เสวนา พรบ. อุ้มต้องไม่หาย สถานการณ์ร่าง พ.ร.บ. ล่าสุดในสภาฯ, เราจะอยู่กันอย่างไรในสังคมที่การบังคับสูญหายไม่เป็นความผิดทางอาญา?

Share

บันทึกโดย ทิพาพร สนั่นเมือง เรียบเรียง/เรื่องโดย อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ

แม้ปัจจุบันโลกจะเข้าสู่ยุคสมัยที่สังคมต่างให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนความเป็นอิสรเสรี หลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน อันประกอบด้วย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ผู้คนต่างหยิบยกมาพูดถึงและถกเถียงกันมากขึ้นถึงขอบเขตและความจำเป็นในการใช้ชีวิตร่วมกันของสังคมมนุษย์นับแต่นี้

หากแต่ในสังคมไทย การนำหลักการสิทธิมนุษยชนมาปรับใช้ในการกำหนดขอบเขตทางกฎหมาย และนโยบายรัฐยังคงมีลักษณะคลุมเครือและยังไม่เห็นเป็นภาพชัดว่า รัฐไทยได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พลเมืองรัฐทุกคนควรได้รับตามระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากปัจจุบันยังปรากฏพบว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชนอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่อาศัยอำนาจตามกฎหมาย และอำนาจนอกเหนือกฎหมาย ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดการกระทำที่ร้ายแรง และไม่อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย อาทิเช่น การซ้อมทรมานในพื้นที่ปิดต่างๆ อย่างห้องสอบสวน ค่ายทหาร หรือแม้แต่การบังคับสูญหายก็ตาม

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย จึงเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดกรอบเกณฑ์ในการป้องกันการซ้อมทรมาน และบังคับสูญหาย รวมทั้งทำให้การซ้อมทรมานและบังคับสูญหายกลายเป็นความผิดทางอาญาที่สามารถฟ้องร้องดำเนินการทางกฎหมายโดยไม่มีอายุความ แม้ว่าล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 คณะกรรมธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้มีมติส่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และนำไปสู่ขั้นตอนกระบวนการออกกฎหมายต่อไป แต่จนขณะนี้ก็เป็นเวลากว่า 7 เดือนแล้วที่กฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในสมัยประชุมสภาครั้งใดเลย

เสวนา “พ.ร.บ. อุ้มต้องไม่หาย สถานการณ์ร่าง พ.ร.บ. ล่าสุดในสภา” จัดขึ้น เพื่อรายงานสถานการณ์ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ในรัฐสภาว่ามีความคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด พร้อมทั้งทบทวนความจำอีกครั้งว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านมติที่ประชุมสภา จะเกิดผลเสียอย่างไรต่อสังคมบ้าง โดยเสวนาดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หะยีสุหลง ถนนรามโกมุท ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

เสวนาครั้งนี้ เป็นวงพูดคุยกันระหว่าง แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, จตุรนต์ เอี่ยมโสภา สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี, สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ตัวแทนครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย กรณี “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์”, นาซีเราะ วาโซ๊ะ ตัวแทนครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ นูรฮายาตี สาเมาะ ตัวแทนองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี(HAP)

เพชรดาว โต๊ะมีนา: เมื่อการออก พ.ร.บ. อุ้มหาย คือความหวังของครอบครัวผู้สูญหายตลอด 12 ปี

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา เริ่มต้นบทสนทนา ด้วยการทำงานในรัฐสภา เกี่ยวกับขับเคลื่อนกฎหมาย พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายว่า นับตั้งแต่มีการณรงค์ผลักดันการต่อต้านการซ้อมทรมานและอุ้มหายในสภาเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา เราได้พบกับ คุณพรเพ็ญ และ คุณสิตานัน ในห้องประชุมของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน รวมทั้งห้องแถลงข่าวที่มีคณะอนุกรรมาธิการบางส่วนเข้าร่วมด้วย ถือเป็นการขับเคลื่อนครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการอุ้มหายเริ่มจะมีหวังกับกระบวนการรัฐสภามากขึ้น

จนถึงทุกวันนี้ เรายังคงไม่สามารถหาคำตอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา เมื่อ 67 ปีก่อนได้ในทุกเรื่อง และดูเหมือนว่า จนถึงขณะนี้เหตุการณ์ในทำนองเดิมนี้ยังคงถูกส่งทอดให้เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ ครอบครัว และส่งผลให้เราทุกคนที่นี้ต้องเผชิญกับคำว่า “บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย” ความเจ็บปวดของผู้คนที่อยู่ข้างหลังคนเหล่านั้นทำให้เราทุกคนต่างเห็นความสำคัญว่า พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและลดช่องว่างของกระบวนการนอกกฎหมายได้

แม้ว่า ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ. นี้ จะมีอยู่ประมาณ 4-5 ร่าง ประกอบด้วย ฉบับร่างของรัฐบาล ฉบับร่างของคณะกรรมการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ฉบับร่างของ พรรคประชาธิปัตย์, ฉบับร่างของ พรรคประชาชาติ และฉบับร่างของประชาชน แต่สถานะของร่าง พ.ร.บ. นี้ทุกฉบับยังคงอยู่ในวาระรอการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร

ก่อนหน้านี้ ตนมีโอกาสได้พูดคุยกับ อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ถึงสถานการณ์ของร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายว่ามีความก้าวหน้าอย่างไรบ้าง จึงทราบว่า ฉบับร่างรัฐบาลได้เข้าสู่สภา และผ่านมติของคณะกรรมการกลั่นกรองของวิปรัฐบาลแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า หากเปิดประชุมสมัยหน้าในเดือนพฤษภาคมนี้ เราน่าจะได้เห็นร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเข้าสภาเพื่อพิจารณาวาระหนึ่งสักที

เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. นี้ถูกทำให้แท้งมาหลายวาระแล้ว นับตั้งแต่สมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลาหลายปี หลายวาระแล้ว ซึ่งสมัยประชุมที่จะถึงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะได้รับทราบข่าวดีถึงการมาของ พ.ร.บ. ฉบับนี้

แม้จะเป็นโจษจันสำหรับประชาชนเช่นกันว่า เนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 4-5 ฉบับนี้ มีความแตกต่าง หรือคล้ายคลึงกันอย่างไรบ้าง ต้องเรียนว่า ร่าง พ.ร.บ. ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่มีลักษณะที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่สิ่งที่อยากเน้นย้ำกับทุกคนคือ ให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าไปในสภา และมีมติให้ประกาศกฎหมายนี้ใช้ก่อน เนื่องจากการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้ต้องมีความผิดในทางอาญาสำหรับผู้กระทำผิด ต้องมีการป้องกัน ปราบปราม และยุติการอุ้มหาย ไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่รวมถึงทั่วโลกด้วย

หากเราติดตามทั่วโลกตอนนี้จะพบว่า ประเทศซีเรียมีจำนวนของผู้ถูกบังคับสูญหายมากเป็นจำนวนกว่าหลายแสนคน ตัวเลขเหล่านี้คงจะไม่มีรัฐบาลประเทศไหนติดตาม และคงไม่มีปรากฏหลักฐานให้เป็นประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำการบังคับสูญหายบุคคล ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

วันนี้ ในฐานะที่เราเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครัฐบาล และอยู่ในคณะกรรมาธิการหลากหลายคณะ ขอยืนยันว่า หากร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เข้าสู่สภาเมื่อไหร่ เราพร้อมที่จะรับรองให้ผ่าน เพราะเราทุกคนต่างต้องการให้มีกฎหมายฉบับนี้มาตั้งนานแล้ว ระยะเวลากว่า 12 ปีที่เราทุกคนต่างนั่งถกเถียง และอธิบายกันอย่างมากมายเพื่อการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของการอุ้มหายและซ้อมทรมาน

โดยเฉพาะในรัฐสภาเราต่างกระตุ้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ให้ช่วยกันลงชื่อ เพื่อให้ผ่านเข้าสภาและมีมติประกาศใช้เป็นกฎหมาย เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ เหลือเวลาอีก 2 ปี หากไม่มีเหตุยุบสภาหรือเกิดอะไรขึ้นก่อน เราก็หวังว่า กฎหมายฉบับนี้จะต้องถูกประกาศใช้เสียที

อีกทั้ง ในฐานะที่เราเป็นคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นลูกหลานของหนึ่งในผู้ถูกบังคับสูญหายในอดีต รวมทั้งเป็นผู้ทำงานเยียวยาจิตใจกับหลายครอบครัวที่ประสบปัญหาจากการบังคับสูญหายบุคคลในครอบครัว ที่ผ่านมาเรารับรู้และเข้าใจว่า ความรู้สึกของคนเราเมื่อไม่รู้ว่าคนที่รักอยู่ที่ไหน จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร และจะสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้หรือไม่ยังคงเป็นเรื่องที่ชวนให้กระอักกระอ่วนอยู่ภายในใจอย่างมาก

หรือแม้กระทั่ง ประเด็นเกี่ยวกับการใช้กระบวนการทางกฎหมายที่ไม่สามารถจะกระทำอะไรได้เลย ทั้งหมดทำให้สมัยประชุมหน้าที่กำลังจะเปิด เราอาจจะต้องพิจารณากันอีกว่า จำนวนร่างกฎหมายทั้งหมด 4-5 ร่างที่เข้าไปจะมีร่างฉบับไหนที่ได้รับการเลือกเข้าไปพิจารณาบ้าง หากเป็นร่างฉบับรัฐบาล สภาจะเอาเข้าไปพิจารณาเร็วกว่าร่างฉบับอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของกฎหมาย ขณะที่การยื่นญัตติเรื่องกระบวนการสันติภาพก็เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องของการอุ้มหาย แต่จนบัดนี้ก็เป็นเวลากว่าหลายเดือนหลายปีแล้ว ญัตตินี้ก็ยังไม่เข้าไปในสภาเสียที

เราหวังว่าสำหรับเวทีในวันนี้ พร้อมด้วยสถานที่แห่งนี้ การรวมตัวกันของพวกเราจะไม่สูญเปล่า ในฐานะครอบครับที่ได้รับผลกระทบการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าใจความรู้สึกของกันและกัน

จากรัฐไทยสู่ปลายด้ามขวาน: การอุ้มหาย เอกสารข้อความ และบาดแผลที่ยังหลงเหลืออยู่

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เสวนาเริ่มต้นจาก นูรฮายาตี สาเมาะ ชวนทุกคนพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประเด็นการอุ้มหายที่ไม่หายในสังคม กับ คุณบอย จตุรนต์ เอี่ยมโสภา นักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี คุณเจน สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และคุณ นาซีเราะ วาโซ๊ะ จุดร่วมของทุกคนในที่นี้คือ ทุกคนคือผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับสูญหายบุคคลในครอบครัว แม้ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ต่างกรรมต่างวาระ แต่การมาร่วมพูดคุยในวันนี้จะทำให้เราต่างเข้าใจกันมากขึ้นว่า

ท้ายที่สุดแล้วการบังคับสูญหายได้สร้างความทุกข์ทรมานอย่างไรให้กับคนที่ข้างหลัง รวมทั้งคำอธิบายว่า ทำไมการออกมาขับเคลื่อนและผลักดันให้ยุติการอุ้มหายในสังคมถึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

จตุรนต์ เอี่ยมโสภา ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับสูญหาย กรณี หะยีสุหลง โต๊ะมีนา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ หะยีสุหลง ถูกจับเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2491 ข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน และหมิ่นประมาทรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นกฎหมายลักษณะอาญา แต่ถึงที่สุดแล้วศาลตัดสินจำคุกหะยีสุหลง 4 ปี 8 เดือน ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทรัฐบาลไทย จากเหตุไปให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Straits Times ของสิงคโปร์ บริติชมาลายา (ขณะนั้น) ว่า “รัฐบาลสยามดูแลคนปัตตานีเหมือนพลเมืองชั้นสอง ตัวอย่างที่ชัดเจนสามารถดูได้จากบ้านพักของข้าราชการที่แย่ยิ่งกว่าเล้าไก่” มีเพียงข้อความนี้เท่านั้นที่ศาลตัดสินในข้อหาดังกล่าว ขณะที่ข้อหากบฏแบ่งแยกยกฟ้อง

สำหรับคนในพื้นที่ และครอบครัวโต๊ะมีนาแล้ว หะยีสุหลงไม่ใช่กบฏ แต่ที่ถูกศาลตัดสิน อันมาเนื่องจากข้อหาหมิ่นประมาทรัฐบาลขณะพูดความจริง แต่ในทางกฎหมายลักษณะอาญาขณะนั้น การหมิ่นรัฐบาลไปถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่กบฏ จึงถือเป็นเรื่องของการตีความทางกฎหมายในสมัยนั้น ขณะที่ภายการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาในปี 2500 ข้อหาหมิ่นประมาทรัฐบาล หากเป็นการหมิ่นประมาทรัฐบาลบนหน้าหนังสือพิมพ์จะถูกเอาโซ่ไปล่ามแท่นพิมพ์ 3-7 วันเท่านั้น

กรณีการสูญหายของหะยีสุหลง ครอบครัวโต๊ะมีนาอาจจะโชคดีกว่าครอบครัวอื่นๆ ที่ถูกอุ้มหาย เนื่องจากครอบครัวของเรารู้ว่า คุณพ่อ คุณตา หรือคุณปู่ของเราเสียชีวิตเป็นที่แน่นอน เพราะว่าหลังจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2497 จอมพลสฤษฎิ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบังคับสูญหายของหะยีสุหลงและคณะ ในคณะกรรมการชุดนั้น ประกอบด้วย พลตำรวจจัตวาฉัตร หนุนภักดี เป็นหัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และปลัดอรุณ พงษ์ประเสริฐ ผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของหะยีสุหลง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นปลัดอำเภอหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ร่วมอยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ด้วย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

กล่าวมาจนถึงตอนนี้ ทุกคนอาจรู้สึกไม่แปลกใจว่า เมื่อมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ทำไมรัฐไทยถึงใช้วิธีแต่งตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา เพราะรัฐไทยใช้วิธีการเช่นนี้มาตั้งแต่ 60-70 ปีที่แล้ว และเช่นกันเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการแล้ว เรื่องทุกเรื่องก็จะเงียบหายไป โดยอ้างว่าอยู่ในระหว่างค้นหาและตรวจสอบข้อเท็จจริง

สุดท้ายแล้ว คณะกรรมการได้จัดส่งเอกสารบันทึกสอบสวนที่กองกำกับการสันติบาลสงขลา ของหะยีสุหลง เมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม ซึ่งเป็นเอกสารที่ลับมากและไม่เคยมีใครได้เห็นยกเว้นครอบครัวโต๊ะมีนา เอกสารฉบับนี้ปลัดอรุณที่ได้ส่งมอบคุณยายและครอบครัว เพื่อเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าว่า หากจะเดินหน้าตามหาความจริงแล้ว ท้ายที่สุดก็อาจมีเอกสารบันทึกเก็บซ่อนไว้ที่ใดที่หนึ่งในประเทศนี้

สาระสำคัญในเอกสารฉบับนี้กล่าวว่า “ภายหลังการไปรายงานตัว หะยีสุหลง โต๊ะมีนา และพวกถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งจับตัวไปไว้ที่บังกะโล แถวทะเลสาบสงขลา ก่อนจะลงมือฆาตกรรมโดยการรัดคอ เมื่อทั้ง 4 คนเสียชีวิตแล้ว นายตำรวจกลุ่มนี้จึงคิดหาวิธีอำพรางศพ เนื่องจากถ้านำฝังลงดินจะเสี่ยงต่อการค้นพบ จึงตัดสินใจผ่าท้อง และเอาแท่งปูนซีเมนต์ใส่ จากนั้นจึงมัดใส่กระสอบและเอาไปทิ้งบริเวณเกาะหนู เกาะแมว ในทะเลสาบสงขลา”

ภายหลังได้รับคำสารภาพของกลุ่มฆาตกรแล้ว จอมพลสฤษดิ์ได้มีคำสั่งให้นักประดาน้ำไปค้นหาศพที่บริเวณเกาะหนู เกาะแมว เป็นเวลา 3 วัน ในช่วงปี 2501 แต่ขณะถูกฆ่าคือปี 2497 ซึ่งเวลาได้ล่วงเลยมา 3 ปีกว่าแล้ว เป็นผลให้การค้นหาหาศพของหะยีสุหลง และคณะในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวน พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่พบเจอวัตถุพยานใด เนื่องจากตอนนั้นเราใช้ประมวลกฎหมายอาญาแล้วในปี 2500

หลังจากค้นหาศพแล้วไม่พบอะไรเลย แม้กระทั่งแท่งปูนซีเมนต์ที่ใส่ลงไปในศพแล้วมัด สุดท้ายอัยการได้ทำหนังสือถึงคุณยายว่า ไม่สามารถดำเนินคดีใดๆ ได้ เนื่องจากไม่มีประจักษ์พยานหลักฐาน ท้ายที่สุดภายหลังการสูญหายของหะยีสุหลง 7 ปี คุณพ่อของแพทย์หญิง เพชรดาว ได้ฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งว่า หะยีสุหลงเป็นบุคคลสูญหาย เราถึงจัดการเรื่องต่างๆ ตามกระบวนการกฎหมายได้

ขณะที่ เมื่อพูดถึงในทางศาสนา อิสลามจะยังไม่ให้สิทธิในการจัดการมรดก หากยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เจ้าของมรดกเสียชีวิต เช่นนั้นจึงเป็นเหตุผลที่อาจบอกได้ว่า ครอบครัวของเราโชคดีที่รู้ว่า คนในครอบครัวเสียชีวิตแล้ว ครอบครัวของเราจึงทำใจได้เร็ว และจัดการสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมรดกได้ ขณะที่ครอบครัวอื่นๆ ยังต้องรอการยืนยันว่า บุคคลในครอบครัวของตนมีสถานะเป็นเช่นไร ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายที่กำลังเข้าไปว่า จะมีวิธีพิจารณาเพื่อจัดการในทางคดีและมรดกของผู้ถูกบังคับสูญหายอย่างไร

สิ่งที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับ จตุรนต์ คือ ข่าวเมื่อปี 2562 ที่พบ 2 ศพลอยมาตามแม่น้ำโขง ปรากฏภายหลังเป็นศพของ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และ ไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) แต่ข้อเท็จที่น่าตกใจคือ วิธีการฆาตกรรม 2 คนนี้เหมือนกับการฆาตกรรมหะยีสุหลง เมื่อ 65 ปีก่อน การที่วิธีฆ่าเช่นนี้ปรากฏอยู่ หมายความว่ากลุ่มคนของรัฐยังคงสืบทอดการจัดการปัญหาด้วยความรุนแรงอยู่เสมอ และเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นรัฐไม่เคยได้รับผลความรุนแรงนั้น

“หากวันนั้นรัฐไม่ฆ่าหะยีสุหลงและพวกอีก 3 คน ก็คงไม่มีกองกำลังติดอาวุธที่ออกมาต่อสู้กับรัฐตลอด จนกระทั่งปัจจุบันปัญหาชายแดนใต้ยังคงเป็นไฟที่สุมมาอย่างยาวนานและรุนแรงตลอด 18 ปี แต่รัฐไม่เคยรับผิดชอบกับการกระทำที่เป็นต้นเหตุ ไม่เคยรับผิดชอบแม้แต่กรณีเดียว อาจจะไม่ใช่รัฐทั้งหมด แต่เป็นรัฐบางส่วน หรือกลุ่มบุคคลของรัฐที่ยังเสพติดความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา” จตุรนต์ เอี่ยมโสภา กล่าว

ทั้งหมดนี้ รัฐต้องย้อนกลับไปทบทวนว่า ข้าราชการในระบบมีผู้ที่นิยมการใช้ความรุนแรงมากน้อยเท่าไหร่ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดกับหะยีสุหลง และคณะ รวม 4 คน จนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลากว่า 67 ปีแล้ว แต่เราทุกคนในที่นี้ยังต้องมานั่งพูดถึงกรณีของหะยีสุหลง หรือแม้แต่ข้อเสนอ 7 ข้อ ของหะยีสุหลงอยู่ แม้ว่าการสื่อสารของเราจะเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นแล้วมากับคนอื่น แต่รัฐไทยตั้งใจฟังสิ่งที่ทุกคนในที่นี้สื่อสารหรือไม่ เมื่อฟังแล้วมีความตั้งใจจะแก้ไขหรือไม่ ซึ่งการตอบคำถามนี้มีผลต่อคำตอบในเรื่องปัญหาชายแดนใต้ด้วยว่า รัฐมีความจริงใจจะแก้ปัญหาจริงหรือไม่ รัฐต้องตอบคำถามเหล่านี้ เรามีหน้าที่เพียงนำเสนอตามสิทธิที่เราพึงมีเท่านั้น

ทั้งนี้ จตุรนต์ ยังยืนยันคำเดิมว่า ตนไม่อยากเห็นครอบครัวของใครถูกกระทำเช่นเดียวกันอีก และตนต้องการสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ให้สังคมตระหนักได้ถึงปัญหาดังกล่าว และส่งคำถามกลับไปยังรัฐเพื่อให้เกิดการทบทวนตัวบทกฎหมาย หากกฎหมายไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จำเป็นจะต้องมีกฎหมายใหม่มาปิดช่องโหว่ ถึงแม้ว่าการต่อรองในสภาเกี่ยวกับการออกกฎหมายมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือหากกฎหมายที่จะออกมาได้นำเอาสาระสำคัญอันเป็นประโยชน์กับประชาชนมาใช้ก็เพียงพอแล้ว

จากชายแดนใต้ถึงใจกลางกรุงเทพ: เมื่อเห็นต่างเท่ากับอุ้มหายได้อย่างชอบธรรม (?)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นาซีเราะ วาโซ๊ะ ภรรยาของ ซาตา ลาโบ๊ะ หนึ่งในผู้ถูกบังคับสูญหายภายหลังสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้เมื่อปี 2547 เล่าว่า เหตุการณ์เริ่มต้นจาก ซาตา ออกจากบ้านตั้งแต่เช้าของวันที่ 9 มกราคม ปี 2547 และไม่กลับมายังบ้านอีกเลย แรกเริ่มเดิมทีโทรศัพท์ไปหาก็ติด แต่ไม่รับสาย โทรไปหลายสายเข้าก็เริ่มตัดสาย ปิดเครื่อง และไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย หลังจากนั้นไม่กี่วันจึงมีเหตุการณ์อุ้มหายบุคคลในพื้นที่อีกหลายคน

แม้เรื่องราวดังกล่าวจะผ่านมากว่า 18 ปีแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงสร้างความสะเทือนใจทุกครั้ง คือเมื่อครั้งที่ลูกของตนถามว่า “สุสานพ่ออยู่ไหน” คำตอบที่ลูกของเราได้รับไปตอนนั้นคือความเงียบและนิ่งเฉย เนื่องจากตนไม่สามารถตอบลูกได้ ประกอบกับเมื่อครั้งที่สามีถูกบังคับสูญหาย นาซีเราะกำลังตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน ภาวะที่ไร้เสาหลักของบ้านเป็นผลให้ตนเครียดอย่างมากจนกระทั่งคลอดบุตรแล้วก็ตาม เนื่องจากตนเหลือเพียงตัวคนเดียว ไม่มีสามี

ความทุกข์ยากลำบากที่ประสบพบเจอ ทำให้นาซีเราะตัดสินใจนำเรื่องของตนไปร้องเรียนยังหน่วยงานต่างๆ แต่หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทราบหน่วยงานติดต่อมาว่า “อย่ายื่นเอกสารร้องเรียนเลย เพราะว่าไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรไหนช่วยเหลือได้ เนื่องจากสามีของตนอยู่ในขบวนก่อการร้าย” จนถึงทุกวันนี้ กลุ่มครอบครัวและญาติของผู้สูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขอเพียงแค่ว่า หากไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ แล้ว ก็ขอให้ลูกของตนได้ทุนการศึกษาจนเรียนจบ และมีงานให้ทำก็เพียงพอแล้ว

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ตัวแทนของครอบครัวผู้สูญหาย กรณี “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” กล่าวว่า เมื่อครั้งที่น้องชายของเราถูกอุ้มหายไปแรกๆ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้นำสารคดีเกี่ยวกับเรื่องคนหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาฉาย เราซึ่งเข้าไปร่วมรับชมในครั้งนั้นจึงได้รับรู้ว่า ไม่ได้มีแค่น้องชายของเราที่ถูกกระทำเช่นนี้ แต่มันมีการอุ้มหายเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อดูไปเรื่อยๆ ตนเองก็กลั้นน้ำตาไม่อยู่ เนื่องจากสิ่งที่ปรากฏให้เห็นกระตุ้นให้นึกถึงน้องชายอย่างมาก เพราะตนไม่รู้เลยว่า ตอนนี้น้องชายจะถูกกระทำอย่างไรบ้าง นอกจากนี้สารคดีเรื่องนั้นทำให้เข้าใจพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ ภายหลังการตระหนักรู้ตนจึงหันมาศึกษาเรื่องนี้ จนกระทั่งเจอกับเรื่องราวของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และผู้ลี้ภัยในคดีความมั่นคงของรัฐคนอื่นๆ ก่อนหน้า ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นคดีนอกราชอาณาจักรไทยเหมือนกับน้องชายของตน

การติดตามคดีนอกราชอาณาจักร ทำให้พบข้อเท็จจริง ผู้ลี้ภัย 8 รายที่สูญหายไปก่อนหน้านี้ต้องพบเจออะไรบ้าง ตนได้พูดคุยกับคนที่เคยสอบข้อเท็จจริง ไปดูสถานที่เกิดเหตุจริง และเห็นว่าเวลาเขาคว้านท้องเป็นยังไง ทำให้ได้รู้ว่า กลุ่มคนที่ทำศพ ของสุรชัยกับพวกก็สะเพร่า เพราะเมื่อเขาผ่าท้องเอาแท่งซีเมนต์ยัดแล้วใส่กระสอบเสร็จ เขาจะต้องใช้อวนแหหาปลาพันรอบศพก่อนจะโยนลงไป เพื่อให้เวลาโยนลงไปแล้วสาหร่ายจะได้มาเกาะตามอวนแหทำให้ศพไม่สามารถลอยขึ้นมาเหนือน้ำได้ จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่า เหตุที่เขาปล่อยให้ศพลอยน้ำขึ้นมานั้นเป็นเพราะคิดไม่ถึงหรือว่าย่ามใจกันแน่

ระยะเวลา 2-3 วันมานี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้พาตนเข้าไปยังพื้นที่เขตสีแดง และพบกับผู้ประสบเหตุการณ์หลายๆ ท่าน ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้หญิงที่เคยแต่งงาน และมีบุตรที่จะต้องเลี้ยงดูต่อ ตนจึงพบว่าการแสดงออกของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กับคนกรุงเทพฯ ไม่เหมือนกัน เพราะคนที่นี่มีขีดจำกัดจากการถูกปกครองภายใต้กฎหมายพิเศษ เช่น เมื่อวานที่ตนได้คุยกับผู้เสียหายคนหนึ่งว่า เขาถูกหน่วยงานรัฐโทรมาคุกคามว่า “อย่าทำนะ เดี๋ยวลูกและแม่ของเธอจะเดือดร้อน” ตอนนั้นรู้สึกแปลกใจมาก เพราะขณะที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับน้องชายของตน แต่ตนกลับไม่เคยได้รับการติดต่อจากหน่วยงานรัฐเลยตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา และนั่นทำให้ตนตระหนักได้ทันทีว่า เพราะเขาคิดว่าเราคงไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ และเรื่องก็คงจะเงียบไปเหมือนกับ 8 รายที่ผ่านมา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

แต่เผอิญว่า ตนเป็นคนที่ยอมไม่ได้หากมีอะไรเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว โดยเฉพาะกับน้องชาย เราสนิทกันมาก และเหตุเกิดขณะที่ตนกำลังคุยโทรศัพท์กับเขา ทั้งหมดตอกย้ำให้นิ่งเฉยไม่ได้ แม้แต่หลับตาลงก็ยังไม่ได้ จนกระทั่งได้รู้จักกับนักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง เขาบอกกับเราว่า “เจน ถ้าคุณไม่ลุกขึ้นมาพูด คุณจะให้คนอื่นมาพูดเรื่องของเรา เขาพูดได้เต็มที่ 3 วัน 5 วัน ถ้าคุณไม่ Call out ถ้าคุณไม่ยืนหยัด”

ประโยคที่ได้รับในวันนั้น ทำให้ตนก้าวขาออกมาต่อสู้ แต่การตัดสินใจออกมาส่งเสียง มักจะมาพร้อมกับประโยคจากคนรอบข้างว่า “จะลุกขึ้นมาทำไม ในเมื่อคนมันหายไปแล้ว ไม่กลัวหายไปอีกคนเหรอ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่าไหม?” แม้คำพูดเหล่านั้นจะบั่นทอนจิตใจของตนอย่างมาก แต่โชคดีที่แม่กับคนในครอบครัวของเราไม่เคยบั่นทอนความตั้งใจของตนเลย

หรือแม้แต่ ก่อนหน้าที่จะเดินทางมายังพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตนเดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเดินตามประกบตั้งแต่เราเดินเข้าไป มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่คนนั้นยังเดินตามเข้าไปในห้องโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดและนั่งฟังร่วมด้วย จนคุณพรเพ็ญต้องถามและขอเชิญให้ออก เมื่อตนออกมาเขาก็ยังไม่กลับ และมีพฤติการณ์ที่จะเดินตามไปอีกห้อง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการคุกคามที่หนักมาก และทำให้เห็นว่า การกระทำของรัฐไทยนั้นต่ำช้ามาก

กรณีของวันเฉลิม กำลังจะครบรอบ 10 เดือน ในวันที่ 4 เมษายนนี้ แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยไม่เคยทำการสืบสวนสอบสวนอะไรเลย ตนเป็นผู้รวบรวมหลักฐานตลอด 9-10 เดือนที่ผ่านมา แต่มาตอนนี้ จะมาขอข้อมูลหลักฐานจากมือเรา เป็นอะไรที่แปลกมาก นี่คือผลพวงของความย่ามใจของรัฐบาลไทย ที่คิดเอาเองว่าประเดี๋ยวเรื่องก็เงียบหายไปเอง เพราะที่ผ่านมาเขาปิดปากได้ ก็เลยย่ามใจ เหมือนพี่น้องชายแดนภาคใต้ 30 กว่าราย และคดีนอกราชอาณาจักรไทย 8 รายก่อนหน้านั้น

ก่อนหน้านี้ ตนมีโอกาสได้พูดคุยกับพี่สาวของ ดีเจซุนโฮ หนึ่งใน 8 รายก่อนหน้าที่ถูกบังคับสูญหายนอกราชอาณาจักร โดยเขาเป็นคดีรายแรก และขณะนี้พี่สาวของเขาได้สัญชาติอเมริกาแล้ว เขาพูดกับตนว่า เขาเห็นเราออกมาต่อสู้แล้วนึกถึงตัวเอง หากเขามีความกล้าหาญมากพอ คงไม่ทำให้คนอื่นๆ หายไป ณ ตอนนั้น แม้กระทั่งแจ้งความ หรือลงบันทึกประจำวันก็ไม่มี สะท้อนให้เห็นภาพชัดว่า หากมีคนลุกขึ้นมาสู้แบบตน ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับน้องชายของตน ตนจึงอยากต่อสู้จนถึงที่สุด และคืนความยุติธรรมให้รายอื่นๆ ด้วย

แต่ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป การหายไปของวันเฉลิม ทำให้เด็กและเยาวชนต่างลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย และต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลง แต่กระนั้นเอง รัฐกลับไม่สนใจ จนกระทั่งวันนี้ต่อสู้โดยการชูสามนิ้วและเรียกร้องประชาธิปไตยอันเป็นสิ่งที่วันเฉลิมเรียกร้องมาโดยตลอดจนกระทั่งต้องลี้ภัยในปี 2557 หลังการรัฐประหาร ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเปลี่ยนไปมากหลังจากการหายไปของวันเฉลิม จากเดิมที่ไม่เคยมีใครพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ วันนี้ทุกคนต่างพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากสถาบัน ดังนั้นพวกเขาไม่สามารถทำอะไรพวกเราได้อีกแล้ว เพราะเมื่อใดที่เราทุกคนเข้มแข็ง การข่มขู่ของพวกเขาจะทำอะไรไม่ได้

พ.ร.บ. อุ้มจะไม่มีวันหาย: เมื่อกฎหมายอุ้มหายเริ่มเข้าใกล้ความจริง

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวปิดท้ายว่า พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย กำลังใกล้ความเป็นจริงแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของวิปรัฐบาลแล้ว ด้วยความร่วมมือของ ส.ส. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะกรรมการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ทำให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ถูกนำไปพูดคุยถึงรายละเอียด เริ่มตั้งแต่ รศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล (ขณะนั้นเป็นประธานคณะกรรมาธิการ) เป็นผู้รับร่างของประชาชน ซึ่งมีสาระสำคัญสอดคล้องตรงกับอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการบังคับให้สูญหาย

สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ส่วนแรกคือ ทำให้การทรมาน และการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดอาญาที่สามารถนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เป็นที่ทราบกันว่า ถ้าการทรมานไม่มีบาดแผล ก็ไม่นับว่ามีความผิด เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่จะทำให้ผู้พิพากษาเชื่อได้ว่า มีการทรมานเกิดขึ้นจริง และการอุ้มหายถ้าไม่มีศพ ก็จะไม่สามารถเริ่มคดีและนำผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ดังนั้น การทรมานและการอุ้มหายจำเป็นจะต้องเป็นความผิดทางอาญา ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเขียนไว้อย่างชัดเจน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ส่วนที่สองคือ ต้องระบุว่า การสืบสวนสอบสวนเรื่องการทรมาน และการอุ้มหายจะต้องเกิดขึ้นทันที อาทิเช่น กรณีของวันเฉลิมที่หายตัวไปแล้ว 9 เดือน ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่เริ่มดำเนินการคดี หรือแม้แต่หลายคดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ชาวบ้านต่างไม่มีหลักฐาน เพราะว่าการอุ้มหายเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง กว่าจะมีคนทราบว่า เดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งและหายไปก็เป็นเวลาหลายวันแล้ว ดังนั้นการเริ่มต้นคดีจากประจักษ์หลักฐานก็อาจจะทำได้ลำบาก

หากพิจารณาตามหลักสากล เจ้าหน้าที่จะสามารถเริ่มคดีและสืบหาได้ว่า บุคคลสูญหายเดินทางจากจุดไหนไปถึงจุดไหน แม้จะไม่มีกล้องวงจรปิด แต่ที่ผ่านมาคนในพื้นที่ประสบปัญหาเจ้าหน้าที่ข่มขู่ประจักษ์พยาน ทำให้พยานไม่สามารถบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ การที่เจ้าหน้าที่รัฐทำให้ประจักษ์พยานมีความหวาดกลัว และไม่มีกลไกคุ้มครองพยาน รวมทั้งกลไกปกป้องคนทำงานตรงนี้จึงเป็นช่องโหว่ที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้เขียนไว้ว่า เมื่อมีเหตุฟ้องร้องเรื่องการทรมานและการอุ้มหายแล้วถูกฟ้องกลับ ศาลจะต้องไม่รับคำฟ้อง

อีกทั้ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะต้องเขียนด้วยว่า การรับผิดจะต้องสาวไปถึงผู้บังคับบัญชา ซึ่งไม่ได้หมายรวมแค่ผู้สั่งการอย่างเดียว แต่รวมถึงผู้บังคับบัญชาโดยตรงที่รับทราบแต่ไม่ห้ามปรามก็จะต้องผิดด้วย หรือแม้แต่กรณีที่ควบคุมแล้วปล่อยให้เกิดการซ้อมทรมาน หรือการอุ้มหาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นภายหลังการควบคุมตัวโดยมิชอบ พาไปยังสถานที่ปิด มีการบังคับให้สารภาพ และทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิตขณะควบคุมตัว รวมไปถึงการซ่อนศพ

ทั้งหมดนี้ถูกระบุใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ด้วยว่า เป็นความผิดต่อเนื่อง ซึ่งไม่มีอายุความ เพื่อให้คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น แม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 67 ปีแล้วอย่างคดีของหะยีสุหลง หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ประกาศใช้ก็จะสามารถรื้อฟื้นคดีเพื่อให้เกิดการเยียวยา และนำคนผิดมาลงโทษได้ รวมทั้งรื้อฟื้นหาความจริงว่า ชะตากรรมของคนที่ถูกบังคับให้สูญหาย แม้ว่าบางคนอาจจะได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว แต่เป็นที่ทราบดีว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะมีข้อมูลเบื้องต้นระดับหนึ่งว่า พวกเขาถูกอุ้มไปที่ไหน และถูกปฏิบัติอย่างไรขณะที่มีชีวิตอยู่และเสียชีวิตไปแล้ว และความจริงในส่วนนี้จะต้องได้รับการเปิดเผยต่อญาติเป็นการเฉพาะ และต่อสาธารณชนในลักษณะที่เป็นรายงานการสืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระ

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าว ยังประเด็นสำคัญอีก 4 ส่วนที่ พ.ร.บ. ฉบับอื่นไม่มี คือ (1) มาตรการป้องกันเรื่องการจับกุมและควบคุมตัว พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะระบุว่า หากจะนำตัวไปที่ไหนต้องมีการจดบันทึก (2) การเยียวยาผู้เสียหายที่ระบุว่า ต้องมีคณะกรรมการชุดหนึ่งภายใต้ พ.ร.บ. ที่จะดำเนินการเข้าถึงญาติ สร้างความเชื่อมั่น และสามารถปรึกษาหารือให้สิ่งที่เกิดขึ้นได้รับการเยียวยาที่สมควรแก่เหตุ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้สถานะเดิมคืนมา เช่น พ่อเคยมีรายได้เท่าไร หรือขณะนั้นเขามีปณิธานชีวิตเป็นเช่นไร ให้สมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

(3) การกำหนดอัตราโทษจะต้องสูงขึ้น ทั้งเรื่องการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย และศาลที่จะสามารถพิจารณาได้จะต้องเป็นศาลที่ดำเนินการไต่สวนมาแต่เดิม และ (4) พ.ร.บ. ฉบับนี้ต้องทำงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย พ.ร.บ. ฉบับประชาชน ระบุไว้ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษจะเป็นหน่วยงานที่ได้รับความไว้วางใจในเรื่องการสืบสวนสอบสวนคดีการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย

แต่ตอนนี้เราเริ่มมีความกังวล เนื่องจากกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการชุดสืบสวนสอบสวนเรื่องการทรมาน และการอุ้มหายในสำนักงานคดีความมั่นคง และสำนักงานคดีความมั่นคงทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งอาจจะเป็นคนที่อยู่ในแบล็กลิสต์ผู้กระทำการทรมาน และบังคับสูญหายได้ ขณะเดียวกันก็ยังให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจว่า การสืบสวนสอบสวนคดีการทรมานและการอุ้มหาย จะสามารถดำเนินคดีได้แม้ผู้กระทำความผิดจะมาจากสำนักงานเดียวกัน

ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่จะเข้าสู่วาระประชุมสภา เป็นร่าง พ.ร.บ. ที่ ส.ส.พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านต่างร่วมกันลงชื่อ อีกทั้งยังได้ฉันทามติจาก พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคประชาชาติด้วย เท่ากับว่า ส.ส. เกือบทั้งสภายินยอมให้ประเทศไทยมีข้อหาการทรมาน และอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญา แต่ที่ล่าช้าได้เกิดจากกระทรวงยุติธรรมที่มีการรับฟังความคิดเห็นหลายรอบมากๆ มีความพยายามของบุคคลที่แอบอิงกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงที่ไม่ต้องการให้การทรมาน และบังคับหายเป็นความผิดทางอาญา

สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า หากยังมีแรงผลักดันจากครอบครัวผู้สูญหายที่อยู่ร่วมกัน ณ ที่นี้ด้วยจะเป็นการดีมาก เราจะต้องไม่ยินยอมให้เรื่องเหล่านี้เงียบ และยืนยันที่จะพูดถึงเรื่องความเป็นธรรม การเรียกร้องสิทธิที่จะรู้ความจริงว่า ญาติหรือบุคคลที่เรารักมีชะตากรรมเช่นไร รวมทั้ง ส.ส. และนักการเมืองท้องถิ่นจะต้องร่วมด้วยช่วยกดดัน เพื่อไม่ให้ ส.ว. ยกมือคัดค้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้เกิดขึ้นจากความสูญเสีย และความต้องการให้ประเทศกลับคืนสู่สิ่งที่เรียกว่า รัฐนิติธรรมที่ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading