กฎหมายซ้อมทรมานฯ เกราะหุ้มชีวิตอันเปลือยเปล่าของทหารเกณฑ์และนักเรียนในค่าย

Share

นสต.ปกรณ์ เนียนรัตน์ นักเรียนนายสิบตำรวจเสียชีวิต หลังครูฝึกสั่งให้วิ่งระยะทาง 10 กิโลเมตร แต่วิ่งไปได้เพียง 6 กิโลเมตร ก่อนเป็นลมหมดสติ มีอาการฮีทสโตรก แต่ยังถูกครูฝึกสั่งให้หิ้วปีกวิ่งให้ครบ 10 กิโลเมตร จนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566[1]

พลทหารวรรญวุฒิ ลำพะพา ทหารกองประจำการผลัดที่ 1/2566 ซึ่งอยู่ระหว่างการฝึกทหารใหม่ ณ หน่วยฝึกทหารใหม่ใน จ.สระบุรี เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 เวลา 21.00 น. ระหว่างที่ทหารใหม่รับการอบรมและทำท่ากายบริหารเป็นส่วนรวม[2]

พลทหารกิตติธร เวียงบรรพต เสียชีวิตจากการฝึกและถูกลงโทษ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ที่ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย โดยพบว่า พลทหารกิตติธรมีอาการอิดโรย ตัวซีด ไข้ขึ้น มีอาการร้อนและหนาวสลับกัน ประกอบกับมีบาดแผลที่บริเวณหัวเข่าซึ่งเกิดจากการฝึกและมีอาการป่วยมาหลายวัน  โดยแพทย์ที่รักษาระบุว่า เสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด[3]

ทั้งสามเหตุการณ์เป็นตัวอย่างกรณีนักเรียนนายสิบและพลทหารใหม่ที่ถูกให้ฝึกจนเสียชีวิต ซึ่งลักษณะการสูญเสียเช่นนี้ แตกต่างกับการเสียชีวิตจากการซ้อมทรมานหรือการรุมทำร้ายร่างกายที่มีการแตะเนื้อต้องตัวกันชัดแจ้ง ขณะที่ฝ่ายทหารระดับชั้นผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการฝึก มักมองว่า การฝึกฝนออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้เป็นนายทหาร เพื่อฝึกความอดทนและทำให้ร่างกายแข็งแรง การเสียชีวิตของผู้ถูกฝึกเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของผู้บังคับบัญชา แต่เป็นปัจจัยความอ่อนแอด้านสุขภาพของผู้ถูกฝึกเอง

ถึงอย่างไรก็ดี กรณีการฝึกจนเป็นเหตุผู้ถูกฝึกเสียชีวิตเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา กับกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งยังจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและการตระหนักรู้ถึงขอบเขตในกระบวนการการฝึกของพลทหารและนักเรียนตามกรอบกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียดังกล่าวได้อีก

ชีวิตอันเปลือยเปล่าของพลทหารและเหล่านักเรียนในศูนย์ฝึก

          ที่ผ่านมา ในทุก ๆ ปี สังคมไทยต้องกับกับข่าวความสูญเสียของชายหนุ่มที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในกระบวนการฝึกทหารใหม่ นักเรียนนายสิบ และนักเรียนนายร้อย โดยมีต้นเหตุมาจากทั้งการซ้อมทรมาน การลงโทษทางวินัยที่รุนแรง และการฝึกอย่างหนักจนเกินขีดความสามารถของร่างกายมนุษย์ จากสภาวะดังกล่าว ค่ายทหารหรือศูนย์ฝึกที่เหล่านายทหารใหม่และนักเรียนที่แบกความหวังของครอบครัวเข้าไปเรียนรู้ ฝึกความอดทน หรือไปปฏิบัติภารกิจ “รับใช้ชาติ” ตามมายาคติที่พร่ำสอนกันมาในสังคม ด้านหนึ่งจึงอาจเปรียบเสมือนกับดินแดนสนธยาที่บทกฎหมายหรือแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญที่คอยปกป้องสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายปัจเจกบุคคล พวกเขาบางคนต้องเผชิญชะตากรรมอันโหดร้าย และไม่เคยมีโอกาสได้กลับบ้านเกิดอีกเลย

          สถานการณ์เช่นนั้น สะท้อนถึงสภาวะชีวิตอันเปลือยเปล่า (bare life) ของกลุ่มนักเรียนและพลทหารในค่าย ชีวิตอันเปลือยเปล่า หมายถึง สิ่งที่ จิออร์จิโอ อกัมเบน (Giorgio Agamben) นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาลี อธิบายถึง สภาวะของมนุษย์ที่ถูกทะลุทะลวงจากการตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองที่เหนือกว่า มนุษย์ในชีวิตเปลือยเปล่าจะไม่ถูกเคารพในฐานะมนุษย์ ชีวิตมนุษย์จะถูกบิดเบือนเป็นอย่างอื่น เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ผู้มีอำนาจสามารถชี้เป็นชี้ตายได้เด็ดขาด และถูกปฏิบัติเสมือนหนึ่งไม่ใช่คนด้วยความรุนแรง จากการไร้สิ่งปกป้องคุ้มครอง เช่นเดียวกันพลทหารใหม่และนักเรียนนายสิบนายร้อยบางคน ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ถูกสั่งลงโทษ ถูกบังคับให้ฝึกหนักจนร่างกายรับไม่ไหว และเสียชีวิตลง ถ้าเหยื่อเหล่านั้น ถูกมองว่ายังมีความเป็นมนุษย์อยู่ก็ย่อมไม่ถูกกระทำเช่นนี้[4]

          ในสภาวะชีวิตอันเปลือยเปล่า บทบัญญัติกฎหมายที่คอยทำหน้าที่เป็นสิ่งคุ้มครองห่อหุ้มให้ความเป็นมนุษย์ได้รับการประกันไว้ว่าจะไม่มีใครหรือผู้มีอำนาจคนใดเข้ามาล่วงละเมิดได้ ก็จะถูกยกเว้นบังคับใช้ กลายเป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึกที่ถ้อยคำต่าง ๆ ไร้ความหมายลงทันที

          นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในองค์กร วัฒนธรรมของกองทัพ การให้คุณค่ากับระบบศักดินา และการด้อยค่าทหารชั้นผู้น้อยหรือนักเรียนใหม่ ยังมีส่วนให้ความรุนแรงและการปฏิบัติต่อกันโดยไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องปกติธรรมดา มีความชอบธรรม สร้างสภาวะยกเว้นที่มีบ่อเกิดจากมิติทางวัฒนธรรม โดยส่งให้กฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมที่ปฏิบัติตาม ๆ กันมานาน เข้าแทนที่บทบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษร และมีศักดิ์เหนือกว่า เปลี่ยนตัวบททางกฎหมายให้อยู่ในสภาวะลักลั่นตลอดเวลา[5] สภาวะเช่นนี้ การกล่าวอ้างถึงกฎหมายต่อหน้าผู้มีอำนาจบังคับบัญชาในกองทัพ หรือรุ่นพี่ในโรงเรียนมาหักล้างกับวัฒนธรรมดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

          สภาวะชีวิตอันเปลือยเปล่าภายใต้วัฒนธรรมกองทัพข้างต้น ได้สังเวยชีวิตของเหล่าทหารใหม่และนักเรียนนายสิบนายร้อยหลายต่อหลายคน เช่น พลทหารวิเชียร เผือกสม เหยื่อที่ถูกผู้บังคับบัญชาและทหารรุ่นพี่รุมซ้อมทรมานจนเสียชีวิตเมื่อปี 2554 โดยฝ่ายผู้กระทำอ้างว่า เป็นการธำรงวินัยเนื่องจากพลทหารวิเชียร หนีการฝึก[6] หรือ กรณี ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตอย่างกะทันหันภายในโรงเรียนเตรียมทหาร เมื่อปี 2560 สืบเนื่องจากการธำรงวินัยของนักเรียนรุ่นพี่เช่นเดียวกัน[7] เหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้ล้วนถูกบ่มเพาะจากวัฒนธรรมที่สืบสานกันมาภายในโรงเรียนและกองทัพ เหมือนกับที่ พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว กรณี น้องเมย เสียชีวิตว่า “ผมก็เคยโดนซ่อม จนเกินกำลังจะรับได้ สลบไปเหมือนกัน แต่ผมไม่ตาย … ถ้าไม่อยากโดนซ่อม ก็ไม่ต้องเข้ามาเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ก็ไม่ต้องเข้ามาเรียน ไม่ต้องมาเป็นทหาร เราเอาคนที่เต็มใจ การเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารต้องเตรียมใจเรื่องการธำรงวินัย”[8]

          ที่ผ่านมา ฝ่ายภาคประชาชนสังคม รวมถึงมูลนิธิผสานวัฒนธรรม[9] จึงได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดกฎหมายป้องการซ้อมทรมานและอุ้มหาย เพื่อเป็นเครื่องมือคัดง้างกับวัฒนธรรมที่ทำลายความเป็นมนุษย์ของเหยื่อการซ้อมทรมานและถูกบังคับให้สูญหายจากการเป็นปฏิปักษ์กับผู้มีอำนาจ ตลอดจนฟื้นฟูชีวิตที่เปลือยเปล่าให้แก่ พลทหารและนักเรียนนายสิบนายร้อย ให้กลับมาเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี และมีหลักประกันสิทธิว่าจะไม่ถูกใครช่วงชิงเอาความเป็นมนุษย์ไปจากพวกเขาได้

กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานฯ สิ่งห่อหุ้มชีวิตอันเปลือยเปล่า

ประเทศไทย เป็นประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ จนต่อมา มีการตรากฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดกฎหมายดังกล่าว ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ การออกแบบและเสนอร่างกฎหมายข้างต้น มีแนวทางมาจากอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ

ความสำคัญของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 คือ การเป็นบทกฎหมายที่กำหนดความผิดอาญาให้กับ ผู้มีอำนาจบังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำทรมานและกระทำให้บุคคลเสียหาย ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และได้กำหนดความผิดเฉพาะและการกำหนดโทษที่รุนแรงให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด (โทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท หากผู้ถูกกระทำเสียชีวิตรับโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต) นอกเหนือไปจากกระทำความผิดของบุคคลทั่วไปที่ต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยการทรมานตามมาตรา 296 หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังตามมาตรา 310 ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การกำหนดความผิดแยกออกมาจากกรณีบุคคลทั่วไป ยังอยู่บนเรื่องการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการด้วยกัน ที่อาจช่วยเหลือกันและกัน จนทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกบิดเบือน รวมถึงป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐฉวยโอกาสกระทำการอันโหดร้ายไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทุกหน่วยงานต้องบันทึกวิดีโอการจับและควบคุมตัวบุคคลตลอดเวลา จนกว่าจะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน  และต้องทำบันทึกการจับกุมและควบคุมตัวโดยละเอียด เพื่อให้ตรวจสอบได้ เป็นต้น[10]

อีกทั้ง ยังมีการขยายขอบเขตไปถึงผู้บังคับบัญชาที่รู้ว่า ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการทรมานหรืออุ้มหายผู้อื่น แต่เพิกเฉย ไม่ป้องกันหรือระงับการกระทำความผิดจะต้องรับผิดร่วมด้วย[11] ตามมาตรา 42 ของพระราชบัญญัติฯ ซึ่งบทบัญญัตินี้ จะเป็นการเพิ่มหน้าที่ความรับผิดชอบต่อผู้บังคับบัญชาในการสอดส่องดูแลการปฏิบัติของผู้ใต้บังคับบัญชาไปด้วย

ในบริบทภายใต้ระบบเกณฑ์ทหารและหลักสูตรการเรียนของนายสิบนายร้อย กฎหมายดังกล่าวเปรียบเหมือนกับเกราะป้องกันห่อหุ้มชีวิตที่เคยเปลือยเปล่าของเหล่าพลทหารและนักเรียนในศูนย์ฝึก ซึ่งหากมีการกระทำใดก็ตาม ที่เข้าข่ายเป็นการ “กระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ย่อมมีความผิดตามกฎหมายนี้ กล่าวคือ การกระบวนการฝึกจะต้องไม่ใช่เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือละเมิดสิทธิขึ้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ทำให้อีกฝ่ายไร้ศักดิ์ศรี หรือทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ[12]

ด้วยเหตุดังกล่าว เหล่าการฝึก การสั่งลงโทษ การธำรงวินัย หรือการซ่อม ที่กล่าวอ้างกันว่าเป็นสิ่งที่ปฏิบัติการมานานในระบบ ที่ไม่ใช่การกระทำเยี่ยงมนุษย์ควรกระทำต่อกันจะกระทำไม่ได้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นการฝึกความอดทน หรือการลงโทษโดยท่ากายบริหารก็ต้องไม่เกินไปกว่าขีดความสามารถของมนุษย์ หรือการเสริมสร้างความแข็งแรงควรต้องอยู่บนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นหลัก การบังคับให้วิ่ง 10 กิโลเมตร ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยอยู่ หรือการสั่งให้สก็อตจั๊มพ์จนกล้ามเนื้อสลาย หรือการสั่งให้นักเรียนทำท่าหัวปักพื้นเพื่อเป็นการธำรงวินัย ล้วนไม่ใช่การออกกำลังกายและฝึกความอดทน

ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานฯ จะต้องไม่ถูกยกเว้นการบังคับใช้ไม่ว่ากรณีใด ๆ โดยตามมาตรา 12 ที่บัญญัติว่า “พฤติการณ์พิเศษใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามหรือภัยคุกคามที่จะเกิดสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย” เป็นเครื่องยืนยันและเป็นหลักประกันว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและไม่ถูกบังคับให้สูญหาย” เป็นสิทธิเด็ดขาดที่ไม่สามารถอ้างความชอบธรรมใด ๆ มาอยู่เหนือกว่าได้ แม้จะมีการกล่าวอ้างถึงขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวิถีปฏิบัติกันที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนานก็ตาม

ความรับผิดในความตายที่ไม่สมเหตุสมผล

          ทุกการตายที่ผิดปกติของพลทหารและนักเรียนนายสิบนายร้อย ทั้งผู้ที่ถูกธำรงวินัย ถูกซ่อม ถูกสั่งให้ฝึกจนตาย ล้วนต้องมีคนรับผิดชอบ ความตายเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องที่สมเหตุสมผล และเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันหรือระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้ การกล่าวอ้างเรื่องประเพณีที่ปฏิบัติกันมาในสถาบันกองทัพและโรงเรียนนายสิบนายร้อย ย่อมถือเป็นเพียงถ้อยคำที่ถูกนำมาใช้บิดเบือนให้ความตายที่ผิดปกติ ดูเหมือนปกติขึ้นมาเท่านั้น

 ด้านผู้บังคับบัญชาหรือนายทหารระดับสูงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฝึก แม้จะอ้างว่า ความตายที่เกิดจากการฝึกหนักเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย แต่หากพิจารณาตามองค์ประกอบความผิดของกฎหมายอาญา การที่กฎหมายจะถือว่าเพราะกระทำมีเจตนาทำความผิดหรือไม่ จะดูตรงที่ว่า ผู้กระทำรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ และ รู้สํานึกในการกระทำและขณะเดียวกันผู้กระทำต้องประสงค์ต่อผล หรือ ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้หรือไม่ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคสองประกอบวรรคสาม)

กล่าวคือ หากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แวดล้อมปรากฏว่า ผู้กระทำรู้อยู่แก่ใจดีหรือควรรู้ตามแบบที่วิญญูชนคนทั่วไปคาดหมายได้ ว่าการกระทำของตนในฐานะผู้บังคับบัญชา หรือครูฝึก หรือผู้ดูแล เป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือเป็นการกระทำที่ส่งผลให้อีกฝ่ายต้องเจ็บปวด ทนทุกข์ทรมาน หรือเสียชีวิตลงได้  ย่อมถือว่าความผิดได้กระทำลงโดยเจตนา (หรือ เป็นการพยายามกระทำความผิดในกรณีที่มีการกระทำถึงขั้นลงมือแล้ว แต่ไม่สำเร็จ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80))

ขณะเดียวกัน อย่างน้อยที่สุด แม้จะไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าได้กระทำความผิดลงโดยเจตนา หรือไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด แต่หากพบว่า กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และและผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่ไม่ได้ใช้เพียงพอ ย่อมถือได้ว่า ผู้กระทำนั้นกระทำผิดโดยประมาท และอาจต้องรับผิดในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท เช่น การประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291

การที่นายทหารผู้บังคับบัญชา ผู้ดูแลการฝึก ที่มีหน้ารับผิดชอบชีวิตของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือนักเรียนที่เข้ารับการฝึก แต่กลับเพิกเฉย ปล่อยปละละเลยตรวจสอบปัจจัยด้านสุขภาพของพลทหารใหม่หรือนักเรียนนายสิบนายร้อย ไม่ใช้มาตรการที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสียในขณะที่สามารถกระทำได้ จนทหารใหม่และนักเรียนภายใต้การดูแลเสียชีวิต ย่อมเป็นเหตุให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจต้องรับผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้

การสร้างเกราะคุ้มกันที่แข็งแกร่งให้กับชีวิตที่เปลือยเปล่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กองกำลังทหาร กองทัพ ตำรวจ เป็นสถาบันที่มีความสำคัญในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศชาติ รักษาความมั่นคงปลอดภัยแก่บ้านเมือง แต่ขณะเดียวกัน การสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพ ย่อมมิใช่การปล่อยปละละเลยให้นายทหารใหม่ หรือนักเรียนที่จะถูกส่งเข้าไปกำลังเสริมให้กับองค์กรเสียชีวิตลงอย่างสูญเปล่า ความตายที่ผิดปกติในองค์กร การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม ซ้อมทรมาน ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกันในระหว่างคนในองค์กรด้วยกันเอง ต้องไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ ต้องตระหนักเสมอว่า ความแข็งแกร่งของสถาบันย่อมไม่เกิดจากการฆ่ากันเอง

ปัจจุบัน รัฐไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ ซึ่งยังต้องอาศัยกระบวนการขยายความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง และได้รับการปฏิบัติตามจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายใต้หลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายกองทัพและองค์กรตำรวจ เพื่อสร้างเกราะคุ้มกันที่แข็งแกร่งให้กับชีวิตที่เคยเปลือยเปล่าของเหล่าพลทหารและนักเรียนในโรงเรียนนายสิบนายร้อย ที่หมายถึงการสร้างความแข็งแกร่ง ฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่ดี แก่กองทัพและตำรวจไปพร้อมกันด้วย


[1] “สั่งเด้งแล้ว! ครูฝึก สั่ง นร.นายสิบ วิ่งจนเสียชีวิต!,” 13 ตุลาคม 2566, พีพีทีวีออนไลน์, https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/207969 (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567)

[2] “ทภ.1 เสียใจ “พลทหาร” ตายระหว่างฝึก ยันไม่มีการซ้อม เกิดจากระบบหายใจ,” 8 มิถุนายน 2566, ไทยรัฐออนไลน์, https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2700191 (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567)

[3] “อัยการสั่งฟ้องครูฝึก กรณี ‘พลทหารกิตติธร’ เสียชีวิต จากการฝึกในค่ายเม็งรายมหาราช,” 22 ธันวาคม 2566, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2023/12/107335 (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567)

[4] Agamben, Giorgio, Homo Sacer: Sovereign Power and Bare Life, (Stanford: Stanford University Press, 1998)

[5] Pattana Kittiarsa, The “Bare Life” of Thai Migrant Workmen in Singapore, (Seattle: University of Washington Press, 2014)

[6] “แฟ้มคดี : สู้ 10 ปี-ศาลรับฟ้อง!!คดีโหดซ้อมพลทหาร‘วิเชียร เผือกสม’ดับญาติไม่หวั่นถูกคุกคาม,” 10 ตุลาคม 2564, ข่าวสดออนไลน์, https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/live-from-the-scene/news_6666726 (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567)

[7] “3ปี คดีไม่คืบ ครอบครัว”น้องเมย”ยังเชื่อถูกซ่อมดับ ตะลึงหมายเรียกขู่โทษหนักไม่เกณฑ์ทหาร,” 24 สิงหาคม 2563, มติชนสุดสัปดาห์, https://www.matichonweekly.com/column/article_339160 (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567).

[8] “ทหารใหญ่ดาหน้าบอก “ซ่อมสร้างวินัย” แต่ ชาวเน็ตถามทำไมทำลายชีวิต,” 22 พฤศจิกายน 2560, บีบีซีไทย, https://www.bbc.com/thai/thailand-42081598 (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567).

[9] “พ.ร.บ. อุ้มหาย : มติ ครม. เลื่อนบังคับใช้ 4 มาตรา เหตุจัดซื้อกล้องตำรวจ 1.71 แสนตัวไม่ทัน,” 14 กุมภาพันธ์ 2566, บีบีซีไทย, https://www.bbc.com/thai/articles/c1eln58l341o (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567).

[10] “รู้ทัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ไม่ให้มีใครถูกทรมาน – อุ้มหาย – ย่ำยีศักดิ์ศรี,” 25 สิงหาคม 2566, แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล ประเทศไทย,

https://www.amnesty.or.th/latest/1158/  (สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567).

[11] เรื่องเดียวกัน.

[12] เรื่องเดียวกัน.

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading