[:th]CrCF Logo[:]

รำลึก 4 ปี การบังคับสูญหาย “สยาม ธีรวุฒิ” เส้นทางการตามหาความยุติธรรม และแนวทางใหม่ ใต้ พรบ. อุ้มหาย

Share

วันที่ 21 ก.พ. 2566 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มูลนิธิผสานวัฒนธรรมกำหนดจัดงานรำลึกครบรอบ 4 ปีการบังคับสูญหาย สยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปี เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนลี้ภัย สยาม ธีรวุฒิมีหมายจับข้อหามาตรา 112 จากการแสดงละครเวที ‘เจ้าสาวหมาป่า’ และถูกบังคับสูญหายไปพร้อมกับ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง และ กฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด

เวลา 15.30 -17.00 น. งานรำลึกจะเริ่มต้นขึ้นด้วยเวทีเสวนา ในหัวข้อ “4 ปี การบังคับสูญหายของสยาม ธีรวุฒิ : การตามหาความยุติธรรมและแนวทางใหม่ใต้พรบ.ทรมาน-อุ้มหาย” เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนเรื่องราวการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับ สยาม ธีรวุฒิ และการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หลังเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 พ.ร.บ. ทรมาน-อุ้มหายฯ ได้มีผลบังคับใช้ กฎหมายนี้จะช่วยคืนความยุติธรรมและเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการทรมาน-บังคับสูญหายได้ อีกทั้งปัจจุบันยังมีกลไกศูนย์รับแจ้งเหตุทรมาน-อุ้มหายซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหน่วยงานรัฐได้ง่ายขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตามเส้นทางการตามหาความยุติธรรมยังไม่จบและยังคงต้องติดตามประสิทธิภาพของการบังคับใช้แนวทางใหม่นี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด

งานเสวนาในครั้งนี้ ดำเนินรายการโดย ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม วิทยากรประกอบไปด้วย กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ เพื่อบอกเล่าถึงมุมของครอบครัวธีรวุฒิหลังสยาม ธีรวุฒิ สูญหาย กับเส้นทางการต่อสู้เพื่อทวงคืนความยุติธรรม ต่อด้วย มนทนา ดวงประภา ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นำเสนอความคืบหน้าในการยื่นคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา รวมถึงความท้าทายและสถานะของคำร้องในปัจจุบัน ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นความสำคัญของพ.ร.บ. ทรมาน-อุ้มหายฯ ต่อกรณีสยาม ธีรวุฒิ และความคืบหน้าในการใช้กลไกใหม่ของกฎหมายฉบับดังกล่าว ในการเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ณ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (ศป.ทส.) โดยมีพรพิมล มุกขุนทด ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม อธิบายถึงขั้นตอนการดำเนินการ ความท้าทาย และสถานะในปัจจุบัน เวทีเสวนาปิดท้ายด้วยดร. น้ำแท้ มีบุญสล้าง สำนักงานอัยการสูงสุด ในประเด็นเรื่องบทบาทของอัยการภายใต้พ.ร.บ. ต่อกรณีการบังคับสูญหาย ไปจนถึงอาชญากรรมอื่นๆ ภายใต้พ.ร.บ.ฉบับนี้ ความท้าทายในการบังคับใช้ แนวทางการแก้ไข และแผนงานในอนาคต

ต่อจากเวทีเสวนาจะเป็นกิจกรรมภาคค่ำเวลา 17.00 น. เริ่มด้วยการร่วมฟังปราศรัยเสียงของเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในหัวข้อ “เยาวชน เสรีภาพในการแสดงออก และความรุนแรงโดยรัฐ” ต่อด้วยการแสดงละคร โดย B-Floor และการแสดงดนตรี Acoustic โดยวงสามัญชน ตามลำดับ กิจกรรมจะสิ้นสุดช่วง 19.00 น.

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเชิญชวน สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานรำลึกครบรอบ 4 ปี การบังคับสูญหายสยาม ธีรวุฒิ ในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันรำลึกและจดจำถึงสยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ถูกบังคับให้สูญหายโดยรัฐ ด้วยความหวังว่าสังคมไทยจะเยียวยาและให้ความยุติธรรมกับสยาม และครอบครัวธีรวุฒิ ได้อย่างแท้จริงต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/…/a.41709898…/6156409591072942/

#StopTorture#StopEnforcedDisappearance#พรบอุ้มต้องไม่หาย#พรบต้องไม่หายกฎหมายต้องมี