[:th]CrCF Logo[:]
กัญญา ธีรวุฒิ

เรื่องเล่าของสยาม ธีรวุฒิ โดยคุณแม่กัญญา ตอนที่ 1/2 | มนุษย์กรุงเทพฯ

Share

“สยาม (สยาม ธีรวุฒิ) ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ทั้งอ่านการ์ตูน หนังสือพิมพ์ หนังสือในห้องสมุด สำหรับแม่ เขาซนตามประสาเด็กนะ ไม่ดื้อ ตั้งใจเรียน สอบได้เกรด 4 ทุกวิชา วิชาสังคมจะได้คะแนนดีเป็นพิเศษ พอเรียนจบ ม.ปลาย เขาตัดสินใจเรียนต่อ ม.ราม ครอบครัวของเราเปิดร้านแอร์ การเรียนมหาวิทยาลัยเปิดทำให้มีเวลาช่วยพ่อทำงาน เขาเป็นลูกมือพ่อไปติดตั้งแอร์ ล้างแอร์ ซ่อมแอร์ ทำเป็นทุกอย่าง รับค่าจ้างเหมือนคนงานในบ้าน แต่ได้กินอยู่ฟรีนะ (หัวเราะ)

“สยามเคยบอกแม่ว่า ‘ผมอยากไปอยู่ต่างประเทศ’ เขาไม่ได้เกลียดเมืองไทยหรอก แต่คงเกลียดคนมีอำนาจที่กดขี่คนเล็กคนน้อย ช่วงเรียนรามเขาทำกิจกรรมหลายอย่าง เล่นดนตรีเปิดหมวก เล่นละคร เคลื่อนไหวกับคนงานโรงงานไทรอัมพ์ที่กำลังจะถูกเลิกจ้าง ฯลฯ แม้ว่าเรียนจบแล้วก็ยังทำต่อ ช่วงปี 2556 เขาเรียนจบแล้ว บางวันเขาออกไปทำแอร์กับพ่อ บางวันไปซ้อมละครกับเพื่อน เขาเคยพูดถึงการซ้อมละครเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ให้ฟังว่า ‘เพื่อนขาดตัวแสดงน่ะ ผมเลยต้องไปช่วยแสดง’

“งานครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา (14 ตุลาคม 2556) สยามออกไปเล่นละครเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันนั้นมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ด้วย แม่จำได้ว่า เขายืนเอามือไขว้หลังแล้วพูดประมาณว่า ‘เราจะมาขายที่ให้เศรษฐี’ เนื้อเรื่องเป็นยังไง แม่ไม่เข้าใจหรอก แต่ไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร ก็แค่ละคร คนนั่งดูกันเยอะแยะ มีถ่ายทอดสดอีก ชีวิตดำเนินไปตามปกติ จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 2557 การเล่นละครครั้งนั้นทำให้เขาโดนหมายจับคดี 112 จนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ

“ปลายปี 2557 สยามคงรู้ว่าตัวเองอาจโดนจับ เขาเลยหนีไปทางใต้ วันนั้นแม่ยังไม่รู้ว่าคือการหนี เขามาขอกอด ขอจับนมนิดนึง เรายังบอกเลยว่า ‘ไปขอสาวๆ จับแบบนี้ไม่ได้นะ’ (หัวเราะ) เขาเก็บเสื้อผ้าไปเยอะ บอกแค่ว่าไปทำกิจกรรมกับเพื่อน คงกลัวเราเป็นทุกข์ แม่ไปส่งเขาที่สายใต้ เอาเงินให้ติดตัวไป 400 บาท เขาบอกว่า ‘ครั้งนี้ผมไปหลายวันหน่อยนะ’ พูดจบแล้วนิ่งไป ที่ผ่านมาเขาไปทำกิจกรรมต่างจังหวัดตลอด เราเลยไม่ได้มองว่าผิดปกติ แต่ผ่านไปไม่นานก็มีคนมาติดตามที่บ้าน

“วันนั้นมีรถสองคันติดตามเราอย่างผิดสังเกต แม่เลยบอกลูกสาวว่า ‘เดี๋ยวพอแม่ออกรถไป ถ้ารถสองคันนั้นขับตาม อิ๊งโทรบอกแม่เลยนะ’ ตอนนั้นช่วงเย็นแล้ว พอเราออกรถไปพ้นซอย รถสองคันนั้นก็ขับตาม ลูกสาวเลยโทรบอก เราโทรเล่าให้ตำรวจที่รู้จักกันฟังว่า มีรถสองคันขับตาม ลักษณะรถไม่ได้ใหม่ แต่เป็นป้ายแดง คงเอาป้ายมาติดทับ เขาแนะนำให้ขับไปเรื่อยๆ อย่าจอดเด็ดขาด รถสองคันนั้นขับตามตลอด พอสักหนึ่งทุ่มแม่ก็ขับเข้าบ้าน โคตรตื่นเต้นเลย อย่างกับในหนัง พอวันถัดมา สยามโทรมา แม่เล่าให้เขาฟังว่าเกิดอะไรขึ้น เขาบอกว่า ‘ปล่อยให้เขาตามไป เขาต้องการตัวผม ไม่ได้ต้องการตัวแม่’

“สยามเล่าว่ากำลังจะหนีไปมาเลเซีย แม่เลยบอกไปว่า ‘กลับมาบวชเถอะลูก’ แต่เขาตัดสินใจว่าจะหนี เล่าให้ฟังตอนหลังว่า มีหลวงตารูปหนึ่งแนะนำว่าบวชก็ไม่พ้น อยู่ไทยก็ไม่พ้น ต้องออกนอกประเทศอย่างเดียว ปรากฏว่าเขาเข้าไปมาเลเซียไม่ได้ เลยต้องกลับมากรุงเทพฯ แล้วค่อยหาทางข้ามไปลาวผ่านช่องทางธรรมชาติ หลังจากนั้นสักสองอาทิตย์ มีตำรวจติดต่อให้แม่ไปพบ เราพาลูกสาวไปด้วย เขาถามว่า ‘คุณเป็นแม่ของสยามหรือเปล่า รู้ไหมว่ามีหมายจับคดี 112 จากการเล่นละครเจ้าสาวหมาป่า’ เขาอยากรู้ว่าสยามอยู่ไหน แต่เราก็ไม่ได้บอก ช่วงนั้นที่ไหนมีคนนามสกุล ธีรวุฒิ เจ้าหน้าที่ตามไปทุกที่เลย

“ตั้งแต่เกิดเรื่อง แม่ไม่เคยต่อว่าและไม่เคยพูดถึงละครเรื่องนั้นเลย เราย้อนเวลาไม่ได้แล้ว ไม่รู้จะพูดไปทำไม ทุกครั้งที่ได้คุยกัน แม่บอกแค่ว่า ‘ระวังตัวนะลูก’ เราติดต่อกันเป็นระยะ บางช่วงเขาก็หายไปหลายเดือน เพราะต้องหลบหนีไปที่ใหม่ กว่าจะได้เจอกันที่ลาวก็ปี 2559 แม่เดินทางไปหาเขาที่ลาว เอาปลาอินทรีไปสามตัว เสื้อผ้า ผ้าห่ม ก่อนหน้านั้นเคยส่งโน้ตบุ๊ค มือถือ หนังสือ และเงินไปให้ เขาเช่าโรงแรมให้พ่อแม่นอนหนึ่งคืน เขาก็มานอนคุยด้วย (เงียบ) สยามเป็นคนดีมากเลยลูก ไม่ใช่แม่ชมลูกตัวเองนะ ก่อนนอนเขาก็กราบแม่ ทำมาตั้งแต่เด็ก เป็นลูกที่รักพ่อรักแม่มาก

“เราเคยคุยกันว่า สถานการณ์เป็นแบบนี้ คงยากที่จะได้กลับเมืองไทย แต่ไม่เป็นไร มีเวลาค่อยไปเยี่ยมกัน จริงๆ สยามเคยแอบเข้าไทยมาหาด้วย เขาใส่หมวกแก๊บมานั่งรอที่ราม แม่ยังไปเลี้ยงสุกี้ และไปส่งเขาข้ามชายแดนเลย จนกระทั่ง 8 พฤษภาคม 2562 เพื่อนของสยามโทรมาบอกว่า ‘มีข่าวว่าสยามโดนจับพาสปอร์ตปลอมที่เวียดนาม กำลังจะถูกส่งตัวมาไทย แม่ไปรอที่กองปราบเลย’ แม่ขับรถไปกับลูกสาวถึงที่นั่น 6 โมงเย็น ดิ่งเข้าไปถามเลย เจ้าหน้าที่บอกว่า ‘ไม่มีคนชื่อสยามมา ไม่มีใครถูกส่งตัวมาจากเวียดนาม’ พรุ่งนี้คุณค่อยมาใหม่ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ แม่ติดต่อเขาไม่ได้และไม่ได้เจอกันอีกเลย

“แม่แจ้งความและยื่นหนังสือมาหลายที่ กองปราบ สถานทูตเวียดนาม กสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ดีเอสไอ ยูเอ็น ฯลฯ ไม่มีเบาะแสจากที่ไหนเลย ตำรวจบางคนเหมือนไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าเรายังไม่เจอลูก (เงียบ) ทำไมถึงเป็นแบบนี้นะ (ถอนหายใจ) เขาแค่ไปเล่นละคร ช่วงที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยเสียชีวิตและหายตัวไปหลายคน เคยมีคนมาพูดว่า ‘โอ้ย… ป่านนี้ไม่เหลือแล้ว โดนมัดมือไขว้หลัง เอาน้ำกรดกรอกปาก ถีบลงบ่อไอ้เข้ไปแล้ว’ แต่ไม่มีใครรู้ว่าความจริงคืออะไร เมื่อก่อนเขาเคยขาดการติดต่อไปหลายเดือนบ้าง แต่พอจัดการชีวิตได้จะติดต่อมาเอง แต่นี่ก็หลายปีแล้ว ไม่ติดต่อมาเลย ไม่รู้ว่าจะได้เจอกันอีกไหม

“ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ คุณทำไปเพื่ออะไร ทำแล้วได้อะไร คุณมีความสุขเหรอ แต่เราทุกข์มาก คุณยิ่งใหญ่มาจากไหนนะ สุดท้ายก็ตายเหมือนกัน เรื่องแบบนี้ไม่เกิดกับครอบครัวคุณ ไม่รู้หรอก พูดตรงๆ นะ แม่อยากให้เกิดขึ้นกับครอบครัวที่กระทำบ้าง เขาจะได้รู้สึกว่าการสูญเสียมันเจ็บปวดนะ ที่ผ่านมากฎหมายไม่เคยช่วยเรา ตอนนี้แม่หวังกฎแห่งกรรมแล้ว ขอให้เขาเจอแบบเดียวกันบ้าง ถึงวันนั้นมึงจะเสียใจแบบเดียวกับกูนี่แหละ!”

สยาม ธีรวุฒิ คือผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ที่ต้องหลบหนีออกนอกประเทศหลังการรัฐประหาร 2557 เนื่องจากมีการรื้อฟื้นคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในนักแสดงละครเวทีเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ที่ทางการระบุว่ามีเนื้อหาผิดมาตรา 112 …จนกระทั่ง 8 พฤษภาคม 2562 มีข่าวว่าสยามถูกจับกุมตัวที่เวียดนามด้วยข้อหาพาสปอร์ตปลอมและกำลังถูกส่งตัวกลับไทย แต่เขากลับหายตัวไปตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน

[1/2]


บทความโดย: มนุษย์กรุงเทพฯ

#มนุษย์กรุงเทพฯxมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

หลังจากเครือข่ายครอบครัวผู้เสียหายจากการทรมานและการอุ้มหาย และองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันผลักดันให้เกิดกฎหมายสำหรับเรื่องนี้ ในที่สุดก็เกิดเป็น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่บังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 แม้ปัจจุบันบางมาตราจะถูกเลื่อนออกไป แต่มาตราที่เหลืออยู่ของกฎหมายฉบับนี้ คือจุดเริ่มต้นในการป้องกันไม่ให้ผู้ใดต้องถูกซ้อมทรมานหรือสูญหาย และหากอาชญากรรมนั้นเกิดขึ้นแล้ว ผู้เสียหายจะได้มีเครื่องมือในการดำเนินคดีกับผู้กระทำให้ถึงที่สุด

อ่านเพิ่มเติม 13 ประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565