วงเสวนา “นิรโทษกรรม ยุติคดีการเมือง เพราะอะไร ทำได้หรือไม่”

วงเสวนา  “นิรโทษกรรม ยุติคดีการเมือง เพราะอะไร ทำได้หรือไม่”

Share

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะองค์กรเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนร่วมกับ Dude Movie ได้จัดวงเสวนาในหัวข้อ “นิรโทษกรรม ยุติคดีการเมือง เพราะอะไร ทำได้หรือไม่” โดยมีวิทยากรร่วมพูดคุยในวงเสวนากว่า 5 คน ได้แก่ นพพล อาชามาส จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พุธิตา ชัยอนันต์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัชรภัทร ธรรมจักร ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีการเมือง และรามิล – ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีการเมือง 

วงเสวนาได้ชวนพูดคุยและทำความเข้าใจกับความสำคัญของการนิรโทษกรรมประชาชน ยุติคดีการเมือง รวมถึงชวนตั้งคำถามถึงอนาคตการเมืองไทยจะเปลี่ยนผ่านต่อไปอย่างไร?

เสียงจากภาคประชาชน การนิรโทษกรรมประชาชน ก้าวแรกที่จะสร้างความยุติธรรมในสังคมไทย – นพพล อาชามาส จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

นพพล อาชามาส ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มวงเสวนาโดยการอธิบายถึงที่มาของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน โดยนพพลเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เกิดขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมาศูนย์ทนายให้ความช่วยเหลือคดีทางการเมือง ตั้งแต่หลังปี2557 เป็นต้นมามีประชาชนถูกดำเนินคดีทางการเมือง และพัฒนามาเป็นลำดับ จนปี 2563 ที่มีการชุมนุมใหญ่ พบว่าตัวเลขคดีทางการเมืองสูงสุดใประวัติศาสตร์ เป็นจำนวนกว่า 1,900 คดี อาจถือเป็นยุคที่มีคนถูกดำเนินคดีด้านเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และดูเหมือนว่าปัญหานี้จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุให้ศูนย์ทนายความฯ ต้องคิดถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่าการต่อสู้เพียงรายคดี นั่นจึงเป็นที่มาของร่างกฎหมายดังกล่าว 

นพพลกล่าวต่อว่าในสังคมไทยการพูดถึงนิรโทษกรรมมีมาเป็นระยะอยู่แล้ว ช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งการชุมนุมต่างๆที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นพันธิมิตร นปช. กปปส. จนถึงการชุมนุมปี2563 ดังนั้นการเริ่มต้นเพื่อจัดการความขัดแย้งอาจเริ่มจากการยุติการดำเนินคดีทั้งหมดเป็นอย่างแรก เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถพูดคุยกันต่อ การนิรโทษกรรมจึงคล้ายกับการเป็นก้าวแรกในการคลี่คลายความขัดแย้งของสังคมไทย 

ร่างพ.ร.บ.ฉบับบนี้มีเนื้อหาแตกต่างจากฉบับอื่นๆ นพพลกล่าวถึงเนื้อหาสำคัญและความแตกต่างของร่างฉบับดังกล่างกับร่างอื่นๆที่มีการเสนอจากกลุ่มอื่นอยู่ในตอนนี้ ข้อแตกต่างแรกและเป็นเนื้อหาสำคัญของพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน คือ ร่างฉบับนี้มีการกำหนดข้อหาคดีจำนวนหนึ่งที่ให้นิรโทษกรรมทันที เช่น คดีความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ร่างฉบับนี้ต่างจากร่างอื่นๆอย่างชัดเจน นพพลกล่าวย้ำว่าร่างนิรโทษกรรมประชาชนจะกำหนดชัดเจนว่ารวมความผิดในมาตรา 112 ด้วยเพราะมองว่าการที่ประชาชนมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองตลอดมา 

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคดีที่ต้องผ่านการพิจารณาของ “คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน” ซึ่งมีสัดส่วนให้กับ ตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง และภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธณรม โดยให้อำนาจคณะกรรมการฯในการพิจารณาการกระทำใดๆ ว่ามีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองและเข้าข่ายการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองหรือไม่

นพพลยังได้ชี้ให้เห็นถึงเนื้อหาสำคัญอีกหนึ่งประการของร่างนี้คือ ความผิดตามมาตรา 113 หรือการก่อกบฎจะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม เนื่องจากที่ผ่านมาการนิรโทษกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร อีกทั้งร่างนี้ไม่รวมการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐด้วย เพราะที่ผ่านมาการนิรโทษกรรมในสังคมไทยมีปัญหาว่าในหลายๆครั้งจะนิรโทษกรรมทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ แต่นั่นทำให้เรื่องการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนไม่ถูกชำระสะสาง ค้นหาความจริง หรือมีการลงโทษ

อีกจุดเด่นหนึ่งคือเรื่องการชดเชยเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้การชดเชยเยียวยาจะรวมถึงการลบประวัติอาชญากรรมและการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงอีกด้วย

นพพลได้ฝากข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรครวมไทยสร้างชาติ และของพรรคครูไทยเพื่อประชาชนนั้นมีการกำหนดข้อหาที่นิรโทษกรรมไว้ แต่ยกเว้นไม่รวมข้อหาตามมาตรา 112 ในขณะที่ข้อหามาตรา 113 ข้อหากบฎซึ่งโทษสูงกว่ามาตรา 112 มากกลับเป็นหนึ่งในคดีที่ร่างของสองพรรคการเมืองนี้รวมไว้ให้มีการนิรโทษกรรม

ก่อนจบการนำเสนอ นพพลได้ฝากความหวังกับนิรโทษกรรมประชาชนฉบับนี้ไว้ว่าการนิรโทษกรรมประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของก้าวแรกที่จะสร้างความยุติธรรมในสังคมไทย เพื่อให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้ และสร้างประชาธิปไตยที่เริ่มพูดคุยกันโดยไม่ต้องมีคนถูกดำเนินคดี 

“การนิรโทษกรรมประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของก้าวแรกที่จะสร้างความยุติธรรมในสังคมไทย มันไม่ใช่การยกเว้นให้คนทำผิดกฎหมาย แต่เป็นการสร้างความยุติธรรม การชดเชยเยียวยาคนได้รับผลกระทบ เพื่อให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้ และสร้างประชาธิปไตยที่เริ่มพูดคุยกันโดยไม่ต้องมีคนถูกดำเนินคดี และอาจต้องทำอย่างอื่นต่อไปเพิ่มเติม เช่น การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การค้นหาความจริงของความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมาเพื่อให้สังคมได้สรุปบทเรียนและจดจำ” นพพลกล่าว 


ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมพรรคก้าวไกล เนื้อหาสำคัญและแนวทางที่ให้ให้ความสำคัญไปที่เจตนารมย์ของการนิรโทษกรรมเป็นหลัก  – พุธิตา ชัยอนันต์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล

พุธิตา ชัยอนันต์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล  รับช่วงต่อจากนพพล พุธิตากล่าวตอนต้นว่าตนเห็นตรงกับร่างประชาชนในประเด็นที่ไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงมาตรา 113 การก่อกบฎ และการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นต่อชีวิตตามกฎหมายอาญา 

พุธิตากล่าวต่อไปถึงสาเหตุที่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลไม่ได้มีการเขียนไว้ชัดเจนว่าจะมีความผิดฐานใดบ้างที่จะนิรโทษกรรมนั้น เพราะต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา คือ “คณะกรรมการวินิจชัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม” 

พุทธิตาขยายความต่อถึงประเด็นที่กำลังเป็นข้อถกเถียงสำคัญเมื่อพูดถึงนิรโทษกรรมว่า ตอนนี้ทุกฝ่าย ทุกพรรคการเมือง รวมถึงประชาชน มีความต้องการให้เกิดนิรโทษกรรม แต่ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องรายละเอียด เช่น ประเด็นคดี112 หรือการนิรโทษกรรมผู้สั่งการการสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ ซึ่งในประเด็นนี้มองว่าต้องเป็นประเด็นที่ถกเถียงพูดคุยกันต่อไปในสภา 

อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าไม่ควรมีการรีบปิดประตูว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมคดีตามมาตรา 112  เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาที่มีการยื่นญัตติของการพิจารณาขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรศึกษาพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม หนึ่งในสาระสำคัญที่ได้อภิปรายกันในวันนั้นคือ เรื่องอย่ารีบปิดประตู112 และการนิรโทษกรรมในครั้งนี้อย่าให้เกิดเป็นการสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ เราต้องเปิดกว้าง รวมถึงต้องพิจารณากฎหมายทุกฉบับ โดยการให้ความสำคัญไปที่เจตนารมย์ของการนิรโทษกรรมเป็นหลัก 

ก่อนจบการอภิปราย พุธิตาเน้นย้ำการนิรโทษกรรมต้องดูที่มูลเหตุจูงใจความขัดแย้งทางการเมืองเป็นหลัก เนื่องจากผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจะมาเป็นระลอกของความขัดแย้งทางการเมือง หากใช้มาตรากฎหมายมาเป็นเกณฑ์อาจจะลำบาก เช่นอาจมีกรณีที่มีความผิดอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาดหรือ–ข้อหาอื่นๆ จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องวางหลักไว้กว้าง อย่างไรก็ตามที่สำคัญคือต้องไม่นิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร ผู้สั่งการรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน 

“การนิรโทษกรรมในครั้งนี้เป็นเรื่องของการคืนความยุติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองและครอบครัวของพวกเขา” พุทธิตากล่าว


ความหมายทั่วไปของการนิรโทษกรรมและประวัติศาสตร์การเมืองไทยกับสถานการณ์ปัจจุบันของการนิรโทษกรรม – สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อาจารย์สมชาย ได้เตรียมประเด็นพูดคุยในวันนี้มาทั้งหมด 3 ประเด็นหลักได้แก่ 1. นิรโทษกรรมความหมายทั่วไป 2.นิรโทษกรรมในไทย และ 3. นิรโทษกรรมในสถานการณปัจจุบัน

ประเด็นแรก นิรโทษกรรมในความหมายทั่วไป

อาจารย์สมชายอธิบายถึงความเข้าใจทั่วไปของสังคมเกี่ยวกับคำว่า นิรโทษกรรม โดยที่ผ่านมามีอีกคำหนึ่งที่ดูเหมือนคล้ายๆกันคือ นิรโทษกรรมกับอภัยโทษ คำว่าอภัยโทษเป็นอำนาจของประมุขของรัฐ ในไทยการอภัยโทษนั้นขึ้นอยู่กับประมุขของรัฐ ซึ่งในที่นี้คือพระมหากษัตริย์ การอภับโทษนั้นเป็นการที่ยังถือว่าการกระทำนั้นมีความผิดอยู่ เพียงแต่ไม่เอาโทษแล้ว เช่น กรณีนักโทษชั้น 14 ก็เป็นการอภัยโทษ แต่ในขณะที่เมื่อมีการนิรโทษกรรม หมายความว่า เหมือนไม่มีการกระทำนั้นเกิดขึ้น การกระทำนั้นไม่ถูกนับอีกต่อไป เป็นการยกเว้นกฎหมายหรือยกเว้นมาตรการในภาวะปกติ โดยทั่วไปอำนาจนิรโทษกรรมจึงเป็นอำนาจของนิติบัญญัติ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ สถาบันที่มาตัดสินเรื่องนี้ต้องเป็นสถาบันที่สัมพันธ์กับประชาชนเป็นอย่างมาก 

ที่ผ่านมาในต่างประเทศก็มีการนิรโทษกรรม โดยจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งถึงขนาดที่สังคมจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อสังคมเดินหน้าต่อไปไม่ได้ วิธีการคือนิรโทษกรรม นิรโทษกรรมจึงเป็นหลักการที่ยอมรับว่าเมื่อสังคมไหนเผชิญกับความขัดแย้งในระดับที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ จึงมีการใช้นิรโทษกรรผ่านสถาบันที่สัมพันธ์กับประชาชนอย่างมากอย่างรัฐสภา

ประเด็นที่สอง นิรโทษกรรมในไทย

อาจารย์สมชายได้เริ่มประเด็นที่สองโดยกล่าวถึงหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการออกกฎหมาย โดยตามหลักแล้วการออกกฎหมาย คนออกกฎหมายไม่ควรได้รับประโยชน์โดยตรง ที่ผ่านมาเมืองไทยเมื่อมีการทำรัฐประหารและมีการออกนิรโทษกรรม ศาลมีการตีความตั้งแต่ช่วงปี 2495-2496  ซึ่งตีความว่าว่าการออกนิรโทษกรรมมาและได้รับประโยชน์โดยตรงนั้นถือว่าใช้ได้ หลังจากนั้นมาจึงมีระบบการออกนิรโทษกรรมมารองรับ สำหรับเมืองไทยศาลจึงมีบทบาทอย่างสำคัญ ไทยมีการนิรโทษกรรมโดยคณะรัฐประหารมาโดยตลอดแม้อาจเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาบ้าง แรกๆเป็นพ.ร.บ. ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงหลังนิรโทษกรรมถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายไทย คือออกกฎหมายนิรโทษกรรมหลังมีการรัฐประหาร อีกกรณีหนึ่งคือออกเมื่อถึงคราววิกฤต เช่น กรณีตุลาคมปี 2519 ที่มีการยึดอำนาจและขับนักศึกษาด้วยการดำเนินคดี โดยหวังว่ากลุ่มนักศึกษาจะต้องเข้าคุก แต่ภายหลังหลังข่าวเริ่มปรากฎว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชน จึงมีการออกนิรโทษกรรมมา

นอกจากนี้อาจารย์สมชายย้ำว่า “นิรโทษกรรมประชาชนเราไม่เคย สิ่งที่เราเห็นสำหรับนิรโทษกรรมในเมืองไทยคือวัฒนธรรมยกโทษให้แก่คณะรัฐประหารและผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน” 

ประเด็นที่สาม เรื่องนิรโทษกรรมในสถานการณ์ปัจจุบัน 

อาจารย์สมชายมองว่า การมองนิรโทษกรรมในสถานการณ์ปัจจุบันต้องมองควบคู่ไปกับประเด็นสถานการณ์ปัจจุบันอื่นๆอย่างเรื่อง มาตรา112 การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการนิรโทษกรรม สามประเด็นนี้เป็นสามประเด็นที่เป็นหัวใจหรือใจกลางของปมความขัดแย้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งสามเรื่องแม้จะเป็นคนละเรื่องกันแต่เป็นประเด็นที่ร่วมกันในเชิงว่าหากประเด็นใดมีการขยับแปลว่าเป็นสัญญาณที่กำลังจะบอกว่าความสัมพันธ์แบบเดิมที่ผ่านมา คนในสังคมไม่ยอมรับ แต่อย่างน้อยทุกคนอาจเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีเครือข่ายชนชั้นนำที่ทำหน้าที่ปกป้องไม่ให้เกิดความเปลี่ยแปลงขึ้น ไม่ใช่เฉพาะนิรโทษกรรม แต่ตนคิดว่า112 และการร่างรัฐธณมนูญใหม่จะตกอยู่ในชะตากรรมที่คล้ายกัน อาจารย์สมชายกล่าวต่อไปว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจึงไม่ต้องทำอะไร แต่ตนคิดว่าทั้งสามเรื่องเป็นเรื่องที่ควบคู่กันและประชาชนต้องออกแรงกันมากพอสมควร 

อาจารย์สมชายชวนมองกรณีล่าสุดที่พึ่งเกิดขึ้นไม่นานอย่างกรณีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูฐต่อกรณีพรรคก้าวไกล ตนคิดว่าไม่ว่าผลของคำสั่งศาลจะเป็นเช่นไร กรณีนี้จะทำให้เห็นว่าชนชั้นนำจะจัดการเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร เช่น อาจยอมให้ค่อยๆเปลี่ยน ให้ใช้กลไกในระบบรัฐสภามากำกับให้ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นเพียงทีละเล็กน้อย ไม่ถึงกับปิดตาย ให้ประชาชนเห็นว่าพอมีช่องที่ความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้น ซึ่งจะดึงให้คนเข้าไปใช้กลไกระบบรัฐสภา เช่นนั้นอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ควบคุมง่ายกว่า  ในทางกลับกันการปิดประตูตายในระบบรัฐสภาจะทำให้ประชาชนไม่เลือกใช้ระบบรัฐสภานี้ เมื่อระบบรัฐสภาถูกปิดประตูตายทั้งสามประเด็น เมื่อนั้นจะกลายการสร้างสมความไม่พอใจให้ประชาชนและกลายเป็นเรื่องใหญ่ในที่สุด 

ปัจจุบันคดีทางการเมืองที่เกิดขึ้น ตนคิดว่าสร้างภาระให้กับสังคมรวมถึงกระบวนการยุติธรรม ความคาดหวังของเครือข่ายชนชั้นนำในสถานการณ์ปัจจุบันคือการสร้างภาระที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมให้กับะประชาชน เป็นวิธีการใหม่ที่เครือข่ายชนชั้นใช้ในการจัดการในช่วงหลัง เรีกยว่าเป็นวิธีการแบบ ‘Smart Repressive’ ทั้งนี้ โจทย์และหัวใจสำคัญสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันคือ เมื่อไหร่ที่มีนิรโทษกรรมต้องถึงขนาดที่รู้สีกว่าถ้าไม่มีการนิรโทษกรรมจะไปต่อไม่ได้ สำหรับชนชั้นนำก็คงมีคำถามเช่นนี้ว่าเหตุใดจึงต้องมีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตนไม่ได้หมายความว่าจึงควรให้เกิดความวุ่นวาย แต่หมายถึงในสถานการณ์ปัจจุบันควรต้องมีปัจจัยอื่นที่เข้ามาช่วยเพื่อทำให้รู้สึกว่าไปข้างหน้าได้ยาก เช่น การที่รัฐบาลไทยพยายามจะเสนอตัวไปเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  สิ่งนี้ก็ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นได้ โดยสรุปแล้วคือต้องทำให้ชนชั้นนำรู้สึกว่านิรโทษกรรมประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ หากไม่ทำสังคมไปต่อได้ยาก นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ต้องคิดต่อไป


คดีการเมืองสร้างภาระในทุกมิติ การนิรโทษกรรมเป็นจุดเริ่มต้น – วัชรภัทร ธรรมจักร ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีการเมือง

วัชรภัทร ธรรมจักร ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีการเมือง รับช่วงต่ออาจารย์สมชาย โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากคดีการเมืองโดยตรงถึงผลกระทบที่ตนและคนรอบตัวต้องเจอ โดยแบ่งผลกระทบออกเป็นสามมิติ 

ในมิติแรกของเรื่องผลกระทบ วัชรภัทรเล่าว่าที่ผ่านมาความคาดหวังของนักศึกษาหรือประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวแต่ต้นเพราะเจตจำนงหรือเสรีที่ควรจะได้ออกมา แต่การที่ออกมาเรีกยร้องนั้น เชื่อว่าทำให้หลายๆคนต้องถูกดำเนินคดีหรือแม้กระทั่งจำคุก การดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายนั้นสร้างความซับซ้อนและสร้างภาระในทุกๆด้าน ยกตัวอย่าง เวลามีคดีที่ไม่ซับซ้อนมากอย่างคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่การประกาศใช้ช่วงโควิด19 คดีประเภทนี้เริ่มต้นจากการส่งหมายมาถึงบ้าน เมื่อคนในครอบครัวเห็นหมายก็เกิดเป็นปัญหามากภายในครอบครัวเนื่องจากความเป็นห่วงของสมาชิกในบ้าน ต่อมาก็ต้องไปตามหมายเพื่อไปให้ปากคำตำรวจ ซึ่งต้องเสียเวลาทั้งวันในการดำเนินการสอบปากคำ โดยเฉพาะคดีทางการเมืองจะเล่นใหญ่มาก มีการปิดโรงพัก ทำให้ภาพที่เกิดนั้นเหมือนว่าตนทำอาชญากรรม ทั้งๆที่ตนมาใช้สิทธิตามรับธรรมนูญที่ควรจะกระทำได้ ต่อมาเป็นขั้นตอนการรายงานตัวกับพนักงานอัยการ วัชรภัทรอธิบายต่อว่าคดีทางการเมืองมักจะมีการดึงเวลาไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีรู้สึกเหนื่อย กดดัน รู้สึกท้อ ต่อมาขั้นตอนสุดท้ายซึ่งขณะนี้ตนอยู่ในขั้นตอนนี้้ คือ การไปศาลเพื่อสืบพยาน วัชรภัทรกล่าวสรุปในประเด็นแรกว่าจากขั้นตอนของการดำเนินคดีที่ได้กล้าวไปเบื้องต้นจะเห็นได้ว่ากระบวนการทางกฎหมายสร้างภาระและอาศัยทรัพยากรจากทุกฝ่ายเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นด้านทุนทางเวลา ทุนทางเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้ทรัพยากรของรัฐเอง นี่จึงเป็นมิติแรกของผลกระทบจากการดำเนินการทางคดี

มิติที่สองของผลกระทบคือ การถูกจับตาโดยรัฐและผลกระทบทางด้านจิตใจ วัชรภัทรอธิบายในประเด็นดังกล่าวว่าเมื่อถูกเป็นเป้าการติดตามของฝ่ายความมั่นคง การถูกติดตามเช่นนี้สำหรับบางคนสร้างภาวะวิตกกังวล ไปถึงขั้นเป็นสาเหตุให้ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองต้องป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือต้องพบจิตแพทย์ ซึ่งเกิดขึ้นเยอะมากกับนักกิจกรรม 

มิติสุดท้ายของผลกระทบที่วัชรภัทรได้หยิบยกมาพูดถึง คือ ผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ถูกดำเนินคดีโดยเฉพาะสภาวะทางจิตใจ ในกรณีของตนนั้น การถูกดำเนินคดีทำให้ตนและแม่ไม่ได้คุยกันมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปีเต็มด้วยความเป็นห่วงของแม่ และทุกวันนี้แม้จะกลับมาเป็นปกติก็ยังไม่สามารถพูดคุยเรื่องการเมืองกับแม่ได้อีกเลย จากกรณีของตนจะเห็นได้ว่าผลกระทบต่อสุขภาพจิตไม่ได้เกิดเพียงกับตัวนักกิจกรรมแต่เกิดกับคนรอบๆตัวของพวกเขาด้วย

นอกจากเรื่องของผลกระทบ วัชรภัทร ยังพูดถึงความคิดเห็นของตนในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากคดีการเมืองถึงการนิรโทษกรรม วัชรภัทรมองว่าตนไม่คิดว่าเมื่อมีการนิรโทษกรรมแล้วความขัดแย้งจะหายไป แต่คิดว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี การนิรโทษกรรมที่กำลังคุยกันอยู่นี่เป็รการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองซึ่งคดีการเมืองในความเข้าใจของตน หรือที่ตนอยากให้ผลักดันในการนิรโทษกรรมนี้คือต้องไปดูเรื่องคดีต่างๆที่มีมูลเหตุอันเกี่ยวเนื่องจากทางการเมืองเป็นหลักด้วย ที่เน้นว่ามูลเหตุเพราะมีหลายคดีอื่นๆ ที่อาจมีนัยยะแฝงมาจากการที่เราใช้สิทธิทางการเมือง แต่ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้เป็นคดีเพื่อหาจุดเข้ากระบวนการเพื่อใช้กฎหมายควบคุม ดังนั้นการนิรโทษกรรมในครั้งนี้จะต้องไปดูมูลเหตุอันเกี่ยวเนื่องจากทางการเมืองเป็นสำคัญ 

ความเห็นเรื่องนิรโทษกรรม วัรชภัทรย้ำว่าตนเห็นตรงว่าไม่ควรนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ที่กระทำ เพื่อเป็นหลักใหญ่ว่าต่อไปนี้คนที่มีหน้าที่ปกป้องพิทักษ์เสรีของประชาชนทั่วไปควรจะมีหลักปฏิเสธไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่เป็นความผิดได้โดยชอบ ในส่วนของการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ตนคิดว่าควรมีเพราะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า 112 เป็นคดีทางการเมือง ไม่ว่ากฎหมายมาตรานี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือไม่ก็ตาม 

ก่อนจบวัชรภัทรทิ้งท้ายว่า “นิรโทษกรรมอาจลบล้างความผิดในนัยยะกฎหมายได้ แต่ไม่อาจลบล้างบาดแผลที่เกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายแล้วอาจเป็นทางเลือกที่ดี่ที่สุดในการเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อเยียวยาผู้ที่ถูกผลกระทบ”


เสียงจากผู้ได้รับผลกระทบ รัฐควรสำนึกผิดในความผิดที่กระทำต่อประชาชน – รามิล – ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์  ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีการเมือง

รามิล – ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์  ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีการเมือง วิทยากรคนสุดท้ายของวัน ได้เล่ากับวงเสวนาถึงประสบการณ์ของตนในกระบวนการยุติธรรม หลังตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก แต่ต้องกลายมาเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคดีทางการเมือง

“ผลกระทบเป็นผลตั้งแต่เราเดินออกจากห้องไปในทุกที่ที่เราไปได้รับผลกระทบหมด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง คนรู้จัก คนไม่รู้จัก” รามิลกล่าว 

รามิลกล่าวต่อไปว่า ตนกลับรู้สึกแปลกใจมากกว่าในการถูกดำเนินคดีทางการเมือง เพราะการออกไปวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว  แม้แต่เรื่องล้มล้างหรือแก้ไข ก็ควรต้องเป็นเรื่องที่สามารถพูดได้ แต่สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นความผิดทางการเมือง

หลายครั้งที่ตนต้องไปร่วมการสืบพยานในคดีที่ตกเป็นจำเลย รามิลรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมควรฟังเสียงของบุคคลต่างๆที่ตั้งใจไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน 

“คนที่ตกเป็นจำเลยในคดีทางการเมืองซึ่งรัฐใช้กฎหมายใช้ข้อหาเพื่อจะกีดกันการให้ความเห็นทางการเมืองของบุคคลเหล่านี้ จำเลยพวกนี้คือคนที่ได้รับผลกระทบ และคนเหล่านี้ต่างเป็นมุนษย์เช่นเดียวกันที่มีเสียงและความคิดเห็นของตนที่อยากจะกล่าว” นั่นคือสิ่งที่รามิลอยากให้กระบวนการยุติธรรมได้ยิน

รามิลเล่าว่าหลายครั้งเจ้าหน้าที่มักมาขอความเห็นใจให้กับตนเองในการต้องปฏิบัติตามคำสั่ง แต่แล้วใครเห็นใจจำเลย ใครเห็นใจประชาชน รามิลตั้งคำถาม

ข้อเท็จจริงทางกฎหมาย เวลาไปศาลคำนี้มักจะเป็นคำได้ยินบ่อย แต่ตนคิดว่าคำว่าข้อเท็จจริงทางกฎหมายนี้ก็ไม่ควรขาดความสำนึกในความเป็นมนุษย์ไปด้วย  

นี่เป็นความรู้สึกของตน รามิลกล่าว

ในช่วงท้าย รามิลได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรม ตนไม่คิดว่าความคิดเห็นของตนเองว่าเห็นด้วยหรือไม่จะเป็นสาระสำคัญ แต่มีคำถามสำหรับต่อไปในอนาคตฝากกับสังคมว่า หากพ.ร.บ.นิรโทษรกรรมนี้จะสามารถวางรากฐานสังคมไทยไปในอนาคตได้ เราจะเห็นด้วยในทิศทางไหน ถ้าไม่เห็นด้วยจะมีเหตุผลอย่างไรบ้าง  

คำถามที่สองคือ ถ้าวันหนึ่งพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหล่านี้ หากเราพบว่ากลับมีรายละเอียดที่ยังไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมประชาชนอย่างแท้จริงตามตั้งใจ วันหนึ่งวันใดวันนั้นเราก็ต้องออกมาต่อต้านมันหรือไม่ 

หลังจากฝากคำถามให้ชวนคิดต่อ รามิลกล่าวทิ้งท้ายถึงความคิดเห็นส่วนตัวของตนว่า สำหรับตนไม่ต้องมาให้นิรโทษกรรมอะไร เพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดแต่แรก ตนคิดว่าสิ่งสำคัญที่รัฐต้องทำคือ การขอโทษ ถ้าพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะถูกมองในอนาคตได้อย่างไรนั้น ควรเป็นความสำนึกผิดของรัฐที่กระทำต่อประชาชน และไม่ควรมีเพียงพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างเดียว ความผิดของรัฐนรี้จะต้องถูกบันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่งรัฐเคยทำผิดกับประชาชน

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading