วันนี้ (18 พ.ค. 2566) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) วินิจฉัยว่าพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้อำนาจคณะรัฐมนตรีในการตรา พรก.ที่มีค่าบังคับเทียบเท่า พ.ร.บ. ได้ หากเหตุจำเป็น คือ “ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ” ส่งผลให้การบังคับใช้มาตรา 22,23,24 และ25 รวม 4 มาตราของพ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหายฯ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้น (วันที่ 22 ก.พ. 2566) พร้อมกับมาตราอื่นๆ ในกฎหมายฉบับดังกล่าวที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้วก่อนหน้า เป็นการบังคับใช้พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหายฯ แบบเต็มฉบับ
คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 ได้มีการประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ลงในราชกิจจานุเบกษา โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 ก่อนการมีผลบังคับใช้เพียง 8 วัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ตราพรก. แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เพื่อเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22 ถึงมาตรา 25 รวม 4 มาตรา ไปเป็นวันที่ 1 ต.ค. 2566 โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฎิบัติงาน จึงไม่สามารถบังคับใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวได้
การเลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตรา พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหายฯ ฉบับดังกล่าวได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 19 ก.พ. 66 และเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีฉบับนี้ ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 172 ในวันที่ 28 ก.พ. 66 แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง การอภิปรายมีแนวโน้มว่าจะไม่ผ่านการพิจารณา ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติจาก ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่งในห้าได้มีการลงชื่อกันตามมาตรา 173 ของรัฐธรรมนูญ เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทน ฯ ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวชอบด้วยมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ เป็นที่มาให้ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยและลงมติความชอบของพ.รก. แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหายฯ ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่งหรือไม่ ในวันนี้
โดยในวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นว่า พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ. ทรมาน – อุ้มหายฯ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้พรก. ฉบับดังกล่าว ‘ไม่มีผลบังคับใช้มาแต่ต้น’ (วันที่ 22 ก.พ. 2566) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสาม
“เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจและทหารที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวทุกกรณีต้องปฏิบัติตามกฎหมายใหม่นี้อย่างเคร่งครัด การติดกล้องบันทึกภาพและเสียงต่อเนื่องระหว่างการจับกุม และการแจ้งการจับตามมาตรา 22 มีประโยชน์ต่อในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและการทำงานของจนท.รัฐเองด้วย เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างจนท.รัฐกับประชาชนจะดีขึ้นเชื่อใจกันมากขึ้น” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าว
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชนร่วมกันจับดูการบังคับใช้ พรบ.ป้องกันและปราบกรามการทรมานฯ แบบเต็มฉบับต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกที่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายหรือครอบครัวของผู้เสียหายจากการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ได้ต่อไปอย่างแท้จริง