[:th]CrCF Logo[:]

การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ใช่การทรมาน มาตรา 6 พรบ. อุ้มหายฯ

Share

จากเหตุการณ์เรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นกับเด็กในสถานสงเคราะห์แห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี ถูกลงโทษด้วยการกระทำความรุนแรง และถูกจับขังในห้องมืดว่า เบื้องต้นกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้สั่งการให้พี่เลี้ยงที่ก่อเหตุหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที พร้อมทั้งได้มีการแจ้งความดำเนินคดี และได้สั่งย้ายผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ดังกล่าว มาปฏิบัติราชการที่ ดย.ส่วนกลาง ขณะเดียวกันก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีทีมสหวิชาชีพร่วมกับตำรวจดำเนินการสอบข้อเท็จจริงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด หากมีใครเกี่ยวข้องอีกก็จะต้องดำเนินการเอาผิดเพิ่มเติม

รวมถึงการรวบรวมข้อมูลจากเด็กทั้งหมดที่อยู่ในความดูแล เบื้องต้นที่ได้รับรายงานมีเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงประมาณ 9 คน ช่วงอายุ 6 ปีขึ้นไป ซึ่งได้คัดแยกเด็กกลุ่มดังกล่าวออกจากพื้นที่มาอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็กและเยาวชนในพื้นที่ใกล้เคียงชั่วคราว เพื่อคลายความวิตกกังวล และได้ส่งนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา ประเมินและฟื้นฟูเยียวยาจิตใจเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงแล้ว ส่วนเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์มีทั้งหมดรวม 169 คน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในความดูแลโดยปกติ ส่วนพี่เลี้ยงที่ทำร้ายเด็กเบื้องต้นมีรายงานคนเดียว อายุ 30 กว่าปี เป็นอัตราจ้างเหมา ซึ่งอยู่มานานเกิน 12 ปี (ที่มา มติชน https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4004598)

การทรมานแตกต่างจากการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ใช่การทรมาน การทรมานต้องมีผลการกระทำอย่างร้ายแรงหรือสาหัส การทรมานต้องมีมูลเหตุจูงใจสี่ข้อ แต่การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ใช่การทรมาน (มาตรา 6) ไม่ต้องมีเจตนาพิเศษ โดยมีผลทำให้ผู้ที่ถูกจับกุม ควบคุมตัวส่งผลตัวอย่างดังนี้

• ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
• ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์
• เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ ไม่ร้ายแรง ไม่สาหัส

มีโทษตามมาตรา 36 ผู้กระทําความผิดฐานกระทําการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ํายีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ

กรณีดังกล่าวเป็นการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในสถานสงเคราะห์เด็กแห่งนี้ ที่ได้ทำเรื่องร้องเรียนตามช่องทางแต่กลับถูกร้องเรียนกลับจึงนำเรื่องมาร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ตามพรบ.ทรมานอุ้มหายฉบับใหม่นี้ผู้ร้องเรียนได้รับการคุ้มครองว่าจะไม่ถูกดำเนินการทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยใดใด มาตรา 29 ผู้ใดพบเห็นหรือทราบการทรมาน การกระทําที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือ ย่ํายีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทําให้บุคคลสูญหาย ให้แจ้งพนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ชักช้า ผู้แจ้งถ้าได้กระทําโดยสุจริตไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แม้ภายหลังปรากฏว่าไม่มีการกระทําความผิดตามที่แจ้งก็ตาม

ทั้งนี้การตีความว่าการกระทำใดเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ใช่การทรมานนั้น น่าจะต้องศึกษาจากกรณีที่เกิดขึ้นจริง เช่นกรณีการร่องเรือมาของชาวโรฮิงยา การพลัดหลงเข้ามาในน่านน้ำไทยทำให้เราต้องช่วยเหลือคนแก่ เด็ก สตรีและทุกคนในเรือให้เขาได้น้ำ ได้อาหาร ได้ที่พัก สิ่งนี้คือการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ที่ไม่เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์และไม่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา หากไม่กระทำเช่นนั้นตามหลักมนุษยธรรม การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ที่ถูกจับกุม ควบคุมตัวจึงเข้าข่ายการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ต้องไม่ได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจที่ร้ายแรงหรือสาหัสที่เป็นการทรมาน

ตัวอย่าง (1) กรณีสถานที่บำบัดยาเสพติด กาญจนบุรี

1) เมื่อเดือนกันยายน 2564 มีเรื่องร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนและญาติและต่อมามีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าผู้เข้ารับการบำบัดจำนวนกว่า 200 คนในศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟวัดท่าพุราษฎร์บำรุงในจังหวัดกาญจนบุรี กลุ่มอดีตผู้เข้ารับการบำบัดให้ข้อมูลว่ามีขั้นตอนการบำบัดและรักษาไม่ถูกต้อง ไม่ถูกสุขลักษณะ พบมีการทำร้ายร่างกาย จิตใจ และการให้อดอาหาร ผู้เข้ารับการบำบัดถูกทำร้ายร่างกาย บางรายถูกซ้อมทรมาน มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต เรือนพักผู้เข้ารับการบำบัด พบว่า มีการล็อกแม่กุญแจอย่างแน่นหนา ส่วนด้านในมีผู้เข้ารับการบำบัดพักฟื้นถูกส่งมาพักอาศัยอยู่อย่างแออัด ผู้เข้ารับการบำบัดที่ศูนย์แห่งนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 12,000-20,000 บาทต่อคน ในเรือนนอนเป็นอาคารชั้นเดียว มีห้องน้ำ 2 ห้อง ล่าสุด มีการตรวจสอบว่า ศูนย์บำบัดแห่งนี้ดำเนินการตามระเบียบของสาธารณสุขจังหวัด และสถานบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด หรือไม่นอกจากนี้ยังพบว่า บุคลากรผู้ดูแลไม่ได้ผ่านการอบรม ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 ปัจจุบันไม่มีการดำเนินคดีอาญาในข้อหาดังกล่าว การกระทำเช่นนี้อาจเข้าข่ายการผิดกฎหมายตามพรบ.ฉบับนี้ มาตรา 6 มีผู้เสียหายประมาณ 10 คนได้เข้าแจ้งความกับตำรวจกองปราบปราม เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์บำบัดฯ ในข้อหาค้ามนุษย์ ยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี (ข้อมูล: https://www.thaipbs.or.th/news/content/308079)

ตัวอย่างที่ 2 กรณีสามจังหวัดชายแดนใต้

(2) ในปี 2557 มีรายงานการทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อ้างการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้เป็นเวลา 37 วัน โดยกำหนดข้อห้ามและสร้างอุปสรรคต่างๆ ทำให้ขาดการตรวจตราจากองค์กรภายใน และขาดการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกที่เป็นอิสระ รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้น เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ผู้ถูกจับกุม กัก หรือควบคุมตัว ถูกทรมานหรือปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคน หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้บังคับบัญชาบางคน และหน่วยงานของรัฐบางแห่ง จนเกิดเป็นข้อร้องเรียนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง การปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อผู้ถูกจับและควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษให้ข้อมูลไว้ในรายงานเช่น การใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุ่นหยดตรงจุดใดจุดหนึ่งของร่างกายอย่างต่อเนื่อง อาทิ หน้าผาก ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกกดดัน แต่ไม่มีร่องรอย, การทำให้สำลักหรือบีบคอ, การทำให้จมน้ำหรือจุ่มน้ำ, การให้อยู่ในอุณหภูมิสุดขั้ว, การบังคับให้กิน ดื่ม, การนำแผ่นร้อนมาจี้ที่เท้า หรือการใช้ไฟฟ้าช็อต, การทำให้ขาดอากาศบางขณะ หรือแม้แต่ทำเสียงดัง หรือแม้แต่การล่วงละเมิดทางเพศ การบังคับให้ถอดเสื้อผ้า เป็นต้น ในหลายๆๆกรณ๊เข้าข่ายการทรมานที่ผิดกฎหมายพรบ.ทรมานอุ้มหาย ตามมาตรา 5 ข้อมูล: https://www.isranews.org/con…/item/44715-report_44715.html

ตัวอย่าง (3) กรณีบังคับกร่อนผมชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เรือนจำที่เพชรบุรี

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 กรณีตำรวจ สภ.แก่งกระจาน ส่งตัว ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย 22 คน ซึ่งชุดจับกุมอุทยานฯ แก่งกระจานนำตัวลงจากบางกลอยบน เพื่อดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่า เข้าฝากขังภายในเรือนจำกลาง จ.เพชรบุรี ตั้งแต่ช่วงค่ำที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ หน่อแอะ มีมิ ลูกชายปู่คออี้ (โคอิ มีมิ) รวมอยู่ด้วย การจับกุมชาวกะเหรี่ยงที่ตัดสินใจเดินเท้าขึ้นไปเตรียมที่ดินในการเพาะปลูกข้าวไร่ในที่ดินบรรพบุรุษทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าการบังคับขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินบรรพบุรุษที่ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในภายหลังอาจขัดต่อวิถีวัฒนธรรมและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของงกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ต่อมาชาวบ้านถูกนำตัวเข้าไปควบคุมที่เรือนจำเขากลิ้ง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อฝากขังรอการขอปล่อยตัวชั่วคราว และมีการบังคับกล้อนผมชาวกะเหรี่ยงทั้งหมดในทันที เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานแนวตะนาวศรี ให้ข้อมูลว่า กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางคนที่ยึดมั่นในวิถีวัฒนธรรม เคารพในลัทธิความเชื่อที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อย่าง เช่น การแต่งกาย การไว้ผมยาว การมวยผม โพกศีรษะด้วยผ้า แม้การกล้อนผมจะเป็นระเบียบของราชทัณฑ์ แต่ก็อาจเข้าข่ายการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวกะเหรี่ยงและวิถีความเชื่อของบุคคลอาจกระทบต่อสภาพจิตใจและความรู้สึก ข้อมูล: https://theactive.net/news/20210305-11/