ความไม่เป็นธรรมที่บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ. ภูพาน จ.สกลนคร ไล่ตัดยางชาวบ้านเพิ่ม ชาวบ้านถูกจับกุมข้อหาบุกรุกระลอกที่สอง

Share

 

ความไม่เป็นธรรมที่บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ. ภูพาน จ.สกลนคร

ไล่ตัดยางชาวบ้านเพิ่ม ชาวบ้านถูกจับกุมข้อหาบุกรุกระลอกที่สอง

โดย : ศูนย์ข้อมูล มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

944007_1063471420366396_6690332269123762014_n.jpg

ภาพ : นายทองอินทร์ มาตราช

 

วิบากกรรมของชาวบ้านจัดระเบียบระลอกที่สองเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2559  โดยมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และกองกำลังทหารของกอรมน.ได้โค่นยางของชาวบ้าน 93 ไร่  อีกทั้งในวันที่ 7 เมษายน ได้มีการจับกุมนายเก่ง มาตราช อายุ 36 ปีบุตรของนายทองอินทร์ มาตราชในข้อหาบุกรุก

เมื่อวันที่ 11  เมษายน 2559 นักกิจกรรมในพื้นที่ได้เผยแพร่ภาพบรรยากาศหน้าศาลสกลนครหลังจากทราบว่าศาลไม่ให้ประกันตัวนายเก่ง มาตราช ชาวบ้านบ้านจัดระเบียบที่ถูกจับกุมคดีป่าไม้ที่ดิน เนื่องจากที่ดินที่ญาติยื่นเป็นหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวเป็นที่ดินตาบอด โดยผู้ที่ไปรอรับมีทั้งผู้เป็นพ่อ ภรรยา ลูกชาย และเพื่อนบ้าน แต่ผิดหวังเนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลอ้างความเห็นของตนเองว่าที่ตาบอดมีมูลค่าไม่ถึงหลักทรัพย์ 100,000 บาทที่ทางศาลกำหนดไว้   ข้อมูลจากนักกิจกรรมในพื้นที่ระบุว่า “นายเก่ง มาตราช อายุ 36 ปี ชาวบ้านบ้านจัดระเบียบ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม เขาก็เหมือนกับคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านที่เส้นทางชีวิตต้องออกเดินทางไปรับจ้างตัดยางที่ภาคใต้ ระหว่างรบจ้างตัดยาง เขาก็ได้พบรักและแต่งงานกับสาวสุราษฎร์ฯ และปัจจุบันมีลูกด้วยกัน 2 คน คนโต อายุ 12 ปี คนเล็ก 10 ปี  ภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านจัดระเบียบถูกกล่าวหาว่าเป็นนายทุนบุกรุกป่า นำไปสู่การยึดพื้นที่สวนยางที่ชาวบ้านสะสมจากเงินที่เดินทางไปรับจ้างกรีดยางที่ภาคใต้  และการจับกุมชาวบ้าน 34 รายดำเนินคดีเมื่อปี 2557”

12705368_10156555510655442_523797205025240742_n

หนึ่งในครอบครัวชาวบ้าน 34 รายที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส คือครอบครัวมาตราช  นายทองอินทร์ มาตราชอายุ 61 ปี  และนายวิทยา มาตราช อายุ 25 ปีบุตรชายทั้งสองคนเคยถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่ดินเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2557  นายทองอินทร์ฯ ตัดสินใจสารภาพแม้จะไม่เข้าใจและสงสัยเหตุที่ป่าไม้แจ้งความว่าชาวบ้านบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติภูพาน ทั้งที่ชาวบ้านทำกินมานานแล้ว ขณะที่นายทุนตัวจริงบุกรุกป่าทำสวนยางกว่า 2,000 ไร่ ที่ไม่ห่างจากบ้านจัดระเบียบกลับลอยนวล

นายทองอินทร์หัวหน้าครอบครัวมีพื้นเพที่วาริชภูมิ จ.สกลนคร ที่ดินดังกล่าวนายทองอินทร์ได้ซื้อจากชาวบ้านบ้านกกโด่ ปี 2549 และได้แบ่งให้นายวิทยาจำนวน 18 ไร่ ขณะอายุ 17 ปีตอนรับจ้างกรีดยางที่ภาคใต้ ต่อมา นายวิทยาได้กลับจากภาคใต้เมื่อปี 2553 มีรายได้จากการทำสวนยางพาราบนที่ดินดังกล่าวเดือนละ 10,000 – 20,000 บาท  เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557  เจ้าหน้าที่ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรวมกว่า 100 คนพร้อมด้วยรถยนต์กว่า 18 คัน เข้าตรวจค้นและมีการยึดรถจักรยานยนต์ ไข่ไก่และของกินบางส่วนไป แม้แต่นมของเด็กทารกไป  นับแต่นั้นจากเศรษฐีสวนยางมีรถยนต์ขับจึงต้องย้ายมาเช่าบ้านอยู่ในหมู่บ้านด้วยอัตราค่าเช่า 700 บาทต่อเดือน ไม่กล้าอยู่ในพื้นที่ของตนเอง  และมีการถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบติดอาวุธให้ย้ายทรัพย์สินลงมาทั้งหมด  ตลอดระยะเวลานับแต่โดยตั้งข้อหาดำเนินคดีนายทองอินทร์ มีอาการกังวล นอนไม่หลับและรถยนต์ที่ซื้อมาด้วยน้ำพักน้ำแรงจากสวนยางที่ต้องการฝากผีฝากไข้ด้วยก็ถูกยึดไปด้วย  วิบากกรรมรอบที่สองนี้ตอกย้ำถึงความเป็นธรรมต่อชาวบ้านจัดระเบียบที่ต้องการการแก้ไขและเยียวยา

ประวัติบ้านจัดระเบียบ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เก็บข้อมูลกรณีที่ดินพิพาทที่บ้านจัดระเบียบในการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2558 โดยได้สอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิทธิเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมต่อชาวบ้านกรณีที่ดินป่าไม้  พบข้อมูลเบื้องต้นว่าชาวบ้านหมู่บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร เข้ามาอยู่อาศัยทำกินตั้งแต่สมัยปี 2518 เรื่อยมา จนตั้งหมู่บ้านขึ้นเมื่อปี 2522 แม้ว่ารัฐบาลได้มีการออกกฎกระทรวงตาม พระราชบัญญัติป่าสงวนประกาศ เขตป่าสงวนดงชมภูพาน-ดงกระเชอ เมื่อ22 พฤศจิกายน 2530  และชาวบ้านก็อยู่อาศัยทำกินเรื่อยมา

แต่เมื่อมีการบังคับใช้คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557และคำสั่ง 66/2557 ที่เกี่ยวกับการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่า ซึ่งกำหนดว่าการดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ และการประกาศใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2558  เป็นเครื่องมือของรัฐที่จะแก้ไขปัญหาการยึดถือครองที่ดิน   ทั้งนี้ยังไม่มีการปรึกษาหารือกับชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ

ระหว่างเดือนสิงหาคม 2557 – พฤศจิกายน 2558 ชาวบ้านถูกฟ้องเป็นคดีในพื้นที่พิพาทกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขตป่าสงวนแห่งชาติดงชมภูพาน-ป่าดงกะเณอ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 29 ราย 31 คดี ในจำนวนนี้ 5 รายให้การรับสารภาพและศาลตัดสินให้จำคุกสี่ปีลดโทษเหลือสองปีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2557  เป็นรายแรก ชาวบ้านที่ถูกฟ้องคดีส่วนมากไม่ได้เป็นผู้ครอบครองส่วนแรก แต่เป็นการซื้อมาจากผู้ครอบครองเเรกหรือมีการเปลี่ยนมือมาแล้วหลายครั้ง  อย่างไรก็ดีปัญหาข้อพิพาทลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและหลายรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาที่ทำกิน และได้มีการอนุโลมให้อยู่ต่อเรื่อยมา และอนุญาตให้ชาวบ้านได้ทำกินมีการปลูกต้นยางและมันสัมปะหลังจนเต็มพื้นที่ซึ่งเป็นการลงทุนที่ใช้เงินจำนวนมาก

 

การดำเนินคดีข้อหาบุกรุกชาวบ้านบ้านจัดระเบียบรอบแรก

20152210014454

ภาพ:  ศรายุทธ ฤทธิพิณ

ชาวบ้านบ้านจัดระเบียบได้ให้ข้อมูลว่าเมื่อเดือน 23-24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ที่โรงเรียนน้ำพุงจัดระเบียบ ต. หลุบเลา อ.ภูพาน จังหวัดสกลนครชาวบ้านได้รับการติดต่อประชาสัมพันธ์จากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าจะมีการจัดทำแบ่งแยกที่ดินให้เป็นจัดส่วนโดยการรังวัดและให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแก่ชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้านยื่นหลักฐานและแจ้งว่าได้ทำกินในพื้นที่พิพาทดังกล่าวจริง เจ้าหน้าที่ดำเนินรวบรวมเอกสาร ให้ลงลายมือชื่อ และต่อมาเมื่อวันที่  26 กรกฎาคม 2556 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้ชาวบ้านไปชี้ที่ดินของตนหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไปยืนแปลง โดยมีชาวบ้านจัดระเบียบจำนวนประมาณ  30 รายได้เข้าไปดำเนินการ แล้วต่อมาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ได้ดำเนินการติดประกาศห้ามเข้าแล้วก็มีแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนมีการฟ้องคดีดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557

 

โดยทางศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน (The center for Development and Education on Human Right Lawyers) ศพกส. (CDEHL) ได้ให้ความช่วยเหลือคดีชาวบ้านทั้งหมด คดีป่าไม้ที่ดินของจังหวัดสกลนครในช่วงปี 2557 – 2558 เกือบสองปีเต็ม แม้คดีความของชาวบ้านจัดระเบียบจะสิ้นสุดไปแล้ว ทั้งเป็นคดีที่ชาวบ้านรับสารภาพจำนวน 4 คดีไปก่อนหน้าที่ทีมทนายความของศูนย์ฯ เพราะไม่ได้รับคำปรึกษาหารือทางกฎหมาย คือเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2557  มีชาวบ้านจำนวน 4 รายได้ให้การรับสารภาพ โดยศาลตัดสินให้มีวามผิดในคดีบุกรุกแผ่วถางป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงชมภูพาน-ป่าดงกะเณอ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พร้อมกันนั้นทางราชการยังประกาศว่าได้ยึดพื้นที่คืน  ชาวบ้าน 4 รายเป็นชาวบ้านหญิงอายุ 62 ปีและ 58 ปี อีกสองรายเป็นสามีภรรยาอายุ 50 และ 51 ปี ได้ให้การรับสารภาพและศาลตัดสินให้จำคุกสี่ปีลดโทษเหลือสองปี 3 ราย อีก 1 รายตัดสินให้จำคุกสองปีลดเหลือหนึ่งปี

ในขณะนั้นเนื่องจากนโยบายทวงคืนผืนป่าเป็นคำสั่งหลังการรัฐประหารชาวบ้านสี่รายสารภาพก็ยังถูกตัดสินจำคุกไม่รอลงอาญาจึงทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวต่อการต่อสู้คดีและมีแนวโน้มว่าจะรับสารภาพจำนนต่อชะตากรรม ต่อมทางทีมศูนย์ฯเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านบ้านจัดระเบียบ 29 คนทั้งหมดถูกนำตัวส่งฟ้องศาลจังหวัดสกลนครข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าไม้  ศาลจังหวัดสกลนครนัดสมานฉันท์ ชาวบ้านยังคงให้การปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี ศาลสกลนครนัดสมานฉันท์ทุกคดีในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม 2557 – ตุลาคม  2558 ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีเต็มดังกล่าวมีนัดพิจารณาคดีทุกเดือน และพิจารณาคดีเกือบทั้งเดือน

ชาวบ้านนอกจากจะถูกฟ้องคดีบุกรุกป่าสงวนและมีการขับไล่ให้ออกจากพื้นที่แล้ว ยังต้องถูกเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ (คดีโลกร้อน)อีกด้วย โดยคำนวณค่าเสียหายแล้วเฉลี่ยตกไร่ละ 150,000 บาทหากเป็นพื้นที่ต้นน้ำ และค่าเสียหายลดหลั่นกันออกไป หากคิดคำนวณเป็นเงินแล้วถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ของชาวบ้าน

ยังมีความเป็นธรรมอยู่บ้างเมื่อทีมทนายความได้ให้คำแนะนำกับชาวบ้านและช่วยประสานงานกับกองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยทางกรมฯ ได้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกันการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งมีการอนุมัติวงเงินประกันคนละ 100,000 บาท แต่สามารถประกันได้เพียง 19 ราย เนื่องจากมีที่ดินที่ถูกระบุมาในคำฟ้องไม่เกิน 25 ไร่ ส่วนที่ถูกระบุในคำฟ้องเกิน 25 ไร่ ศาลกำหนดวงประกันคนละ 200,000 บาท จึงยังไม่สามารถประกันตัวได้ เพราะวงเงินอนุมัติมีไม่พอตามจำนวนที่ศาลกำหนด  ต่อมาได้มีการประกันตัวชาวบ้านที่เหลืออีก 10 คน ในวันที่ 2 ตุลาคม 2558 โดยสามารถหาหลักทรัพย์มาเพิ่มอีกคนละ 100,000 บาท และสามารถประกันตัวได้หมดทุกคน ศาลมีกำหนดนัดพร้อมเพื่อสมานฉันท์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558  สรุปผลคดีทั้งหมด ณ ตุลาคม 2558  ศาลได้พิพากษาแล้ว 30 คดี 28 ราย อีก 1 คดียังอยู่ในการพิจารณาศาลเยาวชนสกลนคร  โดยพิพากษารอการลงโทษ 20 คดี 18 ราย ไม่รอการลงโทษ7 คดี ผู้ต้องหา 7 ราย  และพิพากษายกฟ้อง 3 คดี ผู้ต้องหา 3 ราย

แม้ชาวบ้านได้ดำเนินการร้องขอหลักทรัพย์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจากกองทุนยุติธรรม สำนักงานยุติธรรมจังหวัด แต่ด้วยปริมาณคดีที่มีมากทำให้ได้รับการพิจารณาที่ยากมากยิ่งขึ้น  นับแต่เดือนพฤษภาคม   2557 -ปัจจุบันชาวบ้านบ้านจัดระเบียบมีความยากลำบากในการทำมาหากิน ไม่สามารถเข้าไปกรีดยางได้เพราะความหวาดกลัว หากต้องการใช้เงินตามความจำเป็นก็ต้องหลบไปกรีดยางเพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายประจำวันและใช้จ่ายในวันที่ต้องไปขึ้นศาล  ชาวบ้านจะรวบรวมเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเดินทางไปศาลจังหวัดสกลนครด้วยกันทุกนัด แม้คดีทั้งหมดจะจบสิ้นไปแล้วเมื่อสิ้นปี 2558  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 วิบากกรรมของบ้านจัดระเบียบเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อนายเก่ง มาตราช ถูกจับกุมและดำเนินคดี โดยมีเนื้อหาคดีเหมือนคดีของชาวบ้านจัดระเบียบในครั้งแรก จนดูเหมือนว่าชาวบ้านจัดระเบียบจะยังไม่รอดพ้นจากความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกนานเท่าใดภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่า

 

=============

 

TAG

RELATED ARTICLES

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading