[:th]โคทม อารียา[:]

[:th]คำกล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” โดย โคทม อารียา[:]

Share

[:th]ท่านเอกอัครราชทูต ท่านประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณกรรณิกา จรรย์แสง คุณฐากูร บุนปาน และท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

ผมขอขอบคุณสถานทูตฝรั่งเศสที่จัดให้มีการแปล และพิมพ์เผยแพร่หนังสือ “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” ที่วิกตอร์ อูโก ได้ประพันธ์ไว้เมื่อปี ค.ศ. 1829 ขอแสดงความชื่นชมคุณกรรณิกาที่ผลิตผลงานทรงคุณภาพ และขอบคุณสำนักพิมพ์มติชนที่ผลิตวรรณกรรมที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นอีกชิ้นหนึ่งครับ

อูโกเขียนไว้ในคำนำว่า เราอาจมองหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นความคิดช่วงสุดท้ายของคนทุกข์คนหนึ่งก็ได้ หรือมองว่าเป็นผลงานของคนหนุ่ม (เขาอายุ 27 ปีเมื่อหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมา) ที่เป็น “คนช่างฝันคนหนึ่งที่คอยสังเกตธรรมชาติเพื่ออภิบาลศิลปะ (au profit de l’art)” ก็ได้ ส่วนผมคิดว่างานนี้เป็นทั้งผลงานศิลปะ และการแสดงความเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ที่ทนทุกข์แสนสาหัสเมื่อคมมีดกำลังคืบใกล้เข้ามา ในจินตนาการของอูโก การทรมานใจของนักโทษที่เขาถ่ายทอดออกมาก็คือ “ข้าพเจ้าทิ้งแม่ ทิ้งภรรยา และลูกคนหนึ่งไว้ข้างหลัง … เมื่อข้าพเจ้าตาย ก็จะมีผู้หญิงหนึ่งคนเสียลูก หนึ่งคนเสียสามี และอีกหนึ่งคนเสียบิดา … ข้าพเจ้ายอมรับว่าโทษทัณฑ์ที่ตกแก่ข้าพเจ้านั้นมีเหตุสมควร แต่หญิงผู้บริสุทธิ์สามนางนี้เล่า พวกหล่อนทำอะไรผิดอย่างนั้นหรือ … นี่ละหนอคือความยุติธรรม” เขาไม่ห่วงแม่และภรรยาสักเท่าไร “แต่หนูน้อยลูกของพ่อเล่า … แม่สาวน้อยคนนี้นี่เองที่ทำให้ข้าพเจ้าเจ็บปวดนัก!” มุมหนึ่งของโศกนาฏกรรมก็คือ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการกิโยติน มีคนพาลูกสาวที่ชื่อมารีมาหา เขาขอได้ยินคำว่าปาป๊าจากปากของมารี “จากปากน้อย ๆ ขอเพียงอีกครั้งเดียว ครั้งนี้ครั้งเดียว! นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าใคร่ร้องขอเพื่อแลกกับสี่สิบปีของชีวิตที่เขาจะพรากเอาไป” แต่เธอก็จำเขาไม่ได้ เพียงบอกว่าปาป๊าตายไปแล้ว “หนูสวดขอให้พระผู้เป็นเจ้าคุ้มครองท่านบนตักแม่ทั้งตอนเช้าตอนค่ำเลยค่ะ”

อูโก และนักปราชญ์คนอื่นๆ ได้เพียรพยายามให้มีการยกเลิกโทษประหาร มีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อการนี้นับครั้งไม่ถ้วน กว่าจะประสบผลสำเร็จก็ในสมัยประธานาธิบดีฟร็องซัวส์ มิตแตร์ร็องด์ โดยเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ชื่อโรแบรต์ บาเด็งแตร์ ในปี ค.ศ. 1981 หรือประมาณหนึ่งศตวรรษครึ่งหลังการริเริ่มของอูโกนั่นเอง ณ เวลาที่ประสบความสำเร็จนี่เอง ที่มีเชล ฟูโกลต์ได้สรุปข้อถกเถียง เพื่อประโยชน์แก่การรณรงค์เรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่อื่นๆ ต่อไปว่า “การปฏิเสธที่จะตัดศีรษะใครก็ตาม ด้วยเพราะ (เห็น) เลือดพุ่งกระเซ็น เพราะเป็นเรื่องที่คนดี ๆ เขาไม่ทำกัน และเพราะบางทีอาจเสี่ยงที่จะไปบั่นคอคนบริสุทธิ์นั้น ว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องง่าย แต่การปฏิเสธโทษประหารชีวิต ด้วยหลักการที่ว่าไม่มีอำนาจใด … มีสิทธิ์ที่จะละเมิดชีวิตมนุษย์ นี่จึงจะเป็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญ” ครับ ควรหรือไม่ที่เราจะเปลี่ยนมุมมอง จากผู้ที่ถามว่าจะกระทำการประหารดีหรือไม่ มาเป็นมุมมองของผู้ที่จะถูกกระทำ ว่าเขามีสิทธิ์ที่จะไม่ถูกละเมิดในขั้นพื้นฐานที่สุดคือการตัดชีวิตหรือไม่

ความเห็นของผู้ที่สนับสนุนการประหารชีวิตนั้นน่าจะมีพื้นฐานบนความกลัว กลัวภัยคุกคามจากอาชญากรรมที่รุนแรง จึงเรียกร้องให้มีการคุ้มกันสังคม คุ้มกันผู้บริสุทธิ์ คนร้ายถ้าไม่กำจัดออกไปเสีย ก็อาจพ้นโทษออกมาก่ออาชญากรรมได้อีก คนร้ายที่เห็นว่าอาชญากรรมใดมีโทษถึงประหารก็อาจยับยั้งชั่งใจไม่ทำความชั่ว โทษประหารจึงมีผลในทางป้องปรามการก่ออาชญากรรม เรื่องเหล่านี้ยากที่จะถกเถียงด้วยเหตุผลหรือสถิติตัวเลขได้ แม้จะมีตัวเลขมากมายที่ระบุว่าการป้องปรามไม่เกิดขึ้นจริง และการยกเลิกโทษประหารในประเทศส่วนใหญ่ของโลก ก็ไม่ทำให้อาชญากรรมร้ายแรงในประเทศเหล่านั้นเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ส่วนในประเทศไทย การที่ผู้ถูกลงโทษประหารเกือบครึ่งหนึ่งต้องโทษเพราะยาเสพติดนั้น ดูเหมือนจะไม่ช่วยให้ยาเสพติดลดลงแต่อย่างใด เราคงต้องใช้เวลาขัดเกลาด้วยคำสอนของทุกศาสนาที่ถือความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตเหนืออื่นใดกันต่อไป พร้อมทั้งเล่าเรืองที่ชี้การเปล่าประโยชน์ของโทษประหารไปเรื่อย ๆ ในที่นี้ ขอยกเรื่องที่ท่านทูตยกมาเล่าเรื่องหนึ่งที่ค้านความเชื่อที่ว่า คนที่เห็นการประหารชีวิตจะกลัวที่จะทำความผิด ดังนี้ ในท่ามกลางฝูงชนที่มามุงดูการประหารชีวิต และร้องตะโกนอย่างบ้าคลั่งให้ฆ่าให้ตาย มีหนุ่มน้อยคนหนึ่ง ซึ่งอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น “ถูกจับและถูกประหารชีวิตโทษฐานฆ่าเด็กชายอายุเจ็ดปีรวมอยู่ด้วย นี่เป็นคำตอบที่ชี้ให้เห็นว่า การลงโทษประหารชีวิตเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างนั้น ไร้ผล”

ในการสำรวจความคิดเห็นทางเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพจากกลุ่มตัวอย่าง 1031 คน พบว่า มีเพียง 9% ที่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหาร อย่างไรก็ดี ยังมีความหวังอยู่ว่า ผู้ที่เห็นด้วยดังกล่าวเพิ่มเป็น 22% เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูล อนึ่ง แม้ในประเทศยุโรปที่ยกเลิกโทษประหารแล้วราวสิบประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เคยอยู่ในอิทธิพลหรือภายใต้สหภาพโซเวียต) เสีย’ส่วนใหญ่ก็ยังเห็นด้วยกับการมีโทษประหาร ดังนั้น การรณรงค์ยกเลิกโทษนี้ในประเทศไทย คงต้องใช้เวลา และควรเริ่มต้นอย่างจริงจังแต่บัดนี้

แนวทางการรณรงค์คงต้องรอบด้าน ทั้งในทางกฎหมาย โดยชี้ถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับโดยสากล การมีโทษทางอาญาที่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิดและการให้โอกาสผู้กระทำผิดที่จะแก้ไขตนเอง ในทางคำสอนของศาสนา โดยชี้ถึงความกรุณา ไม่อาฆาตมาดร้ายกัน ในทางสังคม ที่เน้นการเรียนรู้และการมีมุมมองที่เปิดกว้าง ที่สำคัญและมีผลจริงจังคือการรณรงค์ทางการเมือง เราควรสนับสนุนผู้นำทางการเมืองที่มีอุดมคติ มีความมุ่งมั่นที่จะนำสังคม แม้คนจำนวนมากจะเห็นต่างอยู่ในขณะนี้ก็ตาม

ผู้ที่จะช่วยกันรณรงค์ในเรื่องนี้ ควรรวมถึงฝ่ายต่างๆ ให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยผู้ที่บทบาทนำในทางราชการมีอาทิ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในบรรดาองค์กรภาคประชาสังคม เช่น องค์กรนิรโทษกรรมสากล ซึ่งประธาน คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ก็มาร่วมงานในวันนี้ และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งอดีตประธาน คุณแดนทอง บรีน ผู้รณรงค์การยกเลิกโทษประหารมาโดยตลอดก้มาร่วมงานนี้ด้วยเช่นกัน ส่วนบรรดามิตรประเทศ น่าจะช่วยได้โดยการสนับสนุนทั้งทางข้อมูล วรรณกรรม และทางศิลปะ เช่นการแปลหนังสือของอูโกนี้ที่เป็นตัวอย่าง รวมถึงการจัดกิจกรรมเช่นการประชุมที่สถานทูตฝรั่งเศสเคยจัดร่วมกับสำนักงาน กสม. เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่สำคัญคือ การใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้สื่ออย่างเหมาะสม

ข้อเรียกร้องในการรณรงค์อาจมีเป็นลำดับไปตามที่ กสม. เคยเสนอไว้คือ

  • ระยะที่ 1 คงการพักการปฏิบัติ คือไม่นำนักโทษมาประหารชีวิตซึ่งมีการพักเช่นนี้มาเกือบ ๙ ปีแล้ว
  • ระยะที่ 2 แก้กฎหมายไม่ให้มีการบัญญัติโทษประหารชีวิตสถานเดียว
  • ระยะที่ 3 ยกเลิกโทษประหาร กรณีความผิดที่ไม่ใช่อาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด (most serious crimes) ตาม Second Optional Protocol to ICCPR
  • ระยะที่ 4 ยกเลิกโทษประหารสำหรับอาชญากรรมทุกประเภท

ผมหวังว่าการเปิดตัวหนังสือ “วันสุดท้ายของนักโทษประหาร” ในวันนี้ เป็นโอกาสที่ทุกท่านจะรักษาภาพของคนคนหนึ่งที่ทุกข์ทรมานแสนสาหัสใว้ในใจ เพื่อปลุกภาวะจิตแห่งความกรุณาให้แผ่กว้างถึงนักโทษทุก ๆ คน

ขอบคุณครับ

โคทม อารียา
25 มีนาคม 2561  [:]

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading