ใบแจ้งข่าว ศูนย์นิติศาสตร์ มธ. ยื่นความเห็นทางกฎหมายต่อศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลเลื่อน พรบ.ทรมานอุ้มหาย 4 มาตราขัดรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นความเห็นทางกฎหมาย (Amicus Curiae Brief) ต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 11/2566 ระบุว่าการออก พรก. เลื่อนการบังคับใช้มาตราของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จำนวน 4 มาตรา ขัดรัฐธรรมนูญ
หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญจะทำให้คณะรัฐมนตรีสามารถออกพระราชกำหนดที่มีผลบังคับเท่าพระราชบัญญัติได้ตามอำเภอใจ จะเป็นบรรทัดฐานที่ขัดหลักการระบบการตรวจสอบถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตย โดยศูนย์นิติศาสตร์ได้ยื่นความเห็นทางกฎหมายดังกล่าวนั้นเนื่องจากการร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายของเครือข่ายญาติผู้สูญหายและผู้ถูกซ้อมทรมาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ให้ออกพระราชกำหนดแก้ไขโดยเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22,23,24, และ 25 ไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร รัฐบาลจะต้องนำพรก.ฉบับนี้ให้รัฐสภาเพื่อพิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่โดยทันที โดยสภาผู้แทนราษฎร มีกำหนดพิจารณาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
ตามความเข้าใจของสาธารณะชนและสมาชิกสภาผู้แทนจำนวนมาก เห็นตรงกันว่า การออกพระราชกำหนดเลื่อนบังคับใช้มาตรา 22,23,24, และ 25 ซึ่งเป็นบทบัญญัติสำคัญของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ในการป้องกันการทรมานและการอุ้มหายนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ตามที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ที่ฝ่ายบริหารตราพระราชกำหนดได้ หากสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงที่สภาผู้แทนจะมีมติไม่รับรอง อันจะมีผลให้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวต้องตกไป
ดังนั้น ในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 สส.ของฝ่ายรัฐบาลจำนวน 1 ใน 5 ของจำนวนสส.ในวันดังกล่าวจึงได้อ้างอำนาจตามมาตรา 173 แห่งรัฐธรรมนูญ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การตราพระราชกำหนดฯ โดยรัฐบาลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย สส. รัฐบาลกลุ่มดังกล่าวนั้นกลับตั้งคำถามกับการกระทำของรัฐบาลเองว่า การตราพระราชกำหนดขัดด้วยบทบัญญัติมาตรา 172 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 รับเรื่องไว้เพื่อวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 วัน เป็นการตัดการใช้อำนาจตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารโดยรัฐสภา
ตามความเห็นทางกฎหมายของศูนย์นิติศาสตร์ บทบัญญัติของ 4 มาตราดังกล่าว เป็นมาตราป้องการทรมานและอุ้มหายให้กับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลื่อนการบังคับใช้ บทบัญญัติ 4 มาตรา โดยพระราชกำหนดของรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญยินยอมให้ฝ่ายบริหารยกเลิกมาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซี่งขัดต่อเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยทันที และจะเป็นบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการยินยอมให้คณะรัฐมนตรีตรากฎหมายที่มีผลบังคับเทียบเท่าพ.ร.บ.ได้ตามอำเภอใจ โดยไร้ซึ่งเหตุจำเป็น และไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และมีผลทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตัดอำนาจของรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบการออกพระราชกำหนดของรัฐบาล
นอกจากนี้ ศูนย์นิติศาสตร์ฯ ยังตั้งข้อสังเกตในบันทึกข้อกฎหมายด้วยอีกว่า การเลื่อนการใช้กฎหมายมาจากข้อเสนอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งว่าไม่พร้อมในเรื่องของอุปกรณ์คือกล้อง และการฝึกอบรม โดยเหตุผลไม่มีน้ำหนัก เนื่องจากมาตรา 2 ของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน เป็นระยะเวลาที่ได้มีการตกลงกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมีเวลาเตรียมความพร้อมซึ่งมากเพียงพอ หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่กลับไม่เร่งสั่งการเรื่องนี้ จนเวลาผ่านไปครบ 120 วัน จึงค่อยมีการแก้ไข ซึ่งหากมีความไม่พร้อมจริงก็ควรมีการแก้ไขก่อนที่จะมีการเกษียณไม่ใช่ยอมให้เลื่อนการบังคับใช้จนผบตร.คนปัจจุบันเกษียณอายุแล้วเช่นนี้ เท่ากับว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมายของตนเอง โดยปัดภาระไปวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ให้พ้นตัวเช่นนี้
“ทำไมผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ต้องขอคณะรัฐมนตรีให้เลื่อนพ.ร.ก.มาวันที่ 1 ตุลาคม 2566 โดย พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ จะเกษียณราชการวันที่ 30 กันยายน 2566 เท่ากับเป็นการโยนภาระไปให้ผู้บังคับบัญชาคนถัดไปหรือไม่ หรือถ้ามีเจตนาก็เท่ากับการปัดปัญหาให้พ้นตัวนั้นเอง”
ความเห็นทางกฎหมายต่อศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า “หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22,23,24, และ 25 ไม่มีบทลงโทษแต่อย่างใด จึงเท่ากับเป็นการยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบในการควบคุมตัวประชาชน อุ้มหาย หรือซ้อมทรมาน เฉกเฉ่นที่ทำอย่างเคยต่อไป ดังนั้นพ.ร.ก.ฉบับนี้จึงไม่ใช่กรณี ความปลอดภัยสาธารณะ แต่คือการเลื่อนออกไปของการบังคับใช้ต่างหากที่ทำให้ไม่ปลอดภัย”
การที่เลื่อนกฎหมายมาตรา 22 ถึง 25 ที่เป็นหัวใจสำคัญที่บังคับใช้ออกไป นั้น จึงเป็นการเพิ่มเวลาที่ประชาชนจะต้องถูกละเมิดถูกย่ำยีอย่างโหดร้ายออกไปได้ ดังนั้นคนที่เป็นเหยื่อและครอบครัวเหยื่อต้องทุกข์ทรมานอีกต่อไป แค่ช้าไป 1 นาที 1 ชั่วโมง ความทุกข์เดือดร้อนเป็นเช่นไร ความรู้สึกที่เกิดขึ้นถ้ามิใช่คนในครอบครัวใครจะไม่มีทางรับรู้ได้เลยว่ามันทรมานขนาดไหน” สมศักดิ์ ชื่นจิตร์ ตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายจากการทรมาน-อุ้มหาย
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
สมศักดิ์ ชื่นจิตร ตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายจากการทรมาน-อุ้มหาย
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม 065-979-3836
อนุชา สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน