แถลงการณ์ ประณามผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส

Share

แถลงการณ์ ประณามผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส เรียกร้องร่วมกันยุติวงจรความรุนแรง ร่วมแรงรัฐและภาคประชาสังคม สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้ประชาชน

ในวันนี้วันที่ 25 ตุลาคม 2554 วันครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ. ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากการสลายม็อบ และขนย้าย 85 ราย จากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวสร้างให้เกิดความระแวง และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน และสร้างให้เกิดวงจรความรุนแรงโต้ตอบกันตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา

วันเดียวกันนี้เป็นวันที่เกิดเหตุระเบิดกว่า 13 จุด ในเขตตัวเมืองยะลา รายงานล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บอีกกว่า 40 คน ระเบิดยังส่งผลให้ไฟฟ้าดับทั่วเมืองยะลา สร้างความเสียหายในชีวิตทั้งผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บผู้บริสุทธิ์จำนวนมากยังไม่อาจประเมินความเสียหายได้

อีกทั้งเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2554 เกิดเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มใส่จุดตรวจในพื้นที่ ต.บางนาค อ.เมืองนราธิวาส ทำให้เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร (อส.) อำเภอเมืองนราธิวาส เสียชีวิต 2 นาย และเจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 33 บาดเจ็บอีก 1 นาย

จากนั้นในเวลาไล่เลี่ยกันเกิดเหตุระเบิดร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่สองร้านใจกลางเมืองนราธิวาสซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะประกอบกิจวัตรประจำวันประชาชาผู้บริสุทธิ์ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส แรงระเบิดทำให้เกิดไฟไหม้อาคารดังกล่าวเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 8 ราย ตามรายงานข่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมขอประณามผู้ใช้ความรุนแรงการก่อเหตุร้าย โหดร้าย มุ่งประสงค์ต่อผู้บริสุทธิ์และสร้างความเสียหายต่อสาธารณะ และขอให้ผู้ก่อเหตุร้ายยุติการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ที่สร้างความหวาดกลัวและความไม่ปลอดภัยต่อสาธารณะชน การใช้ความรุนแรงไม่สามารถสร้างความชอบธรรมในการเรียกร้องความเป็นธรรมได้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ่งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับความเสียหายจากความรุนแรงดังกล่าวทั้งเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ และขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว และเหมาะสม อันเป็นการเยียวยาความเสียหาย และความรู้สึกทางจิตใจของผู้ประสบเหตุดังกล่าว

นอกจากนี้รัฐยังมีภาระหน้าที่ในการปรับปรุงแก้ไขมาตรการความปลอดภัยให้มีมาตรฐานสร้างความน่าเชื่อถือต่อสาธารณชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีแนวโน้มในการใช้วัตถุระเบิดที่มีอนุภาพรุนแรง และมีความถี่ของการก่อเหตุมากขึ้น

ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบมีความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุและสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ และปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เคารพต่อหลักการของกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการใช้เครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างมาตรการเพื่อให้ยุติวงจรรุนแรง ซึ่งหมายถึงการเปิดพื้นที่เพื่อการเจรจายุติการใช้ความรุนแรง การเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยรับฟังแนวทางทางการเมืองแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากผู้ที่เห็นต่าง สร้างกิจกรรมร่วมแรงรัฐ ภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้ประชาชนให้ได้ในที่สุด

ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ทนายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ Tel. 089-8731626
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม Tel. 086-7093000

Loader Loading...
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [162.00 B]

[:]

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading