จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา ข้อห่วงกังวลกรณีการดำเนินคดี และการประกันตัว ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง

Share

สืบเนื่องจากกรณีที่ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมในคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้มีถูกศาลสั่งให้ขังในชั้นสอบสวนหรือในระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล จำนวนกว่า ๑๕ คน โดยศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัว บางคนถูกกักขังมาแล้ว ๓๐๐ กว่าวัน บางกรณีได้รับการประกันตัว แต่ต้องยอมรับเงื่อนไขติดอุปกรณ์ติดตามตัว หรือ Electronic Monitoring (EM) ตลอดเวลา บางคนถูกกำหนดเงื่อนไขห้ามออกจากบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมง และมีข้อกำหนดอื่นๆ ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพอีกมากมาย หรือไม่ก็ถูกถอนประกันและนำตัวไปคุมขังอีกนั้น

องค์กรสิทธิมนุษยชนดังมีรายชื่อท้ายจดหมายฉบับนี้เห็นว่า การกล่าวหา ดำเนินคดี ตลอดจนการกำหนดหลักประกันและเงื่อนไขต่างๆ ให้ผู้ต้องหา/จำเลยเหล่านี้ต้องปฏิบัติ เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น มีลักษณะที่ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างชัดแจ้ง กล่าวคือ

การดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม ผู้ต้องหา/จำเลยซึ่งเป็นแกนนำนักกิจกรรมทางสังคมการเมืองหลายคนถูกกล่าวหาและดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหารและโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากพวกเขามีความคิดความเชื่อทางสังคมและการเมืองที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ ตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพทางความคิดความเชื่อทางสังคมและการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพอันสัมบูรณ์ (Absolute Right) ของบุคคล ที่รัฐหรือผู้มีอำนาจใดๆ ไม่อาจอ้างเหตุผล หรือสถานการณ์ใดๆ เพื่อจำกัดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ แต่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยกลับถือว่า “ความคิดความเชื่อของบุคคลที่ต่างจากผู้มีอำนาจเป็นอาชญากรรม” และกระทั่งได้กล่าวหาและดำเนินคดีนักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองที่มีความคิด ความเชื่อ ต่างจากรัฐบาลหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพล และการแสดงออกซึ่งความคิดเชื่อในเรื่องดังกล่าวโดยสงบอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในสังคประชาธิปไตย ว่าพวกเขา กระทำผิดตามประมวลกฎหมายนอาญามาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๖ พ.ร.ก. การบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และกฎหมายอื่นๆ ทำให้พวกเขาตกเป็น “นักโทษทางความคิด” (Prisoner of Science) ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมอารยะไม่อาจยอมรับได้

หน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารโดยฝ่ายตุลาการ ศาลซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการที่ต้องทำหน้าที่และมีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเข้มงวด ต่อการกล่าวหาและการดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ศาลต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ เป็นมืออาชีพ โดยปราศจากอคติและการแทรกแซงทั้งปวง ตามหลักนิติธรรม เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาบางคน ในคดีที่นักกิจกรรมดังกล่าวตกเป็นผู้ต้องหา/จำเลย เห็นว่าไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทั้งสองหลักการดังกล่าว ทั้งในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวและการพิจารณาพิพากษาคดี จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพล ได้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และใช้กระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อขจัดหรือปิดปากฝ่ายตรงข้าม (Judicial Harassment) อย่างได้ผล

ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการประกันตัว ผู้ต้อง/จำเลยนักกกิจกรรมทางสังคมและการเมือง นอกจากไม่สมควรที่จะต้องถูกดำเนินคดีเพราะเหตุที่มีความคิดความเชื่อทางสังคมและการเมืองและการแสดงออกแล้ว พวกเขายังถูก “ปฏิบัติเป็นพิเศษ” ที่แตกต่างจากผู้ต้องหา/จำเลยในคดีอาญาทั่วไป รวมทั้งคดีอุกฉกรรจ์อีกด้วย อันถือเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มาตรา ๒๙ วรรคสอง บัญญัติว่า

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” วรรคสาม บัญญัติว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” และวรรคท้าย บัญญัติว่า “คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้…”       

ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง แต่ในการปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับการยึดถือและปฏิบัติอย่างแท้จริง

• ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ถูกขังหรือถูกถอนประกันทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี ตรงกันข้ามพวกเขากลับแสดงออกอย่างเอาจริงเอาจังว่าพร้อมต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ต่อสู้เพื่อยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางความคิดความเชื่อทางสังคมและการเมืองและมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อดังกล่าว ต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลเคารพสิทธิเสรีภาพของพวกเขา และต่อสู้เพื่อให้ศาลซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบรัฐบาลตัดสิน ว่าการจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางความคิดความเชื่อดังกล่าวของประชาชนโดยรัฐ ไม่ชอบธรรมและไม่อาจกระทำได้ โดยพวกเขาคาดหวังว่า ศาลจะทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายตุลาการตามหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง

• คำสั่งของผู้พิพากษาหลายคน ในการขังผู้ต้อง/จำเลยนักกิจกรรม เป็นการปฏิบัติต่อพวกเขาเสมือนหนึ่งเป็น “ผู้ต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดแล้ว” โดยอ้างเหตุผลในการขังและการถอนประกันว่า ผู้ต้องหา/จำเลยเหล่านั้นจะไป “กระทำเช่นเดียวกันกับที่กล่าวหา” อีก หรือ ได้ไป “กระทำเช่นเดียวกันกับที่กล่าวหา”  เช่น การชุมนุม การแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อที่รัฐบาลและอัยการอ้างว่าเป็นการก่ออาชญากรรมและหยิบยกขึ้นกล่าวหาและดำเนินคดีพวกเขา ทั้ง ๆ ที่ศาลยังมิได้พิจารณาและตรวจสอบพยานหลักฐานที่อัยการจะต้องเสนอต่อศาลเพื่อพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยอันสมควรว่า พวกเขาเป็นผู้กระทำผิดจริงตามกล่าวหา อีกทั้งพวกเขายังไม่เป็น “ผู้ต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดแล้ว” แต่อย่างใด ดังนั้นการสั่งขังหรือถอนประกันผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมในหลายคดี อาจเข้าข่ายเป็น “การตั้งธงพิพากษาไว้ก่อนโดยอคติ (Prejudge)” ซึ่งขัดต่อหลักแห่งความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง และอาจถือว่าเป็นการ “ลงโทษขัง” ผู้ต้องหา/จำเลย ทั้งที่ต้องถือว่าพวกเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

• จริงอยู่ ผู้ต้องหา/จำเลยที่เป็นนักกิจกรรมบางคนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือการประกันตัว แต่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่เสมือนหนึ่งว่าพวกเขาว่าเป็นนักโทษที่ต้องคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดและต้องรับโทษแล้ว การห้ามไป “กระทำเช่นเดียวกันกับที่กล่าวหา” เช่นห้ามร่วมกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยที่พึงกระทำได้ ห้ามออกนอกบ้านตลอด ๒๔ ชั่วโมง  เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล (House Arrest) ติด Electronic Monitoring (EM) หรือกำไล EM เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างยิ่งยวดทั้งสิ้น และเป็นมาตรการที่อาจใช้ได้เฉพาะต่อนักโทษที่ศาลได้มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่ามีความผิดและต้องรับโทษเท่านั้น

• การขังในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาคดี การถอนประกันและการกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวในลักษณะดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะการติดกำไล EM  นอกจากมีลักษณะเป็น “การลงโทษ” ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมทางสังคมการเมืองแล้ว ยังเป็น ”การด้อยค่าและละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ของพวกเขาอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ไม่อาจกระทำได้ ไม่ว่าโดยเหตุผล หรือในสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร เจ้าหน้าที่บางคนในกระบวนการยุติธรรมในชั้นเจ้าพนักงาน และในชั้นศาล ที่ผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้ได้มีการร้องเรียน อุทธรณ์ต่อศาลสูง แต่หลายกรณีไม่ได้รับการแก้ไขเยียยา ยังมีผู้ต้องหา/จำเลยนักกิจกรรมอีกจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดี ขัง และปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมในลักษณะดังกล่าวข้างต้น

ดังนั้น เมื่อการเรียกร้องสิทธิตามขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่หมดสิ้นหนทาง พวกเขาจึงจำเป็นต้อใช้กระบวนการนอกศาล อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนสามารถกระทำได้ด้วยความเป็นธรรม โดยการชุมนุม ประท้วง กระทั่งถอนประกันตนเอง อดข้าว อดน้ำ เพื่ออุทธรณ์ต่อประชาชนและนานาชาติ ดังกรณีของ นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ นางสาวอรวรรณ  ภู่พงษ์ หรือแบม นักกิจกรรมหญิงทั้ง ๒ ราย ที่ได้ยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวชั่วคราวของตนเอง และสิทธิโชค เศรษฐเศวต  เพื่อประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทางการเมือง รวมถึง ข้อเรียกร้อง ๓ ข้อ ได้แก่ ๑) การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ๒) ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง ๓) เรียกร้องทุกพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา ๑๑๒ และข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๖

ขณะนี้นักกิจกรรมหญิงทั้งสองได้อดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๖ จนมีสภาพร่างกายอิดโรยและถูกส่งตัวเข้ารับการดูแลที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และอยู่ในขั้นวิกฤติที่อาจเสียชีวิตได้ในไม่ช้านี้

กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้ จึงขอให้ท่านในฐานะประธานของฝ่ายตุลาการดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ฝ่ายตุลาการสามารถมีบทบาทเป็นเสาหลักในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน อำนวยความยุติธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและนำมาซึ่งสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคม ได้อย่างแท้จริง ตามหลักการของสังคมประชาธิปไตย ต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

ลงชื่อ

• มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
• สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
• มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
• สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
• คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
• ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD.)
• สถาบันสังคมประชาธิปไตย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading