[:th]CrCF Logo[:]

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ จ.ชายแดนใต้ ในบริบทการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566

Share

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่อง สิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในบริบทของการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2566 โดย สมัชชาประชาชนเพื่อสันติภาพ – CAP, องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี – HAP, เครือข่ายสตรีปกป้องสิทธิมนุษยชน – JAWANI, เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฏหมายพิเศษ – JASAD, องค์กร The Patani, องค์กรผู้หญิง Perwani, กลุ่มด้วยใจ – Duayjai Group, มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม – Muslim Attorney Centre Foundation (MAC), เครือข่ายไทยพุทธเพื่อสันติภาพ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

รวบรวมจากการเสวนา เรื่อง “การเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2566 และสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ณ ห้องโถงสถาบันวิจัยทางสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเลือกตั้ง
ข้อกังวล
เสรีภาพในการนำเสนอนโยบาย และการถกเถียงนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายที่รัฐมองว่าละเอียดอ่อน เช่น แนวคิดในการบริหารจัดการตนเอง ยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ การรวมตัวกันของปีกการเมืองของกลุ่มเห็นต่างยังไม่สามารถเกิดขึ้นเป็นพรรคการเมืองเพื่อดำเนินกิจกรรมได้ ต่างกับ เช่น ที่เกิดในแคว้นบาสก์ ประเทศสเปน ที่ส่งผลให้การใช้ความรุนแรงลดลง

ข้อเสนอแนะ
เจ้าหน้าที่รัฐ
● รับรองความปลอดภัยในการไปลงคะแนนเสียง หรือความมั่นใจของผู้สมัครเลือกตั้งได้หาเสียงได้อย่างเสรี ไม่รู้สึกถูกข่มขู่คุกคาม
● ประกันเสรีภาพทางการเมืองและการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมือง
● ประกันความเท่าเทียมในการลงเป็นผู้สมัครการเลือกตั้ง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ กีดกัน เช่น เพศสภาพ ชาติพันธุ์ ฐานะทางเศรษฐกิจ

UN และหน่วยงานระหว่างและต่างประเทศ
● สังเกตการณ์เลือกตั้งในพื้นที่
● สนับสนุนให้สิทธิในการตรวจสอบความผิดปกติของกระบวนการเลือกตั้งโดยประชาชนทั่วไปได้รับการ
คุ้มครอง

กระบวนการสันติภาพ
ข้อกังวล
ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนไม่ถูกหยิบยกมาพูดคุยในเวทีเจรจา กรอบการเจรจาของทั้งสองฝ่ายไม่ชัดเจน ทำให้ชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ไม่รู้ถึงสารัตถะของการพูดคุย อีกทั้งมีการปิดล้อม ตรวจค้น ระหว่างการพูดคุยซึ่งบ่อนทำลายบรรยากาศความไว้วางใจ

ข้อเสนอแนะ
เจ้าหน้าที่รัฐและตัวแทนคู่เจรจาทุกฝ่าย
● หยิบยกประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นหนึ่งในประเด็นการเจรจา
● เพิ่มการสื่อสารแก่ประชาชนโดยไม่มีการชี้นำ
● สร้างความเท่าเทียมในการมีส่วนร่วมในการเจรจาโดยทุกฝ่าย รวมถึงนักกิจกรรมการเมือง และภาคประชาสังคม
● ผลักดันให้กระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ
● สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย โดยรวมถึงการยกเลิกกฎหมายพิเศษ และพิจารณานิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและผู้ต้องขังคดีความมั่นคง

รัฐสภา
● เข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยด้วยผ่านการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาปัญหาความขัดแย้ง
● ผู้เจรจาต้องมีการรับรองความปลอดภัยจากกลไกรัฐสภา
● พิจารณาออกพ.ร.บ.การสร้างสันติภาพ

UN และหน่วยงานระหว่างและต่างประเทศ
● ส่งผู้สังเกตุการณ์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล
● สนับสนุนให้ผนวกประเด็นสิทธิมนุษยชนในการเจรจาสันติภาพ

กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ข้อกังวล
การใช้กฏหมายพิเศษในพื้นที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในการตรวจค้น ควบคุมตัว ทั้งมีการจับกุมโดยไม่เคยพาผู้ถูกควบคุมตัวไปศาล ซึ่งอาจยาวนานถึง 37 วัน มีรายงานการนำพลเรือนไปช่วยนำค้นเสมือนเป็นโล่มนุษย์ การยึดทรัพย์สิน เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์ทำมาหากิน โทรศัพท์ ข้าวของส่วนตัว ในขณะที่เจ้าหน้าที่ได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับโทษ เพราะมีข้อยกเว้นในม. 16 กฏอัยการศึกหรือม. 17 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

ในกระบวนการยุติธรรม มีการใช้พยานบอกเล่าที่ได้มาในระหว่างการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในค่ายทหาร รวมถึงพยานซักทอด ประกอบการพิจารณาคดี มีรายงานการถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว หรือการใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวค่อนข้างสูงในคดีความมั่นคง ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เพราะการแทรกแซงผ่านการตรวจดูสำนวนโดยผู้บังคับบัญชา และการพิจารณาคดีที่ล่าช้าทำให้จำเลยต้องอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานาน และแม้จะถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดก็ไม่ได้ค่าชดเชยจาก พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผเู้สียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา

ข้อเสนอแนะ
เจ้าหน้าที่รัฐ
● ยุติการขยายระยะเวลาการประกาศกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และใช้กฎหมายอาญาทั่วไปในพื้นที่
● ยุติการใช้โล่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง และผู้นำชุมชน ไปค้นจุดต้องสงสัยโดยไม่มีเครื่องป้องกัน
● ยุติการยึดทรัพย์สินของผู้ต้องสงสัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี และส่งมอบทรัพย์สินคืนเมื่อเก็บรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้น

รัฐสภา
● พิจารณาแก้ไขกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯให้สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน
● กำหนดให้การขยายระยะเวลาการประกาศใช้กฎหมายพิเศษต้องมีการพิจารณาอนุมัติโดยรัฐสภา
● แก้ไขมาตรา 226/1 ยุติการรับฟังพยานบอกเล่าที่ได้จากการซักถามในค่ายทหาร
● แก้ไข พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ให้จำเลยที่ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดได้รับการเยียวยา

กระบวนการยุติธรรม
● ประกันสิทธิในการประกันตัว การกำหนดหลักประกันเป็นไปตามหลักวิชาการและหลักสิทธิมนุษยชน
● ยุติการใช้พยานบอกเล่าที่ได้มาในระหว่างการควบคุมตัวในค่ายทหาร รวมถึงพยานซักทอด
● ยุติการตรวจร่างคำพิพากษา ประกันความเป็นอิสระของตุลาการ
● ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่ล่าช้า
● ตรวจสอบให้การอายัดตัวของพนักงานสอบสวนต้องไม่มีความสับสน

UN และ หน่วยงานระหว่างและต่างประเทศ
● ให้การช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยรวมถึงองค์ความรู้ด้านกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ
● สังเกตการณ์การพิจารณาคดีในศาล

การควบคุมตัว การทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม

ข้อกังวล
มีรายงานการจับกุมและควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษโดยไม่เคยพาผู้ถูกควบคุมตัวไปศาลจำนวนมาก ซึ่งอาจยาวนานถึง 37 วัน รวมถึงการกันตัวบุคคลไว้เป็นพยานในค่ายทหารโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา มีรายงานการทรมานและการกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แก่ผู้ถูกริดรอนเสรีภาพเหล่านี้ เช่น การให้ยืนเป็นระยะเวลานานในห้องที่อุณหภูมิเย็นจัด การทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ คุกคาม การจับกุมคนใกล้ชิด

นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิสามัญฆาตกรรมจำนวนมากในช่วงสองปีมานี้ โดยเกิดเหตุในชุมชนเป็นส่วนใหญ่ และพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้อง ทั้งเด็ก สตรีและ คนชรา ตกอยู่ในวงล้อม มีรายงานการวิสามัญก่อนการเจรจาโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของพลเรือน อีกทั้งรายงานการนำทหารจำนวนมากไปปิดล้อมในยามวิกาลโดยเกินกว่าเหตุ

ข้อเสนอแนะ
เจ้าหน้าที่รัฐ
● ยุติการจับกุมและควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ รวมถึงการกันตัวบุคคลไว้เป็นพยานในค่ายทหารโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา โดยดำเนินการตามกฎหมายอาญาทั่วไป ผ่านการทบทวนโดยศาล
● ผู้ถูกควบคุมตัวต้องสามารถพบทนายความ และบุคคลที่ตนไว้วางใจได้ทันที อนุญาติให้ผู้ถูกควบคุมตัวพบปะญาติโดยลำพัง ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารที่พกอาวุธครบมือ
● ยุติการทรมานและการกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
● ยุติการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม กันพลเรือนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ ปฏิบัติการโดยเคารพหลักการใช้กำลังและอาวุธปืนของสหประชาชาติ และหลักสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ อีกทั้งทำการเจรจาก่อนที่จะปฏิบัติการเสมอ
● มีการนำกล้องแบบต่าง ๆ มาใช้ในการปฏิบัติการ ปรับปรุงกล้องวงจรปิดในห้องซักถามและห้องสอบสวนให้สามารถบันทึกได้ยาวขึ้นและมีความต่อเนื่อง

กองกำลังติดอาวุธ
● ยุติการโจมตีที่อาจส่งผลต่อพลเรือนและการใช้อาวุธที่ต้องห้าม เช่น กับระเบิดแบบเหยียบ หรือ Car Bomb ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง

รัฐสภา
● ผลักดันให้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายมีผลบังคับใช้ทุกมาตราโดยเร็ว
● ทบทวนกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับหลักการใช้กำลังและอาวุธปืน และแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

กระบวนการยุติธรรม
● เรียกผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลและพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมตัวในทุกกรณี

UN และ หน่วยงานระหว่างและต่างประเทศ
● เก็บรวบรวมข้อมูลการควบคุมตัวโดยมิชอบ การทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม
● เข้าเยี่ยมสถานที่คุมขังหรือสถานที่ควบคุมตัว

เสรีภาพในการแสดงออก ชุมนุม และความเป็นส่วนตัว
ข้อกังวล
สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก พูดคุย ถูกปิด ไม่เปิดกว้าง ไม่สอดคล้องกับบรรยากาศของการเจรจากระบวนการที่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหา การดำเนินกิจกรรมภาคประชาสังคมเองก็ถูกจำกัด มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อจับจ้องกิจกรรมภาคประชาสังคมและการนำเสนอประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อีกทั้งมีการควบคุมสื่อมวลชนในพื้นที่อย่างเข้มงวด
มีรายงานว่าประชาชน รวมถึงเด็กเล็ก ถูกเก็บดีเอ็นเออย่างกว้างขวางโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เป็นการเลือกปฏิบัติกับชาวมลายูมุสลิม และไม่ได้รับการยินยอมอย่างแท้จริง มีการเก็บข้อมูลใบหน้าผ่านการให้ประชาชนต้องลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยข้อมูลใบหน้า ขัดแย้งกับสิทธิความเป็นส่วนตัว

ข้อเสนอแนะ
เจ้าหน้าที่รัฐ

● ยุติการคุกคามผู้ใช้เสรีภาพแสดงออกและชุมนุมโดยสงบในทุกรูปแบบ
● คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการถูกคุกคาม เช่น การไปเยี่ยมที่บ้านและระหว่างการทำงานในพื้นที่ อีกทั้งยุติการปรักปรำนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ
● ทำลายตัวอย่างดีเอ็นเอที่เก็บมาโดยมิชอบ โดยไม่ได้รับการยินยอมอย่างแท้จริง และสร้างแนวทางการเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยคำนึงถึงหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
● ยกเลิกการเก็บข้อมูลใบหน้าผ่านการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์สองแช๊ะและการสแกนหน้า

รัฐสภา
● ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ใช้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบ ได้แก่ พ.ร.บ. ชุมนุม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 112 และ 116 ของประมวลกฎหมายอาญา

กระบวนการยุติธรรม
● ตำรวจ อัยการจและศาลต้องยุติการดำเนินคดีเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ
● ยุติการใช้หลักฐานทางดีเอ็นเอที่เก็บมาโดยมิชอบตามกฎหมายในกระบวนการพิจารณาคดี
● กำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลในกรณีดีเอ็นเอและการเก็บข้อมูลใบหน้าในกระบวนการพิจารณาคดี

UN และ หน่วยงานระหว่างและต่างประเทศ
● เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้พูดคุยเรื่องสถานการณ์ในพื้นที่และแสดงอัตลักษณ์ของตนอย่างเสรี
● ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่ออบรมเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงหน่วยงานความมั่นคง เรื่องมาตรฐานเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลดีเอ็นเอและการเก็บข้อมูลใบหน้า
● สนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคมที่ถูกข่มขู่ คุกคาม จากการปฏิบัติงานดังกล่าว

สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ข้อกังวล
ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และไม่ได้รับการปรึกษาหารืออย่างแท้จริงเมื่อมีโครงการพัฒนาในพื้นที่

ข้อเสนอแนะ
เจ้าหน้าที่รัฐ

● เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม และสามารถเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
● จัดสรรสวัสดิการแก่ชาวจังหวัดชายแดนใต้ในการเดินทางมาทำงานนอกพื้นที่ รวมถึงการทำงานที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานและลดการทำงานอย่างผิดกฎหมาย
● รับรองสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม รวมถึงในกรณีของชุมนุมที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา

ผู้หญิง เด็ก ชาวไทยพุทธ และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ
ข้อกังวล

ผู้หญิงและชาวไทยพุทธในพื้นที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างจำกัด ไม่มีผู้หญิงอยู่บนเวทีการเจรจา สถานการณ์ความรุนแรงยังทำให้เกิดหญิงม่ายและแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมาก รวมถึงกรณีหญิงม่ายและแม่เลี้ยงเดี่ยวที่สามีต้องลี้ภัยหรือถูกจองจำ ส่งผลต่อโครงสร้างสังคมโดยรวม มีกรณีผู้หญิงถูกละเมิดสิทธิ และถูกดำเนินคดีเพราะเป็นผู้ใกล้ชิดหรือให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องสงสัยมากขึ้น และข้อกล่าวหาที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ครอบครองระเบิดหรือมีอาวุธร้ายแรง และไม่ได้รับการประกันตัว เด็กในพื้นที่จำนวนมากต้องเติบโตท่ามกลางความรุนแรง การเยียวยามักไม่ต่อเนื่องและไม่ครอบคลุม

กลุ่มชุมชนชาวพุทธรู้สึกไม่ปลอดภัย ตกเป็นเหยื่อจากการถูกเอาคืน นักการเมืองไม่เคยลงพื้นที่ในชุมชนชาวพุทธ และไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนการทำงานจากแหล่งทุน

ข้อเสนอแนะ
เจ้าหน้าที่รัฐ
● มีสัดส่วนของผู้หญิงบนโต๊ะการเจรจาสันติภาพ หยิบยกประเด็นเรื่องเพศ (gender) ขึ้นในเวทีเจรจา
● สนับสนุนการมีส่วนร่วมของกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่ม ในกระบวนการต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการสันติภาพ
● สนับสนุนความเท่าเทียมในพื้นที่ ให้การคุ้มครองและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ
● สนับสนุนกระบวนการเยียวยาที่ต่อเนื่อง เท่าเทียม และครอบคลุมทุกมิติ โดยรวมถึงผลกระทบทางด้านสังคมและจิตใจ (social-psychosocial support)

กระบวนการยุติธรรม
● ยุติการดำเนินคดีต่อผู้หญิงเหตุเพราะเป็นผู้ใกล้ชิดและให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องสงสัย

UN และ หน่วยงานระหว่าง และต่างประเทศ
● ผลักดันการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนควบคู่กับงานพัฒนา โดยให้การสนับสนุนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
● ผลักดันแผน UN 1325 ที่ให้คำมั่นสัญญา การรับรองสิทธิสตรีและรับรองการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [293.15 KB]