[:th]CrCF Logo[:]

เปิดรายงานถึง UN เรื่อง “การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายทางจิตใจ” โดย เครือข่ายประชาสังคมต่อต้านการทรมานในประเทศไทย

Share

เปิดรายงานถึง UN เรื่อง “การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายทางจิตใจ” เสนอโดย เครือข่ายภาคประชาสังคมต่อต้านการทรมานในประเทศไทย (Coalition of Civil Society Organization Against Torture in Thailand)

รายงานเรื่อง การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายทางจิตใจ “เครือข่ายภาคประชาสังคมต่อต้านการทรมานในประเทศไทย” (ต่อไปนี้จะเรียก “เครือข่ายฯ”) ประกอบด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD), กลุ่มด้วยใจ, เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสองท่าน

นับแต่ปี 2547 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (นับจากนี้เรียก “มูลนิธิฯ”) ได้สังเกตการณ์ และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทรมาน (Torture) และการปฏิบัติและการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Cruel, Inhumane, and Degrading Treatment and Punishment: CIDTP, นับจากนี้เรียก “การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ”) ทั่วประเทศไทย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับเหยื่อการทรมานจำนวนมาก ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯเน้นทำงานในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ความขัดแย้งติดอาวุธระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ของรัฐ 1จังหวัดชายแดนใต้ประกอบด้วยปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย

เนื่องจากทางเราได้รับข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมากว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการทรมาน, การปฏิบัติที่โหดร้าย, การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น มูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับภาคีองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ เช่น กลุ่มด้วยใจ, เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD), เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) และประสานงานกับหน่วยงาน และผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ รวมทั้ง คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations Committee Against Torture: UNCAT) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) และนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์

ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานอย่างยาวนานกับเหยื่อการทรมาน ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ได้รวบรวมข้อมูลที่มูลนิธิฯและองค์กรภาคีต่างๆได้เก็บรวมรวมมาตลอดระหว่างการทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี มาใช้เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์เกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายฯ ทางจิตใจ (Psychological Torture and CIDTP) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

เครือข่ายฯ อาศัยข้อมูลที่รวบรวมจากการสังเกตการณ์เป็นประจำ เอกสารทางราชการ คำพิพากษา คำให้สัมภาษณ์ของเหยื่อการทรมาน และงานวิจัยเกี่ยวกับการทรมาน-การปฏิบัติที่โหดร้ายในจังหวัดชายแดนใต้ โดยระบุข้อมูลอ้างอิงในเชิงอรรถ และผนวกในด้านท้ายของรายงาน เนื้อหาจากการสัมภาษณ์เหยื่อการทรมานบางส่วน จะมีการระบุแหล่งที่มาตามตัวย่อขององค์กรซึ่งเป็นผู้สัมภาษณ์ (CrCF แทน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, DJ แทน กลุ่มด้วยใจ, HAP แทน เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี, และ JASAD แทน เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ) รวมทั้งระบุหมายเลขของการสัมภาษณ์ และปีที่มีเหตุการณ์ทรมานเกิดขึ้น

หมายเหตุ: ผู้สัมภาษณ์ยึดหลักการเก็บข้อมูลตามกระบวนการที่ระบุไว้ใน พิธีสารอิสตันบูล โดยบางโครงการเป็นการดำเนินงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนอาสาเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ (UN Voluntary Fund for Torture Victims)

1. แนวคิด นิยาม และองค์ประกอบ

ก) การปฏิบัติแบบไหนจึงเข้าข่ายของ “การทรมานทางจิตใจ/การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ”

Pau Pérez-Sales นักจิตเวชผู้เขียนหนังสือเรื่อง Psychological Torture: Definition, Evaluation, and Measurement (2016) ได้นิยาม “การทรมานทางจิตใจ” (psychological torture) ไว้ว่าเป็น “การใช้เทคนิคเพื่อทำร้ายทางความคิด อารมณ์ หรือความรู้สึก โดยมีเป้าหมายเป็นจิตเหนือสำนึก และก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานทางจิตใจ ความเสียหาย และ/หรือการทำลายอัตลักษณ์ของผู้ตกเป็นเหยื่อ อาจเป็นการใช้เฉพาะเทคนิคเหล่านี้ หรือใช้ร่วมกับเทคนิคอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงสะสม” (Pérez-Sales, น.8, 2560)

Pérez-Sales เสริมว่าการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่าง “ร่างกาย” กับ “จิตใจ” เป็นเพียงเงื่อนไขสมมติที่สร้างความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน เนื่องจากทั้งสองส่วนมีความเกี่ยวพัน ยึดโยงกันอย่างแนบแน่น ดังนั้น การทรมานทางกายมิได้ส่งผลเพียงที่ร่างกาย แต่ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของเหยื่อด้วย เช่นเดียวกัน การซ้อมทรมานทางจิตใจก็สามารถก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้ทั้งทางกายและใจได้ (อ้างแล้ว)

เครือข่ายฯ ยึดถือนิยามของการทรมานทางจิตใจตาม Pérez-Sales จึงให้ความสำคัญกับผลกระทบของการทรมานมากกว่าวิธีการทรมาน วิธีการทรมานใดๆที่ทำร้ายเหยื่อทางความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ ล้วนแล้วแต่ถือเป็นการทรมานทางจิตใจ ดังนั้น การทรมานทางจิตใจในแบบสอบถามนี้อาจครอบคลุมถึงการกระทำทั้งทางกายภาพและทางที่ไม่ใช่กายภาพ ตราบที่เป็นวิธีการซึ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางจิตใจ ความเสียหายและ/หรือการทำลายอัตลักษณ์ของผู้ตกเป็นเหยื่อ

จากการศึกษาวิจัยของเครือข่ายฯ พบว่า การกระทำหรือการงดเว้นการกระทำดังต่อไปนี้ อาจมีคุณลักษณะเป็นการทรมานทางจิตใจได้

วิธีการทางกาย
– การทำร้ายร่างกาย เช่น การซ้อม การตบ และการเตะ
– การบีบคอ
– การทำให้ขาดอ็อกซิเจน เช่น การเทน้ำราดใส่หน้าอย่างต่อเนื่องขณะนอนหงาย (Waterboarding) และการคลุมศีรษะด้วยถุงพลาสติก
– การขังเดี่ยวโดยให้อยู่ในอุณหภูมิที่สุดโต่ง

วิธีการที่ไม่ใช่ทางกาย
– การเหยียดหยามทางเพศ เช่น การบังคับให้เปลือยกาย/การบีบ การทำร้ายที่อวัยวะเพศ
– การบังคับให้อดนอน และรบกวนการหลับนอน
– การล้อเลียนความเชื่อทางศาสนา หรืออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์-วัฒนธรรม
– การข่มขู่ (ต่อตัวเหยื่อเอง และคนที่เขารัก) เพื่อกระตุ้นให้เกิดความกลัวตาย/กลัวเจ็บ
– จำกัดไม่ให้ครอบครัวเข้าเยี่ยม
– จำกัดไม่ให้ปฏิบัติตามหลักศาสนา และจำกัดไม่ให้ปฏิบัติตามหลักการบริโภคอาหาร

ในทุกกรณีที่ทางเครือข่ายฯ ได้รวบรวมและเก็บบันทึกไว้ มีการใช้วิธีทรมานทั้งสองประเภทประกอบกันเพื่อสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจให้กับเหยื่อ

ข) องค์ประกอบของการทรมาน/การปฏิบัติอย่างโหดร้ายฯ “ทางจิตใจ มักการทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือทรมานใจหรืออารมณ์ หรือบางครั้งแม้ไม่มีความเจ็บปวดหรือทรมานทางกาย แต่มุ่งโจมตีโดยเฉพาะความคิดและอารมณ์ โดยผ่านการทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทรมานอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งวิธีการอื่นๆ ประกอบกัน การทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้ายฯ ทุกกรณีที่ทางเครือข่ายฯ ได้รวบรวมและเก็บบันทึกไว้มีการใช้วิธีทรมานทั้งสองประเภทประกอบกันเพื่อสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจให้กับเหยื่อ

ค) ข้อห้าม เรื่อง “การไม่แตะ เนื้อต้องตัว” ทำให้เกิดการแยกแยะระหว่างการทรมาน/การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ “ทางจิตใจ” กับ “ทางกาย” ก็จริงแต่จากประสบการณ์ของเครือข่ายฯ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับกองกำลังความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ เจ้าหน้าที่ทหารมักอ้างว่าปฏิบัติตามกฎที่จะไม่แตะต้องตัวผู้ถูกควบคุมตัว เนื่องจากอ้างว่าไม่มีการ “แตะต้องตัว” ผู้ถูกควบคุมตัวทางการไทยจึงมักใช้การทรมานสีขาว (White Torture) ซึ่งเป็นกรรมวิธีทรมานแบบไม่แตะต้องตัว ยกตัวอย่างเช่น การรบกวนไม่ให้หลับนอน การบังคับให้อยู่ในท่วงท่าที่สร้างความเมื่อยล้า การขู่เข็ญบังคับ การดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรี เป็นต้น

ด้วยเหตุดังกล่าว หากรายงานโดยผู้รายงานพิเศษด้านการทรมานเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแยกแยะระหว่างการทรมาน และปฏิบัติที่โหดร้ายทางจิตใจ และร่างกาย ย่อมเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาสังคมในการรณรงค์กดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่ใช้การทรมาน ไม่ว่าจะเป็นการทรมานทางกายหรือทางใจ ไม่ว่าจะเป็นการแตะต้องตัวหรือไม่แตะต้องตัว รายงานนี้อาจผลักดันให้รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญในการออกกฎหมายปราบปรามและป้องกันการซ้อมทรมานที่ครอบคลุมถึงการทรมานที่ไม่แตะเนื้อต้องตัว แต่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางกายและใจได้

ง) ความสัมพันธ์ระหว่างการทรมาน/การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ “ทางจิตใจ” กับ “ทางกาย” มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ จากการเก็บข้อมูลด้านการทรมานนับแต่ปี 2554 เราพบว่า ผู้สอบปากคำมักสลับวิธีการที่นำมาใช้กับผู้ถูกควบคุมตัว ตั้งแต่การใช้วิธีแบบนุ่มนวลและพยายามทำความเข้าใจ ไปจนถึงการทรมานพวกเขา ผู้ถูกควบคุมตัวคนหนึ่งที่ระบุว่า

“ตอนที่ถูกจับไปสอบปากคำ มีกลุ่มผู้ชายตัวโตๆ เข้ามาในห้องตอนกลางคืน และทรมานผมจนถึงรุ่งเช้า จากนั้นก็มีอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาในช่วงกลางวันเพื่อสอบปากคำ เข้ามาพูดคุยและสอบถามเรื่องราวต่างๆ จากผม” (CrCF.08.2562)

“ผมรู้สึกสับสนมากระหว่างถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งทรมานผมด้วยการใช้ไม้ทุบที่ผ่าเท้าของผม แต่ว่าเวลากลางวัน เขากลับทำตัวดีมากกับผม” (CrCF.11.2562)

2. รูปแบบการปฏิบัติโดยภาครัฐ

ก) รูปแบบการทรมานทางจิตใจ/การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ ในบริบทจังหวัดชายแดนใต้

ในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย มีการต่อสู้ด้วยอาวุธที่รุนแรงหลายครั้งระหว่างกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ของรัฐ และกองทัพไทย ในช่วงศตวรรษที่ 20 จนกระทั่งความขัดแย้งค่อยๆ ลดน้อยลงในช่วงทศวรรษ 1980 การก่อความไม่สงบครั้งล่าสุดเริ่มขึ้นภายหลังเหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็งในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 และยืดเยื้อมาจนปัจจุบัน จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กร think tank ที่ทำหน้าที่สังเกตการณ์ และเก็บข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับความขัดแย้งเหล่านี้ ได้เกิดเหตุรุนแรง 20,451 ครั้ง ระหว่างเดือนมกราคม 2547 ถึงธันวาคม 2562 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7,053 คน และบาดเจ็บ 13,209 คน 2ดูข้อมูลทางสถิติเพิ่มเติมที่นี่ https://deepsouthwatch.org/en/node/11939

เพื่อตอบโต้กับการก่อความไม่สงบ รัฐบาลไทยได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและบังคับใช้กฎหมาย“พิเศษ” ด้านความมั่นคง รวมทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกให้อำนาจหน่วยงานความมั่นคงตรวจค้น เข้าไปยังอาคารสถานที่ จับกุม และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องขอหมายศาล ไม่มีการกำกับดูแลจากศาล

ในขณะที่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อนุญาตให้ขยายการควบคุมตัวได้รวมกันไม่เกิน 30 วัน โดยไม่มีหลักประกันคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานใดๆ ระหว่างการควบคุมตัว 37 วัน ในข้อสังเกตเชิงสรุปของคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ในการพิจารณาการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 คณะกรรมการระบุว่าได้รับ “ข้อกล่าวหาจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอว่า มีการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างสม่ำเสมอที่เกิดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหาร” ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจภายใต้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมตัวบุคคล3CAT/C/THA/CO/1

นับแต่ปี 2557 เครือข่ายฯ ได้เก็บข้อมูลการทรมานหลายประเภท และพบว่ามีแบบแผนที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อบังคับให้บอกข้อมูลหรือให้สารภาพ โดยผู้ถูกกล่าวหาว่าทรมานบุคคลอื่น (มักเป็นเจ้าหน้าที่ทหารพราน) จะใช้วิธีทรมานทั้งทางกายและไม่ใช่ทางกายร่วมกันในการสอบปากคำทุกครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเจ็บปวดทั้งทางกายและทางจิตใจ และการเอาชนะใจผู้ต้องสงสัย จากข้อมูลของเราพบว่า มีการใช้วิธีการดังต่อไปนี้เพื่อการทรมานทางจิตใจในบริบทนี้

การรบกวนไม่ให้นอน

การรบกวนไม่ให้นอนเป็นหนึ่งในวิธีการทรมานที่ใช้กันมากสุดในจังหวัดชายแดนใต้ ไม่เพียงกระทบต่อการทำงานทางร่างกาย หากยังทำให้เกิดความเหนื่อยล้า การตัดสินใจที่ไม่ดี และอาจทำให้เห็นภาพหลอนและทำให้เกิดการเก็บตัวในกรณีที่รุนแรง 4รายงานฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับการทรมานในจังหวัดชายแดนใต้ระหว่างปี 2557-2558 โปรดดู http://alrc.asia/article2/inprint/volume-14- 2/volume-15-number-02/?fbclid=IwAR1papQNEWrdNtl2O1T1AVOwhK6ih49SLtuHaJidvZdHWSxszpOnWwloIfA เราได้เก็บข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัวชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูอายุ 32 ปีคนหนึ่ง ซึ่งระบุว่า

“ในวันที่ 26 หรือ 27 มิถุนายน 2562 ผมถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไปที่โรงพักทุ่งยางแดงเพื่อสอบปากคำ ตำรวจและทหารพรานถามว่า ผมเคยเข้าร่วมกับกลุ่มก่อความไม่สงบหรือไม่ ผมได้ปฏิเสธไป จากนั้นพวกเขาก็ตบที่หน้าผมอย่างน้อย 10 ครั้ง ทหารคนหนึ่งใช้โทรศัพท์เคาะที่ศีรษะของผมจนหน้าจอแตก ส่วนศีรษะผมเลือดไหล […] ต่อมาในวันเดียวกัน พวกเขาส่งตัวผมไปที่ศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี มีการเปิดไฟในห้องตลอดเวลา และมีเจ้าหน้าที่เฝ้ายามข้างนอก ป้องกันไม่ให้ผมนอนหลับ ผมรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมาก ทุกๆ วัน ผมดื่มน้ำหกขวดที่ภรรยาเอามาให้ตอนที่มาเยี่ยมทุกวัน เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นติดต่อกันสามวัน ก่อนที่พวกเขาจะยอมให้ผมนอนหลับได้ในวันที่สี่” (CrCF..03.2562)

จากข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัวชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูอายุ 37 ปีอีกคนหนึ่งระบุว่า

“ผมถูกจับ และควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหารสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2559 และต่อมาในปี 2560 แต่จำวันที่ที่แน่ชัดไม่ได้ ในครั้งที่สองที่ถูกจับ ผมกำลังทำงานที่ร้านขายไก่ย่าง เจ้าหน้าที่พาตัวไปที่ค่ายประมาณสองทุ่ม สอบถามข้อมูลส่วนตัวสักพักหนึ่ง จากนั้นก็ปล่อยให้ไปนอนจนถึงเก้าโมงเช้าของอีกวัน แล้วก็เริ่มการสอบปากคำแบบไม่หยุดเลย พวกเขาจับตัวผมเปลือยกาย และเปลี่ยนหน้ามาสอบปากคำผมจนถึงตีสี่ทุกวัน

หลังจากนั้นพวกเขาไม่ยอมให้ผมนอน ทุกครั้งที่ผมเริ่มรู้สึกงีบไป เจ้าหน้าที่ก็จะเข้ามาตบหัว ในวันที่สาม ระหว่างการสอบปากคำ พวกเขาเอาผ้ามาโปะที่หน้า และราดน้ำใส่หน้าผมหลายครั้ง ทั้งยังขู่จะช็อตด้วยไฟฟ้า ผมรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมากเพราะไม่ได้หลับนอนเลย สุดท้ายก็เป็นลมล้มไป […]” (CrCF..01.2560)

ในบางกรณี การรบกวนไม่ให้นอนยังรวมถึงการทำให้เกิดเสียงดัง และการเปิดไฟสว่างภายในห้องควบคุมตัวเพื่อรบกวนการพักผ่อน ผู้ถูกควบคุมตัวอายุ 27 ปีกล่าวว่า

“ในวันที่ 19 มีนาคม 2557 ผมถูกจับตอนหกโมงเช้า พวกเขาพาตัวผมไปที่หน่วยเฉพาะกิจ 47 ตอนเก้าโมงเช้า และเริ่มสอบปากคำตอนบ่ายโมง ผมมีโอกาสได้นอนตอนสี่ทุ่ม ในวันที่สอง พวกเขาเริ่มสอบปากคำตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงบ่ายโมง ตอนนั้นผมอยู่ที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 47 เป็นเวลาหกวัน ทุกคืนจะมีเสียงรบกวนตลอดทั้งคืน ผมได้ยินเสียงไม้เคาะกับฝาผนัง เสียงสุนัขเห่าที่ด้านหน้าห้อง และยังมีการเปิดไฟไว้ตลอดทั้งคืน”

(กลุ่มด้วยใจ.15.2557)5เนื้อหาส่วนนี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วใน http://alrc.asia/article2/in-print/volume-14-2/volume-15- number-02/?fbclid=IwAR1papQNEWrdNtl2O1T1AVOwhK6ih49SLtuHaJidvZdHWSxszpOnWwloIfA

การดูหมิ่นทางเพศ

ผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนมากในจังหวัดชายแดนใต้ ตกเป็นเหยื่อของการดูหมิ่นทางเพศ ตั้งแต่ถูกบังคับให้เปลือยกายไปจนถึงการทำร้ายทางเพศ อดีตผู้ถูกควบคุมตัวชายวัย 28 ปีคนหนึ่งกล่าวว่า

“ในวันที่สี่ของการควบคุมตัว ผมถูกไฟช็อตหนึ่งครั้ง ระหว่างที่มีการปิดตาผม ผมเจ็บที่อัณฑะแต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผมรู้สึกแค่ว่าเจ้าหน้าที่ดึง และบีบอัณฑะของผม จนกระทั่งรู้สึกชาไปช่วงหนึ่ง ตอนนี้ผมไม่มีความรู้สึกทางเพศเลย พวกเขาเอาผมไปไว้ในห้องเย็น จับผมเปลือยกายต่อหน้าทหารพรานหญิง ทหารพรานหญิงพยายามเอาหน้าอกมาแตะที่หน้าผม หลังถูกทรมานหลายวัน ผมเริ่มปัสสาวะออกมาเป็นเลือด […] ผมรู้สึกกลัวมากตอนที่ถูกพาไปที่โรงพยาบาลทหารใกล้ๆ มีการฉีดยาเข้าที่สะโพก ผมถูกบังคับให้นอนที่เตียงในโรงพยาบาล”

(กลุ่มด้วยใจ.07.2558)

“ผมถูกจับในวันที่ 6 ตุลาคม 2561 ก่อนจะเอาตัวผมไปสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ขอให้ผมเอาปืนมาให้ดู พวกเขากล่าวหาว่าผมซ่อนปืนไว้หลังบ้าน เมื่อผมบอกว่าไม่มีปืนจะมาโชว์ พวกเขาก็บีบที่อัณฑะของผมอย่างแรงหลายครั้ง จนเกือบจะเป็นลม จากนั้นพวกเขาก็เอาตัวผมไปที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 43 เพื่อสอบปากคำต่อ […] ระหว่างการสอบปากคำ พวกเขาบังคับให้ผมถอดเสื้อผ้าทั้งหมด ในวันที่สี่ คนที่สอบปากคำเอาเทียนไขมาด้วย พวกเขาขู่จะใช้เทียนไขทรมานผมถ้าผมไม่ยอมให้ข้อมูล เมื่อผมปฏิเสธ พวกเขาจับผมผูกไว้กับเก้าอี้ และปล่อยให้น้ำตาเทียนหยดลงไปที่อวัยวะเพศของผม ผมปวดมาก ปวดจนขี้แตกเยี่ยวแตก ในคืนวันที่ห้า พวกเขาบิดอวัยวะเพศผม ผมรู้สึกเจ็บปวดมาก เวลาฉี่มีเลือดปนออกมาด้วย” (CrCF.08.2561)

“เจ้าหน้าที่สงสัยว่าผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับคาร์บอมบ์ที่อำเภอหนองจิก ระหว่างที่สอบปากคำ พวกเขาไม่ยอมให้ผมสวมเสื้อผ้าเลย ผมต้องเปลือยกายตลอดเวลา มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เจ้าหน้าที่เอาเชือกรัดที่อัณฑะและดึงเชือกจนแน่น ผมรู้สึกเจ็บมาก เจ้าหน้าที่บอกว่า ‘ไม่ต้องทำเป็นอายหรอก ฉันก็มีอวัยวะเพศเหมือนคุณ แค่สารภาพมาก็จบแล้วล่ะ’ ในห้องยังมีทหารพรานหญิงอยู่ด้วย ผมรู้สึกอับอายขายหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นจนทุกวันนี้” (CrCF.01.2560)

“สามีดิฉัน และดิฉันถูกจับช่วงเดียวกันในวันที่ 2 ธันวาคม 2559 เพราะเจ้าหน้าที่สงสัยว่าเราเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในปัตตานี เราถูกนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยไปด้วยรถคนละคัน และถูกแยกสอบปากคำคนละห้อง […] ในวันที่ 18 ของการควบคุมตัวพวกเขาพาเราไปที่อีกห้องหนึ่ง จับให้เรานั่งบนเก้าอี้หันหน้าเข้าหากัน มีทหารพรานหญิงหน้าตาสะสวยยืนอยู่ใกล้กับสามีดิฉัน เอาหน้าอกเข้ามาแตะที่ด้านหลังของสามี จากนั้นเธอก็ได้ใช้มือจับอัณฑะของสามีดิฉัน และพยายามจูบเขา เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ยืนดูพร้อมกับหัวเราะไปด้วย สามีดิฉันไม่สามารถทนต่อการลบหลู่ได้ เป็นเหตุให้เขารับสารภาพทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิด ดิฉันได้แต่ร้องไห้” (CrCF.02.2559)

การข่มขู่ครอบครัวและคนที่รัก

เพื่อให้ผู้ต้องสงสัยสารภาพหรือให้ข้อมูล เจ้าหน้าที่จะพูดจาข่มขู่ครอบครัวหรือคนที่รักของพวกเขา

“ในวันที่ 5 มกราคม 2562 เวลาประมาณทุ่มครึ่ง ดิฉันถูกจับที่บ้านที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องการข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของสามีดิฉัน ดิฉันไม่รู้ข้อมูลเลย แต่พวกเขาไม่เชื่อ พวกเขาจึงจับดิฉันไปที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 43 ต่อมาได้ส่งตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารเพื่อสอบปากคำต่อ ในวันแรกที่ถูกควบคุมตัว ทหารพรานหญิงเข้ามาตีสนิทกับดิฉัน เธอบอกว่าจะขอให้ทำอะไรก็ได้ที่ต้องการ แต่ผ่านไปไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่เริ่มไม่พอใจที่ดิฉันไม่ยอมให้ข้อมูลที่พวกเขาต้องการ ทหารพรานหญิงคนนี้จึงเข้ามาหาและพูดจาข่มขู่ เธอบอกว่าถ้าไม่ให้ความร่วมมือ เธอก็จะจับกุม และควบคุมตัวแม่ของดิฉันด้วย” (CrCF.05.2562)

“เจ้าหน้าที่ซึ่งสอบปากคำดิฉันบอกว่า ผู้ถูกควบคุมตัวอีกคนหนึ่งบอกเจ้าหน้าที่ว่าดิฉันเป็นผู้ก่อความไม่สงบ แต่ดิฉันปฏิเสธไป เขาจึงโกรธมาก เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้ายังปฏิเสธทุกข้อหา เขาจะสั่งย้ายพี่ชาย และพี่สาวดิฉันที่เป็นข้าราชการ และจะไปจับตัวน้องชายมาด้วย เจ้าหน้าที่ยังบอกว่าไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของพวกเขาได้ ดิฉันกลัวมากกับสิ่งที่เขาพูด” (CrCF.01.2560)

การล้อเลียนศาสนา

เหยื่อการทรมานชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูหลายคนให้ข้อมูลว่ารู้สึกขมขื่น เพราะถูกล้อเลียนด้านศาสนาระหว่างถูกควบคุมตัว อดีตผู้ถูกควบคุมตัวหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า

“หลังจากจับตัวดิฉัน พวกเขาขอให้ถอดฮียาบ (ผ้าคลุมหน้า) ออก และให้ถือภาพถ่ายของสามีไว้ระหว่างที่เขาถ่ายภาพดิฉัน ดิฉันรู้สึกถูกดูหมิ่น ไม่เคยมีใครกล้าขอให้ดิฉันถอดผ้าคลุมมาก่อนเลย ต่อมาพวกเขาพาดิฉันไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร และจับดิฉันถ่ายรูปอีก พวกเขาเอาแต่ถามว่าทำไมต้องสวมฮียาบ ‘หน้าตาก็สวยนิ ไม่เห็นต้องปิดหน้าเลย’ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอก ระหว่างที่สอบปากคำ พวกเขาขอให้ดิฉันถอดผ้าคลุมอีกครั้ง พวกเขาบอกว่ามันดูแปลกๆ และบอกว่าพวกก่อความไม่สงบชอบใส่ฮียาบแบบเดียวกับดิฉัน ทั้งยังเสริมด้วยว่า ผู้ก่อความไม่สงบถ้าไม่อยากเข้าคุกก็ต้องตาย เป็นเรื่องที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีอย่างมาก ดิฉันโกรธและกลัวมากในเวลาเดียวกัน” (CrCF..05.2562)

เป็นที่น่าสังเกตว่า การทรมานทางจิตใจไม่ได้ส่งผลเฉพาะระหว่างถูกควบคุมตัว ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนที่ มูลนิธิฯ สัมภาษณ์ในปี 2562 บอกว่า ยังคงรู้สึกอับอายอย่างต่อเนื่อง จากการกระทำของเจ้าหน้าที่แม้จนภายหลังได้รับการปล่อยตัวแล้ว มีอยู่คนหนึ่งบอกว่า เขายังถูกทหารสั่งให้ไปรายงานตัวที่ค่ายทหารใกล้บ้านทุกเดือน (CrCF. 03.2561) แค่การได้เห็นเจ้าหน้าที่ก็ทำให้เหยื่อการทรมานรู้สึกทุกข์ใจขึ้นมาอีก ทำให้เกิดภาพความทรงจำเก่าๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัว วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่แพร่หลาย อันเป็นผลมาจากการขาดกฎหมายเพื่อเอาผิดกับการทรมาน และการบังคับใช้กฎหมายพิเศษอย่างต่อเนื่อง ทำให้เหยื่อการทรมานไม่สามารถฟื้นฟูจิตใจตนเองภายหลังการทรมานได้

ข) การใช้วิธีการทรมานทางจิตใจ/ การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อ “ให้ได้มาซึ่งข้อมูล” “การบังคับขืนใจ” “การคุกคาม” และ “การลงโทษ” หรือ “เหตุผลที่เป็นการเลือกปฏิบัติใดๆ” 

การทรมานทางจิตใจเป็นวิธีการที่มักใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคง อย่างไรก็ดี เนื่องจากความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้เป็นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ คู่ขัดแย้งของฝ่ายรัฐคือกลุ่มมลายูมุสลิมที่ติดอาวุธ ชาวมลายูมุสลิมจึงถูกเหมารวมว่าเป็นศัตรูต่อรัฐ ทำให้ปฏิบัติการจับกุม ควบคุมตัว รวมถึงการซ้อมทรมานจึงมักส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อชาวมลายูมุสลิม

“ในปี 2559 ผมถูกจับเป็นครั้งแรก เจ้าหน้าที่พาตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารเพื่อสอบปากคำเป็นเวลา 14 วัน มีผู้สอบปากคำในห้องประมาณห้าคน สามคนเป็นพุทธ ส่วนอีกสองคนเป็นมุสลิม หนึ่งในนั้นบอกกับผมว่า ‘ต้องเข้าใจนะว่าเรามักสงสัยว่าชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูมีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นเสมอ’”

(CrCF..01.2559)

ค) ตัวอย่างรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายใดๆ เกี่ยวกับการทรมานทางจิตใจ/การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ

แม้ว่ามาตราที่ 32 ของรัฐธรรมนูญไทยห้ามไม่ให้ใครกระทำการทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อผู้อื่น แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายที่ทำให้การกระทำเหล่านี้เป็นความผิดทางอาญา

ตั้งแต่ประเทศไทยลงนามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention Against Torture: CAT) ในปี 2550 รัฐบาลก็ได้มีความพยายามหลายครั้งที่จะตรากฏหมายอาญาที่เกี่ยวกับการปราบปรามและป้องกันการซ้อมทรมาน

อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลไทยได้เข้ารับการตรวจสอบพันธกรณีกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมานประจำสหประชาชาติในปี 2556 กระทรวงยุติธรรมได้ร่างกฏหมายที่รวบรวมทั้งการปราบปรามและป้องกันการซ้อมทรมาน และการบังคับให้บุคคลสูญหายในฉบับเดียว โดยเรียกว่า “พระราชบัญญัติการปราบปราบและป้องกันการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย” อย่างไรก็ดี ร่างดังกล่าวได้ถูกส่งไปมาเพื่อแก้ไขระหว่างคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงยุติธรรมในช่วงปี 2557 – 2561 หลายรอบ จนถึงทุกวันนี้ ร่างกฏหมายฉบับนี้ยังคงติดอยู่ที่กระทรวงยุติธรรมและรอการส่งกลับเข้าไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกรอบ ดังนั้น การทรมานตามนิยามของอนุสัญญา CAT จึงยังมิได้เป็นความผิดทางอาญาในประเทศไทย

นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลไทย ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ยังไม่เคยอ้างถึงอนุสัญญา CAT ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทรมานซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้มีส่วนร่วมด้วย

3. ผลลัพธ์และปัญหาท้าทาย

ก) การใช้การทรมานทางจิตใจ/การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ ยังไม่เป็นความผิดทางอาญาและยังไม่เป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาดอย่างเป็นผล ยังคงไม่สามารถเอาผิดทางอาญา การป้องกัน การสอบสวน การฟ้องคดี การเยียวยาและการฟื้นฟูได้

เครือข่ายฯ จำแนกว่าปัจจัยต่อไปนี้เป็นอุปสรรคสำคัญ ต่อการดำเนินงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด การทรมานทางจิตใจ และการปฏิบัติที่โหดร้ายฯในจังหวัดชายแดนใต้

1 – ไม่มีหลักประกันคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานระหว่างการควบคุมตัวก่อนแจ้งข้อหา ในจังหวัดชายแดนใต้ รัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการโดยพลัน และอย่างเป็นผล เพื่อให้มีหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งในทางปฏิบัติและทางกฎหมาย สำหรับผู้ถูกควบคุมตัว ซึ่งถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ

ในปี 2550 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการเมืองของกองทัพไทย และรับผิดชอบต่อปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ได้จัดทำ “แนวปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (นับจากนี้เรียก “ระเบียบ กอ.รมน. (มกราคม 2550)”) โดยให้ถือเป็นแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าพนักงานที่ดูแลการควบคุมตัวก่อนแจ้งข้อหาตามกฎหมายพิเศษนี้

อย่างไรก็ดี หลักประกันสิทธิซึ่งกำหนดในแนวปฏิบัติ ถือว่าอ่อนแอกว่ามากเมื่อเทียบกับข้อบทประมวลกฏหมายพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในขณะที่แนวปฏิบัติของ กอ.รมน. ภาค 4 กำหนดข้อห้ามอย่างเด็ดขาดไม่ให้มีการปฏิบัติโดยมิชอบทางกาย รวมทั้งการพูดจาข่มขู่ การลบหลู่ และการทรมานผู้ถูกควบคุมตัว เครือข่ายฯ เห็นว่าการปฏิบัติมิชอบเช่นนั้นยังเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ตามระเบียบ กอ.รมน. (มกราคม 2550) “ต้องอนุญาต” ให้ญาติหรือทนายความเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้ในช่วงสามวันแรกหลังถูกจับกุม “เวลาเข้าเยี่ยมหลังสามวันแรกของการควบคุมตัว ญาติที่จะเข้าเยี่ยมจะสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวันระหว่างเวลา 09.00-10.00 น. และ 14.30-15.00 น. โดยผู้ถูกควบคุมตัวจะสามารถเข้าพบญาติได้ไม่เกิน 30 นาทีต่อวัน”

ระเบียบนี้ไม่ได้ห้ามการเข้าเยี่ยมในช่วงสามวันแรกอย่างชัดเจน แต่เครือข่ายฯ มีข้อมูลว่าในหลายกรณี การเข้าถึงผู้ถูกควบคุมตัวเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก การเยี่ยมเกิดขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอบางครั้งเยี่ยมไม่ได้ และมักไม่สอดคล้องกับระเบียบนี้ แม้จะมีการแก้ไขระเบียบให้เข้าเยี่ยมได้ 30 นาที แต่โดยทั่วไป ญาติจะมีเวลาเยี่ยมเพียง 2-3 นาทีต่อครั้ง นอกจากนั้น พวกเขายังถูกบังคับไม่ให้พูดภาษามลายูกับผู้ถูกควบคุมตัว ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่จะสามารถรับฟังคำสนทนาได้ ระเบียบนี้ไม่เพียงทำให้ผู้ถูกควบคุมตัว และญาติไม่สบายใจ กังวล และหวาดกลัว หากยังเป็นอุปสรรคสำคัญไม่ให้มีการรับประกันสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว

เครือข่ายฯ มีข้อสังเกตด้วยว่า ที่ผ่านมายังไม่มีกรณีใดที่ทนายความจะได้รับอนุญาตให้อยู่ร่วมระหว่างสอบปากคำ ตามที่ผู้ถูกควบคุมตัวร้องขอได้

2 – การขาดกลไกที่ไม่ลำเอียงเพื่อตรวจสอบและเข้าเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว

นับแต่การรัฐประหารในปี 2557 หน่วยงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ถูกห้ามไม่ให้เข้าเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวเพื่อสังเกตการณ์ได้ดังช่วงก่อนการรัฐประหาร ปัจจุบัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (นับจากนี้เรียก “กสม.”) เป็นเพียงองค์กรเดียวซึ่งมีอำนาจหน้าที่สังเกตการณ์และตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัว อย่างไรก็ดี ผู้ตรวจสอบมักต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ และหน่วยงานซึ่งดูแลการควบคุมตัวมักไม่ให้ความร่วมมือ กสม.จะเข้าเยี่ยมได้ก็ต่อเมื่อมีการแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวรับทราบล่วงหน้าเท่านั้น จึงยังไม่มีการประเมินสภาพจริงของสถานที่ควบคุมตัวต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจสอบเช่นนี้ไม่อาจสะท้อนถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของสถานที่ควบคุมตัวและสวัสดิภาพของผู้ถูกควบคุมตัวได้ ด้วยเหตุนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า ยังไม่มีมาตรการที่สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3 – ข้อจำกัดของการขอให้ศาลออกหมายเรียกตัวผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่คุมขังมายังศาล (habeas corpus)

ตามมาตรา 90 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีที่มีการอ้างว่าบุคคลถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายในคดีอาญา มาตรานี้อนุญาตให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอให้ปล่อยบุคคลจากการควบคุมตัว แต่จนปัจจุบันยังไม่มีการยื่นคำร้องให้ปล่อยตัวบุคคลจากการควบคุมตัวโดยพลการภายใต้กฎอัยการศึก ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีข้อมูลอย่างชัดเจนของสถานที่ควบคุมตัว และมักมีการส่งตัวบุคคลไปควบคุมตัวในหลายสถานที่ที่แตกต่างกัน โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ

ในจังหวัดชายแดนใต้ การยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกตัวผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่คุมขังมายังศาล มักเกิดขึ้นกรณีที่เป็นการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อย่างไรก็ดี ศาลมักตีความมาตรา 90 อย่างแคบๆ และเห็นว่าการควบคุมตัวบุคคลก่อนแจ้งข้อหาชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นไปตามอำนาจของกฎหมายพิเศษ ในขณะที่หน่วยงานสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่เห็นว่า การควบคุมตัวเช่นนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีข้อกล่าวหาว่าเกิดการทรมานขึ้น แต่ศาลก็ยังคงไม่รับพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ถูกควบคุมตัวในช่วงเวลาดังกล่าว เครือข่ายฯ สังเกตเห็นอย่างต่อเนื่องว่าหน่วยงานศาล ไม่มีความพยายามที่จะประกันให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัว การยกคำร้องส่งผลให้ศาลไม่มีโอกาสสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทรมาน และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่มากนักที่ได้รับค่าชดเชย

ข) จากกรณีศึกษา หรืองานวิชาการใดๆ เกี่ยวกับผลกระทบด้านจิตใจ อารมณ์ กายภาพและ/หรือสังคมจากการทรมานทางจิตใจ/การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ รวมทั้งข้อมูลด้านสุขภาพ ความสามารถทางร่างกาย กฎหมาย หรือขั้นตอนปฏิบัติอันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายมีอุปสรรคหลายประการในการเข้าร่วมในกระบวนการยุติธรรมได้ เช่น

1 – อุปสรรคในการได้รับการรักษาพยาบาล

ตามข้อมูลของกองทุนอาสาเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ สมาชิกของเครือข่ายฯ ได้จัดกิจกรรมให้คำปรึกษาส่วนบุคคลและการทำบำบัดแบบกลุ่มให้กับเหยื่อการทรมานในพื้นที่ชายแดนใต้นับแต่ปี 2559 โดยในกิจกรรมเหล่านี้ เราได้พบผลกระทบด้านจิตใจที่มักเกิดขึ้นกับเหยื่อการทรมาน ตั้งแต่ปฏิกิริยาต่างๆ ปัญหาในการนอน ภาวะโซมาติกและความตื่นเต้นกังวล เหยื่อหลายคนยังให้ข้อมูลว่ามีปัญหาในการจัดการกับความโกรธ เกิดความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ซึมเศร้า ภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD) ความตื่นเต้นกังวลและการขาดสมรรถภาพทางเพศ อย่างไรก็ดี มีสถานบริการเพียงไม่กี่แห่งที่ให้บริการด้านสุขภาพทางจิต และเหยื่อการทรมานมักมีความไม่ไว้วางใจต่อหน่วยงานของรัฐ ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งองค์กรสมาชิกของเครือข่ายฯ จึงมีบทบาทสำคัญเพื่อช่วยให้คนเหล่านี้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง

ในกรณีทั่วไป เหยื่อการทรมานในจังหวัดชายแดนใต้มักขอความช่วยเหลือทางการแพทย์จากบ้านธารธารา อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าโครงการแพทย์ไร้พรมแดนมักต้องดำเนินงานภายใต้แรงกดดันจากกองทัพไทย ทำให้ไม่สามารถออกใบรับรองแพทย์คนไข้ได้และต้องทำงานอย่างเงียบๆ นับเป็นอุปสรรคสำคัญในกรณีที่เหยื่อการทรมานต้องการหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทรมานและผลกระทบด้านจิตใจที่เกิดขึ้น

2 – อุปสรรคการเข้าถึงกระบวนการศาล

ดังที่กล่าวถึงข้างต้น เหยื่อการทรมานมักประสบปัญหาในการเข้าถึงหลักฐานที่หนักแน่นอย่างเช่น เวชระเบียน เพื่อใช้พิสูจน์ว่าตนเองได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากการทรมาน อย่างไรก็ดี เครือข่ายฯ เก็บข้อมูลสองกรณีศึกษาซึ่งผู้เสียหายสามารถหาหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพื่อพิสูจน์ผลกระทบด้านจิตใจที่เกิดจากการทรมานต่อตนเองได้ อย่างไรก็ดี ในทั้งสองกรณี ศาลปฏิเสธไม่รับฟังพยานหลักฐานเหล่านี้

– กรณี อิสมาอ เต๊ะ และ อามีซี มานาก

ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 เวลา 11 โมงเช้า ศาลปกครองจังหวัดสงขลามีคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขดำที่ 188/2552 ซึ่งนาย อิสมาแอ เต๊ะ จำเลยที่หนึ่ง และนาย อามีซี มานาก จำเลยที่สอง ขอให้ดำเนินคดีกับกองทัพบกไทย และกระทรวงกลาโหม จากการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายโดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก มีการกล่าวหาว่าระหว่างการควบคุมตัว โจทก์ทั้งสองคนและบุคคลอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัว ได้ตกเป็นเหยื่อการปฏิบัติมิชอบทางกาย และการทรมาน โดยถูกบังคับให้ต้องให้ข้อมูลและรับสารภาพ

ทนายความของโจทก์ได้ยื่นเอกสารต่อศาล ประกอบด้วยรายงานด้านนิติจิตเวชแสดงถึงผลกระทบด้านจิตใจจากการทรมานต่อโจทก์ โดยโจทก์ขอให้มีการจ่ายค่าชดเชย 1,000,000 บาทจากการที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยมิชอบทางกายกับพวกเขาระหว่างการควบคุมตัว แต่ศาลไม่รับพิจารณาคำร้องนี้ เพียงแต่สั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 250,000 บาทจากการควบคุมตัวโดยพลการ 6รายละเอียดเพิ่มเติมในกรณีนี้ โปรดดู https://crcfthailand.org/2011/06/24/2011_06_24_news- release_first-medical-and-phychiatry-report-on-torture-case-submitted-to-the-court-in-thailand/

ในอีกกรณีหนึ่ง นอกจังหวัดชายแดนใต้ ศาลไม่รับฟังหลักฐานที่พิสูจน์การทรมานทางจิตใจเช่นกัน

– กรณี ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร

ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ในคดีหมายเลขดำที่ อ.925/2558 โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 จำเลยได้ทรมานเขา บังคับให้รับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ แม้ว่าเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด เหตุเกิดขึ้นที่ สภ. เมืองปราจีนบุรี

ในวันที่ 10 มกราคม 2558 ฤทธิรงค์ได้ฟ้องต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวหาตำรวจเจ็ดนาย รวมทั้ง พ.ต.ท. วชิรพันธ์ โพธิราช และดาบตำรวจอธิคม ในคดีหมายเลขดำที่ อ.925/2558

ในวันที่ 28 กันยายน 2561 ศาลจังหวัดปราจีนบุรีมีคำพิพากษาว่า พ.ต.ท. วชิรพันธ์ โพธิราช มีความผิดตามพยานหลักฐานระหว่างการไต่สวน ศาลเห็นว่าโจทก์ได้ตกเป็นเหยื่อการทรมานของ พ.ต.ท. วชิรพันธ์ เพื่อให้รับสารภาพ และศาลเห็นว่าเป็นความผิดต่อมาตรา 157, 200, 295, 309, 301, 391 และ 83 ของประมวลกฎหมายอาญา และเป็นการใช้อำนาจอย่างมิชอบ พร้อมทั้งสั่งให้จำคุกจำเลยเป็นเวลาสองปี และปรับ 12,000 บาท

ในชั้นการพิจารณาคดีทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฤทธิรงค์ได้นำเสนอพยานหลักฐานเป็นเวชระเบียนจากโรงพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งมีรายละเอียดอาการบาดเจ็บของเขาจากการเดินทางไปตรวจรักษาในวันต่อมา ยื่นต่อศาล ต่อมาฤทธิรงค์ยังเกิดภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง และตกลงเข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ เขาได้นำใบรับรองแพทย์ทั่วไปและจิตแพทย์มายื่นต่อศาลด้วย อย่างไรก็ดี ศาลพิพากษาว่า ฤทธิรงค์ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย (ศาลระบุถึง “รอยขีดข่วนสีแดงเล็กๆ”) และไม่รับฟังข้อมูลผลกระทบด้านจิตใจของเขาและพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลจังหวัดปราจีนบุรีที่ไม่รับฟังผลกระทบทางด้านจิตใจที่มีต่อเขามาตลอดสิบปี 7รายละเอียดเพิ่มเติมในกรณีนี้ โปรดดู https://crcfthailand.org/2018/10/05/12276/

4. การปฏิบัติที่ดีสุดและข้อเสนอแนะ

จากการพิจารณาบริบทอันเป็นเหตุให้เกิดแบบแผนการทรมานทางจิตใจ/การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ อย่างแพร่หลาย กรุณาระบุการปฏิบัติที่ดีสุดและข้อเสนอแนะ พร้อมกับให้ความเห็นว่าจะป้องกันและแก้ไขการปฏิบัติมิชอบนั้นอย่างไร กรุณาตอบคำถามโดยเน้นข้อมูลดังต่อไปนี้

ก) การเอาชนะอคติที่มีอยู่ โครงสร้างที่มีตำแหน่งที่สูงต่ำต่างกัน และความเข้าใจผิดอันเป็นเหตุให้เกิดความแพร่หลายและ/หรือการไม่ให้ความสำคัญกับการทรมานทางจิตใจ/การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ

ข) การอบรม/เครื่องมือที่ควรจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนองค์ความรู้ที่มีอยู่ การรับรู้ นโยบายและกระบวนการ

ค) แนวทางเพื่อส่งเสริมการสนทนาระหว่างวิทยาศาสตร์กับกฎหมาย การพัฒนามาตรฐานในการจำแนกและการเก็บข้อมูลการทรมานทางจิตใจ/การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ และช่วยป้องกัน ฟ้องคดี และการพิจารณาคดี

ง) ระบุถึงแนวทางการฟื้นฟูและรักษาเหยื่อของการทรมานทางจิตใจ/การปฏิบัติที่โหดร้ายฯ

จากการทำงานกับเหยื่อการทรมานโดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนอาสาเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ ระหว่างปี 2559-2562 เครือข่ายฯ ได้ปรึกษาหารือกับนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ และมีข้อเสนอแนะดังนี้

1. ระดับบุคคล

ก. ยังคงให้การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) ต่อไปสำหรับผู้ที่ได้รับการจำแนกว่ามีอาการ PTSD โดยนักจิตเวชหรือนักจิตวิทยาคลินิก
ข. จัดให้มีการบำบัดเพิ่มเติมแบบ CBT สำหรับผู้ป่วยร้ายแรงอื่นๆ นอกเหนือจากอาการ PTSD อย่างเช่น อาการซึมเศร้าและตื่นเต้นกังวลทั่วไป

2. ระดับกลุ่ม

ก. การให้ความรู้ด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับอาการ PTSD
ข. สุขลักษณะด้านการนอน
ค. การฝึกอบรมการพักผ่อน สำหรับผู้มีภาวะโซมาติก และการจัดการกับความเจ็บปวด
ง. การจัดการกับความโกรธ
จ. การสนับสนุนแบบกลุ่มให้กับเหยื่อการทรมาน (การบำบัดแบบกลุ่มประจำเดือน)

3. ระดับชุมชน

ก. สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับความเจ็บปวดและผลของความเจ็บปวดทางจิตใจ
ข. โครงการภาคสนามหรือการสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กและสมาชิกในครอบครัวของอดีตผู้ถูกควบคุมตัว
ค. การอบรมเพื่อสร้างเสริมศักยภาพให้กับสมาชิกในชุมชน เกี่ยวกับโครงการบำบัดสำหรับกลุ่ม