สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศให้วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกหรือวันสื่อมวลชนโลกตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อและย้ำเตือนรัฐบาลถึงหน้าที่เคารพและสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งได้รับการคุ้มครองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 19
เร็วๆนี้จะมีหนังสือคู่มือ”สื่อกับการทำข่าวคดีสิทธิ” สาระสำคัญของคู่มือมุ่งเน้นความรู้จากทั้งตัวบทกฎหมายที่จำเป็นสำหรับสื่อที่จะต้องทำความเข้าใจในการรายงานข่าวคดี หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงตัวบทกฎหมาย ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมและข้อสังเกตของนักกฎหมาย ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันมีการนำกฎหมายมาใช้และตีความกฎหมายในแบบที่เกิดขึ้นใหม่ๆ คู่มือนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ประโยชน์แก่ผู้สื่อข่าวที่สนใจการทำข่าวคดีสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะลักษณะของคดีที่เกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง คดีอันเกิดเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก รวมไปถึงคดีกลุ่มที่เรียกกันว่า คดีความมั่นคง ซึ่งหมายถึงคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
เนื้อหาของคู่มือฉบับนี้เป็นการรวบรวมและเรียบเรียงมาจากการจัดอบรมผู้สื่อข่าวเรื่องการทำข่าวคดีในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2565- มกราคม 2566 รวมทั้งการสัมภาษณ์ทนายความสิทธิมนุษยชนทั้งในกรุงเทพฯและในสามจังหวัดภาคใต้รวม 6 คน ผู้สื่อข่าว 3 เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน 2 องค์กร และผู้สื่อข่าวอีกจำนวนหนึ่งเพื่อวางกรอบพื้นฐานในจัดการทำเนื้อหาการจัดอบรมและการทำคู่มือเล่มนี้
การถอดประสบการณ์และบทเรียน ไม่ว่าจะเป็นจากนักกฎหมายและทนายความสิทธิมนุษยชนทั้งที่สังกัดองค์กรและเป็นทนายความอิสระ จากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชนและจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม iLaw เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ กลุ่มด้วยใจ และผู้สื่อข่าวจำนวนไม่ต่ำกว่า 25 คน ที่ได้ร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อคิดและประสบการณ์ช่วยเสริมข้อมูลและแง่มุมให้กับเนื้อหาของคู่มือเล่มนี้ โดยมีสถานทูตอังกฤษผู้สนับสนุนการจัดอบรมและจัดพิมพ์คู่มือ “สื่อกับการทำข่าวคดีสิทธิ” คณะผู้จัดทำหวังว่าผู้สนใจในคดีสิทธิมนุษยชนรวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้