เนื่องด้วยวาระที่กระบวนการพิจารณาคดีพลทหารวิเชียร เผือกสม ทหารเกณฑ์ผู้ถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารรุมซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหารเมื่อ 12 ปีที่แล้ว (1 มิถุนายน 2554) กำลังเดินทางมาถึงวันที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ที่รับผิดชอบพิจารณาคดีจะมีคำพิพากษา (วันที่ 25 สิงหาคม 2566) เพื่อตัดสินว่า จำเลยผู้ถูกฟ้องในคดีที่ประกอบไปด้วย ร.ท.ภูริ เพิกโสภณ กับพวกรวม 9 คน จะได้รับบทลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา หรือไม่ อย่างไร หนึ่งในคุณลักษณะของคดีนี้ที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณา คือ สังคมจะสามารถฝากความหวังกับศาลทหารที่มีอำนาจพิจารณาในคดีนี้ ได้มากน้อยเพียงใด ในแง่ของการมอบความยุติธรรมและฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่เหยื่อความรุนแรง และลงโทษบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง
การพิจารณาประเด็นดังกล่าว ต้องสืบสาวตั้งแต่วัตถุประสงค์ของการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของศาลทหาร ตลอดจนเขตอำนาจและโครงสร้างของศาล ประกอบกับวิเคราะห์ภายใต้หลักการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมอันควร หรือหลัก Due process ทั้งนี้ การวิเคราะห์อาจช่วยในการประเมินถึงความเป็นไปได้ต่อกรณีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ว่า หากมีประชาชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากฝีมือของเจ้าหน้าที่ทหาร ผลลัพธ์จะเป็นไปในทิศทางใดมากกว่ากันสำหรับจำเลยที่เป็นทหาร ระหว่างการถูกลงโทษกับการลอยนวลพ้นผิดไปเฉย ๆ

ว่าด้วยศาลทหาร
กล่าวโดยทั่วไป ศาลทหาร คือ ศาลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร เพื่อพิจารณาพิพากษาวางบทลงโทษทหารที่กระทำความต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่น ๆ ในทางอาญา 1พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 13
ศาลทหาร เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหาร และอยู่ภายใต้หลักคิดที่ว่า ทหารเป็นกำลังสำคัญของชาติที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง คือ การปกป้องชาติและเอกราชของชาติเอาไว้ให้รอดพ้นจากภัยคุกคาม 2นิมิตร นูโพนทอง, “ศาลทหารไทยกับมาตรฐานระหว่างประเทศ”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557). 138 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกลไกการควบคุมทางวินัยอย่างเข้มงวด เด็ดขาด และรวดเร็วทั้งเวลาสงบแลละในเวลามีสงคราม ด้วยเหตุว่า หากทหารที่มีหน้าที่อันยิ่งใหญ่ แต่กลับมีพฤติกรรมเสื่อมเสียทางวินัย ย่อมส่งผลเสียหายเป็นภยันตรายร้ายแรงต่อประเทศชาติ การธำรงรักษาวินัยทหารถือเป็นสิ่งสำคัญ หากจะให้ขึ้นศาลยุติธรรมโทษอาจไม่รุนแรงหรือไม่เคร่งครัดพอ ทหารที่ทำผิดจริงควรต้องโดนโทษหนัก เพื่อสร้างระเบียบวินัยให้เกิดขึ้นในหมู่ทหารด้วยกัน 3สายันต์ ขุนจี, “ระบบศาลทหาร”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), 4-6
อีกด้านหนึ่ง เหตุผลอีกประการของฝ่ายกองทัพของการคงศาลทหารไว้ก็คือ การรักษาหลักเอกภาพในการบังคับบัญชา 4รายงานพิเศษ, “รีรันเพื่อความทันสมัย: รู้ลึกเรื่องศาลทหาร”, 27 มิถุนายน 2558, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2015/06/60015 (สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566). โดยอ้างว่าระบบการพิจารณาในศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร จะทำให้ทหารระดับผู้บังคับบัญชาสามารถควบคุมวินัยหรือพฤติกรรมของทหารที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนได้ เนื่องจากทั้งอำนาจในการจับกุม ควบคุมตัวทหารที่ทำผิดเพื่อนำมาฟ้องคดีต่อศาลทหารเป็นอำนาจของทหาร ไม่ใช่ตำรวจ ทหารจึงสามารถส่งตัวแทนที่ก็ไม่จำเป็นต้องรู้กฎหมายเข้าไปร่วมในกระบวนการพิจารณาคดีกับผู้พิพากษาศาลทหารได้ อีกทั้งยังมีอำนาจในการอุทธรณ์ด้วย ขณะที่ศาลยุติธรรมทั่วไป คู่ความเท่านั้นที่สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาได้ 5อิทธินันท์ มุสิกะนุเคราะห์, “การดำเนินคดีอาญาทหารชั้นก่อนฟ้อง: ศึกษาเปรียบเทียบการสั่งคดีของอัยการทหารกับอัยการพลเรือน”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), 29
อย่างไรก็ดี ได้เกิดข้อถกเถียงกันในวงวิชาการกฎหมายว่า ปัจจุบันไทยยังสมควรมีศาลทหารต่อไปหรือไม่ ฝ่ายหนึ่ง เห็นว่า ไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมา กลไกศาลทหารมักให้อภิสิทธิ์ปลอดความผิดแก่เจ้าหน้าที่ทหารด้วยกัน หากทหารมีสถานะเท่าเทียมกับประชาชน ก็ควรให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาลงโทษ การให้แยกไปขึ้นศาลทหาร อาจเป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีการลำเอียงช่วยเหลือกันได้ 6นิมิตร นูโพนทอง, เรื่องเดียวกัน, 77 – 85. ประกอบกับภาพลักษณ์ของศาลทหารตั้งแต่อดีตที่มักเกี่ยวข้องกับระบอบเผด็จการทหารและในช่วงเวลาการทำรัฐประหารทุกครั้ง พลเรือนหลายคนกลับต้องขึ้นศาลทหาร เพราะฝ่าฝืนคำสั่งคณะรัฐประหาร จนเกิดเป็นภาพจำที่ไม่สู้ดีนักต่อศาลทหาร 7เรื่องเดียวกัน.
ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากกระบวนการดำเนินคดีตามระบบศาลทหาร ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อปกป้องประโยชน์ของคณะรัฐประหารและเครือข่าย พร้อมกับเป็นกลไกทางกฎหมายที่ใช้ในการปราบปรามพลเรือนที่กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสถานภาพทางอำนาจและรองรับความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ศาลทหารจึงไม่ใช่สิ่งควรดำรงไว้ ในมุมมองของฝ่ายดังกล่าว
ส่วนฝ่ายที่เห็นว่ายังสมควรต้องมีศาลทหาร ให้เหตุผลว่า 8อภิชญา วีระถาวร, “ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ให้โอนคดีมาศาลทหาร : ศึกษาเฉพาะกรณีผลกระทบของผู้เสียหายที่มิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร”, (สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, กลุ่มวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม, 2563), 12 – 14 การมีศาลทหารนั้นเป็นหลักสากล นานาอารยประเทศต่างก็มีศาลทหารแทบทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ฯลฯ การมีศาลทหารนั้นเป็นไปรักษาความมั่นคงของประเทศ การรักษาความมั่นคงนั้นจำเป็นต้องอาศัยกองทัพที่เข้มแข็ง สร้างหลักเอกภาพในการบังคับบัญชา ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบังคับบัญชาได้ การมีศาลทหารเป็นการแสดงถึงอำนาจของผู้บังคับบัญชาในการปกครองแบบรวมอำนาจ เพราะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทหาร เช่น การเป็นตุลาการร่วม มีอำนาจอุทธรณ์ ฎีกา มีอำนาจสั่งลงโทษแก่ทหารที่ศาลได้พิพากษาให้ลงโทษแล้ว เป็นต้น
โครงสร้างศาลทหาร
พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 รัฐไทยได้จัดวางให้มีระบบศาลทหารและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมแยกออกจากระบบศาลยุติธรรมและหน่วยงานยุติธรรมของฝ่ายพลเรือน เว้นแต่เวลาไม่ปกติ เช่น เวลาสงคราม ช่วงการประกาศกฎอัยการศึก อันจะเป็นช่วงเวลาที่ศาลทหารอาจมีอำนาจเหนือพลเรือนได้ ทั้งนี้ ศาลฎีกา (ศาลสูงสุด) ในระบบศาลพลเรือนจะไม่มีอำนาจตรวจสอบคำพิพากษาของศาลทหารในทุกกรณี
ศาลทหารของไทย มีโครงสร้างแยกเป็นเอกเทศจากระบบศาลอื่น โดยมีศาลทหารสูงสุดเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีชั้นฎีกา โดยมีศาลล่างสองศาลได้แก่ ศาลทหารชั้นต้น และศาลทหารกลาง ทั้งนี้ ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ถ้าอุทธรณ์ฎีกาจะต้องไปสู่ศาลพลเรือน 9รายงานพิเศษ, “รีรันเพื่อความทันสมัย: รู้ลึกเรื่องศาลทหาร”, 27 มิถุนายน 2558, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2015/06/60015 (สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566). นอกจากนี้ อาจมีศาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามสถานการณ์ เช่น ศาลประจำหน่วยทหารและศาลอาญาศึก อันเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นในเวลาสงครามให้มีเขตอำนาจในเขตยุทธบริเวณตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด 10พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 39
ขณะเดียวกัน องค์คณะของศาลทหาร ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของกองทัพ เรียกว่าตุลาการพระธรรมนูญ ที่ต้องสำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ 11พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ลักษณะที่ 2 และผู้บังคับชาทหารหรือนายทหารที่เป็นตัวแทนของผู้บังคับบัญชาทหาร เรียกว่า ตุลาการนายทหารสัญญาบัตร ที่ไม่จำเป็นต้องจบนิติศาสตร์ แต่ต้องมียศสูงกว่าหรือเท่ากับจำเลย ผู้บังคับบัญชาของจำเลยจะเป็นผู้แต่งตั้งเข้าไปนั่งบนบัลลังก์ 12รายงานพิเศษ, เรื่องเดียวกัน.
องค์คณะในศาลทหารชั้นต้น ประกอบด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ 1 นาย ตุลาการ 2 นาย
องค์คณะในศาลชั้นกลาง ประกอบด้วย ทหารพระธรรมนูญ 2 นาย ตุลาการ 3 นาย
องค์คณะในศาลทหารสูงสุด ประกอบด้วย ทหารพระธรรมนูญ 3 นาย ตุลาการ 2 นาย
ส่วนที่มาของตุลาการ พระมหากษัตริย์จะตั้งตุลาการในศาลทหารสูงสุด และศาลทหารกลาง แต่ถ้าเป็นตุลาการในศาลชั้นต้น คนแต่งตั้งคือ ผู้บังคับบัญชาทหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
จะเห็นว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องล้วนเป็นข้าราชการทหารทั้งสิ้น และศาลทหารก็เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชา ส่งผลให้ตุลาการศาลทหารไทยมีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระและไม่มีความเป็นกลางให้เห็นอย่างชัดเจน อันกระทบต่อความไว้เนื้อเชื่อใจของสาธารณชนที่มีต่อศาลทหาร
เขตอำนาจและกระบวนพิจารณาของศาลทหาร
ว่าด้วยเขตอำนาจของศาลทหาร อาจพิจารณาจากลักษณะของบุคคล ธรรมนูญศาลทหารกำหนดลักษณะของบุคคลที่ต้องขึ้นศาลทหารไว้ในมาตรา 16 ซึ่งระบุให้ ทหาร นักเรียนทหาร พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร บุคคลซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย เชลยศึก จะต้องถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหาร ดังนั้น หากเป็นกรณีการกระทำความรุนแรงของทหารระดับผู้บังคับบัญชา ซึ่งได้กระทำต่อพลเรือนหรือผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นทหารด้วยกัน ทุกคดีก็จะต้องขึ้นศาลทหาร
อย่างไรก็ดี หากปรากฏว่ามี บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารร่วมกระทำผิดด้วยกันหรือคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนจะต้องขึ้นศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลพลเรือนและหากเป็นคดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัว คดีลักษณะนี้ก็จะไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารเช่นเดียวกัน รวมถึงคดีที่แม้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่ศาลพลเรือนรับฟ้องไปก่อนแล้ว ก็ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป 13พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 14 และมาตรา 15
ส่วนในเรื่องกระบวนพิจารณา มาตรา 45 พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร กำหนดว่า โดยหลักจะเป็นไปตามกฎหมาย กฎและข้อบังคับซึ่งออกตามกฎหมายฝ่ายทหารมาใช้บังคับ เว้นแต่ ถ้าไม่มีกฎหมาย กฎและข้อบังคับฝ่ายทหารก็ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม หรือถ้าวิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่จะใช้ได้
นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม พลเรือนที่หมายถึงบุคคลผู้มิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร จะไม่สามารถเป็นโจทก์ตั้งเรื่องฟ้องคดีความอาญาต่อผู้กระทำผิดเองได้ 14พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 49 จะต้องร้องทุกข์ตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้อัยการทหารเป็นโจทก์ฟ้องเท่านั้น ทั้งพลเรือนที่เป็นผู้เสียหายไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอีกด้วยและนอกจากอำนาจในการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายที่เป็นพลเรือนแล้ว อัยการศาลทหารตลอดจนนายทหารพระธรรมนูญ ยังมีอำนาจทำการสอบสวน แสวงหา เก็บรวบรวมพยานหลักฐานในคดีอาญาทั้งปวงซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลทหาร 15พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 47
ส่วนการเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย กรณีละเมิดเป็นคดีความแพ่งต่อเจ้าหน้าที่ทหารหรือบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารนั้น ศาลทหารจะไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ผู้เสียหายจะต้องดำเนินการฟ้องคดีความแพ่งแยกต่างหากยังศาลพลเรือน อย่างไรก็ตาม ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานี้ได้มีการกำหนดให้ การพิพากษาคดีแพ่ง ศาลพลเรือนจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาของศาลทหารเท่านั้น 16พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 54 กล่าวคือ ถ้ารอดในศาลทหารที่เป็นคดีอาญา คดีละเมิดในศาลแพ่งก็รอดไปด้วย

เราคาดหวังถึงความยุติธรรมในศาลทหารได้เพียงใด ?
ดังที่กล่าวไปตอนต้นว่าบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ได้แก่ ทหารระดับต่างๆ นักเรียนทหาร จนถึงพลเรือนที่สังกัดราชการทหาร แต่แทนที่ประเภทคดีที่อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาของศาลทหารจะเป็นเฉพาะคดีที่มีลักษณะทางทหารเท่านั้น เช่น ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ผิดระเบียบวินัยทหาร หรือความผิดที่เกิดจากหรือเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในราชการทหาร ศาลทหารกลับมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาตามกฎหมายอื่นที่ทหารตกเป็นจำเลยอีกด้วย
ดังนั้น หากปรากฏว่ามีทหารสักคนหนึ่งไปกระทำผิดอาญา เช่น ฆ่า ซ้อมทรมาน กักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งอาจเป็นทหารด้วยกันหรือพลเรือนก็ได้ โดยกระทำไปด้วยเหตุผลหรือความคับแค้นส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการทหาร แทนที่ทหารคนนี้จะถูกฟ้องและพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมหรือศาลพลเรือนทั่วไป กลับได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลทหาร 17รายงานพิเศษ, “รีรันเพื่อความทันสมัย: รู้ลึกเรื่องศาลทหาร”, 27 มิถุนายน 2558, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2015/06/60015 (สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566). หรือแม้แต่กรณีที่ทหารขับรถยนต์ชนผู้อื่นที่เป็นพลเรือน ก็ขึ้นศาลทหารเช่นกัน
คำถามคือ ประชาชนหรือพลเรือนที่เป็นคู่กรณีและผู้เสียหายจะสามารถคาดหวังได้หรือไม่ ด้วยกลไกของศาลทหาร คุณสมบัติผู้พิพากษาศาลทหาร รูปแบบกระบวนพิจารณาในศาลทหาร การกำหนดให้องค์คณะในการพิจารณาคดีมีคนหนึ่งเป็นทหารผู้บังคับบัญชาของทหารที่กระทำผิด ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายได้จริง มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ไม่มีการใช้อำนาจหรืออิทธิพลนอกกฎหมายมาแทรกแซงกระบวนการพิจารณาของศาล และยิ่งถ้าเป็นผู้กระทำผิดเป็นทหารระดับสูง ความไว้เนื้อเชื่อใจในกระบวนการพิจารณาก็ยิ่งลดต่ำลง 18เรืองเดียวกัน. โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีทหารกระทำผิดต่อชาวบ้านธรรมดา หรือพลเรือนที่มีความขัดแย้งทางการเมืองต่อทหารที่กุมอำนาจทางการเมืองอยู่
ในประเด็นเรื่องปัญหาบางประการเกี่ยวกับกระบวนวิธีพิจารณาคดีในศาลทหารของรัฐไทย สิทธิของผู้เสียหายที่เป็นประชาชนทั่วไป หรือเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารมักไม่ได้รับการคุ้มครอง โดยไม่สามารถฟ้องดำเนินคดีหรือเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการทหารและดำเนินกระบวนการพิจารณาในลักษณะอื่น ๆ ตามหลัก Due process ในศาลทหารได้ เมื่อเทียบกับการเป็นผู้เสียหายในศาลยุติธรรม
การไม่สามารถฟ้องร้องคดีได้เอง ย่อมก่อเกิดปัญหาความอยุติธรรมตามมาหลายประการ เช่น กรณีที่อัยการทหารเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ และมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่เป็นทหารต่อศาล ผู้เสียหายที่เป็นพลเรือนก็ไม่สามารถยื่นฟ้องคดีได้ด้วยตัวเอง เท่ากับกระบวนพิจารณาปิดลงทันที หรือ หากผู้เสียหายเห็นว่า การทำงานของอัยการทหารมีปัญหาความไม่ชอบมาพากล หรืออาจกระทำการบางอย่างที่ทำให้เสียรูปคดี ผู้เสียหายก็ไม่สามารถขอเข้าไปโจทก์ร่วมได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ กล่าวสำหรับกรณีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจชองศาลทหารตกเป็นผู้ต้องหา กลไกศาลทหารยังมีปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับหลัก Due process อีกหลายประการ 19นิมิตร นูโพนทอง, “ศาลทหารไทยกับมาตรฐานระหว่างประเทศ”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557), 122 – 135. เรื่องการถูกควบคุมตัวกฎอัยการศึกและตาม พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและไม่ต้องขอหมายศาลโดยอ้างเหตุจำเป็น ไม่มีกระบวนการแจ้งสิทธิฯ มีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย ปัญหาการใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกา เนื่องจากศาลทหารมักใช้วิธีพิจารณาคดีลับเป็นหลัก หรือแม้กรณีไม่พิจารณาคดีลับ แต่เนื่องจากศาลทหารส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตทหาร ผู้เสียหาย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยหรือผู้เสียหายหรือประชาชนทั่วไป ยากที่จะเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ ยิ่งไปกว่านั้น ศาลทหารในเวลาไม่ปกติและศาลอาญาศึกไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ปัญหาเกี่ยวกับการพิพากษาคดีของศาลทหาร เนื่องจากสัดส่วนขององค์คณะตุลาการศาลทหารพระธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายมีสัดส่วนน้อยกว่าตุลาการนายทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางกฎหมาย
สุดท้าย การขาดกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจศาลทหาร ตลอดจนเรื่องโครงสร้างและเขตอำนาจของศาล ย่อมสร้างสภาวะที่กระบวนการยุติธรรมต้องดำเนินไปบนผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกันของทหารและกองทัพ เป็นกรณีที่ทหารตรวจสอบทหารด้วยกันเอง โดยที่บุคคลภายนอก หรือแม้กระทั่งผู้เสียหาย ซึ่งมีส่วนได้เสียในคดีโดยตรง กลับแทบไม่มีส่วนร่วมกับกระบวนการยุติธรรม

ความตายของพลทหารวิเชียรกับความยุติธรรม
จากความตายของพลทหารวิเชียร มาจนถึงวันที่ศาลทหารจะพิพากษา ล่วงเลยมากว่า 12 ปี ภาพของความอยุติธรรมแรกที่ปรากฏ ย่อมหนีไม่พ้นเรื่อง “ความยุติธรรมที่ล่าช้า ซึ่งเท่ากับความอยุติธรรม” ที่หมายถึง การที่เหล่าญาติ ๆ ต้องเผชิญกับความเลวร้ายตามลำพัง โดยที่ไร้ซึ่งเงาของความยุติธรรม เป็นเวลามากกว่า 1 ทศวรรษมาแล้ว และยังไม่มีบุคคลผู้เกี่ยวข้องคนใดถูกลงโทษจากการกระทำของตนแม้แต่คนเดียว
กรณีของพลทหารวิเชียรที่เสียชีวิตระหว่างการฝึกทหารเกณฑ์เป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์ท่ามกลางความสูญเสียอีกหลายสิบคน ขณะที่กระบวนการแสวงหาความจริงและความยุติธรรมก็เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยจากผู้คนในสังคมตลอดมา เพราะกลไกของศาลที่มีอยู่ ยังคงถูกตั้งคำถามในเรื่องการทำหน้าที่ตรวจสอบ กวดขัน เจ้าหน้าที่ทหารให้อยู่ในระเบียบวินัยและไม่มีพฤติกรรมอันทำให้กองทัพเสื่อมเสีย ว่าอาจเป็นกรณีการปกป้องช่วยเหลือกันภายในกองทัพมากกว่า
ทุกวันนี้ มีคำอธิบายถึงสถานะของศาลทหารไว้อย่างน่าสนใจ และอาจเป็นข้อความสำคัญที่ช่วยในการประเมินได้ว่า ประชาชนจะสามารถคาดหวังว่า ความยุติธรรมจะบังเกิดในห้องพิจารณาคดีของศาลทหารได้หรือไม่ คำอธิบายดังกล่าว กล่าวว่า 20กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, “ศาลทหารมีไว้ทำไม? ยุบศาลทหาร=ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของทหาร”, 8 มีนาคม 2560, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2017/03/70467 (สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566). ‘ทหาร’ เสมือนจะมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยามที่ทำผิดกฎหมายอาญาก็มีศาลของตนเอง มีตุลาการของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมา บ่อยครั้งสังคมก็มักตั้งคำถามถึงความเป็นกลางในการพิจารณาคดี มิพักต้องกล่าวถึงกับจับพลเรือนขึ้นศาลทหารในช่วงที่ทหารปกครองประเทศ 21เรื่องเดียวกัน.
“เราเป็นพลเรือน พอถูกขึ้นศาลทหารจะมีบรรยากาศความหวาดกลัว ในต่างจังหวัด ศาลทหารอยู่ในค่ายทหาร บรรยากาศเป็นแบบทหาร เจ้าหน้าที่ใส่ชุดทหารหมดในบรรยากาศที่ทหารปกครองประเทศ กระบวนการยุติธรรมก็ไม่เป็นมิตรกับประชาชนแล้ว” 22เรื่องเดียวกัน.
- 1พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 13
- 2นิมิตร นูโพนทอง, “ศาลทหารไทยกับมาตรฐานระหว่างประเทศ”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557). 138
- 3สายันต์ ขุนจี, “ระบบศาลทหาร”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), 4-6
- 4รายงานพิเศษ, “รีรันเพื่อความทันสมัย: รู้ลึกเรื่องศาลทหาร”, 27 มิถุนายน 2558, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2015/06/60015 (สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566).
- 5อิทธินันท์ มุสิกะนุเคราะห์, “การดำเนินคดีอาญาทหารชั้นก่อนฟ้อง: ศึกษาเปรียบเทียบการสั่งคดีของอัยการทหารกับอัยการพลเรือน”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), 29
- 6นิมิตร นูโพนทอง, เรื่องเดียวกัน, 77 – 85.
- 7เรื่องเดียวกัน.
- 8อภิชญา วีระถาวร, “ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ให้โอนคดีมาศาลทหาร : ศึกษาเฉพาะกรณีผลกระทบของผู้เสียหายที่มิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร”, (สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, กลุ่มวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม, 2563), 12 – 14
- 9รายงานพิเศษ, “รีรันเพื่อความทันสมัย: รู้ลึกเรื่องศาลทหาร”, 27 มิถุนายน 2558, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2015/06/60015 (สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566).
- 10พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 39
- 11พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ลักษณะที่ 2
- 12รายงานพิเศษ, เรื่องเดียวกัน.
- 13พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 14 และมาตรา 15
- 14พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 49
- 15พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 47
- 16พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 54
- 17รายงานพิเศษ, “รีรันเพื่อความทันสมัย: รู้ลึกเรื่องศาลทหาร”, 27 มิถุนายน 2558, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2015/06/60015 (สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566).
- 18เรืองเดียวกัน.
- 19นิมิตร นูโพนทอง, “ศาลทหารไทยกับมาตรฐานระหว่างประเทศ”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557), 122 – 135.
- 20กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, “ศาลทหารมีไว้ทำไม? ยุบศาลทหาร=ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของทหาร”, 8 มีนาคม 2560, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2017/03/70467 (สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566).
- 21เรื่องเดียวกัน.
- 22เรื่องเดียวกัน.