[:th]CrCF Logo[:]
สมชาย หอมลออ

ขอแสดงความยินดีแด่ นายสมชาย หอมลออ ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ

Share

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอแสดงความยินดีแด่ นายสมชาย หอมลออ – ทนายความสิทธิมนุษยชน ที่ปรึกษาอาวุโส มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เนื่องในโอกาสที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

มาตรา ๑๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ประกอบด้วย

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ

2. ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ

3. กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายกสภาทนายความ และประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

4. กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนหกคน ดังต่อไปนี้

(ก) ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสิทธิมนุษยชน จำนวนสองคน ด้านกฎหมาย และด้านนิติวิทยาศาสตร์ ด้านละหนึ่งคน

(ข) แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ จำนวนหนึ่งคน และแพทย์ทางจิตเวชศาสตร์ จำนวนหนึ่งคน

ให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแต่งตั้งข้าราชการของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จำนวนไม่เกินสองคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

มาตรา 19 คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

1. เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือมาตรการอื่นที่จำเป็นตามพระราชบัญญัตินี้

2. กำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมาน การกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย

3. กำหนดนโยบายและมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหายอย่างครอบคลุม โดยคำนึงถึงการทำให้กลับสู่สภาพเดิมเท่าที่จะเป็นไปได้

4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายด้านการเงินและจิตใจ รวมถึงการฟื้นฟูระยะยาวทางการแพทย์ให้แก่ผู้เสียหาย โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

5. กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดและการปกปิดการควบคุมตัวบุคคล รวมทั้งมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งข้อมูลการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

6. ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งรับและติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียน

7. พิจารณารายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหาย และรายงานผลการดำเนินการประจำปี เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

8. แต่งตั้งที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

9. วางระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

10. วางระเบียบอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้