แถลงการณ์ แอมเนสตี้ ประเทศไทย ความตายของผู้ประท้วง 85 คน ในเหตุการณ์ตากใบ ต้องมีผู้รับผิดชอบ และถูกลงโทษ

Share

แถลงการณ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 25 ตุลาคม 2555 ประเทศไทย: ความตายของผู้ประท้วง 85 คน (เหตุการณ์ตากใบ) ต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกลงโทษ

เจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของไทยผู้ซึ่งรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ประท้วง 85 คนเมื่อแปดปีที่แล้ว ที่อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส ต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 กองกำลังความมั่นคงยิงปืนใส่ผู้ประท้วงด้านนอกสถานีตำรวจภูธรตากใบ มีผู้เสียชีวิต 7 คนในที่เกิดเหตุ และอีก 78 คนถูกทับหรือขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตในระหว่างการใช้รถทหารขนส่งพวกเขาไปควบคุมตัวที่ค่ายทหาร

“เป็นเรื่องน่าละอายที่ไม่มีผู้ใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากกรณีความตายนี้ และที่ผ่านมามีการปล่อยให้ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงกรณีอื่นๆ ลอยนวลไม่ต้องรับโทษ ในระหว่างการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในภาคใต้ของไทย” อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

“โชคร้ายที่กรณีนี้สะท้อนปัญหาการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ร้ายแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นในภาคใต้และตลอดทั่วประเทศ”

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 และมีลักษณะที่ริดลอนสิทธิ และเสรีภาพ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่ต้องรับผิดทางอาญา กฎหมายฉบับนี้ต้องถูกยกเลิกโดยทันที หรือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนได้

ในปี 2555 ทางการได้ดำเนินการที่น่ายินดีในการให้ค่าชดเชยกับครอบครัวของผู้เสียหายจากการประท้วงที่ตากใบ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ยังไม่เพียงพอ

“การให้เงินกับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความว่าทางการหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องนำตัวผู้รับผิดชอบมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการให้การเยียวยาอย่างเต็มที่ต่อผู้ได้รับผลกระทบ การให้ค่าชดเชยนี้ยังไม่อาจประกันว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต” อาร์ราดอน กล่าว

ในเดือนมิถุนายน 2555 ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธโอกาสของผู้เสียหายจากกรณีตากใบอีกครั้งหนึ่งในการเรียกร้องความยุติธรรม โดยมีคำสั่งยกคำร้องต่อการอุทธรณ์คำสั่งไต่สวนการตายเมื่อปี 2552 เนื่องจากคำสั่งศาลจากการไต่สวนการตายเมื่อเดือนตุลาคม 2547 ระบุเพียงว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ

นับแต่ปี 2547 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,000 คนจากการขัดแย้งกันด้วยอาวุธระหว่างรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบเลือกสังหารเป้าหมายที่เป็นพลเรือน และยังโจมตีพลเรือนจนเสียชีวิตอย่างไม่เลือกหน้า

“ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในภาคใต้เป็นเรื่องน่าเศร้า การโจมตีก็มุ่งให้เกิดความหวาดกลัวในบรรดาพลเรือน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเช่นนี้เป็นปัญหาท้าทายร้ายแรงต่อกลไกด้านความมั่นคงของไทย การรักษาความสงบของสาธารณะต้องดำเนินไปพร้อมกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และต้องไม่ขัดขวางกระบวนการลงโทษผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าผู้ละเมิดนั้นจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือผู้ก่อความไม่สงบ” อาร์ราดอน กล่าว[:]

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading