[:th]CrCF Logo[:]
วันแรงงานข้ามชาติสากล

ขอให้รัฐไทยให้การคุ้มครองเสรีภาพในการเดินทาง และสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมของแรงงานข้ามชาติ

Share

ขอให้รัฐไทยให้การคุ้มครองเสรีภาพในการเดินทาง และสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมของแรงงานข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ปกครองจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ได้เข้าทำการตรวจสอบกลุ่มแรงงานข้ามชาติ 150 คน ที่กำลังเดินทางจาก อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าร่วมงานสัมมนาวันแรงงานข้ามชาติสากลที่จัดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ซึ่งในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ปกครองจะอนุญาตให้เฉพาะเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน และการพัฒนา และผู้นำเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ เดินทางไปร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้เท่านั้น โดยอ้างเหตุผลเรื่องความสงบเรียบร้อยของประเทศ และการบังคับใช้กฎอัยการศึก อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่ได้มีการเจรจาต่อรอง ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติทั้งหมดเดินทางไปร่วมงานดังกล่าวได้

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน และการพัฒนา (มสพ.) ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานเพื่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติเห็นว่า แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างว่ากระทำการดังกล่าวเป็นไปเพื่อควบคุมสถานการณ์ และรักษาความสงบของประเทศ ตามเจตนารมณ์การบังคับใช้กฎอัยการศึกและประกาศ คสช. ฉบับที่ 70/2557 และฉบับที่ 118/2557 ว่าด้วยมาตรการการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว และค้ามนุษย์ก็ตาม แต่ลักษณะปฏิบัติการมีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง และสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมของแรงงานข้ามชาติเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล โดยปราศจากเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายว่ากระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐไทยให้การรับรองไว้ในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และอาจจะนำไปสู่ความสำคัญผิดในสาระสำคัญของประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับที่วางมาตรการเพื่อจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ แต่มิได้มีวัตถุประสงค์จำกัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติแต่อย่างใด

ดังนั้น มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน และการพัฒนา จึงขอให้รัฐไทยให้การคุ้มครองอย่างจริงจังต่อสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเสรีภาพในการเดินทาง และสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมหรือการรวมกลุ่ม และขอให้รับรองว่าการกระทำการใดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปอย่างจำเป็น และได้สัดส่วนแม้อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ยังคงมีการบังคับใช้กฎอัยการศึกอยู่ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของแรงงานข้ามชาติ อันจะส่งผลให้ขัดต่อมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
19 ธันวาคม 2557

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
นางสาวณัฐรัตน์ อรุณมหารัตน์ ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โทร 092-669-0417
นายปภพ เสียมหาญ ผู้ประสานงานฝ่ายคดี โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โทร 094-548-5306