[:th]CrCF Logo[:]
รอมฎอน ปันจอร์

นิติสงครามและ สันติภาพก้าวหน้า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ โดย รอมฎอน ปันจอร์

Share

เมื่อวานมีโอกาสได้ตาม Zahri Ishak ไปฟังการสอบปากคำเขาในฐานะ #พยาน ของ DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษในคดีพิเศษที่ 306/2565 ที่สำนักงานใหม่ของ DSI ซอยหลังโรงแรมซีเอส ผมและเพื่อนสองสามคนได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมรับฟังด้วยในฐานะ #บุคคลที่ได้รับความไว้วางใจ จากพยาน หลังจากที่บ้านของเขาถูกเจ้าหน้าที่หลายสิบบุกค้นเมื่อช่วงเย็นวันก่อนหน้านั้นและยึดเอาคอมพิวเตอร์ไป 2 เครื่อง นับเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ได้ความรู้ใหม่หลายอย่างทีเดียวครับ ผมมีพันธะทางใจที่ต้องคอยเคี่ยวเข็ญ (และขู่เข็ญ) ให้เขาเขียนวิทยานิพนธ์ ป.โท ที่ทำกับ Institute for Peace Studies : สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา งานวิจัยที่เกี่ยวกับ #นักโทษการเมืองปาตานี ชิ้นนี้เพิ่งสอบเปิดเล่มไปไม่นานและเหลือเวลาสำหรับการเขียนอีกไม่มาก ผมเองเคยตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงต้องแน่ใจได้ว่าการเขียนงานในจังหวะสุดท้ายจะต้องไม่สะดุดหยุดลงด้วยสิ่งรบกวนอื่นใด โดยเฉพาะคดีความ

แม้ว่าจะเห็นโอกาสว่าหัวข้อนี้กับสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่น่าจะเป็นโอกาสในการเก็บข้อมูลจากสนามจริงก็ตาม! 555

อย่างไรก็ดี การสอบปากคำเช่นนี้เป็นประสบการณ์ใหม่และมีข้อสังเกต/สมมติฐานน่าสนใจจำนวนหนึ่งที่ควรค่าแก่การบันทึกและแบ่งปันให้กับทุกท่าน ด้วยเห็นว่าแนวโน้มของสถานการณ์ความขัดแย้งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ความพยายามจะแจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวหลังการชุมนุมใหญ่ใส่ชุดมลายูเมื่อกลางปีก่อนดำเนินมาตลอดระยะเวลาหลายเดือน ทว่ายังไม่สำเร็จ ในขณะที่การปิดล้อมตรวจค้นและปฏิบัติการสังหารโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่องคู่ขนานไปกับการพูดคุยเจรจาสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นลิดรอนบั่นทอน ในขณะที่ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพก็ถูกบอนไซเตะสกัด ข้อสังเกตข้างล่างนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบายของฝ่ายต่าง ๆ มิตรคนทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อนในพรรคการเมืองต่าง ๆ และพี่ ๆ ในหน่วยงานความมั่นคงที่ประสงค์จริงจังที่จะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน หรือแม้แต่คณะทำงานของผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซียและบรรดาเจ้าหน้าที่สถานทูตต่าง ๆ ทั้งนี้ ผมจงใจจะไม่ลงลึกในรายละเอียดของคดี เนื่องจากเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่และพยานที่ต้องดำเนินการไป แต่ตั้งใจจะชี้ให้เห็นนัยทางการเมืองและพลวัตของความขัดแย้งในภาพใหญ่ ในตอนท้ายจะชี้ให้เห็นว่าจากมุมมองของพรรคก้าวไกลแล้ว เราเห็นและเสนออะไร?

ผมเห็นอะไรบ้างจากการนั่งฟังกว่า 5 ชั่วโมงเมื่อวานนี้? ต้องบอกว่ามีความตึงเครียดอยู่ตลอดระยะเวลาการสอบปากคำ แม้จะมีการสนทนาตลกโปกฮากันบ้างระหว่างพยานและเพื่อนกับทีมของ DSI แต่ก็ถือเป็นการกลบเกลื่อนความซีเรียสจริงจังของคดีที่มีเลขรหัสว่า คพ.306/2565 การแย่งกันพูดแย่งกันถามเสียงดังลั่นห้องของทีม DSI นั้นมักสร้างความสับสนให้ผู้ตอบอยู่เป็นระยะ แต่บ่งชี้ว่าพวกเขาค่อนข้างจะเครียดเอาการทีเดียว พวกเขาเน้นย้ำอยู่หลายครั้งว่ากระบวนการที่ทำอยู่นั้นตรงไปตรงมาและชอบด้วยกฎหมาย (บางจังหวะถึงขั้นต้องพลิก พ.ร.บ.DSI อ่านออกเสียงให้ฟังอีกด้วย) ในขณะที่ทาง #พยาน เองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ระมัดระวังคำพูดที่จะพาดพิงถึงบุคคลอื่น แต่ก็แจกแจงข้อมูลให้เจ้าหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

เรื่องสำคัญที่สุดเห็นจะได้แก่โครงเรื่องใหญ่ของนิติสงคราม (lawfare) ครั้งนี้ ผมนั่งฟังคำถามและคำตอบที่ค่อย ๆ เผยออกแต่ละข้อออกมา ทำให้เห็นว่าภาพใหญ่ของโครงเรื่องทั้งหมดอย่างลาง ๆ ในความเห็นของผม (ซึ่งอาจจะผิดก็ได้นะครับ) จะเห็นการเชื่อมโยงระหว่างการระดมทุนของ #พ่อบ้านใจกล้า กิจกรรมอดิเรกในยามว่างของนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือในเชิงมนุษยธรรมต่อบรรดาภรรยา ลูก ๆ และญาติของผู้เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ กับการชุมนุมใหญ่ใส่ชุดมลายูในวันรายอปีกลาย ผ่านเส้นทางเงินบริจาคและบทบาทของผู้คนจำนวนหนึ่ง จุดเชื่อมโยงนี้ยังสัมพันธ์กับเหตุการณ์รวมตัวของญาติ ๆ และผู้คน ตลอดจนการถ่ายทอดสดกิจกรรมในพิธีศพของผู้ที่เสียชีวิตจากการปะทะจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งสำหรับชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าพวกเขาเป็น #ชะฮีด หรือ #มรณสักขี อันเป็นคอนเซ็ปหรือแนวคิดที่รบกวนระเบียบและมุมมองต่อการอ่านสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงสายเหยี่ยวเอามาก ๆ

สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย การชุมนุมใหญ่ครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงเฉลิมฉลองวันฮารีรายอและอยู่ในช่วงที่รัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นมีข้อตกลงหยุดยิง/หยุดปฏิบัติการทางทหาร เป็นห้วงขณะที่พิสูจน์ #คุณภาพ ของกระบวนการสันติภาพไปด้วย แต่ถูกเข้าใจในแวดวงหน่วยงานความมั่นคงจำนวนหนึ่งว่ากำลังท้าทายอำนาจรัฐ ที่ผ่านมามีความพยายามจะปั้นสำนวนเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีแกนนำและมี #ปฏิบัติการข่าวสาร#ไอโอ เพื่อ #ด้อยค่าแพร่มลทิน และทำลายความน่าเชื่อถือตลอด (ล่าสุดการบุกยึดคอมฯ เมื่อวานก็ถูกเพจของหน่วย ปจว.ของทหารหมวกแดงแพร่มลทินเข้าใส่ – ดูในภาพประกอบ) มีความพยายามเชื่อมโยงระหว่างการชุมนุมอย่างสันติกับปฏิบัติการใช้ความรุนแรงของกองกำลังบีอาร์เอ็นอย่างจงใจหลายอย่าง เมื่อวานนี้ก็ได้ฟังข้อกังวลใจของเจ้าหน้าที่ที่ตีความไปไกลถึงการเปิดเผยกองกำลังรุ่นใหม่ ความตระหนกตกใจและประเมินสถานการณ์เกินจริงเช่นนี้สะท้อนสภาวะ #ไม่มั่นคง#ไม่มั่นใจ ในอำนาจรัฐของเจ้าหน้าที่รัฐ (บางส่วน) ได้อย่างชัดเจน

ในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐขี้ตกใจกลุ่มนี้ อำนาจรัฐนั้นปวกเปียกและเปราะบางอย่างมาก จึงต้องใช้กำลังเข้ากดปราบ (โดยที่ไม่ได้ประเมินว่าจะยิ่งทำให้การยอมรับอำนาจรัฐในสายตาของประชาชนนั้นยิ่งปวกเปียกและเปราะบางมากยิ่งขึ้นไปอีก)

คดี คพ.306/2565 จึงอาจจะไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่เป็นความพยายาม #อีกครั้ง ที่จะเชื่อมร้อยเหตุการณ์ต่างกรรมต่างวาระเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน เป็น #พล็อตเรื่อง ที่สกัดยับยั้งการเคลื่อนไหวที่นัยทางการเมืองต่าง ๆ โดยกำราบปราบปรามบรรดาผู้นำเยาวชนและนักกิจกรรม ด้วยการใช้กฎหมายที่กดทับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ด้วยคาดหวังว่าหากกดหัวคนกลุ่มนี้ได้ จะสามารถสกัดยับยั้งสถานการณ์ที่ตนไม่ถึงปรารถนาหรือทึกทักเอาว่าจะเลวร้ายลงไปเกินควบคุม เจ้าหน้าที่ซึ่งมีความคิดตระหนกตกใจกลุ่มนี้คงเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นจะสามารถ #แก้ไข ปัญหาที่พวกเขามีภาระหน้าที่รับผิดชอบได้

ปัญหาก็คือสิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติทำตามหน้างานของพวกเขานั้น ขาดความสามารถในการเชื่อมโยงให้เห็นภาพใหญ่ของสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงในทางยุทธศาสตร์ การก้มหน้าก้มตามทำงานตามหน้างานและใช้อำนาจที่คิดว่าตนมีนั้นก็หวังอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายบางอย่างได้ แต่ก็ต้องภายใต้กรอบที่ถูกตีเส้นเอาไว้ โดยไม่ฉุกคิดนึกย้อนว่าสิ่งที่พวกเขากระทำนั้น จะกลายเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาและขัดขวางทิศทางของการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในภาพใหญ่ พวกเขาคงไม่ได้นึกว่าแทนที่จะแก้ปัญหาอย่างที่ตั้งใจ งานของพวกเขาเองต่างหากที่ทำให้เราไม่อาจคลี่คลายปมปัญหาความขัดแย้งไปได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไปแล้ว คดีความเหล่านี้จึงเป็นเรื่องการเมืองโดยตัวมันเอง หากรับมือมันด้วยวิสัยทัศน์ที่คับแคบและแยกส่วนกันเช่นนี้ ก็น่าคิดว่าหากสถานการณ์จะบานปลายและยืดเยื้อต่อไปในอนาคต จะมีใครต้องรับผิดชอบบ้าง

กรอบคิดและปฏิบัติการเช่นนี้จึงไม่ต่างกับการตักแกงจืดด้วยมีดคมเข้าปาก ยิ่งพยายามก็จะยิ่งบาดปาก ไม่ต่างกับตักแกงกะทิด้วยมือเปล่า เพราะในระยะยาวคงเหลือทิ้งไว้กินมื้อต่อไปได้ยาก เพราะแกงจะบูดเอา ดึงดันกินเข้าไปอีกก็ท้องเสีย

พูดอย่างนี้ จะว่ากล่าวพี่ ๆ ที่ทำงานอยู่หน้างานเสียทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะนี่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและข้อจำกัดในเชิงสถาบันของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของรัฐไทยเอง เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าพวกเขาคงต้องพยายามปั้นให้พล็อตเรื่องนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แม้จะมีความพยายามของฝ่ายตำรวจอยู่หลายเดือนเพื่อปั้นสำนวนและแจ้งความดำเนินคดี แต่จนแล้วจนรอด ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจไม่สั่งฟ้อง กระทั่งต้องถูกย้ายไป เป็นไปได้ว่าหวยร้อน ๆ นี้เลยต้องตกมาที่ DSI และหน่วยงานอื่น ๆ ที่จะต้องเดินไปในทิศทางนี้

น่าสนใจว่าที่ประชุม #คณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมือง (เรียกเล่น ๆ ย่อ ๆ ว่าคณะทำงานติดตามบิดเบือนฯ?) ที่ทางผู้อำนวยการ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า (แม่ทัพภาคที่ 4) ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้นมีส่วนมากน้อยเพียงไรต่อ #ยุทธการ ในครั้งนี้ ดูเหมือนว่า กอ.รมน. จะพยายามเว้นระยะห่างจากการใช้อำนาจทางตรงออกไป แต่ก็ผลักให้หน่วยข้างเคียงอย่าง DSI ต้องรับหน้าเสื่อ คงต้องสอบถามไปทาง พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ หัวหน้าคณะทำงานฯ (รองแม่ทัพฯ) ว่าแน่ใจมากน้อยเพียงใดว่าการเดินไปในทิศทางนี้จะนำไปสู่การลดความสูญเสียและคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างจริงจังครับ

สถานการณ์ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่น่าสนใจสองสามอย่างด้วย ด้านหนึ่งเรากำลังจะเข้าสู่เดือนรอมฎอน คงมีความกังวลใจว่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปีที่แล้วจะเกิดขึ้นอีกในปีนี้ จึงน่าจะต้องได้ข้อสรุปและมีการดำเนินการบางอย่างเพื่อสะกัดกั้น อีกด้านหนึ่ง เรากำลังอยู่ในช่วงที่กระบวนการสันติภาพมีความคืบหน้าอยู่บ้าง การช่วงชิงเพื่อกำหนดทิศทางหลักในการแก้ไขปัญหา #ไฟใต้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นจาก #ผลการเลือกตั้ง ที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าทิศทางในเชิงนโยบายของรัฐบาลไทยจะเปลี่ยนไปด้วย สำหรับเจ้าหน้าที่ขี้ตกใจในระดับปฏิบัติ การกำหนดเงื่อนไขบางอย่างให้คงทิศทางและทรัพยากรจึงเป็นสิ่งจำเป็น

หาก กอ.รมน. ประเมินสถานการณ์ได้เพียงแค่นี้และดำเนินการได้เพียงแค่นี้ นี่ก็อาจเป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วที่เราจำเป็นต้องจำกัดบทบาทของกองทัพและ กอ.รมน.ในการแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ของประเทศและเปิดโอกาสให้กับทิศทางและวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ ที่ก้าวหน้าและเปิดกว้าง ด้วยเหตุนี้ การยุบ กอ.รมน. จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคก้าวไกลสำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ สำหรับพรรคก้าวไกล องค์ประกอบสำคัญของ #สันติภาพก้าวหน้า คือการเปิดพื้นที่ในทางการเมืองให้ผู้คนได้ถกเถียงอภิปรายถึงทางเลือกต่าง ๆ ได้ โดยเชื่อว่าหากรัฐไทยจะ #เข้มแข็ง และ #มีความมั่นใจในอำนาจรัฐ จริง จะต้องไม่กดปราบปิดกั้นความคิดดเห็นของผู้คน สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรได้รับการเคารพยอมรับ แม้จากหน่วยงานความมั่นคงเอง การเจรจาสันติภาพจึงจะมีความหมายและมีน้ำหนักพอที่จะทำให้ผู้คนยอมยุติการใช้กำลังและหันมาต่อสู้กันในทางการเมืองและไม่ใช้ความรุนแรง

แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้ถือเป็นทิศทางที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันครับ แต่เราเชื่อว่ารัฐไทยและประชาคมปาตานีหาหนทางที่จะ #อยู่ร่วมกัน ได้ดีกว่านี้ เราสามารถสร้างอนาคตร่วมกันและส่งต่อให้ลูกหลานได้ดีกว่านี้ครับ ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองและความมุ่งมั่นจริงจังในทางการเมืองครับ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงสำคัญมากยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

#กาก้าวไกล#ประเทศไทยและปาตานีไม่เหมือนเดิม
#ลดความมั่งคั่งทางทหาร
#เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร
#สร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน
#สันติภาพก้าวหน้า

ผลิตโดย รอมฎอน ปันจอร์
248/2 ถ.พิพิธภักดี ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา 95000
จำนวน 1 โพสต์ ตามเวลาที่ปรากฎ