ศูนย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ยื่นความเห็นทางกฎหมายต่อศาลรัฐธรรมนูญ ชี้พ.ร.ก. เลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตราของ พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหายขัดรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 เนื่องจากการร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายของเครือข่ายญาติผู้สูญหายและผู้ถูกซ้อมทรมาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ยื่นความเห็นทางกฎหมาย (Amicus Curiae Brief) ต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 11/2566 ระบุว่าการออก พ.ร.ก. เลื่อนการบังคับใช้มาตราของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จำนวน 4 มาตรา ขัดรัฐธรรมนูญ
ก่อนหน้านี้เกิดอะไรขึ้น? ทำไมจึงเกิด พ.ร.ก. เลื่อน 4 มาตรา ของ พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน? เหตุจึงถูกส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย?








● ‘8 วัน’ก่อน พ.ร.บ. ซ้อมทรมานมีผลบังคับใช้ คณะรัฐมนตรีออก พ.ร.ก. ‘เลื่อน’ การบังคับใช้ 4 มาตราสำคัญของออกไป
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ได้มีประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ในราชกิจจานุเบกษา โดยตามกระบวนการแล้วจะมีผลบังคับใช้คือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เพียง 8 วันก่อนวันบังคับใช้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22, 23, 24 และ25 รวม 4 มาตรา ไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นการเลื่อนออกไปเกือบ 9 เดือน
● พ.ร.ก. เลื่อนการบังคับใช้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่กลับถูกส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแทน เหตุ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลเสนอต่อประธานสภา
พ.ร.ก. เลื่อนการบังคับใช้4มาตรา พ.ร.บ. ซ้อมทรมานฉบับดังกล่าวได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 19 ก.พ. 2566 และเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีฉบับนี้ ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 172 ในวันที่ 28 ก.พ. 2566 แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง *การอภิปรายวันที่ 28 กพ. 2566 มีแนวโน้มว่าจะไม่ผ่านการพิจารณา
ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติ ส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาลหนึ่งในห้าได้มีการลงชื่อกันตามมาตรา 173 ของรัฐธรรมนูญ เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนฯ ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวชอบด้วยมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่
แทนที่ พ.ร.ก. ฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านการพิจารณาโดยสภาผู้แทนฯตามอำนาจนิติบัญญัติซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภา จึงกลับถูกส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตุลาการตัดสินแทน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับเรื่องไว้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 ตามมาตรา 173 วรรคสองของรัฐธรรมนูญกำหนดให้พิจารณาให้เสร็จภายในกำหนด 60 วัน จึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติวันที่ 18 พ.ค. 2566 เวลา 09.30 น.
https://crcfthailand.org/…/thammasat-law-center…/…