ช่วงเวลาที่ผ่าน ความรุนแรง การบาดเจ็บและความตายของพลทหารในค่ายทหารดูจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปีจนเหมือนกับเรื่องปกติธรรมดา แม้ว่าในแง่ของสาธารณะผู้นำกองทัพจะมีการออกมาพูดครั้งแล้ว ครั้งเล่า ต่อถึง วิพากษ์วิจารณ์ ถึงความชอบธรรมและความจำเป็นของระบบเกณฑ์ทหารอย่างกว้างขวาง ว่าจะดูแล ทหารเกณฑ์ เช่นลูกหลาน จะมีมาตรการป้องกัน ไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นกับพวกเขาอีก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความรุนแรงและความตายของพลทหารในค่ายทหารมีวี่แววลดลงหรือหายไปแต่อย่างใด ความรุนแรงในค่ายทหารที่พบเห็นตามหน้าสื่อ อาจเป็นเพียงภาพส่วนหนึ่งจากอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ถูกปิดเงียบและไม่ปรากฏตามสื่อ คำถามคือ เพราะเหตุใด ความตายในค่ายทหารจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนหลายคนเคยชิน
โดยบทความนี้ จะชวนให้มองความรุนแรงในฐานะวัฒนธรรมระบบทหาร เพื่อทำความเข้าใจถึงความรุนแรงที่ถูกทำให้เป็น “วิธีการอันชอบธรรม” ซึ่งแฝงฝังอยู่ในความสัมพันธ์ของเหล่าทหารในกองทัพ โดยเฉพาะระหว่างนายทหารและพลทหาร มากกว่าจะเป็นการกระทำที่ขาดความยั้งคิดและคึกคะนองของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการคัดง้างวัฒนธรรมดังกล่าว เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพลทหารตามที่ควรจะเป็น

“ความรุนแรง” ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมระบบทหารไทย
การกล่าวว่าความรุนแรง เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมระบบทหารไทย หมายถึง การที่ความรุนแรงสอดแทรก ฝังลึกลงไปอยู่ในระบบความสัมพันธ์ของทหาร ทั้งระหว่างทหารด้วยกัน และระหว่างทหารระดับผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ความรุนแรงดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่คอยค้ำจุนให้ระบบทหารทั้งหมดดำรงอยู่ต่อไปได้ รักษาสถานภาพความเหนือกว่าและสายบังคับบัญชาของฝ่ายนายทหารระดับสูงให้มั่นคง ดังนั้น เมื่อความรุนแรงและระบบทหารของรัฐไทยแยกกันไม่ขาด จะพบว่า ความรุนแรงในค่ายทหารเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงที่กลุ่มพลทหารถูกกำหนดให้เข้ารับการฝึก ผลเสียหายที่พบ อาจมีทั้ง เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ บาดเจ็บและสูญเสียสุขภาพจิตจนบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อไม่สามารถดำรงชีวิตตามปกติสุขแบบเดิมได้อีกต่อไป
ด้วยการที่ความรุนแรงได้ฝังรากลึกกลายเป็นวัฒนธรรมแล้ว ความรุนแรงในค่ายทหารจะต้องผ่านกระบวนการทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดา การลงโทษผู้กระทำควาผิดทางวินัยและกฎเกณฑ์ในค่ายทหารที่กำกับด้วยความรุนแรงจึงต้องเป็นเรื่องที่ยอมรับได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจในมุมมองของผู้มีอำนาจตรวจสอบ เช่น ศาลทหารที่มีหน้าที่พิจารณาคดีที่มีพลทหารเสียชีวิตจากการถูกลงโทษ หรือการอาศัยระบบของภาษามาบิดเบือน สร้างความหมายให้การกระทำความรุนแรง เป็น “การธำรงวินัย” “ฝึกความอดทน” ตลอดจนกล่าวอ้างว่า “เป็นวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่”1บุรภัทร จันทร์ประทัด, ลงโทษ หยอกล้อ ฝึกซ้อม การทรมานร่างกายในระบบฝึกทหาร, 6 กันยายน 2564, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2021/09/94849 (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566) เพื่อมุ่งหมายให้การใช้ความรุนแรงในค่ายทหารเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและจำเป็น โดยไม่ต้องสนใจ การละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพลทหารผู้ถูกกระทำ กลายเป็นความรุนแรงในชีวิตประจำวันที่แม้กระทั่งผู้ตกเป็นเหยื่อด้วยกันเอง ยังมองว่าเป็นเรื่องยอมรับได้2Scheper-Hughes, Nancy, Death without Weeping: The Violence of Everyday Life in Brazil. Berkeley: University of California Press, 1992 อ้างใน บุญเลิศ วิเศษปรีชา, สมควรแล้ว: การเป็นปกติวิสัยของความรุนแรงที่กระทำต่อคนไร้บ้านในมะนิลา, วารสารสิทธิและสันติศึกษา, (2)1, 114.
นอกจากนี้ ความรุนแรงในฐานะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในกองทัพ ยังส่งผลให้ระบบกฎหมาย หรือบทบัญญัติของกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตและสิทธิในร่างกายของพลทหาร เป็นอันไร้ความหมาย ทั้งกฎหมายอาญา บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมถึงระเบียบที่คอยควบคุมหรือจำกัดอำนาจของผู้มีอำนาจบังคับบัญชาไม่ให้กระทำเกินเลย ก็ล้วนไร้ซึ่งผลบังคับไปทั้งสิ้น สถานการณ์เช่นนี้ สามารถกล่าวได้อีกอย่างว่า วัฒนธรรมความรุนแรงในค่ายทหาร ได้สร้างสภาวะยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายปกติแบบถาวร ทำให้ พลทหาร ในค่ายทหารสามารถตกเป็นวัตถุของความรุนแรงได้ตลอดเวลาโดยไร้การคุ้มครองจากกฎหมาย3Scheper-Hughes, Nancy, Death without Weeping: The Violence of Everyday Life in Brazil. Berkeley: University of California Press, 1992 อ้างใน บุญเลิศ วิเศษปรีชา, สมควรแล้ว: การเป็นปกติวิสัยของความรุนแรงที่กระทำต่อคนไร้บ้านในมะนิลา, วารสารสิทธิและสันติศึกษา, (2)1, 114.

หนึ่งในตัวอย่างความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายใต้วัฒนธรรมของระบบทหาร4อาชญา ข่าวสด, สู้ 10 ปี-ศาลทหารรับคดี ‘วิเชียร เผือกสม’ ดับ ครูฝึกโหดตื้บ-สั่งซ่อม หลานเปิดใจถูกคุกคาม, 15 ตุลาคม 2564 , มติชนออนไลน์, https://www.matichonweekly.com/column/article_472885 (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566)
เวลาเที่ยงวันของวันที่ 1 มิถุนายน 2554
ณ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส กลุ่มพลทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2554 กำลังรอรับประทานอาหารกลางวันในโรงครัว ขณะนั้น กลุ่มทหารต้องรับชมภาพอันหดหู่ โหดร้าย ภาพของการซ้อมทรมานพลทหารนายหนึ่ง ที่ถูกลงโทษทางวินัย เนื่องจากถูกหาว่าหลบหนีจากหน่วยฝึก
และนี่คือ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อชีวิต พลทหารวิเชียร เผือกสม ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา อ้างอิงตามรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งระบุว่า
กระบวนการลงโทษเปิดฉากด้วยการที่มีครูฝึกยศร้อยตรีนายหนึ่ง ลงมือทำร้ายตบไปยังใบหน้าคนพลทหารวิเชียร 2 ครั้งและบังคับให้กินพริกกระเทียมสด ๆ อย่างละ 3 – 4 เม็ด กับข้าวหนึ่งจาน ให้หมด หลังจากนั้น ก็ได้สั่งให้พลทหารผู้ช่วยครูฝึก 2 นาย นำพลทหารวิเชียรไปหลังหน่วยฝึก บริเวณหน้าห้องน้ำ เพื่อปรับปรุงวินัย ให้ออกกำลังกายบริหาร กระโดดกบ แองการู ท่ายุบสะโพก ให้แก้ผ้าเหลือแต่กางเกงในตัวเดียว
จากนั้น ได้มีการนำผู้ถูกลงโทษไปพบ ทหารยศร้อยโท ซึ่งได้สั่งให้ธำรงวินัยดำเนินต่อไป ด้วยการจับขาพลทหารวิเชียร ลากไปกับพื้นปูนซีเมนต์ ทั้งที่เปลือยกายอยู่ และความปวดแสบปวดร้อนทำให้พลทหารวิเชียรต้องร้องออกมาด้วยความเจ็บปวด
การธำรงวินัย ยังประกอบด้วยการรุมเตะ กระทืบที่ขา และลำตัวของพลทหารวิเชียร อีกทั้ง เพื่อให้เป็นการลงโทษอย่างสาสม กลุ่มนายทหารที่ทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียร จึงได้ใช้เกลือทาบริเวณบาดแผล ให้ความเจ็บปวดทวีความรุนแรงขึ้น มีการใช้เท้าเหยียบหน้าอก เหตุการณ์ลงโทษที่บรรยายมาข้างต้น เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานถึง 2 ชั่วโมง ก่อนจะนำตัวพลทหารทหาร ไปอาบน้ำและพาไปพักฟื้นที่ห้องพยาบาล (ในรายงาน ระบุด้วยว่า การทำร้ายร่างกายยังคงมีอยู่ แม้ว่าพลทหารวิเชียรกำลังพักฟื้นในหน่วยพยาบาลอยู่ก็ตาม)
แต่ทว่า ความรุนแรงไม่จบเพียงเท่านี้ กระบวนการซ้อมทรมานที่ระบบทหารให้ชื่อเรียกอย่างสละสลวยว่า การธำรงวินัย เริ่มต้นอีกครั้งเมื่อถึงช่วงเวลารับประทานอาหารเย็น เวลา 17.45 น. เจ้าหน้าที่ทหารยศสิบเอกเรียกรวมพลทหารทุกคนยังโรงครัว พร้อมสั่งให้พลทหารจำนวนหนึ่ง แบกพลทหารวิเชียร จากห้องพยาบาล ใช้ผ้าขาวห่อตัวเหลือแต่ใบหน้าพร้อมมัดตราสังข์ให้เหมือนศพ ตั้งขบวนแห่และพูดไว้อาลัยเหมือนแห่ศพ
ต่อมาพลทหารวิเชียร ก็ถูกบังคับให้ใส่กางเกงในตัวเดียวนั่งกินข้าวบนก้อนน้ำแข็ง โดยมีครูฝึกเอาน้ำแข็งมาประคบ ให้กินข้าวกับกระเทียมสด ๆ แล้วแบกร่างพลทหารวิเชียรมาหน้าหน่วยฝึก และใช้น้ำแข็งทับหน้าอก
เวลา 18.45 น. พลทหารวิเชียรถูกสั่งทำโทษ ธำรงวินัย โดยให้หมอบ-ลุก เมื่อทำช้า ฝ่ายครูฝึกก็ได้ใช้ไม้ไผ่ และเข็มขัดตีไปที่ลำตัว หลัง ก้น ขา จนถึงปลายเท้า ใช้เท้าเตะชายโครง หน้าอก กระทืบท้ายทอย จนคางกระแทกพื้นเป็นแผลแตก ใช้เท้าเตะไปที่หน้าจนเลือดออกปาก แม้พลทหารวิเชียรจะก้มกราบบอกเจ็บและจะไม่ทำอีกแล้ว แต่หนึ่งในครูฝึกก็ไม่หยุดกระทำ แถมยังใช้ไม้ตีสลับเตะ จากนั้นถูกร้อยตรีแย่งไม้ไป สิบเอกพูดว่า “ไม่มีไม้ใช้มือใช้เท้าแทนก็ได้” พร้อมท้าให้ไปฟ้อง ผบ.ทบ.ต่อหน้าทหารใหม่ 200 คนที่เข้าแถวอยู่
เวลาล่วงมาถึง 23.00 น. กระบวนการความรุนแรงยุติลง พลทหารเกณฑ์ทั้งหมดถูกสั่งให้ขึ้นโรงนอน ต่อมา เวลา 01.00 น. ของวันที่ 2 มิถุนายน 2554 เพื่อนพลทหารเกณฑ์ที่อยู่ในเหตุการณ์ ให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนฯ ว่า พลทหารวิเชียรร่างกายบอบช้ำ มีรอยบวมหลายแห่งตามร่างกาย ใต้คางมีบาดแผลลึก พลทหารวิเชียรได้ขอให้เพื่อนที่เป็นพลทหารด้วยกันพาไปห้องพยาบาล แต่ตอนแรกไม่มีใครกล้าพาไป
กระทั่งวันที่ 3 มิถุนายน 2554 เมื่ออาการหนักมาก จึงได้ส่งตัวพลทหารวิเชียรไปโรงพยาบาลเจาะไอร้อง และโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2554 พลทหารวิเชียรถูกส่งตัวเข้าห้องไอซียู แพทย์ระบุว่าชีพจรต่ำ ไร้การตอบสนองของร่างกาย และอาการทรุดลงอย่างต่อเนื่อง ท้ายสุด พลทหารวิเชียร เสียชีวิตลงในวันที่ 5 มิถุนายน 2554 เวลา 23.00 น. ซึ่งแพทย์ลงความเห็นสาเหตุการตายว่ามาจากไตวายเฉียบพลันจากกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง เพราะการถูกรุมซ้อมทำร้ายร่างกาย
เหตุการณ์ทั้งหมดข้างต้นเป็นนาทีแห่งความตายของพลทหารวิเชียรที่ดำเนินไปต่อเนื่องหลายชั่วโมง น่าเศร้าที่การเป็นพลทหารเกณฑ์ไม่ใช่ทางเลือกในชีวิตของเขา แต่เป็นชะตากรรมที่ไม่อาจเลี่ยงได้ในฐานะชายผู้มีสัญชาติไทยและไม่ได้ผ่านหลักสูตรการศึกษาวิชาทหารมาในตอนสมัยมัธยมปลาย พลทหารวิเชียรต้องกลายเป็นหนึ่งในเหยื่อของวัฒนธรรมความรุนแรงในระบบทหารที่ต้องถูกกระทำทรมานทารุณกรรมเยี่ยงสัตว์
วัฒนธรรมความรุนแรงตอกย้ำถึงระบบความสัมพันธ์ระหว่างทหารชั้นผู้น้อย พลทหารเกณฑ์กับกลุ่มนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา เป็นความสัมพันธ์ที่ฝ่ายแรกมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรงและเผชิญหน้ากับความตายได้ตลอดเวลา โดยมีการใช้วิธีการทางภาษาและบอกเล่ามาสร้างความชอบธรรมหรือความปกติให้กับเหตุวิปริตที่เกิดขึ้น นัยหนึ่ง ระบบการเกณฑ์ทหารและค่ายทหารจึงกลับกลายเป็นสถานที่แห่งความตายอันน่าสยดสยอง โดยมีมนุษย์ที่ประดับด้วยยศเป็นผู้กระทำการอันเหี้ยมโหด แต่ทั้งหมดถูกบดบังด้วยการประกอบสร้างความหมายใหม่ ว่า การกระทำอันน่าอัปยศเช่นนั้น เป็นเรื่องปกติของ ชายชาติทหาร และการรับใช้ชาติ
ตัวอย่างความรุนแรงและความตายของพลทหารอื่น ที่ได้รับการร้องและจากการตรวจสอบ ที่เน้นย้ำถึงวัฒนธรรมความรุนแรงในระบบทหาร5ข่าว, ย้อนรอย5คดี’ทหาร’ดัง ทารุณ-ทรมาน-ตายคาค่าย, 24 พฤศจิกายน 2560, เดลินิวส์, https://d.dailynews.co.th/regional/612033/ (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566)
• 29 มกราคม 2557 พลทหารสมชาย ศรีเอื้องดอย ทหารประจำค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ ได้แจ้งกับญาติทางโทรศัพท์ว่า ถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย ลงโทษด้วยการใช้ปี๊บคลุมศีรษะ ใช้อาวุธตีที่ศีรษะ แผ่นหลัง หน้าอก หลังจากนั้น พลทหารสมชายถูกส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ค่ายกาวิละ ด้วยอาการไอ เจ็บคอ เหนื่อย หอบ และเหงื่อแตก จนกระทั่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์ชันสูตรพลิกศพ พบว่าสาเหตุมาจากการติดเชื้อไข้หวัดนก
• 4 เมษายน 2559 พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด ทหารเกณฑ์สังกัด ร.152 พัน 1 ค่ายพยัคฆ์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่ถูกนายทหารมากกว่า 6 นาย ทำโทษเนื่องจากกระทำความผิดทางวินัย ซึ่งทางญาติของพลทหารได้เผยว่าก่อนเสียชีวิต พลทหารทรงธรรมได้มีเรื่องทะเลาะกับนายสิบ เหตุจับได้ว่าถูกนายสิบขโมยเงินของตนเองไป หลังจากนั้นพลทหารทรงธรรมจึงถูกลงโทษทางวินัยทั้งการใช้เท้าเตะที่บริเวณใบหน้า ลำตัวและใช้ไม้ตีตามร่างกาย ตั้งแต่ 21.00 น. วันที่ 1 เม.ย. 59 จนถึง 04.00 น. รุ่งเช้าของวันที่ 2 เม.ย. 59 จนกระทั่งมีอาการอ่อนเพลียล้มลงศีรษะฟาดลงกับพื้นไม่รู้สึกตัว ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยสภาพบอบช้ำจากการถูกทำร้าย และเสียชีวิตในที่สุด
• 1 เมษายน 2560 พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ทหารเกณฑ์ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี ถูกซ้อมโดยสิบเวรและพวก คือผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยการถอดเสื้อและกางเกงของพลทหารยุทธกินันท์ และใช้เสื้อกับสิ่งของที่คาดว่าเป็นกางเกงและผ้าขาวม้า ผูกคอพลทหารเบนซ์ติดกับคานลูกกรง ดึงขึ้นลง และยังใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วเจาะรูขนาดเล็กคลุมศีรษะ 1 นาที เพื่อให้หายใจแบบทรมาน ใช้เหล็กตีระฆังบอกเวลาตีศีรษะผู้ตายแบบย้ำ ๆ จากนั้นใช้ผ้าขาวม้าผูกขาผู้ตายและนำตัวไปแขวนบนขื่อลูกกรงในลักษณหัวห้อยลง นำตัวผู้ตายไปคลุมผ้าตากแดด ถ่ายภาพ สุดท้ายพลทหารเบนซ์อาการทรุด ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตด้วยภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ภาวะเลือดเป็นกรดและไตวาย
• 19 สิงหาคม 2560 พลทหารนพดล วรกิจพันธุ์ หารกองประจำการ กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 45 (มทบ.45) ผลัด 1 ค่ายวิภาวดีรังสิต อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อนทหารพาพลทหารนพดลมาส่งที่บ้านในสภาพอ่อนเพลีย โดยบอกว่าก่อนหน้านี้ถูกลงโทษทางวินัย จนมาพบนอนเสียชีวิตอยู่ในห้องในวันเดียวกัน สภาพศพมีเลือดออกตามปากและจมูก เบื้องต้นแพทย์แจ้งผลว่า มีเลือดคั่งในทรวงอก ปอด และหัวใจฉีก ม้ามแตก สาเหตุจากการโดนกระแทกอย่างรุนแรง
วัฒนธรรมความรุนแรง ต้องควบคู่กับ วัฒนธรรมลอยนวล
วัฒนธรรมความรุนแรง ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ หากปราศจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของกลไกการตรวจสอบและกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอาผิดทางวินัยและกฎหมายกับผู้กระทำความรุนแรง แทนที่การประทับตรารับรองความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงหรือเพิกเฉยละเลย และปล่อยให้ความตายของเหยื่อตกอยู่ในความเงียบ ดังนั้น วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเหล่าผู้กระทำความรุนแรง จึงเป็นสิ่งที่คอยค้ำจุนให้วัฒนธรรมความรุนแรงในกองทัพดำเนินไปอย่างต่อเนื่องได้
เมื่อไม่เคยบุคคลผู้กระทำความรุนแรงคนใด ถูกลงโทษตามกฎหมาย (แถมหลายคนยังคงเจริญเติบโตในหน้าที่การงานต่อเนื่อง) ก็เท่ากับว่า กองทัพหรือระบบทหารไม่เคยได้รับบทเรียนใด ๆ เลย จากการกระทำอันเลวร้ายของตน ชีวิตของพลทหาร ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวบ้านธรรมดาๆ ที่ต้องถูกเกณฑ์เข้ารับการฝึกตามค่ายต่าง ๆ จึงเสมือนถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย และอาจเผชิญกับความตายได้ตลอดเวลา
การทำให้เกิดการลอยนวลพ้นผิด ภายใต้บริบทการตายของพลทหารในค่ายทหาร อาจเป็นไปได้สองทาง6อาศัยข้อมูลจาก งานวิจัยเรื่อง ‘วิสามัญมรณะ : ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ’ โดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565 ทางแรกคือ วิธีการทางกฎหมาย ซึ่งหมายถึงกรณีที่กลไกทางกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเลือกที่จะไม่เอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง โดยมีผลจากการปฏิบัติการทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งในคดี เช่น การที่สั่งไม่ฟ้องโดยพนกงานอัยการทหาร หรือศาลทหารยกฟ้องคดีเพราะเหตุผลนานัปการ รวมทั้ง ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ หรือกระทั่ง การทำให้เกิดความล่าช้าในคดีจนคดีหมดอายุความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นสอบสวน
ส่วนวิธีการที่สอง คือ วิธีการนอกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่คุกคามพยานผู้เห็นเหตุการณ์ให้ไม่พยานไม่กล้าให้การตรงกับความจริง การปลอมแปลงเอกสาร รวมทั้งบิดเบือนผลชันสูตรพลิกศพเพื่อกลบเกลื่อนว่าการตายมีสาเหตุมาจากเหตุธรรมชาติ เช่น ป่วยตาย หรืออื่น ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการทำร้ายร่างกาย การปิดบังซุกซ่อนพยานหลักฐานชิ้นสำคัญ เช่น การลบภาพจากกล้องวงจรปิด และด้วยวิธีการนอกกฎหมาย นำไปสู่ความยุ่งยากในการเสาะแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง เพราะไม่สามารถเข้าถึงพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักได้ ข่มขู่หรือปิดปากด้วยการชดใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ญาติของพลทหารผู้ตาย ให้ยุติคดีจนท้ายที่สุด ศาลอาจต้องมีคำพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุที่ฝ่ายโจทก์หรือผู้เสียหายไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิดจนสิ้นข้อสงสัย

หยุดยั้งวงจรความรุนแรงและการลอยนวลพ้นผิด ด้วยกฎหมาย
5 มกราคม 2566 พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมคณะประชุมหารือเกี่ยวกับระเบียบและแนวทางในส่วนที่เกี่ยวข้องที่กองทัพบก ต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อาทิ ฐานความผิดการกระทำทรมาน การกระทำให้บุคคลสูญหาย การกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึง การบันทึกภาพและเสียง การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัวและการแจ้งการจับกุม เขตอำนาจศาล และความรับผิดของผู้บังคับบัญชา เป็นต้น
ทั้งนี้ พลเอก ณรงค์พันธ์ ยังได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวว่า7อาศัยข้อมูลจาก งานวิจัยเรื่อง ‘วิสามัญมรณะ : ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ’ โดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565 “ขอยืนยันความพร้อมที่จะดำเนินงานและปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ให้เป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และภาพลักษณ์ของประเทศต่อไป”
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ถือเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาวงจรความรุนแรงและการลอยนวลพ้นผิด จากกรณีพลทหารถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต เนื่องจากเป็นการอุดช่องว่างทางกฎหมายที่เดิมทีเป็นช่องโหว่ให้ผู้มีอำนาจหรือผู้ใช้ความรุนแรงฉวยโอกาสให้ตนเองกับพรรคพวกหนีจากความรับผิดทางกฎหมายไปได้ โดยสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว มีดังต่อไปนี้
• มาตรา 5 กำหนดว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้
(1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
(2) ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่ากระทำของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม
(3) ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
(4) เลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด
นับว่าผู้นั้นทำผิด ‘ฐานกระทำทรมาน’
• มาตรา 6 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐลงโทษหรือกระทำด้วยประการใดที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจที่มิใช่การกระทำความผิดตามมาตรา 5 ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
จากบทบัญญัติสองมาตราข้างต้น ย่อมหมายถึง หากมีกรณีทหารถูกซ้อมทรมาน ทำร้ายร่างกาย หรือลงโทษ ไม่ว่าจะอ้างว่าเป็นการธำรงวินัยหรืออะไรก็ตาม แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือกระทำด้วยประการใดที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ผู้กระทำจะต้องมีความรับผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 มีโทษตามมาตรา 35 หรือ หากเป็นความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 6 ต้องรับโทษตามมาตรา 36แล้วแต่กรณี นอกเหนือไปจากความผิดฐานทำร้ายกายหรือฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา
ในเรื่องบทกำหนดโทษ ฐานความผิดกระทำการทรมาน ผู้กระทำผิดอาจระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 15 ปีและปรับตั้งแต่ 1 – 3 แสนบาท หากผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส จะมีโทษหนักขึ้นจำคุก 10 – 25 ปี และปรับตั้งแต่ 2 – 5 แสนบาท และจะต้องรับโทษหนักขึ้น หากถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งมีโทษจำคุก 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 3 แสน – 1 ล้านบาท นอกจากโทษที่พูดถึงข้างต้น ยังระบุโทษถึงผู้ให้การสนับสนุน ผู้สมคบ รวมถึงผู้บังคับบัญชาที่ทราบการกระทำผิด ซึ่งมีโทษหนักเบาต่างกันออกไป
อนึ่ง ตามมาตรา 42 ผู้บังคับบัญชาผู้ใดทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตน จะกระทำหรือได้กระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น ไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อป้องกันหรือระงบการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการหรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องรับโทษกึ่งหนึ่ง สำหรับความผิดนั้นๆ
เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ระบุไว้ท้ายพระราชบัญญัติ ระบุว่า โดยที่การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ ดังนั้น เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย สมควรกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปรามและมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ
กฎหมายนี้จะมุ่งจำกัดการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าทีรัฐ พร้อมกับให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่อย่างไรก็ดี บทกฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในระบบของกฎหมายไทยมาก่อน และอาจไม่ใช่ยาวิเศษที่จะทำให้เหตุการณ์การทรมานหรือการกระทำโหดร้ายทารุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในค่ายทหาร หายไปแบบปลิดทิ้ง ทั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทำงานของกลไกอื่น ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกลไกของศาล กระบวนการยุติธรรมก่อนศาล กระบวนการสืบสวนสอบสวน การแสวงหาความจริง ที่ควรต้องอยู่บนหลักการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างจริงจัง
โดยประชาชนหวังว่า พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ฉบับดังกล่าว และเจตนารมณ์ของผู้นำกองทัพและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งในระบบทหารและศาลยุติธรรม จะสามารถลดและขจัดการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่เกิดกับทหารชั้นผู้น้อย ที่กลายเป็นวัฒนธรรมความรุนแรงในกองทัพ ได้ในที่สุด
ภาพวาดประกอบหน้าปก : ญาณ์สินี เนื่องจำนงค์
- 1บุรภัทร จันทร์ประทัด, ลงโทษ หยอกล้อ ฝึกซ้อม การทรมานร่างกายในระบบฝึกทหาร, 6 กันยายน 2564, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2021/09/94849 (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566)
- 2Scheper-Hughes, Nancy, Death without Weeping: The Violence of Everyday Life in Brazil. Berkeley: University of California Press, 1992 อ้างใน บุญเลิศ วิเศษปรีชา, สมควรแล้ว: การเป็นปกติวิสัยของความรุนแรงที่กระทำต่อคนไร้บ้านในมะนิลา, วารสารสิทธิและสันติศึกษา, (2)1, 114.
- 3Scheper-Hughes, Nancy, Death without Weeping: The Violence of Everyday Life in Brazil. Berkeley: University of California Press, 1992 อ้างใน บุญเลิศ วิเศษปรีชา, สมควรแล้ว: การเป็นปกติวิสัยของความรุนแรงที่กระทำต่อคนไร้บ้านในมะนิลา, วารสารสิทธิและสันติศึกษา, (2)1, 114.
- 4อาชญา ข่าวสด, สู้ 10 ปี-ศาลทหารรับคดี ‘วิเชียร เผือกสม’ ดับ ครูฝึกโหดตื้บ-สั่งซ่อม หลานเปิดใจถูกคุกคาม, 15 ตุลาคม 2564 , มติชนออนไลน์, https://www.matichonweekly.com/column/article_472885 (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566)
- 5ข่าว, ย้อนรอย5คดี’ทหาร’ดัง ทารุณ-ทรมาน-ตายคาค่าย, 24 พฤศจิกายน 2560, เดลินิวส์, https://d.dailynews.co.th/regional/612033/ (สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566)
- 6อาศัยข้อมูลจาก งานวิจัยเรื่อง ‘วิสามัญมรณะ : ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ’ โดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565
- 7อาศัยข้อมูลจาก งานวิจัยเรื่อง ‘วิสามัญมรณะ : ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ’ โดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565