วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร รวมกับสมาชิกกรรมาธิการฯ ได้ประชุมพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….. ฉบับประชาชน ที่ได้ยื่นต่อคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมได้ติดตามและมีส่วนเสนอแนะในร่าง พ.ร.บ. ฯ ฉบับกระทรวงตลอดมา ซึ่งแม้จะเห็นด้วยกับหลักการสำคัญ แต่เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ฯ ฉบับกระทรวงยังขาดสาระสำคัญบางประการ จึงได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับประชาชนขึ้น ปัจจุบันมีองค์กร 23 องค์กรร่วมสนับสนุนร่างฉบับนี้

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า “ขอแสดงความเห็นใจและเป็นกำลังใให้ผู้เสียหายที่เป็นตัวแทนทั้งการทรมาน นายสมศักดิ์ ชื่นจิตร และบุตรชายและการบังคับให้สูญหาย นายอดิสร โพธิ์อ่าน ขอเสนอเราในฐานะสส. ในกรรมธิการชุดนี้นำร่างกฎหมายฉบับนี้ไปจัดคุยกันในแต่ละพรรคการเมืองเพื่อร่วมกันลงนามสนับสนุนยื่นร่างพรบ.ฉบับนี้ให้สภานิติบัญญัติพิจารณา เห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่สำคัญเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน”
โดยร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำบังคับให้สูญหาย ฉบับประชาชน มีสาระสำคัญที่เพิ่มเติมจากร่างฯ ฉบับกระทรวง ได้แก่
1. ให้บทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ฯ ให้ใช้พ.ร.บ. นี้แทน เว้นแต่ในกรณีกฎหมายที่กำหนดการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของบุคคลมากกว่า
2. ให้การที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อบุคคลให้เกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงโดยเหตุจากการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดเป็นความผิดฐานทรมานด้วย
3. ให้การกระทำต่อบุคคลให้เจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานในลักษณะที่ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี โดยเจ้าหน้าที่ เป็นความผิดทางอาญา
4. กำหนดมาตรการป้องกันไว้ใน พ.ร.บ.ฯ เช่น ให้สิทธิพบทนายความฯ. จัดทำบันทึกการควบคุมตัวอย่างเคร่งครัด
5. ให้ความผิดตาม พ.ร.บ. มีอายุความยาวกว่าปกติ และหากการทรมานและการกระทำให้บุคคคลสูญหายเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางรุนแรง ไม่มีอายุความ
6. ให้ตัดอำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการสอบสวน และ ศาลทหารในการพิจารณาคดี
7. ให้คดีความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นกฎหมายพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และกำหนดให้อัยการรับผิดชอบควบคุมดูแลสำนวนการสอบสวน
8. ให้สามีภรรยา คู่ชีวิต ทั้งตามนิตินัยและพฤตินัย เป็นผู้เสียหาย
อย่างไรก็ตามการผลักดันให้ร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำบังคับให้สูญหาย มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนอย่างน้อย 20 คน สนับสนุนร่างฉบับนี้เสนอต่อสภานิติบัญญัติพิจารณาให้มีผลบังคับใช้ เพราะเป็นความคาดหวังประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมต้องการให้การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นอาชญกรรมที่สามารถนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้
เนื่องจากประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมาณและบังคับให้สูญหาย ไม่เพียงเพราะเป็นการอนุวัติการกฎหมายเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ไทยเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2550 แล้วเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าการทรมานและการกระทำบังคับให้สูญหายเกิดขึ้นอยู่เสมอตลอดมา ที่ผู้ต้องหากระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยที่รัฐยังไม่มีนโยบายหรือมีกฎหมายมาป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐ หันหลังให้กระบวนการยุติธรรม จึงต้องเร่งให้มีกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมในสังคม ให้เป็นไปตามหน้าที่ของรัฐมีในการปกป้องสิทธิในชีวิตและร่างกายของทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่รับรองสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลและสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานหรือบังคับให้สูญหายไว้
รายชื่อองค์กรที่ร่วมกันยื่นร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฉบับประชาชน
1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
2. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.)
3. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
4. เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี(HAP)
5. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน(TLHR)
6. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(MAC)
7. กลุ่มด้วยใจ (Duayjai)
8. เครือข่ายปฏิรูปตำรวจ (Police Watch)
9. สถาบันเพื่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม(สปยธ.)
10. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)
11. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
12. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
13. สมาคม ปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
14. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
15. คณะทำงานไทยเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน
16. มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
17. สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย
(IMPECT)
18. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
19. มูลนิธิรักษ์เด็ก
20. มูลนิธิศักยภาพชุมชน
21. มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์
22. ชุมชน Non Binary Thailand
23. มูลนิธิสายเด็ก1387