แถลงการณ์สนับสนุนการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายต่อร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการออกเสียงประชามติที่เสรีและเป็นธรรม

Share

ดาวน์โหลด (1)

แถลงการณ์สนับสนุนการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายต่อร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการออกเสียงประชามติที่เสรีและเป็นธรรม

—————————————————————————

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารพยายามขอให้ ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาซึ่งทำหน้าที่วิทยากรในเวทีถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ ๒ หัวข้อ “คำถามพ่วงมีนัยอย่างไร” ณ ห้องประชุมมาลัย หุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. ไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เพื่อชี้แจงกรณีการเผยแพร่เอกสาร “๗ เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ๗ สิงหา ๕๙ ประชามติเพื่ออนาคต” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งความผิดใด ๆ นั้น
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ในฐานะองค์กรร่วมจัดงานและหน่วยงานต้นสังกัดของ ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว ขอชี้แจงและเรียกร้องต่อรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

๑. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษายืนยันการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการมีพื้นที่แลกเปลี่ยนและถกแถลงความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย อันจะนำมาซึ่งการเรียนรู้ร่วมกันของคนในสังคม การสร้างคุณค่าร่วมกัน และการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันได้ในความแตกต่างเหล่านั้น

๒. การแสดงออกถึงการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๔ ซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคีซึ่งรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกของปวงชน และตามมาตรา ๗ ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย”

๓. พฤติกรรมของผู้แทนรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในการออกคำสั่ง จับกุม และข่มขู่ผู้ซึ่งแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและเปิดเผย เป็นพฤติกรรมที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่มุ่งสร้างความสามัคคี สกัดการใช้กำลัง และยังขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้ง การไม่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์และนโยบายของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มุ่งยุติความขัดแย้งของคนในชาติ

๔. ถ้ารัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า บุคคลและ/หรือองค์กรใดมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ จำเป็นต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า บุคคลและ/หรือองค์กรนั้นกระทำผิดกฎหมายฉบับใด ในมาตราใด ด้วยเหตุผลใด และต้องเป็นการชี้แจงโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ

๕. การแจกเอกสารหรือการแถลงข่าวว่ารับหรือไม่รับ และการเชิญชวนให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระทำโดยสุภาพและสุจริตใจตามมาตรา ๗ ที่อ้างถึงข้างต้น น่าจะกระทำได้เพราะไม่ถูกห้ามโดยมาตรา ๖๑ วรรคสองของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

๖. ผู้ที่บังคับใช้กฎหมายและผู้ที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมายพึงตีความพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยเฉพาะมาตรา ๖๑ ในทางที่เอื้อไม่ใช่ในทางที่ลิดรอนสิทธิการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ขอยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก และขอเรียกร้องต่อรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง และองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ให้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติโดยสุจริตใจ

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
๒๗ เมษายน ๒๕๕๙

TAG

RELATED ARTICLES

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading