เราคือใคร
เราคือ นักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่แสวงหาความเป็นธรรม และศักดิ์ศรีให้กับทุกคน ภายใต้กฎหมาย
จากจุดเริ่มต้นในเมียนมาร์ จนถึงภารกิจในวันนี้ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ต่อสู้เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติในระบบยุติธรรม มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ
● เราทวงถามความยุติธรรม ให้กับเหยื่อของการซ้อมทรมาน การบังคับสูญหาย และการวิสามัญฆาตกรรม
● เราผลักดันการแก้ไขนโยบาย ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
● เราเสริมพลังให้ผู้คน เข้าใจและใช้สิทธิตามกฎหมายของตน
สารบัญ
พันธกิจ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ทำงานกับหลากหลายภาคส่วนของสังคมเพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยนชนและแสวงหาความยุติธรรมแด่ผู้ที่ถูกกดขี่
วิสัยทัศน์
เราทำงานเพื่อสร้างอนาคตที่ ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้โดยปราศจากความหวาดกลัว การเลือกปฏิบัติ และการกดขี่
อุดมการณ์หลักสี่ประการที่เป็นแนวทางให้กับงานของเรา
คนทุกคนสมควรได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและเคารพ ไม่ควรมีผู้ใดต้องเดือดร้อนจากการเลือกปฏิบัติทางเศรษฐกิจหรือการเมือง
กฎหมายต้องเป็นธรรม และบังคับใช้กับทุกคนอย่างเป็นธรรม
รัฐมีบทบาทในการปกป้องประชาชนทุกคนและพิทักษ์รักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา เราเรียกร้องให้รัฐแสดงความรับผิดชอบ
คนเรามีแนวโน้มที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องและเลือกความยุติธรรม เราทำงานเพื่อประสานช่องว่างทางวัฒนธรรมที่ทำให้เราไม่เข้าใจกัน
สถานการณ์
ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตสิทธิมนุษยชน รัฐบาล ระบบยุติธรรม และตำรวจ สถาบันที่ควรปกป้องประชาชน กลับกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการซ้อมทรมาน การบังคับสูญหาย และแม้กระทั่งการสังหาญอยู่บ่อยครั้ง
หลายคนยังเชื่อว่า วิกฤตนี้ไม่ใช่ปัญหาของตน
สื่อและสังคมในวงกว้างของไทยไม่ได้ตระหนักถึงวิกฤตนี้อย่างจริงจัง และไม่รู้สึกว่าปัญหานี้กระทบหรือเกี่ยวข้องกับตน จึงไม่แสดงความเห็นหรือลงมือแก้ไข
ลำดับชั้นทางสังคม สร้างความชอบธรรมให้การเลือกปฏิบัติ
สังคมไทยยังยึดโยงอยู่กับชนชั้นทางสังคมอยู่มากและประสบปัญหาจากความเหลื่อมล้ำทางรายได้ขั้นร้ายแรง คนในชั้นล่างสุดของสังคมไม่ได้รับความคุ้มครองเหมือนที่คนชั้นบนสุดได้รับ
บุคลากรด้านสิทธิมนุษยชน ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม
รัฐบาลทหารใช้ข้อหาหมิ่นประมาท และการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์เพื่อให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดๆ ว่าบุคลากรด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ผู้ก่อจลาจล และผู้ก่อการร้าย
แต่กระแส กำลังตีกลับ
เยาวชนไทยรุ่นใหม่มีแนวคิด และค่านิยมที่ต่างออกไป พวกเขาต้องการเสรีภาพในการแสดงออกที่มากขึ้น และเชื่อว่าศักดิ์ศรีและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และเชิดชูโดยทุกสถาบัน เพื่อประชาชนทุกคน
เราทำอะไร
สองทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมทำงานเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ขอบเขตงานของเรา
การผลักดัน
เราทำงานกับผู้ออกกฎหมาย สื่อ และสาธารณะเพื่อพัฒนา และผลักดันนโยบายที่ปกป้องคนจากการกระทำโดยมิชอบ และไร้มนุษยธรรม เช่น การซ้อมทรมาน และการบังคับสูญหาย
ดำเนินคดี
เราให้ความช่วยเหลือ และการสนับสนุนด้านกฎหมายแก่เหยื่อของการซ้อมทรมาน การบังคับสูญหาย และการละเมิดโดยผู้มีอำนาจ เราช่วยเหลือครอบครัวของเหยื่อด้วย
การให้ความรู้
เราสื่อสารกับสาธารณะในรูปแบบต่างๆ เช่น ศิลปะ ภาพยนตร์ การจัดงาน และเวทีเสวนาที่ให้ข้อมูล เพื่อให้ความรู้ผู้คนเกี่ยวกับสิทธิทางกฎหมายของพวกเขา และเปิดโปงการใช้อำนาจในทางมิชอบ
แนวทางของเราอิงอยู่กับ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเงื่อนไขทางวัฒนธรรม และสังคม ของผู้คนที่เราช่วยเหลือ
ทำงานโดยตรงกับเหยื่อและผู้รอดชีวิต: เราทำงานโดยตรงกับเครือข่ายของคนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการซ้อมทรมาน และการบังคับสูญหาย
สร้างความเชื่อใจกับชุมชนชายขอบ: เราได้เรียนรู้วิธีที่ได้ผลในการสร้างความเข้าอกเข้าใจ ผสานความเข้าใจทางวัฒนธรรม และการให้ได้มาซึ่งความไว้วางใจจากผู้นำชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย อันเป็นภูมิภาคที่ติดอยู่ในหล่มของความขัดแย้งทางศาสนา และวัฒนธรรม ถูกกดขี่โดยกฎอัยการศึก และถูกปกครองด้วยวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด
“มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมประสานที่ทรงพลังของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศ และนานาชาติ“
เรา ขยายพื้นที่การทำงานผ่านพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยองค์กรระดับชุมชนที่หลากหลายและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ
พันธมิตรระดับภูมิภาคและนานาชาติ
- สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)
- กองทุนสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือเหยื่อการซ้อมทรมาน (UNVFTV)
- คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ)
- สมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (APT)
- แอมเนสตี้ประเทศไทย
- Redress
- เครือข่ายเอเชียเพื่อความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (TJAN)
- องค์กรเพื่อความยุติธรรมและสิทธิแห่งเอเชีย (AJAR)
พันธมิตรภาคประชาสังคมในประเทศไทย
- กลุ่มด้วยใจ
- องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- สภาทนายความ
- มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
- สมาคมนักกฎหมายสิทธินุษยชน
คณะกรรมการบริหารของเราดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
เราเดินงานด้วย การเก็บข้อมูลคดีอย่างละเอียดและหลักฐานที่หนักแน่น ที่ช่วยให้เราปกป้องผู้เปราะบางและผลักดันเรื่องของพวกเขาบนเวทีโลก
เราช่วยให้โลกเข้าใจสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย: มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับพันธมิตรในประเทศได้ส่งรายงานเกี่ยวกับการดำเนินพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนในไทยให้กับการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UPR) หลายครั้ง
เราช่วยผลักดันงานของสหประชาชาติเกี่ยวกับการต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย: มูลนิธิผสานวัฒนธรรมยื่นคำร้องและช่วยรายงานคดีไปยังผู้รายงานพิเศษแห่งสประชาชาติ ว่าด้วยการซ้อมทรมาน และคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหาย
เราจัดอบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการ และเสวนาในเวทีประชุมนานาชาติและของสหประชาชาติ: สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ให้ทุนแก่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เรายังได้มีส่วนร่วมและขึ้นกล่าวในงานประชุมของคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (Committee on the Elimination of Discrimination Against Women)
เราทำงานให้ใคร
เราทำงานกับนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และชุมชนชายขอบ
เราทำงานให้เหยื่อ และผู้รอดชีวิตจากการซ้อมทรมาน การบังคับสูญหาย และการใช้อำนาจในทางมิชอบโดยผู้มีอำนาจ บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้แก่นักกิจกรรมทางการเมือง ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ประชากรที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ เช่น ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และชาติพันธุ์ สตรี และชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ และในบางครั้งยังรวมไปถึงบุคคลที่อยู่ในสถานที่ และเวลาที่ผิดหรือผู้ที่ถูกรัฐกระทำโดยไม่ตั้งใจ เรายังช่วยเหลือ และทำงานให้กับสมาชิกครอบครัวของเหยื่อ ซึ่งหลายคนในนั้นได้กลายมาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนแนวหน้า
การดำเนินคดีของเรา ที่สร้างผลกระทบต่อสังคม
ตั้งแต่ปี 2002 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมคือองค์กรขนาดเล็กที่สร้างความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ให้กับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
- เป็นผู้นำกระบวนการทางกฎหมายในไทยกรณีไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ: คดีส่งกลับ Sok Yoeun ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนเป็นคดีแรกของมูลนิธีผสานวัฒนธรรมในปี 2004 และถือเป็นคดีแรกของการไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมรัฐบาลไทยไม่ให้ส่งตัว Yoeun กลับกัมพูชาซึ่งเสี่ยงต่อการที่เขาจะถูกจับกุม ได้รับการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม และถูกซ้อมทรมาน
- ทำศึกอย่างยาวนานกับการลอยนวลพ้นผิดของตำรวจ: ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ถูกตำรวจทำให้ขาดอากาศหายใจเพื่อบังคับให้สารภาพในความผิดที่ตนไม่ได้ก่อ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ความช่วยเหลือสมศักดิ์ ชื่นจิตร พ่อของฤทธิรงค์ ในการต่อสู้ทางกฎหมายที่ยาวนานถึง 12 ปีเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้ลูกชาย ต่อมาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นักการเมืองในสภา และนักเคลื่อนไหวได้หยิบยกคดีนี้ขึ้นมาเป็นตัวอย่างที่หาได้ยากในการทำให้ตำรวจรับผิดชอบต่อการประพฤติมิชอบระหว่างควบคุมตัวประชาชน
- ทำให้หนึ่งในสถาบันที่มีอำนาจมากที่สุดของประเทศไทยแสดงความรับผิดชอบ: ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพบก สิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมและถูกจำคุกโดยไม่มีการพิจารณาคดี เขาถูกทำร้ายอย่างหนักและปล่อยให้เสียชีวิต มูลนิธิผสานวัฒนธรรมช่วยให้แม่ของเหยื่อฟ้องชนะคดี และได้รับค่าชดเชย 1,870,000 บาท กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากองทัพไทยรู้จักและควรแสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
Sok Yoeun เป็นนักโทษทางความคิดที่ถูกจองจำ และรอการส่งตัวกลับกัมพูชา
Sok Yoeun เป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา ในปี 1998 เขาถูกใส่ร้ายว่าวางแผนลอบสังหารนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ทำให้เขาต้องหลบหนีมายังประเทศไทยเนื่องจากกลัวว่าอาจถูกจับกุม ได้รับการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม และถูกซ้อมทรมาน
องค์การนิรโทษกรรมสากลถือว่าเขาเป็นนักโทษทางความคิด ต่อมาเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR อย่างไรก็ตาม เขาถูกจับกุมและคุมขังโดยทางการไทยเป็นเวลาหลายปี ขณะรอการตัดสินใจว่าจะส่งตัวเขากลับไปยังกัมพูชาหรือไม่
ในปี 2004 คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนของ Sok Yoeun กลายเป็นคดีแรกของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เราเป็นหนึ่งในองค์กรไทยไม่กี่แห่งที่เข้าใจหลักการไม่ผลักดันผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศที่ห้ามไม่ให้ประเทศใดส่งตัวผู้ขอลี้ภัยกลับไปยังสถานที่ซึ่งมีแนวโน้มว่าบุคคลนั้นจะถูกลงโทษ ในเวลานั้นคดีของเขาดูเหมือนเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีทางชนะเพราะแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับความสนใจในประเทศไทย
ศาลอุทธรณ์ของไทยตัดสินให้ส่งตัว Sok Yoeun วัย 72 ปี กลับไปยังกัมพูชาภายในสามเดือน แต่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมโน้มน้าวรัฐบาลไทยให้ไม่ทำเช่นนั้น หนึ่งวันหลังจากได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกรุงเทพ เขาได้กลับไปอยู่กับพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์
ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ถูกทำให้ขาดอากาศหายใจ จนยอมสารภาพในความผิดที่ไม่ได้ก่อ
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2009 ผู้หญิงคนหนึ่งถูกขโมยสร้อยคอและได้แจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรเมืองปราจีนบุรี นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตรถูกนำตัวมาสอบปากคำ และผู้หญิงคนนั้นระบุว่าเขาเป็นผู้ก่อเหตุ ขณะนั้นเขาอายุเพียง 18 ปี และยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
ขณะอยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจ ฤทธิรงค์ถูกทรมานอย่างปิดลับ เขาถูกคลุมหัวด้วยถุงพลาสติกให้หายใจไม่ออกจนยอมสารภาพว่าเป็นผู้ลักทรัพย์ การสอบสวนภายหลังพบว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์
สิบกว่าปีผ่านไป ฤทธิรงค์ยังคงมีอาการ PTSD (ความเครียดหลังเผชิญเหตุสะเทือนขวัญ) จากการถูกทารุณโดยเจ้าหน้าที่ สมศักดิ์ ชื่นจิตร พ่อของฤทธิรงค์ต่อสู้ทางกฎหมายยาวนานถึง 12 ปี เพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบและความยุติธรรมให้กับลูกชาย และได้กลายเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งในที่สุด เขาช่วยเหลือครอบครัวของเหยื่อคนอื่นๆ ที่ถูกซ้อมทรมานและรณรงค์ให้การซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายเป็นความผิดอาญา
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเป็นทนายให้ครอบครัวชื่นจิตรในการฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้จ่ายค่าเยียวยา คดีนี้ถูกหยิบยกโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นักการเมืองในสภา และนักเคลื่อนไหวในฐานะตัวอย่างที่หาได้ยากของการทำให้ตำรวจออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติอันมิชอบต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัว
สิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ถูกซ้อมทรมาน และปล่อยให้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในห้องขัง
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 สิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือให้ผู้ถูกควบคุมตัวหลบหนี และถูกจำคุกโดยไม่มีการพิจารณาคดี ขณะถูกคุมขัง เขาถูกนายพลและทหารอีกสามนายทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง และไม่อนุญาตให้เขาได้รับการรักษาพยาบาลและห้ามไม่ให้ผู้อื่นช่วย เขาเสียชีวิตจากบาดแผลอย่างโดดเดี่ยวในห้องขังขณะที่อายุได้ 25 ปี
เป็นที่ทราบกันดีว่ากองทัพบกเช่นเดียวกับตำรวจมีพฤติกรรมการใช้อำนาจในทางที่ผิดและมีวัฒนธรรมของการลอยนวลพ้นผิด และคดีกลุ่มนี้ก็มักจะถูกไต่สวนโดยศาลทหารอย่างลับๆ เหยื่อของการถูกทำร้ายร่างกายและครอบครัวของพวกเขา มักเป็นคนจนหรือชนชั้นแรงงาน แทบไม่เคยได้รับความยุติธรรมและไม่มีหน่วยงานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ
ครอบครัวของสิบโทกิตติกรไม่ยอมให้ทุกอย่างต้องเป็นไปแบบนั้น แม่ของเขาฟ้องกองทัพไทยในปี 2017 และเจาะจงติดต่อมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้เป็นทนายให้เธอ เราช่วยให้เธอชนะคดีและได้รับเงินเยียวยา 1,870,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่เกิดเหตุคือ 21 กุมภาพันธ์ 2016
แต่ที่สำคัญกว่านั้น คดีนี้แสดงให้เห็นว่ากองทัพไทยซึ่งเป็นสถาบันที่มีอำนาจมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ รู้จักและควรออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้การซ้อมทรมานคือสิ่งที่ไม่ถูกต้องในมุมมองของกฎหมายแม้ว่าจะเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งต่อเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งก็ตาม
การผลักดันของเรา ที่สร้างผลกระทบต่อสังคม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมทำโครงการรณรงค์ที่ช่วยให้สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น
การผลักดัน
#ItCouldBeYou มันอาจเป็นคุณ
คนไทยจำนวนมากเชื่อว่าการบังคับสูญหายและการซ้อมทรมานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนอื่น และไม่มีวันเกิดขึ้นกับตนเอง โครงการรณรงค์ #itcouldbeyou “มันอาจเป็นคุณ” ต้องการท้าทายความเชื่อดังกล่าว ตัวโครงการและวิดีโอสั้นแต่มีพลังที่ชื่อ “Dear Disappeared” ที่ถ่ายทอดโดยแกนนำฝ่ายประชาธิปไตย อินฟลูเอนเซอร์ และบุคคลอันเป็นที่รักของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่หายตัวไป ได้กลายเป็นกระแสในหมู่นักกิจกรรมการเมืองชาวไทยรุ่นใหม่
#SafeInCustody ปลอดภัยระหว่างการควบคุมตัว
คนทุกคนควรได้รับความปลอดภัยระหว่างถูกควบคุมตัว #safeincustody แต่คนไทยจำนวนมากไม่ได้รับสิ่งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับสมาคมป้องกันการทรมานได้จัดเดือนแห่งกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วยโครงการศิลปะทั่วประเทศ การฉายภาพยนตร์ เวทีเสวนา และการแสดงสด เพื่อตอกย้ำความตระหนักเกี่ยวกับการทรมานและการทารุณ และเพื่อจุดประกายการสนทนาเกี่ยวกับทางออกของปัญหา
เราไม่เคยหยุดผลักดันผู้ออกกฎหมายให้ยอมรับและขับเคลื่อนนโยบายที่ยุติธรรมมากขึ้น
การผลักดัน
การต่อสู้ 13 ปีเพื่อผ่านพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
งานด้านการศึกษาของเรา ที่สร้างผลกระทบต่อสังคม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมลงพื้นที่เพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าใจสิทธิพลเมือง และสิทธิตามกฎหมายของตน
ประชาธิปไตย และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
● อบรมออนไลน์ 4 ครั้ง ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
● ห้องเรียนแบบพบหน้ากัน 2 ครั้ง ร่วมกับกลุ่มเฟมินิสต์เสรี
● ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 49+ คน
สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออก
● บรรยายในชุมชน 16 ครั้ง และ
● อบรมแบบพบหน้ากัน 7 ครั้ง ครอบคลุมเนื้อหาเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล จะทำอย่างไรเมื่อถูกละเมิดสิทธิ รวมถึงข้อมูล และแบบฝึกหัดการบำบัดฟื้นฟูเหยื่อของการใช้อำนาจในทางมิชอบ
● ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1,244+ คน จากทั่วประเทศไทย และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
● หลักสูตรออนไลน์แปดสัปดาห์ 1 ครั้ง สอนโดยพรเพ็ญ สมชาย และนักวิชาการกฎหมายท่านอื่นๆ
● ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 32+ คน
พื้นที่ขัดแย้งของไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
● พาสื่อลงพื้นที่ 1 ครั้ง เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่
● ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 8 คน รวมถึงนักข่าวสองคน และพี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักด์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่ถูกอุ้มหาย
● การรายงานข่าว 12 ชิ้น เผยแพร่ทางออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์
เอกสารสำหรับอ่านเพิ่มเติม
การดำเนินคดี การติดตามตรวจสอบ และการผลักดัน
- ผู้เสียชีวิตจำนวนมากในกรณีตากใบ. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นทนายให้ญาติ 34 คนของผู้ชุมนุม 78 คนที่เสียชีวิตระหว่างการจับกุมที่ตากใบ ผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกนำขึ้นรถบรรทุกอย่างแออัด เป็นเหตุให้เสียชีวิตจากการถูกเบียด และขาดอากาศหายใจระหว่างการเดินทาง
- การสนุบสนุนหลักการการไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตราย ในกรณีของนักฟุตบอลอาชีพ นายฮาคีม อัล-อาไรบี. มูลนิธิผสานวัฒนธรรมสังเกตการณ์ บันทึก และเป็นกระบอกเสียงในนามของฮาคีม ผู้ซึ่งรอการถูกส่งตัวกลับไปยังบาห์เรน หลังจากที่เขาพูดถึงการซ้อมทรมานนักกีฬาที่สนับสนุนประชาธิปไตย
- คดีหมิ่นประมาทของนายวุฒิ บุญเลิศ ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ วุฒิ บุญเลิศ คือผู้นำชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่ถูกตั้งกล่าวหาคดีหมิ่นประมาทโดยอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
- การอุ้มหายของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ได้ยื่นหลักฐานความยาว 177 หน้า และให้การต่อผู้พิพากษาเกี่ยวกับการอุ้มหายน้องชายของตนในปี 2020
- รายงานการใช้อำนาจในทางมิชอบ ต่อพลทหารประจักษ์ แก้วคงธรรม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้บันทึกการใช้อำนาจในทางมิชอบต่อพลทหารประจักษ์ แก้วคงธรรม ที่ถูกทำร้ายร่างกายจนพิการขณะฝึกฝนอยู่ที่กองทัพอากาศ
รายงานของสหประชาชาติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย