้ ที่สำคัญ ประชาชนพลเรือนทุกชาติพันธุ์ศาสนาในพื้นที่แห่งนี้ก็ยังคงประสบกับชะตากรรมอันเลวร้ายอย่างต่อเนื่อง
คำยืนยันข้างต้น สะท้อนจากสภาพความเป็นจริงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ (นับตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2560 เป็นต้นมา) ไม่เฉพาะเหตุรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนยังคงมีความต่อเนื่องอยู่เท่านั้น แต่ยังปรากฎเหตุการณ์ปิดล้อมหมู่บ้าน ตรวจค้น และจับกุมประชาชนจำนวนมากในคราวเดียวกันหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่องอีกด้วย แม้ปฏิบัติการเหล่านี้จะอ้างการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ แต่ผลลัพธ์ก็คือยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัย อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่ายังส่งผลให้เกิดความรุนแรงระลอกใหม่ตามมาอีกด้วย
สถานการณ์อันอึมครึมเหล่านี้ ไม่น่าจะเป็นบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดันเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ดูเหมือนว่าจะยิ่งมีการซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นไปอีก เมื่อมีความพยายามจะปิดกั้นและกีดกันการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่ประชาชนปรารถนา ดังเช่นที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาคในภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แจ้งความดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับสื่อมวลชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่ามา ทั้งในกรณีรายงานข่าวเกี่ยวกับการซ้อมทรมานของสื่อผู้จัดการออนไลน์และการเข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับคดีความของตนเองของนายอิสมาแอ เต๊ะ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ในรายการ “นโยบาย by ประชาชน” ทางสถานี Thai PBS
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งการบังคับใช้กฎหมายพิเศษและกฎหมายอาญามิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน และยังทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิในเสรีภาพของบุคคลและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามกฎหมายระหว่างประเทศทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ที่ระบุว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพทั้งทางร่างกายและการแสดงความคิดเห็น อีกทั้งเป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อมิให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือที่เรียกว่า SLAPPs (Strategic Lawsuit against Public Participations)
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี จะไร้ความหมาย หากรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องชีวิตของพลเรือนและเสรีภาพที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ อันเป็นหลักการพื้นฐานสำหรับการสร้างสันติภาพที่เคารพยอมรับ ให้เกียรติ และเปิดกว้างต่อการทำงานร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้
- ขอเรียกร้องให้ กอ.รมน. ภาค 4 สน. และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องยุติการคุกคามประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาด้วยการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ไม่เป็นธรรม
- ขอเรียกร้องให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐหรือขบวนการต่อสู้ปาตานียุติการคุกคามและโจมตีพลเรือนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาโดยเด็ดขาด
- ขอเรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยุติการคุกคามทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการแจ้งความดำเนินคดี (SLAPPs) ต่อประชาชน สื่อมวลชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
- ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการทบทวนและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการดำเนินการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
- ขอเรียกร้องให้ “หุ้นส่วนสันติภาพ” ทั้งรัฐบาลไทย กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐหรือขบวนการต่อสู้ปาตานีทุกกลุ่ม กลุ่มประชาสังคมทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ ได้ร่วมกันติดตามและตรวจสอบกรณีการคุกคามข้างต้นอย่างใกล้ชิด ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะในการคลี่คลายปัญหาอย่างสร้างสรรค์ต่อรัฐบาลไทยและขบวนการต่อสู้ปาตานี
- ขอเรียกร้องให้เพื่อนมิตรกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาผนึกกำลังกันเพื่อป้องกัน สกัด ขัดขวางไม่ให้ทุกฝ่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนและปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ก็เพื่อตอกย้ำหลักคิดที่ว่าสันติภาพนั้นไม่อาจปรากฎขึ้นได้ หากไร้ซึ่งความเป็นธรรม
ด้วยสันติและมิตรภาพ
เครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
2 มีนาคม 2561
องค์กรร่วมลงนาม
- กลุ่มด้วยใจ
- กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม (PHOS)
- กลุ่มบุหงารายาเพื่อการศึกษา (BRG)
- กลุ่มสตรีพุทธเพื่อสังคม
- คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
- เครือข่ายชาวปาตานีนอกมาตุภูมิ (PATANI Viewers)
- เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ (B4P)
- เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
- เครือข่ายบัณฑิตอาสาปาตานี (INSouth)
- เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PermaTamas)
- เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ (JOP)
- เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมุสลิม (SPAN)
- เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
- เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรี (JALEM)
- ชมรมอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม (PICSEB)
- ปาตานีฟอรั่ม (Patani Forum)
- มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Nusantara)
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
- มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้
- มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC)
- ศูนย์บูรณาการคนหนุ่มสาวเพื่อศักยภาพชุมนุมชน (YICE)
- ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
- ศูนย์วัฒนธรรมมลายูปาตานี (BUMI)
- ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS)
- สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน (Media Selatan)
- สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้
- สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี
- สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS)
- สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR)
- สำนักพิมพ์อาวัณบุ๊ค (Awan Book)
- สำนักสื่อวารตานี (Wartani)
- ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู
- องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)
- องค์กรผู้หญิงปาตานี (PERWANI)
บุคคลลงนาม
- งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
- ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
- ฐิตินบ โกมลนิมิ
- ณรรธราวุธ เมืองสุข สื่อมวลชน
- บดินทร์ สายแสง สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
- บัณฑิต ไกรวิจิตร
- พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
- มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ คณะพยาบาลศาสตร์ มอ.ปัตตานี
- มูฮำหมัดอิลยาส หญ้าปรัง
- รอมฎอน ปันจอร์
- เรืองรวี พิชัยกุล
- สุณัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประเทศไทย
- อันธิฌา แสงชัย
- อับดุลสุโก ดินอะ ศูนย์อัลกุรอานเเละภาษา QLCC
- อาทิตย์ ทองอินทร์
- เอกราช ซาบูร์
- เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี