คสช.

ทำความเข้าใจผลของการยกเลิกกฎอัยการศึก คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งนำมาบังคับใช้แทน ดีกว่าจริงหรือไม่?

Share

ทำความเข้าใจผลของการยกเลิกกฎอัยการศึก คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ซึ่งนำมาบังคับใช้แทน ดีกว่าจริงหรือไม่

1. พื้นที่ซึ่งประกาศกฎอัยการศึกก่อนวันที่ 20 พ.ค. 57 เช่น พื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่จังหวัดชายแดนในภาคอื่นๆ ยังคงประกาศกฎอัยการศึกต่อไปไม่ได้ยกเลิก

2. พลเรือนยังคงต้องขึ้นศาลทหารต่อไปในคดีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 37/57, 38/57, และ 50/57

3. ศาลทหารในยามปกติสามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ แต่ต้องเป็นคดีที่เกิดนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 58 เป็นต้นไป คดีซึ่งเกิดระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 57 – 31 มี.ค.58 ยังคงไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ ตามมาตรา 61 พระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498

4. เดิมมาตรา 15 ทวิ กฎอัยการศึกให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลไม่เกินเจ็ดวัน หากมีคดีหลังจากนั้นต้องส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่สอบสวน แต่คำสั่งฉบับนี้ให้อำนาจ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารยศนายร้อยขึ้นไปทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ไม่เคยมีกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงฉบับใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเป็นพนักงานสอบสวนมาก่อน)

5. กล่าวคือ ในคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจจับกุม ควบคุมตัว เข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวน (ตามคำสั่งฉบับนี้) ส่งฟ้องโดยอัยการทหาร และตัดสินโดยศาลทหาร (ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/57, 38/57, 50/57)

6. เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน ในสถานที่ซึ่งไม่ใช่สถานที่คุมขัง และปฏิบัติเหมือนเป็นผู้ต้องหาไม่ได้ เช่นเดียวกับกฎอัยการศึกซึ่งเจ้าหน้าที่ตีความว่าผู้ถูกกักตัวไม่ใช่ผู้ต้องหา จึงไม่มีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องหาคือ ไม่มีสิทธิพบญาติ ไม่มีสิทธิพบทนายความในช่วงเวลาดังกล่าว

7. กรณีถูกควบคุมตัวไม่เกินเจ็ดวันเนื่องจากเหตุความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจกำหนดเงื่อนไข (1) ห้ามเข้าเขตที่กำหนด (2) เรียกประกันทัณฑ์บน (3) คุมตัวไว้ในสถานพยานบาล (4) ห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง (5) ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต (6) ระงับธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่มากไปกว่าเงื่อนไขท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 40/2557

8. เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัว จับกุม ควบคุมตัว ค้น ยึด อายัด กระทำการใดๆตามคำสั่ง คสช.และเป็นพนักงานสอบสวนตามความผิด 4 ประเภทข้างต้น

9. เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้ แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบ เรียบร้อยของประชาชน

10. กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเป็นความผิด และหากผู้กระทำความผิดดังกล่าวสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเจ็ดวันและเจ้าพนักงานเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขและให้คดีอาญาเลิกกัน (แนวความคิดเช่นเดียวกับมาตรา 21 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในขณะที่พ.ร.บ.ดังกล่าวมีองค์กรตุลาการเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วยแต่คำสั่งฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้น)

11. การกระทำตามคำสั่งฉบับนี้ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและไม่สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้

12. มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ให้อำนาจเฉพาะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวคือเป็นการขยายเขตแดนในการใช้อำนาจให้มากยิ่งขึ้น

13. เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย

14. แม้ข้อ 14 ตามคำสั่งฉบับนี้จะไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แต่มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด

15. กล่าวโดยสรุป คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ยังคงไว้ซึ่งอำนาจตามกฎอัยการศึก แต่เพิ่มเติมเรื่องการอบรมตามแนวทางพระราชบัญญัติความมั่นคง การยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงเพิ่มอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีบทบัญญัติรับรองความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญตามมาตรา 44

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading