“ฉันต้องเหนื่อยกับการเดินทางบ่อยครั้งมากในคดีของบิลลี่ กับความหวังว่าบิลลี่ยังคงมีชีวิตอยู่ แม้ฉันจะเดินไม่ค่อยไหวต้องมีคอยพยุงไหล่ทั้งสองข้าง แต่ก็ยังจำเป็นต้องเดินทาง ฉันเหน็ดเหนื่อยมาก ๆ และซึมเศร้ามาโดยตลอด แม้ภายในจิตใจฉันจะเศร้าเสียใจถึงขนาดไม่อยากทำอะไรอีกแล้ว แต่ก็ยังจำเป็นเดินหน้าต่อไปเพื่อลูกชาย ทุกครั้งที่ไปบิลลี่ก็ไม่ได้กลับมาบ้านด้วยสักครั้งทำให้ฉันหมดหวังและเสียใจมาก” แม่โพเราะจี รักจงเจริญ ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา 9 ปีที่บิลลี่ไม่ได้กลับบ้านอีกเลย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน 2566 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มดินสอสี ภาคี Save บางกลอย และเครือข่าย ได้จัดกิจกรรม “เส้นทาง ความหวัง ความยุติธรรม 9 ปี บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ยังไม่ได้กลับบ้าน” เพื่อเป็นการรำลึกถึงบิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือหลานชายของ “ปู่คออี้” ซึ่งบิลลี่ได้เรียกร้องในเรื่องสิทธิชุมชน โดยเฉพาะในประเด็นที่อยู่อาศัย หลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ทำการเผาบ้าน และไล่ชาวบ้านบางกลอยจากพื้นที่ใจแผ่นดินมาเป็นเวลาหลายปี
ในวันดังกล่าวเริ่มจากการพูดคุยกับ คุณเม ศิรษา บุญมา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานเรื่องความหลายหลายทางวัฒนธรรมโดยใช้เสียงและดนตรีเป็นสื่อกลาง ตามด้วยการฉายวิดิโอ Timeline จากปู่คออี้ ถึงบิลลี่ สู่ Save บางกลอย
การเสวนา ในหัวข้อ “เส้นทาง ความหวัง ความยุติธรรม 9 ปี บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ยังไม่ได้กลับบ้าน” ดำเนินรายการโดย วศินี พบูประภาพ ช่วงเวทีเสวนาเริ่มต้นขึ้นโดย พชร คำชำราญ กลุ่มภาคีเซฟบางกลอย บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของบางกลอย รากฐานของปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่การประกาศเขตอุทยานฯ ตลอดจนสะท้อนถึงภาพรวมปรากฏการณ์ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดในลักษณะเดียวกันกับพี่น้องชาติพันธุ์ในประเทศ มึนอ หรือ พิณนภาพฤกษาพรรณ ตัวแทนครอบครัวบิลลี่ เล่าถึงประสบการณ์และความรู้สึกที่ตนต้องเผชิญนับตั้งแต่การหายตัวไปของบิลลี่และความหวังว่าอยากเห็นความยุติธรรมให้แก่คนทุกคนอย่างเท่าเทียม ต่อมา ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ผู้ซึ่งเป็นทนายในคดีที่ชาวบ้านบางกลอย 28 คนถูกดำเนินคดี หลังชาวบ้านบางกลอยกว่า 80 คน ตัดสินใจเดินทางกลับใจแผ่นดินเมื่อปี 2564 ในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ที่กำลังระบาดรุนแรง
คดีนี้ปัจจุบันอยู่ชั้นพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี ที่ผ่านมาทนายความมีความพยายามยื่นคำร้องขอชะลอคดีและขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องโดยใช้มาตรา 21 เพื่อประโยชน์ของชุมชน เหตุนี้เป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการอิสระแก้ไขปัญหากะเหรี่ยงบางกลอย โดยอภินันท์ ธรรมเสนา ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร ได้อัพเดทถึงการทำงานของคณะกรรมการฯชุดดังกล่าว จากการดำเนินการของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ อภินันท์ยืนยันว่าคณะกรรมการฯได้ศึกษาประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงบางกลอยโดยละเอียดจากหลักฐานต่างๆ และได้ข้อสรุปว่าชุมชนบางกลอยเป็นชุมชนดั้งเดิมที่ได้อยู่อาศัยในบางกลอยบน-ใจแผ่นดินมาก่อนการประกาศอุทยานแห่งชาติปี 2524 ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีได้ลงนามเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ในการแก้ไขปัญหาชุมชนบางกลอย ทั้งนี้ต้องติดตามการดำเนินการตามข้อเสนออย่างใกล้ชิดต่อไป พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ทนายในคดีอุ้มฆ่าบิลลี่ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกรณีจากประเด็นปัญหาที่ยังคงรอความยุติธรรม คดีดังกล่าวใช้เวลากว่า 9 ปี กว่าจะสามารถนำจำเลยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ พรเพ็ญย้ำว่าคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดเช่นนี้จะต้องมีการนำเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ได้รับโทษตามสมควร ยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล และไม่ให้เกิดกรณีเช่นบิลลี่กับใครได้อีกต่อไป
กิจกรรมในภาคบ่ายปิดท้ายด้วยแถลงการณ์ จากภาคี Save บางกลอย ที่กล่าวถึงการละเมิดสิทธิโดยรัฐต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และย้ำถึงความฝันของของพี่น้องบางกลอย ที่ต้องการกลับไปดำเนินวิถีชีวิตที่ใจแผ่นดิน ก่อนจะจากกันไปด้วยคอนเสิร์ต “ขอเป็นนกพิราบขาว” ทีมีวงดนตรีต่าง ๆ มาร่วมแสดง ทั้ง ‘Stoondio’ พร้อมด้วยดนตรีชาติพันธุ์ ‘ชิ สุวิชาน & เจนนี่’ และ ‘Klee Bho’ รวมถึงครอบครัวดนตรี ‘คีตาญชลี’ และ ‘โฮปแฟมิลี่’ โดยรายได้จากคอนเสิร์ตจะมอบให้กับชาวบ้านบางกลอย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่ายภาคประชาสังคมขอขอบคุณพี่น้องบางกลอย วิทยากร และผู้เข้าร่วมงานทุกท่าน ที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงรับชมไลฟ์สดผ่านช่องทางออนไลน์ และมุ่งหวังว่าเราทุกคนจะเปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะได้เห็นความยุติธรรมกับพี่น้องบางกลอยได้ในที่สุด
โดยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดย้อนหลังได้ที่ : https://www.facebook.com/CrCF.Thailand/videos/195599829928646















