[:th]
เสียงของเธอถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร………ขอให้ได้ยิน
เธอกำลังท้องได้ 9 เดือน และมีลูกอีก 3 คน ที่ต้องดูแล วันหนึ่งในเดือนรอมฎอน เจ้าหน้าที่ได้มาล้อมที่บ้านและได้พาตัวสามีของเธอไปควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหารจนกระทั่งวันนี้ก็ผ่านไปเกือบจะครบ 20 วันแล้ว ปีนี้เขาไม่ได้รายอที่บ้าน ลูกๆของเธอไม่ได้สลามพ่อในวันรายอ เธอขี่มอเตอร์ไซด์ไม่เป็น เธอต้องรอให้มีคนขี่มอเตอร์ไซด์จากบ้านที่เมาะมาวี ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อไปเยี่ยมสามี ที่ได้เยี่ยมแค่วันละ 1 นาที ไม่สามารถคุย กินข้าวด้วยกันได้ สามีเธอดูเครียด เป็นกังวล
เธอกำลังท้องได้ 10 เดือน กำหนดคลอดคือพรุ่งนี้(30 มิถุนายน 2560) ซึ่งเป็นลูกคนที่ 3 ลูกคนที่ 2 ของเธอไม่สบายเมื่อช่วงกลางเดือนจนทำให้มีอาการแขนขาอ่อนแรง และต้องใช้เครื่องทำออกซิเจนช่วยเติมตลอดวัน เธอต้องมีถังออกซิเจน 2 ถังไว้ในบ้านและต้องเติมออกซิเจนครั้งละ 250 บาท ทุกวัน ตอนนี้เธอทำงานไม่ได้เพราะใกล้คลอดและมีลูกคนที่ไม่สบายต้องดูแล สามีของเธอถูกควบคุมตัวเมื่อ 8-9 วันที่แล้วหลังจากไปหากำนันเพื่อแสดงความบริสุทธิ์เมื่อเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้านแม่ของเขา และเขาก็ไม่ได้กลับบ้านเพราะถูกพาตัวมายังค่ายอิงคยุทธบริหาร เธอต้องขี่มอเตอร์ไซด์จากบ้านที่ยะหามาเยี่ยมสามีที่ค่ายอิงคยุทธบริหารเพื่อพบหน้าเขาแค่ 1 นาที ไม่สามารถคุยได้ถามอะไรสามีก็ไม่ตอบ มีเจ้าหน้าที่คุมตลอดเวลา เวลาที่สามีมาถึงเจ้าหน้าที่ต้องพยุงเขามาหาเธอ เธอเห็นรอยช้ำที่แขน มือของเขาบวม ไม่สามารถงอนิ้วได้ เธอบอกว่าเหมือนคนที่มือโดนน้ำแข็งมากๆ เธอเคยขายปลามาก่อน ตอนที่เจ้าหน้าที่พาสามีไปสามีมีสมุดผ่อนรถ โทรศัพท์ เงิน 1000 กว่าบาท เมื่อเธอสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เขาบอกว่าจะให้พรุ่งนี้ พอวันรุ่งขึ้นเขาบอกว่าเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่จะพามาส่งให้เอง แต่วันนี้เธอก็ยังไม่ได้รับเลย เธอไม่สามารถผ่อนรถได้เพราะไม่มีสมุดผ่อนรถ
เธอทั้งสองกังวลกับการที่ไม่สามารถพูดคุยกับสามีได้โดยลำพัง ไม่สามารถคุยอะไรได้เลยเพราะเขาให้ได้แค่ยื่นของกินให้เท่านั้น เธอมองไปที่ป้ายระหว่างนั่งรอที่ป้ายเขียนว่า เวลาเยี่ยมครั้งละ 30 นาที แต่ทำไม ….. เธอขอแค่ให้ได้คุย ได้กินข้าวด้วยกันเพื่อให้พวกเธอได้สบายใจ ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องคิดจินตนาการไปเองว่าเขาจะถูกทำร้าย โดนกระทำ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันเกิดมาจากความกังวลที่ไม่ได้พูดคุยต่อกัน
สำหรับเรา
ผู้ต้องขังในเรือนจำตามกฎหมายอาญา หรือผู้ต้องหา เขาจะได้รับสิทธิในการประกันตัว ได้พบทนาย ได้ ญาติได้เยี่ยม ได้พบหมอถ้าร้องขอ ถ้าเขาต้องอยู่ในเรือนจำ เขาจะได้เยี่ยมในเวลาราชการ ได้คุยผ่านโทรศัพท์ ได้เห็นหน้า 10 นาที
ผู้ต้องสงสัยตามกฎหมายพิเศษ เขาได้พบหน้าญาติแค่ 1 นาที ทุกวันไม่ได้พบทนาย ทั้งๆทีผู้ต้องสงสัยตามกฎหมายพิเศษถูกเชิญมาเพื่อพูดคุย ซักถาม แต่สิทธิกลับน้อยกว่าผู้ต้องขังมากมายนัก เรื่องนี้มาการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ทหารหลายครั้งแล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นจิตวิทยาในการซักถาม เราไม่รู้ว่ามันได้ผลหรือเปล่าแต่เรารู้ว่าการกระทำแบบนี้มันทำลายความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมากเลย
วันที่ 3 กรกฎาคม 2560
ประเทศไทยจะไปรายงาน CEDAW ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ แล้วเรื่องของเธอเหล่านี้ละ จะได้รับการดูแลแก้ไขเมื่อไร อย่างไร
เพิ่มเติม : เสียงของเขาที่อยากให้ค่ายอิงคยุทธบริหารได้ยิน
ส่วนหนึ่งของรายงานคู่ขนานในการนำประชุมเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบที่ประเทศไทยจะเข้าสู่เวทีการทบทวนสถานการณ์สตรีในประเทศไทย
“ผลพวงจากความไม่สงบทำให้ผู้หญิงทุกกลุ่มในสามจังหวัดภาคใต้ต้องทุกข์ทรมาน จากบาดแผลทางด้านจิตใจต่างๆ และยังเผชิญความยากลำบากมากมาย ปัญหาเฉพาะที่ผู้หญิงในพื้นที่เผชิญอยู่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเพียงพอโดยรัฐบาลหลายๆรัฐบาลที่ผ่านมา รายงานที่นำเสนอนี้ รวบรวมจากรายงานหลายฉบับ บทความวิชาการ รายงานจากภาคประชาสังคม ซึ่งรวมทั้งรายงานแะการรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งจัดทำให้เป็นรายงานสรุปรวมประเด็นเฉพาะที่ผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เผชิญอยู่
ย่อหน้าที่ 27-31
บทบัญญัติ ข้อ 2:กฎหมายภายในประเทศและมาตรการที่เหมาะสมในการ ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี
- ผู้หญิงทุกกลุ่มในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง การยิงโดยไม่เลือกเป้า (indiscriminate shooting) และการวางระเบิดได้ทำให้มีการตายและบาดเจ็บต่อผู้หญิงจำนวนหลายพันคน การสูญเสียผู้ชายในกรณีความไม่สงบ ไม่ว่าจะเป็นการตาย การกักขัง หรือบังคับให้สูญหายมีผลอย่างหนักหน่วงต่อชีวิตของผู้หญิงและครอบครัว นอกจากผลกระทบด้านจิตใจแล้ว ผู้หญิงต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากมาย ต้องกลายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวแต่ผู้เดียวและยังต้องทำงานบ้านตามความคาดหวังของสังคมอีกด้วย
การตายและการบาดเจ็บของผู้หญิง
- ถึงแม้ว่าผู้ที่ตายจากเหตุความไม่สงบส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ในจำนวนนั้นมีผู้หญิงอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง ในปี 2557 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) รายงานว่า ในช่วงปี 2547 – 2557 มีจำนวนผู้หญิงเสียชีวิต 459 คน เทียบกับจำนวนผู้ชาย 5,212 คน แม้ว่าผู้ชายมักจะตกเป็นเป้าของความรุนแรง และเป็นส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิต แต่ก็ยังมีผู้หญิงตายและบาดเจ็บจากการยิงโดยไม่เลือกเป้า (indiscriminate shooting) และการวางระเบิด ตัวอย่างเช่น กรณีการวางระเบิดที่ห้างบิ๊กซี ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ทำให้ผู้หญิงบาดเจ็บถึง 43 คน เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการก่อความไม่สงบแบบไม่เลือกและระบบการรักษาความปลอดภัยที่ยังไม่เพียงพอของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร นอกจากนี้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เสนอรายงานในเดือนเมษายน ปี 2560 ว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 109 ครั้ง ส่งผลให้มีคนตาย 21 คน ในจำนวนนี้ มีผู้หญิง 4 คน และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้จัดให้ 14 ราย ในจำนวนนี้เป็นเป้าหมายที่ป้องกันได้ยาก (soft target)
- ผู้หญิงได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ไม่สงบด้วยเช่นกัน จากจำนวนผู้บาดเจ็บ 14,000 คนในช่วงระหว่างปี 2547 – 2558 ประเมินว่าในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงประมาณ 3,000 คน ตัวอย่างเหตุการณ์ เช่น ผู้หญิงคนขายของรถเข็น (ไม่เปิดเผยชื่อเพื่อความปลอดภัย) ในปัตตานีถูกยิง ลูกกระสุนทะลุปอดข้างหนึ่ง ในช่วงที่พักพื้นในโรงพยาบาลเธอมีอาการซึมเศร้าและมีความกังวลอย่างมากว่าลูกสองคนอาจจะต้องออกจากโรงเรียนกลางครรภ์เพราะเธอไม่สามารถกลับไปทำงานได้ ในเวลาต่อมาเธอค่อยมีอาการทุเลาทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนในที่สุดเธอไม่ต้องพึ่งยาลดอารามณ์ซึมเศร้า
- การโจมตีพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน และ โรงพยาบาล ในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อความตายและการบาดเจ็บ ในช่วงปี 2547 – 2559 มี กรณีโรงเรียนถูกโจมตีถึง 315 โรง: 81 โรงในยะลา, 134 โรงในปัตตานี 83 โรงในนราธิวาส และ 17 แห่งในสงขลา ตัวเลขที่สำนักข่าวอิศรารวบรวมไว้ ในช่วงระหว่างปี 2547 – 2559 มีการโจมตีโรงพยาบาลและสถานีอนามัยในพื้นที่สามจังหวัดถึง 32 ครั้ง การโจมตีที่ว่านี้หมายรวมถึง การวางเพลิง การทำลายข้าวของและอาคาร และการวางระเบิด การโจมตีเช่นนี้เป็นการขัดกับหลักการต่างๆ ได้แก่ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (international humanitarian law) หลักการสิทธิมนุษยชนสากล และหลักการอิสลามในเรื่องสงคราม ซึ่งทุกหลักการห้ามการโจมตีโรงเรียน โรงพยาบาล ผู้หญิงและเด็ก
- เนื่องจากมีการโจมตีเป้าหมายที่ป้องกันได้ยาก (soft target) จำนวนมาก ทำให้การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย (safty zones) เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง การพยายามจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยเป็นประเด็นหลักของการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์กรตัวแทนองค์กรที่ใช้อาวุธ คือ มาราปาตานี (MARA Patani) มาราปาตานี จัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2558 เป็นองค์กรประสานงานให้กับกลุ่มติดอาวุธ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบีอาร์เอ็น BRN, กลุ่มบีไอพีพี (Barisan Islam Pembebesan Patani – Islamic Liberation Front of Patani, BIPP) และสองกลุ่มที่แยกตัวมาจากกลุ่มพูโล (Patani United Liberation Organization – PULO), กลุ่มจีเอ็มไอพี (Gerakan Mujahidin Islam Patani หรือ Patani Islamic Mujahidin Movement – GMIP)
การเจรจามุ่งไปสู่การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ในเดือนมีนาคม ปี 2560 เป็นเวลา 5 เดือนหลังจากที่มีการตกลงเงื่อนไขเบี้องต้นสำหรับการเจรจาสันติภาพ รัฐบาลและกลุ่มมาราปาตานีตกลงกันได้ในการกำหนดกรอบพื้นฐานสำหรับการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยในสามจังหวัดภาคใต้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้หลังจากมีการตกลงเรื่องพื้นที่ปลอดภัยแล้ว แต่กลุ่มก่อการร้ายยังไม่เคารพข้อตกลงโดยสมบูรณ์ การจัดตั้งให้มีพื้นที่ปลอดภัยที่ได้รับการเคารพรักษาอย่างจริงจังยังเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องผลักดัน พื้นที่ปลอดภัยเป็นความจำเป็นเพราะจะช่วยคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้หญิงทุกกลุ่มและประชาชนทั่วไปในพื้นที่สามจังหวัด
ย่อหน้าที่ 32-37
32. การใช้กฎอัยการศึกมากจนเกินไปจนเกินสมควรและไม่ได้สัดส่วนมีส่วนริดรอนสิทธิสตรีของผู้หญิงสามจังหวัดในภาคใต้ มีการบันทึกเคสที่ผู้หญิงถูกจับกุมตามอำเภอใจ (arbitrary arrest) ถูกกักขังและถูกสอบสวน เรื่องเช่นนี้มักเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุความรุนแรง และผู้หญิงคนนั้นเป็นญาติกับผู้ถูกกล่าวหา ที่ถูกจับ หรือที่หลบหนีไป หรือกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน ปี 2556 ผู้หญิงคนหนึ่ง ถูกจับกุมภายใต้กฎอัยการศึกเพราะต้องสงสัยว่ามีส่วนกันการวางระเบิด ฐานกองร้อยทหารพรานในอำเภอกะพ้อ เธอถูกพาไปที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งเพื่อการสอบสวน แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาในที่สุด และมีการจับกุมน้องชายของเธอแทน อีกรายหนึ่ง ในวันที่ 22 เดือนสิงหาคม ปี 2559 ผู้หญิงคนหนึ่งถูกค้นบ้าน ในช่วงที่ตำรวจกำลังตามจับบุคคลในครอบครัวของเธอและในที่สุดตำรวจทหารนำเธอไปสอบสวนที่สถานีตำรวจสายบุรี
- ยังมีกรณีอื่นๆที่ผู้หญิงตกเป็นเป้าของทางราชการ หลายกรณี มีการบันทึกไว้โดยองค์กรภาคประชาสังคม เช่น เรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งวัย 24 ปี ที่อาศัยอยู่กับแม่ในพื้นที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 13 เดือนธันวาคม ปี 2559 เธอถูกตำรวจตั้งข้อหาว่ามีส่วนรู้เห็น และให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง นอกจากนี้ มีการใช้กฎอัยการศึกจนเกินเลยในบางเคส เช่น อีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 เดือนสิงหาคม ปี 2559 ผู้หญิงคนหนึ่งถูกจับกุม เพราะเธอมีผู้ติดตามอ่านเฟสบุคของเธอจำนวนมาก มีการจับกุมตามอำเภอใจ (arbitrary arrest) ทั้งเธอและสามี และกักขังไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร บล็อกเกอร์หญิงคนนี้เป็นบุคคลสาธารณะ เพราะ เป็นที่รู้จักและได้รับการสนับสนุน จากผู้หญิงมุสลิมจำนวนมากที่ติดตามอ่านบล็อกของเธอ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดแจ้ง เจ้าหน้าที่มองว่าข้อความบางข้อความที่เธอโพสต์ ในโซเชียลมีเดียเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้
- เด็กและเยาวชนหญิงก็ถูกพาไปค่ายทหารเพื่อการสอบสวนโดยไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครอง ไปด้วย มีกรณีที่เด็กพี่น้องผู้หญิงสองคน (อายุ15 และ17) ถูกพาไปค่ายทหารเพื่อสอบสวนในวันที่ 8 กันยายน ปี 2559 เท่าที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้พยายามแทรกแซงเพื่อยุติการกระทำดังกล่าวแต่สถานการณ์การสอบสวนและจับกุมเด็กและเยาวชนก็ยังไม่ดีขึ้น
- การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากบุคคลในครอบครัวกลายเป็นวิธีการของเจ้าหน้าที่ในการติดตามหาคนที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนในการก่อความไม่สงบ องค์กรสตรีในพื้นที่พบกรณีที่เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากเด็กอายุเพืยง 5 เดือน การบังคับเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอภายใต้กฎอัยการศึกถูกประณามโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในรายงานฉบับที่ 158/2558 ถึงกระนั้นก็ตาม การเก็บดีเอ็นเอจากเด็กและเยาวชนและจากประชาชนกลุ่มอื่นยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่เจ้าหน้าที่จะบีบให้ผู้ที่ถูกเก็บดีเอ็นเอเซ็นเอกสารยินยอมการเก็บตัวอย่าง
- สถานการณ์ความไม่สงบและความขัดแย้งทางการเมืองในภาคใต้ มีผลกระทบทางอ้อมที่ทำให้ผู้หญิงในภาคใต้ต้องเผชิญปัญหา โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าผู้หญิงต้องรับภาระหนักขึ้นเนื่องจากผู้ชายในครอบครัวถูกจับ สูญหาย หรือ ถูกฆ่า อันเนื่องมากจากความไม่สงบ ช่วงเวลาระหว่างปี 2547 – 2558 ผู้หญิง ประมาณ 3,177 คน กลายเป็นหม้ายเพราะสามีตายในเหตุการณ์ความไม่สงบ ผู้หญิงหม้ายเหล่านี้ ต้องรับภาระด้านเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ส่วนใหญ่ถูกบีบด้วยสถานการณ์ทำให้ต้องออกหางานทำเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวและยังต้องทำงานบ้านตามบทบาทเดิมต่อไปอีกด้วย
- ในช่วงเวลาระหว่างปี 2547 และ 2557 มีคนถูกหมายจับภายใต้ พรก. ฉุกเฉิน เป็นจำนวนถึง 5,469 คน คนเพียงจำนวนหนึ่งถูกตั้งข้อหาเพราะมีหลักฐานเพียงพอที่จะส่งฟ้อง อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีหลักฐานพอเพียง จากจำนวนที่ออกหมายจับทั้งหมด มี 61% ได้รับการประกันตัว ที่เหลืออีก 39% ยังคงถูกกักขังเพื่อรอขั้นตอนทางกฎหมาย แต่ละคนอาจจะถูกกักขังติดต่อเป็นเวลา 1 หรือ 2 ปี การระดมจับกุมและกักขังผู้ชายในพื้นที่สามจังหวัดใต้สร้างความยากลำบากให้แก่ครอบครัวและผู้หญิงในทางเศรษฐกิจ ครอบครัวขาดผู้หารายได้หลัก ทำให้รายได้ของครอบครัวทรุดฮวบลงอย่างมาก ซึ่งสร้างความลำบากอย่างหนักแก่ครอบครัวเพราะยังต้องหาเงินเพื่อใช้ประกันตัว หรือใช้เงินในการสู้คดีในศาล นอกจากนี้ ครอบครัวเหล่านี้ ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัว เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความมั่นคงจะคอยสอดส่องความเป็นไปในครอบครัวเสมอๆ
[:]