พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน-อุ้มหาย พศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้วรวมทั้งหมดมี 43 มาตรา ยกเว้น 4 มาตรา นี้ที่ถูกเลื่อนออกไปบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ได้แก่
ม. 22 –บันทึกภาพและเสียงต่อเนื่องจนถึงปล่อยตัวหรือส่งตัวให้พนง.สอบสวน
ม. 23 – บันทึกรายงานการควบคุมตัวอย่างละเอียดป้องกันการทรมาน/คำสั่งการจับ/ชื่อจนท./สภาพร่างกาย-จิตใจก่อน-หลัง/สาเหตุการตายฯ/
ม. 24 – ผู้มีส่วนได้เสียขอข้อมูลการควบคุมตัวได้ หากปฏิเสธยื่นคำร้องต่อศาลได้
ม. 27 – ให้อำนาจศาลตรวจสอบการควบคุมตัว หากศาลไม่เปิดเผยต้องมีเหตุผล ละเมิดสิทธิส่วนตัว ก่อให้เกิดผลร้าย อุปสรรคการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา
ดังนั้นทำให้ปัจจุบันมีความผิดอาญาใหม่ 3 ฐานความผิดได้แก่ การทรมาน การปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม และการอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญาที่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ การริเริ่มคดีอาญาสามฐานความผิดใหม่นี้ต้องเริ่มต้นด้วยการแจ้งเหตุสงสัยว่ามีการกระทำผิดดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้
มาตรา 29 ระบุว่าผู้ใดพบเห็นหรือทราบการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้แจ้งพนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ชักช้า
ตามกฎหมายไทย เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้สูงสุด 48 ชม. ระหว่างนั้นผู้ต้องสงสัยควรได้รับสิทธิพบญาติ หาทนาย หรือพบแพทย์ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้รับสิทธินี้เสมอไป บางกรณีจับมาทำร้ายร่างกายเพื่อให้สารภาพก่อน แล้วค่อยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยอาจจะทำโดยไม่มีกฎหมายให้ทำได้ หรือทำโดยที่มีกฎหมายพิเศษให้อำนาจไว้
เช่น พรบ.ปราบปรามยาเสพติดให้อำนาจพิเศษกับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งควบคุมตัวบุคคลได้ 3 วันในสถานที่ใดก็ได้ พรบ.กฎอัยการศึกให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลได้ยาวนานถึง 7 วันโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาในค่ายทหารใดก็ได้หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ให้อำนาจควบคุมตัวได้สูงสุด 30 วันโดยไม่มีการแจ้งข้อหา เป็นต้น
พ.ร.บ. ทรมาน-อุ้มหายฉบับใหม่นี้บังคับใช้ในทุกสถานการณ์ ไม่อาจอ้างเหตุพิเศษใดใด ตามหลักการสากล ห้ามทรมานโดยเด็ดขาด (absolutely prohibition) ผู้กระทําผิดหรือผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ไม่อาจอ้าง “เหตุพฤติการณ์พิเศษ” เช่น ภาวะสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมือง สถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด มาเป็นเหตุให้ยกเว้นความผิดที่ได้กระทําการ “กระทําทรมาน”/ “กระทําการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ตามมาตรา 5 มาตรา 6 หรือ มาตรา 7
พ.ร.บ. ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย ฉบับเต็ม: https://crcfthailand.org/2022/11/03/prevention-and-suppression-of-torture-and-enforced-disappearance-act
ก่อนหน้านี้มีเรื่องร้องเรียนว่ามีการทรมานผู้ถูกจับ ผู้ถูกควบคุมตัว ผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย มากมายทั้งที่ปรากฎในหน้าสื่อมวลชน และต่อองค์กร ช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายหลายหน่วยงาน รวมทั้งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ข้อร้องเรียนต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่ากฎหมายพิเศษเหล่านี้อาจเป็นช่องว่างเอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิของผู้ที่ถูกควบคุมตัว ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา การกระทำที่จะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานทรมาน บังคับให้สารภาพ (ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูล คำรับสารภาพ จากผู้ถูกกระทำ หรือบุคคลที่สาม) หรือลงโทษผู้ถูกกระทำ หรือบุคคลที่สาม หรือข่มขู่ผู้ถูกกระทำ หรือบุคคลที่สาม หรือเลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด ก็อาจเกิดขึ้นได้ปัจจุบันนี้ การกระทำลักษณะนี้เป็นความผิดทางอาญาตามมาตรา 5 ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
รวมทั้ง มาตรา 6 การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ถึงขั้นการทรมาน ไม่ต้องมีเจตนาพิเศษ (เช่นไม่ต้องมีการบังคับให้สารภาพ) การทรมานแตกต่างกับการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือการทรมานต้องมีผลการกระทำอย่างร้ายแรงหรือสาหัส การทรมานต้องมีมูลเหตุจูงใจหรือเจตนาพิเศษ แต่การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ใช่การทรมาน ไม่ต้องมีเจตนาพิเศษ โดยมีผลทำให้ผู้ที่ถูกจับกุม ควบคุมตัวส่งผลตัวอย่างดังนี้
• ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
• ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์
• เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ ไม่ร้ายแรง ไม่สาหัส
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีข้อแนะนำดังนี้
1. ญาติหรือผู้เห็นการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกสามารถแจ้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการทรมานและการอุ้มหายได้ที่สำนักงานอัยการ ทุกจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส ตามหมายเลขโทรศัพท์ดังนี้
สอจ. สงขลา 074- 311- 057 , 074- 313- 722
สอจ. ปัตตานี 073- 349- 143
สอจ. ยะลา 073- 211- 181 , 073 -212- 011, 073- 212 -074 , 073- 215- 017
สอจ. นราธิวาส 073- 532 -032 , 073- 432 -037
2. ญาติหรือผู้เห็นการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกสามารถแจ้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการทรมาน และการอุ้มหายได้ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส
โดยสำนักงานอัยการสูงสุดและกรมการปกครองได้จัดทำแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายอย่างละเอียด ทั้งในเรื่องการตรวจสอบการจับกุม การรับแจ้งการจับ
การสืบสวนสอบสวนกรณีมีเรื่องร้องเรียนเรื่องการกระทำผิดตาม พรบ. ฉบับนี้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะถูกกระทำผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ แม้จะไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ผู้ร้องที่ร้องเรียนด้วยความสุจริตได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งอาญาและวินัย
ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทรมานฯ พ.ศ. 2566: https://crcfthailand.org/2023/03/21/regulations-of-the-attorney-generals-office-on-the-implementation-of-the-law-on-protection-2566