คำพิพากษาศาลปกครองสงขลาคดีอัสฮารี (ฉบับสมบูรณ์)
ศาลปกครองสงขลาพิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรีชดใช้ค่าเสียหายจำนวนกว่า 500,000 บาท
ให้มารดานายอัสฮารีสะมาแอ ผู้เสียชีวิตเนื่องจากถูกทรมานในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่
วันที่ 30 มกราคม พศ. 2555 เวลา 10.00น. ศาลปกครองสงขลา ได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่39/2553 ให้สำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของกอ.รมน.ชดใช้ค่าเสียหายทางละเมิดแก่นางแบเดาะ สะมาแอ มารดาของนายอัสฮารี สะมาแอ ผู้เสียชีวิต เนื่องจากเชื่อว่าบาดแผลตามร่างกายของนายอัสฮารีกับพวกไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ถูกทำร้ายร่างกาย และเกิดขึ้นในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทำการจับกุมและควบคุมตัวการจับกุมและควบคุมตัวนายอัสฮารีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากมาตรา 16 พรบ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ที่บัญญัติว่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบุคคลจะร้องขอค่าเสียหายไม่ได้นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าหากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ใช้อำนาจไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อบุคคลอื่นแล้วจะไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใดอีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานของรัฐมิใช่เจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ดังนั้นจึงสามารถฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและตำรวจที่กระทำละเมิดได้พิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นางแบเดาะ สะมาแอ จำนวนกว่า 500,000 บาท
อนึ่ง คดีดังกล่าว นางแบเดาะ สะมาแอ ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากกระทรวงกลาโหมที่ 1 กองทัพบก ที่ 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 3 และสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 4 เป็นผู้ถูกฟ้องคดี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้กระทำละเมิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกควบคุมตัวนายอัสฮารีสะมาแอ บุตรชายของผู้ฟ้องคดี กับพวกและได้ซ้อมทรมานทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัวจนเป็นเหตุให้นายอัสฮารีสะมาแอ เสียชีวิตในเวลาต่อมา
โดยเมื่อวันที่21 กรกฎาคม 2550 เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่1 กับหน่วยเฉพาะกิจที่ 13 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ร่วมกันปิดล้อมตรวจค้น และควบคุมตัวนายอัสอารี สะมาแอ กับพวก บริเวณสวนยางพารา หมู่ที่ 5 บ้านจาเราะซีโป๊ะ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลาโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ปรากฏว่าเวลาประมาณ 19.00 น.เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายอัสฮารีฯ ไปส่งที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เนื่องจากนายอัสฮารีฯ ได้รับบาดเจ็บสาหัส และแพทย์ได้ส่งไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลศูนย์ยะลาตามลำดับโดยได้เสียชีวิตในวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 เวลาประมาณ 05.20 น. ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา โดยใบความเห็นแพทย์ระบุว่าเสียชีวิตเนื่องจากสมองบวม ตามร่างกายมีรอยฟกช้ำ ต่อมาผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวพร้อมนายอัสฮารีฯได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัวทำให้ได้รับบาดเจ็บและเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายร่างกายนายอัสฮารีจนเป็นเหตุให้นายอัสฮารีฯเสียชีวิต
นางแบเดาะสะมาแอ มารดาจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต่อศาลแพ่งแต่เนื่องจากคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองสงขลา ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งโอนคดีไปศาลปกครองสงขลา
ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Conventionagainst Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment :CAT) นับแต่ปีพ.ศ. 2550แต่ยังไม่มีการออกกฎหมายกำหนดให้การซ้อมทรมานเป็นความผิดอาญาแต่อย่างใดอีกทั้งอนุสัญญาดังกล่าวกำหนดให้รัฐต้องมีมาตรการป้องกันการทรมานและเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานด้วย
หมายเหตุ
– รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย2550 มาตรา 32 “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย … การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ …”
– อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ(CAT) ข้อบทที่ 1 ข้อย่อยที่ 1นิยามการซ้อมทรมานว่า “ การทรมาน หมายถึง การกระทำใดก็ตามโดยเจตนาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศหรือคำสารภาพจากบุคคลนั้นหรือจากบุคคลที่สาม การลงโทษบุคคลนั้น สำหรับการกระทำซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามกระทำหรือสงสัยว่าได้กระทำ หรือเป็นการข่มขู่ให้กลัว หรือเป็นการบังคับขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามหรือเพราะเหตุผลใดใด บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นในรูปใด…
– ข้อบทที่ 2 ข้อย่อยที่ 2 กำหนดว่า “ ไม่มีพฤติการณ์พิเศษใด ไม่ว่าจะเป็นสงคราม หรือสภาพคุกคามที่จะเกิดสงคราม การขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ หรือสภาวะฉุกเฉินสาธารณะอื่นใดที่ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลสำหรับการทรมานได้”