19-20 ก.พ. ชวนจับตากัมพูชาตอบคำถาม กรณีอุ้มหายวันเฉลิม กับคณะกรรมการตามอนุสัญญาอุ้มหายฯ สหประชาชาติ ท่ามกลางกระแสการกดปราบข้ามชาติ ภารกิจ ‘เอาใจเพื่อนเผด็จการ’ ในอาเซียน

19-20 ก.พ.67 ชวนจับตากัมพูชาตอบคำถาม ‘กรณีอุ้มหายวันเฉลิม’ กับคณะกรรมการตามอนุสัญญาอุ้มหายฯ สหประชาชาติ ท่ามกลางกระแสการกดปราบข้ามชาติ ภารกิจ ‘เอาใจเพื่อนเผด็จการ’ ในอาเซียน

Share

วันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองไม่ให้บังคับบุคคลสูญหาย (CED) องค์การสหประชาชาติ จะมีการพิจารณาทบทวนสถานการณ์การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศกัมพูชาในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ ในการประชุมครั้งที่ 26 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์  – 1 มีนาคม 2567 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยในรอบการประชุมดังกล่าวได้มีสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธฺมนุษยชน (TLHR) ส่งรายงานสถานการณ์การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศกัมพูชาต่อคณะกรรมการฯ เป็นเอกสารข้อมูลจากภาคประชาสังคม เอกสารดังกล่าวได้ทวงถามถึงกรณีการบังคับสูญหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อ 3 ปีก่อน ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะถูกนำมาตั้งคำถามต่อประเทศกัมพูชาในการประชุมครั้งนี้ด้วย การประชุมดังกล่าวจะมีการถ่ายทอดสดของระบบยูเอ็นและสามารถติดตามได้ที่

19 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาไทย 21.00-23.00 น.: https://webtv.un.org/en/asset/k10/k10k7krj1s   

20 กุมภาพันธ์ 2567เวลาไทย 16.00-19.00 น.:https://webtv.un.org/en/asset/k1w/k1wzk1dcqh   

การประชุมทบทวนสถานการณ์คนหายของคณะกรรมการตามอนุสัญญาอุ้มหายฯ กลไกตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน

การทบทวนสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปหนึ่งในกลไกตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ที่รับรองไว้ในมาตรา 29 (1) ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย  (ICPPED) ซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีต้องเสนอรายงานว่าด้วยมาตรการต่างๆ ในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ เพื่อให้สิทธิที่รับรองไว้ในอนุสัญญาฯ เป็นจริง

โดยรัฐภาคีจะต้องนำส่งรายงานฉบับแรกให้กับคณะกรรมการฯ ภายใน 2 ปี นับแต่อนุสัญญาฯมีผลบังคับใช้  อย่างไรก็ตาม ประเทศกัมพูชาซึ่งได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ได้ส่งรายงานสถานการณ์ฉบับแรกแก่คณะกรรมการฯ เมื่อ 15 กรกฎาคม 2564[1] หลังจากเข้าเป็นภาคี 8 ปี

ตามระบบของกลไกนี้ก่อนที่จะมีการพิจารณารายงานแรกอย่างเป็นทางการ คณะกรรมการอนุสัญญาสามารถกำหนดประเด็นปัญหา (List of Issues) ส่งให้รัฐภาคีเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม ขั้นตอนดังกล่าวจะเป็นแนวคำถามให้รัฐภาคีตอบถึงรายละเอียดและประเด็นที่ลึกขึ้นถึงรายงานของรัฐภาคี[2] ในกรณีของประเทศกัมพูชา ในรอบประชุมที่ 22 ของคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 คณะกรรมการฯ ได้มีการจัดทำรายการประเด็นปัญหาที่จะเป็นฐานสำหรับการทบทวนรายงานฉบับแรกของกัมพูชาภายใต้มาตรา 29 ของอนุสัญญาซึ่งเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565[3] ก่อนที่ประเทศกัมพูชาจะส่งหนังสือตอบกลับคณะกรรมการฯ เมื่อ 23 ธันวาคม 2566[4]

การทบทวนรายงานครั้งแรกอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นในรอบที่ 26 วันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเมื่อการทบทวนเสร็จสิ้นคณะกรรมการฯ จะมีการสรุปความเห็นให้แก่ประเทศกัมพูชา เพื่อให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการดำเนินการให้ประเทศกัมพูชาสามารถปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ที่ได้บังคับใช้และให้สิทธิที่รับรองไว้ในอนุสัญญาฯ ได้อย่างเป็นจริง

ทั้งนี้ ตามกลไกนี้หลังจากการรายงานครั้งแรกตามมาตรา 29 (1) ในอนุสัญญาฯ การพิจารณาสถานการณ์ของคณะกรรมการจะจัดการพิจารณาขึ้นอีกเป็นระยะ เมื่อคณะกรรมการต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมตามมาตรา 29(4)  ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาสำคัญฉบับนี้ในปัจจุบัน 

ภาคประชาสังคมส่งรายงานถึงคณะกรรมการตามอนุสัญญาอุ้มหายฯ ทวงถามกรณีการบังคับสูญหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ชี้กัมพูชายังบกพร่องในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ 

ก่อนหน้านี้สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธฺมนุษยชน (TLHR) ได้ส่งรายงานสถานการณ์การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศกัมพูชาต่อคณะกรรมการตามอนุสัญญาอุ้มหายฯ เป็นเอกสารข้อมูลจากภาคประชาสังคม เอกสารดังกล่าวได้ตั้งคำถามถึงการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับสูญหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อ 3 ปีก่อน ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะถูกนำมาตั้งคำถามต่อประเทศกัมพูชาในการประชุมครั้งนี้

ใจความของรายงานดังกล่าวพูดถึงกรณีการบังคับให้สูญหายสองกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา ได้แก่   กรณีเขม โสภา เด็กชายวัย 16 ปีที่หายตัวไประหว่างการปราบปรามอย่างรุนแรงของกองกำลังความมั่นคงกัมพูชาต่อคนงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเมื่อปี 2557 และกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย ผู้ลี้ภัยไปพำนักที่ประเทศกัมพูชาตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ถูกบังคับให้สูญหายเมื่อปี 2563 บริเวณหน้าคอนโด Mekong Garden Condominium ท่ามกลางประจักษ์พยานและหลักฐานจำนวนมากที่ยืนยันว่าวันเฉลิมพักอาศัยอยู่กัมพูชาและถูกบังคับให้สูญหายที่กัมพูชา แต่ไม่มีความคืบหน้าทางคดี

โดยรายงานชี้ว่าความล้มเหลวของประเทศกัมพูชาในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ให้เป็นจริงแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านสองกรณีการบังคับสูญหายดังกล่าว รัฐบาลกัมพูชายังล้มเหลวในการระบุชะตากรรมและที่อยู่ของผู้ถูกบังคับให้สูญหายทั้งสองราย ตลอดจนสืบสวนสอบสวนการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างจริงจังจนสามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้ แนวทางที่ล้มเหลวของรัฐบาลกัมพูชาในการดำเนินการต่อกรณีทั้งสองนี้ ไม่สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาของรายงานฉบับแรกของกัมพูชาภายใต้อนุสัญญาอุ้มหายฯ ที่ให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว        

สถานะการเข้าเป็นรัฐภาคีตามอนุสัญญาอุ้มหายฯ ของไทยยังคงไม่คืบ

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย  (ICPPED) แม้ว่าในกรณีของประเทศไทยนั้นจะมีการตรากฎหมายภายในประเทศที่ออกภายใต้อนุสัญญาฯ ดังกล่าวอย่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 แล้วก็ตาม อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ลงนามรับรองอนุสัญญาอุ้มหายฯ ไว้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555 ต่อมาคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ เมื่อปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ[5] อย่างไรก็ตามในปัจจุบันแม้จะไม่มีเงื่อนไขอื่นใดและประเทศไทยสามารถเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวได้ในทันที แต่ความคืบหน้าล่าสุดจากการกระทรวงการต่างประเทศมีเพียงว่า ยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอย่างที่ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนต่อไป

กัมพูชาเยี่ยมไทย บทสนทนาที่น่าสนใจระหว่างผู้นำสองประเทศ กับการประกาศทางการว่าการกดปราบข้ามชาติมีอยู่จริง?

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยในโอกาสนี้ไทยและกัมพูชาได้หารือแลกเปลี่ยนในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญและลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กว่า 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการรับมือเหตุฉุกเฉิน ความร่วมมือทางวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การทำงานด้านศุลกากร การส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้ากัมพูชา นอกเหนือจากความร่วมมือผ่านบันทึกความเข้าใจทั้ง 5 ฉบับแล้วนั้น บทสนทนาและท่าทีของนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศยังได้ชวนให้ตั้งคำถามว่าการพูดคุยระหว่างผู้นำสองประเทศในครั้งนี้อาจมี ‘ความร่วมมือล่องหน’ อีกหนึ่งฉบับที่ซ่อนอยู่ด้วยหรือไม่

สำนักข่าวเบนาร์นิวส์[6] ได้รายงานว่าในการแถลงข่าวในพิธีลงนามความตกลงและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ นายเศรษฐา ได้กล่าว่า “ผมได้ยืนยันกับท่านนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ว่ารัฐบาลไทยจะไม่อนุญาตให้ใครมาใช้พื้นที่ประเทศไทยทำกิจกรรมที่กระทบต่อกิจการภายในของกัมพูชา หรือกระทบความสัมพันธ์ระหว่างเราสองประเทศ เราจะดำเนินแนวทาง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับเรื่องนี้”

ในขณะที่ นายฮุน มาเนต ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ขอขอบคุณที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจว่า จะไม่อนุญาตให้ใช้แผ่นดินไทยในการจัดกิจกรรมที่กระทบกิจการภายใน และการเมืองของกัมพูชา เช่นเดียวกัน รัฐบาลกัมพูชาขอให้คำมั่นว่า จะไม่อนุญาตให้ใครใช้แผ่นดินกัมพูชาในการทำกิจกรรมที่กระทบกิจการภายในของไทยด้วยเช่นกัน”

นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศต่างให้คำยืนยันต่อกันว่าจะ ‘ไม่อนุญาต’ ให้มีการทำกิจกรรมที่กระทบเรื่องภายในประเทศของอีกฝ่าย เกิดขึ้นในประเทศตน การแถลงข่าวอย่างชัดเจนในครั้งนี้อาจเป็นการยืนยันอย่างทางการถึงความพยายามและความร่วมมือระหว่างรัฐในการ ‘กดปราบ’ และควบคุมพลเมืองของประเทศตนที่เห็นต่างซึ่งลี้ภัยอยู่นอกประเทศต้นทางนั้นๆ ไม่ให้มีการแสดงออกทางการเมืองใดๆได้

การกดปราบข้ามชาติ ความร่วมมือของรัฐข้ามพรมแดนในการคุกคามคนเห็นต่าง และกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

‘การกดปราบข้ามชาติ’ หรือ Transnational Repression เป็นรูปแบบการละเมิดสิทธิผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐเป็นสำคัญในการใช้อำนาจควบคุมคนเห็นต่างซึ่งรัฐมองว่าเป็น ศัตรูของตน โดยกลุ่มคนเหล่านี้มักเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง นักสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงนักข่าว การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐดังกล่าวเป็นการร่วมมือระหว่างประเทศต้นทาง (Origin Country) ของผู้ลี้ภัย และประเทศเจ้าบ้าน (Host Country) ที่ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ ในการคุกคามพลเมืองที่เป็นศัตรูของรัฐซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยในอีกประเทศ โดยรูปแบบการคุกคามนั้นอาจมาในหลากหลายรูปแบบซึ่งเน้นการปราบปรามและการสร้างความกลัว โดยอาจเป็นทั้งการใช้ความรุนแรงโดยตรงอย่างการฆ่า อุ้มหาย ทำร้ายร่างกาย หรือโดยอ้อมอย่างการข่มขู่ทางไกลด้วยการคุกคามครอบครัวของผู้ลี้ภัยที่ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศต้นทาง ตลอดจนการควบคุมและจำกัดการเดินทางของผู้ลี้ภัย และการที่ประเทศต้นทางแทรกแซงและเจรจากับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องของประเทศเจ้าบ้าน เช่น ตำรวจหรือหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อคุกคาม กักขัง หรือส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง

การกดปราบข้ามชาติ เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชน การปกครองในระบอบประชาธิปไตย และอธิปไตยของรัฐ รวมไปถึงเป็นการสะท้อนถึงรัฐเผด็จการที่เติบโตทั่วโลก จากข้อมูลที่รวบรวมโดย Freedom House พบว่ารูปแบบการละเมิดสิทธิดังกล่าวมีแนวโน้มในการเติบโตที่น่ากังวล จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2557 เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี มีการรวมข้อมูลเกี่ยวกับการกดปราบข้ามชาติในรูปแบบการใช้ความรุนแรงโดยใช้กำลังทำร้ายโดยตรงกว่า 854 กรณี โดยมีรัฐบาล 38 แห่งจากประเทศต้นทางในการใช้อำนาจกดปราบคุกคามผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ ในประเทศต้นทาง 91 ประเทศทั่วโลก[7] 

กรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นหนึ่งในกรณีของการกดปราบข้ามชาติ โดยมีประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง และกัมพูชาเป็นประเทศเจ้าบ้าน วันเฉลิมเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องและตกเป็นเป้าในการติดตามและคุกคามของรัฐจนทำให้ต้องมีการลี้ภัยไปประเทศกัมพูชาในช่วงของการรัฐประหารปี 2557 การบังคับให้สูญหายของวันเฉลิมจึงไม่ใช่เพียงเหตุการณ์อุ้มหายอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นกรณีทีรัฐกระทำการอย่างเป็นระบบในการกดปราบข้ามพรมแดนโดยอาศัยความร่วมมือและการใช้อำนาจของอีกประเทศ และรูปแบบการคุกคามนี้จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างเป็นระบบเมื่อใดที่รัฐต้องการควบคุมหรือกำจัดบุคคลที่มองว่าเป็นศัตรูของรัฐ หากยังไม่มีการตระหนักของสังคมถึงภัยอันตรายที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษและหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงดังกล่าว


[1] Report submitted by Cambodia under article 29 (1) of the Convention, due in 2015,  GE.21-14906(E), UN Doc CED/C/KHM/1, https://tbinternet.ohchr.org/_layouts/15/treatybodyexternal/Download.aspx?symbolno=CED%2FC%2FKHM%2F1&Lang=en

[2] UN Office of the High Commissioner for Human Rights (OHCHR), The United Nations Human Rights Treaty System, GE. 12-42658-August 2012-6, 336, Fact Sheet No. 30/Rev.1, The United Nations Human Rights Treaty System, https://www.ohchr.org/sites/default/files/Documents/Publications/FactSheet30Rev1.pdf [accessed 15 January 2024]

[3] Comm. on Enforced Disappearances, List of issues in relation to the report submitted by Cambodia under article 29 (1) of the Convention, GE22-06514(E), 22th Sess, Mar 28 –  Arpil 8, 2022, U.N. Doc. CED/C/KHM/Q/1 (May 3, 2022) https://tbinternet.ohchr.org/_layouts/15/treatybodyexternal/Download.aspx?symbolno=CED%2FC%2FKHM%2FQ%2F1&Lang=en [accessed 15 January 2024]

[4] Replies of Cambodia to the list of issues in relation to its report submitted under article 29 (1) of the Convention, GE.23-26090 (E) 26th Sess, Feb 19 – Mar 1, 2024, U.N. Doc.CED/C/KHM/RQ/1, (December 28, 2023)    https://tbinternet.ohchr.org/_layouts/15/treatybodyexternal/Download.aspx?symbolno=CED%2FC%2FKHM%2FRQ%2F1&Lang=en [accessed 15 January 2024]

[5]  “พัฒนาการของไทยต่อการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสาบสูญ”, 30 มิถุนายน 2560, กระทรวงการต่างประเทศhttps://www.mfa.go.th/th/content/5d5bd0c715e39c3060021430?cate=5d5bcb4e15e39c306000683d (สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567)

[6] นนทรัฐ​ ไผ่เจริญ, เศรษฐา-ฮุน มาเนตจับมือปราบปรามนักกิจกรรมการเมืองข้ามประเทศ,  เบนาร์นิวส์,  7 กุมภาพันธ์ 2567, https://www.benarnews.org/thai/news/th-cambodia-pm-hun-manet-visit-02072024034222.html (สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567)

[7] Yana Gorokhovskaia, Nate Schenkkan, Grady Vaughan, “Still Not Safe: Transnational Repression in 2022”, (Washington, DC: Freedom House, April 2023)

RELATED ARTICLES

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading