ความหมายของการทรมาน โหดร้าย และอุ้มหายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และความรับผิดทางอาญา โดย รณกรณ์ บุญมี (บทความนี้เผยแพร่ในเฟสบุ๊ก Ronnakorn Bunmee วันที่ 1 มีนาคม 2566)
เนื่องด้วยช่วงนี้ต้องไปบรรยายให้ตำรวจ และทหารทั้งในหลักสูตรสารวัตร ผู้กำกับ และหน่วยงานต่างๆ ตามภูมิภาค เพราะกฎหมายเริ่มใช้บังคับแล้ว จึงน่าจะดีหากนักกฎหมายทั่วๆไป หรือผู้บังคับใช้กฎหมายคนอื่นๆ ได้เข้าใจความหมายของการทรมาน โหดร้าย และอุ้มหายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 กันให้ถูกต้อง
ตาม พรบ. นี้มีการกำหนดฐานความผิดขึ้นใหม่ 3 ฐานความผิดครอบคลุมการกระทำ 4 ลักษณะ ซึ่งแต่เดิมการกระทำที่ถูกลงโทษตามกฎหมายนี้ก็เป็นความผิดอาญาอยู่แล้ว เพียงแต่อาจยังมีบทลงโทษไม่เหมาะสม หรือมีการพิสูจน์ความผิดที่ยากจึงมีการกำหนดความผิดขึ้นมาเฉพาะให้ชัดเจนคือความผิดฐานกระทำทรมาน (มาตรา 5), ฐานกระทำการที่โหดร้ายฯ (มาตรา 6) และการกระทำให้บุคคลสูญหาย (มาตรา 7) ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
1. ฐานกระทำทรมาน ความผิดฐานนี้กำหนดองค์ประกอบไว้ 4 ข้อคือ
1.1 ผู้กระทำ: ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคำว่าเจ้าหน้าที่รัฐนี้มีการกำหนดนิยามไว้ว่าหมายถึง บุคคลซึ่ง (1) ใช้อำนาจรัฐ หรือ (2) ได้รับมอบอำนาจหรือได้รับการแต่งตั้ง อนุญาต สนับสนุน หรือยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยายจากผู้มีอำนาจรัฐให้ดำเนินการตามกฎหมาย
โดยขอบเขตของความหมายนี้จึงกว้างกว่า “เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นคนละคำกับคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามกฎหมาย ปปช เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พรบ ทรมาน นี้ ยังหมายความรวมถึงคนธรรมดาที่ผู้มีอำนาจรัฐมอบหมายหรือยอมรับให้ไปกระทำการต่างๆ เช่นพวกบรรดาอาสาสมัคร กลุ่มบุุคคลต่างๆ หรือหัวหน้านักเรียนที่ครูมอบหมายไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยายให้ดูแลนักเรียนด้วยกัน
1.2 การกระทำ: กระทำด้วยประการให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกาย หรือจิตใจ
โฟกัสขององค์ประกอบนี้คือคำว่า “อย่างร้ายแรง” ซึ่งไม่จำเป็นต้องถึงขั้นอันตรายสาหัส อย่างขาขาด แขนขาด ตาบอด แต่หมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดผลอย่างร้ายแรงก็เพียงพอที่จะครบองค์ประกอบเป็นการทรมานได้ แต่ถ้ายังไม่ร้ายแรงเพียงพอก็จะเป็นเพียงการกระทำที่โหดร้ายฯตามมาตรา 6 เท่านั้น ไม่ถึงขั้นมาตรา 5 ที่โทษสูงกว่ามาก
เพื่อจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ จะขอยกตัวอย่าต่างประเทศศาลได้เคยวินิจฉัยไว้บ้างแล้ว อย่างไรก็ตามพึงระลึกว่าคดีต่างประเทศเป็นแค่แนวทาง ศาลไทยอาจไม่ยึดตามนี้ และผลที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปตามสุขภาพ เพศ อายุ ฯลฯ ของผู้ถูกกระทำ ดังนั้นการกระทำบางอย่างที่ต่างประเทศบอกว่าไม่ร้ายแรงเพียงพอ อาจถือว่าร้ายแรงตามกฎหมายไทยได้ โดยเฉพาะเมื่อกระทำกับเด็ก คนแก่ หรือคนป่วยเป็นต้น ตัวอย่างในต่างประเทศที่น่าสนใจมีดังนี้
1.2.1. การบังคับให้ไม่นอน
– ต่อเนื่อง 2 วัน 19 ชั่วโมง ยังไม่ถือว่าร้ายแรง (ผิดมาตรา 6)
– ต่อเนื่อง 8 วัน ถือว่าร้ายแรง เป็นการทรมาน
1.2.2. การทุบตี
– โดยทั่วไป เพียงการทุบตีครั้งสองครั้ง ถือว่าไม่ร้ายแรง (ผิดมาตรา 6) แต่
– การฟาดเท้าให้แตก ถือว่าร้ายแรง เป็นการทรมาน
– หักข้อต่อจนแขนเป็นอัมพฤกษ์ถือว่าร้ายแรง เป็นการทรมาน
– ทุบตีต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง ไม่ว่าจะเกิดรอยแผลหรือไม่ ถือว่าร้ายแรง เป็นการทรมาน
– ทุบตีด้วยไม้กระบอง จนต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ทำงานไม่ได้ 40 วัน แขนและขาข้างขวาอ่อนแรงตลอดชีวิต ถือว่าร้ายแรง เป็นการทรมาน
1.2.3. การเอาถุงคลุม
– คลุมตลอดการสอบสวน ถือว่าไม่ร้ายแรง (ผิดมาตรา 6)
– คลุมหัว ทุบตี บังคับให้เปลือยกาย สวนทวารโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ถือว่าร้ายแรง เป็นการทรมาน
1.2.4. บังคับให้ฟังเสียงดังเป็นเวลานาน ถือว่ายังไม่ร้ายแรง (ผิดมาตรา 6)
1.2.5. ข่มขู่
– ข่มขู่ว่าจะทำร้าย จะใช้ยากล่อมประสาท ถือว่ายังไม่ร้ายแรง (ผิดมาตรา 6)
– ข่มขู่ว่าจะฆ่า จะข่มขืน ถือว่าร้ายแรง
เห็นได้ว่าจะถึงขั้นกระทำทรมานตามมาตรา 5 มันต้องมีความร้ายแรงของผลของการกระทำที่เกิดกับร่างกายหรือจิตใจ โดยคำว่าจิตใจนี้ไม่ได้หมายถึงเพียงระบบประสาทเหมือนเช่นมาตรา 295 แต่หมายถึงรวมอารมณ์ความรู้สึก ความหวาดกลัวด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ว่รายังไม่ร้ายแรงเพียงพอเป็นการทรมาน แต่ถ้ามีการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจจะเป็นการกระทำที่โหดร้ายตามมาตรา 6 ได้
1.3 เจตนาพิเศษ (ข้อมูล/ลงโทษ/ข่มขู่/เลือกปฏิบัติ) การกระทำที่เป็นการทรมานต้องได้ทำไปเพื่อเหตุผลข้อหนึ่งข้อใดดังต่อไปนี้
1.3.1 แสวงหาข้อมูล คำรับสารภาพ เช่นกรณีผู้กำกับโจ้ทรมานผู้ต้องหา เพื่อให้บอกที่อยู่ของยาเสพติด พล.ต.ต. ท่านหนึ่งทรมานผู้ต้องหา เพื่อให้บอกว่าใครจ้างวานมากระทำผิด
1.3.2 ลงโทษ เช่นพัสดีลงโทษนักโทษ หรือครูฝึกลงโทษทหารเกณฑ์เป็นต้น ทั้งนี้ถ้าเป็นการลงโทษภายใต้กฎหมาย เช่นการธำรงวินัยตามกฎหมาย แบบนี้ไม่ผิด แต่ถ้าทำนอกกฎหมายคิดวิธีขึ้นมาเอง หรือทำเกินสัดส่วน เช่นให้ดื่มน้ำจนตาย ให้ว่ายน้ำจนจมน้ำตาย อย่างนี้ผิดได้
1.3.3 ข่มขู่
1.3.4 เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าเพราะเป็นคนกลุ่มน้อย เพศ ศาสนา หรือเหตุอื่นๆ
ถ้าทำไปโดยไม่มีเหตุตามนี้ เช่นทำไปเพราะความเครียด จากการปฏิบัติงานคุมอารมณ์ไม่อยู่ ไม่ได้แสวงหาข้อมูล ลงโทษ ข่มขู่ แบบนี้จะเป็นมาตรา 6 (หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นๆ) โดยไม่เป็นการกระทำทรมานตามมาตรา 5
1.4 เจตนา การกระทำทรมานต้องเป็นการกระทำที่ทำไปโดยเจตนาประสงค์ให้เกิดผล หรือเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลที่ร้ายแรง ไม่ใช่เพียงกระทำโดยประมาท
2. การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เราอาจใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษเรียกการกระทำตามมาตรา 6 นี้ว่า CIDT = cruel inhuman degrading treatment (การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี) ตาม พรบ และตัวอนุาัญญาไม่ได้ไม่ได้กำหนดนิยาม ทั้งสามคำนี้แต่อย่างใดและแต่ละประเทศก็ตีความเรื่องนี้แตกต่างกัน แต่พออธิบายได้ว่ามาตรา 6 มีการกระทำสองลักษณะคือ
2.1 “โหดร้าย” กับ“ไร้มนุษยธรรม”: ศาลต่างประเทศใช้สลับที่กันไปมาในลักษณะแทนที่กันได้ โดยมักอธิบายว่าคือการกระทำที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานต่อร่างกายหรือจิตใจในระดับหนึ่งแก่ผู้ถูกกระทำ เช่นการยังคับอดนอน การบังคับอดอาหาร การทุบตีที่ไม่ร้ายแรง
2.2 การกระทำที่เป็นการ “ย่ำยีศักดิ์ศรี” คือการเหยียดหยาม การทำให้ไร้ศักดิ์ศรี ไม่เคารพ ทำให้เกิดความรู้สึกด้อยค่ากว่า ต่ำกว่า เช่นการให้อยู่ในเรือนจำที่สกปรก แออัดในพื้นที่ขนาดเล็ก การให้ใส่กางเกงในยืนโชว์ต่อหน้าเพื่อทหารเพื่อลงโทษ นักโทษที่เป็นคนพิการถูกขังไว้ในห้องขังที่หนาวเย็น เตียงสูงเกินไปไม่สามารถขึ้นไปได้ หรือไม่สามารถไปห้องน้ำได้ บังคับโกนผมนักโทษโดยไม่มีเหตุผล ยึดแว่นตาของนักโทษโดยไม่มีเหตุผล จับนักโทษชายเปลือยกายค้นตัวต่อหน้าผู้คุมหญิง และใช้มือส่งอาหารให้โดยไม่ใส่ถุงมือ เป็นต้น
การทรมานและ CIDT สัมพันธ์กันแบบ hierarchy กล่าวคือถ้าเป็นการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกาย หรือเหยียดหยามทั่วๆ ไป ถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 6 แต่ถ้าทำไปเพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนด และมีผลร้ายแรงก็จะเป็นความผิดที่ฉกรรจ์มากขึ้น คือการทรมานตามมาตรา 5 โดยอาจเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างได้ดังนี้
– มาตรา 5 และมาตรา 6 เหมือนกันตรงที่ทั้งทรมานและ CIDT ต้องกระทำ โดยเจตนา และต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามีส่วนเกี่ยวข้อง
– มาตรา 5 และมาตรา 6 ต่างกันตรงที่ขณะที่ทรมานต้องก่อให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน“อย่างร้ายแรง” แต่ CIDT เพียงแค่เจ็บปวดทุกข์ทรมาน หรือเพียงอับอายหยามศักดิ์ศรีก็พอ นอกจากนั้นการทรมานต้องกระทำ โดยมีเจตนาพิเศษที่กำหนด”(investigation, punishment, intimidation, หรือ discrimination) แต่ CIDT อาจทำเพราะเรื่องส่วนตัว หรือมีมูลเหตุชักจูงใจอื่นๆ ก็ได้
3. การกระทำให้บุคคลสูญหาย (มาตรา 7) นอกจากการทรมาน และโหดร้ายซึ่งเป็นความผิดตามอนุสัญญา CAT แล้ว พรบ ฉบับนี้ยังกำหนดความผิดฐานอุ้มหาย หรือที่เรียกเป็นทางการว่าการกระทำให้บุคคลสูญหายตามอนุสัญญา CED ด้วย
การกระทำความผิดตามมาตรา 7 มี ได้ 2 กรณี
3.1 การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุม กักขัง ลักพาตัว แล้วปฏิเสธการกระทำนั้น หรือ
3.2 การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุม กักขัง ลักพาตัว แล้วปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่บุคคลนั้น
ทั้งสองการกระทำจะเป็นความผิดได้ก็ต่อเมื่อกระทำแล้วส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย กล่าวคือทำให้ศาลไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของการจับกุม คุมขัง หรือจำกัดเสรีภาพนั้นได้ เพราะศาลถูกปกปิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐว่ารัฐไม่ได้มีตัวบุคคลดังกล่าวไว้ในการควบคุม ดังนั้นถ้าการปกปิดนั้นทำไปเพื่อคุ้มครองพยาน (คือศาลรู้ แต่ประชาชนไม่รู้) แบบนี้จะไม่เป็นความผิดตามมาตรา 7
การกระทำความผิดตามมาตรา 7 นี้ผิดทันทีที่มีการปกปิดชะตากรรม คือโกหกเมื่อไหร่ผิดสำเร็จทันที แม้ในวันรุ่งขึ้นจะปล่อยตัวก็ตาม ไม่จำเป็นต้องอุ้มหายไปเลย และไม่จำเป็นต้องอุ้มหายไปเป็นระยะเวลานาน แต่ประการใด
ความรับผิดทางอาญา (Modes of Liability)
นอกจากการกระทำความผิดตามมาตรา 5 (จำคุก 5-15 ปี ++), มาตรา 6 (จำคุก 3 ปี ++) และมาตรา 7 (จำคุก 5-15 ปี ++) แล้ว พรบนี้ยังกำหนดความรับผิดทางอาญาไว้แตกต่างจากความรับผิดทางอาญาทั่วๆ ไปที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้
1. การสมคบเป็นความผิด เดิมในประมวลกฎหมายอาญา การที่คนเราสมคบจะไปกระทำความผิดในอนาคตก็ต่อเมื่อเป็นการตกลงกันของคน 5 คนขึ้นไป แต่ พรบ นี้ลงโทษคน 2 คนที่ตกลงกันว่าจะไปทรมาน โหดร้าย หรืออุ้มหาย ทันทีที่ตกลงกัน (เหมือน ป.ยาเสพติด) แม้ความผิดจะไม่ได้กระทำลง นอกจากนั้นหากความผิดได้กระทำลงโดยผู้ร่วมสมคบ แม้เราจะไม่ได้ทำเอง เราก็ต้องรับผิดเสมือนเราไปทำเอง
2. ผู้สนับสนุนเดิมรับผิดเพียง 2/3 แต่ตาม พรบ นี้รับผิดเท่าตัวการ
3. อย่างไรก็ตาม พรบ นี้กำหนดเหตุลดโทษ (ไม่ยกเว้นโทษ) สำหรับการอุ้มหาย ว่าถ้าช่วยให้มีการค้นพบผู้ถูกกระทำให้สูญหายก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี ศาลอาจลดโทษให้ได้ คล้ายกับกรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316 เพราะอนุสัญญาอุ้มหายกำหนดไว้
4. ที่อาจเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องใหม่มากคือการกำหนดความรับผิดให้กับผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปกระทำการทรมาน โหดร้าย หรืออุ้มหาย ให้ต้องรับผิดอาญาด้วย โดยรับผิดครึ่งหนึ่งของความผิดที่ผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำ
ผู้บังบัญชาจะรับผิดก็ต่อเมื่อ
4.1 ไม่ได้เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ผู้สมคบ เพราะกรณีดังกล่าวมีความผิดเฉพาะตัวที่รุนแรงกว่าอยู่แล้ว
4.2 ผู้บังคับบัญชานั้นจะต้องเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบและมีอำนาจควบคุมการกระทำซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิด หรือที่เรียกว่า effective control ซึ่งแม้การมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาตามกฎหมายเป็นหลักฐานที่สำคัญประการหนึ่งของการมี effective control แต่การมีตำแหน่งไม่ใช่หลักฐานชี้ขาดเสมอไป
จะเป็นผู้บังคับบัญชาจะต้องมีอำนาจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบังคับบัญชา แต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอนตำแหน่ง หรือมีอำนาจในการสั่งให้เข้าร่วม หรือถอนตัวจากการปะทะ
4.3 การกระทำที่จะเป็นความผิดคือการที่ผู้บังคับบัญชา
4.3.1 ทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาจะกระทําความผิดและไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด ดังนั้นถ้าไม่ป้องกันหรือระงับไว้ก่อน แม้ภายหลังจะดำเนินการลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา ความผิดก็สำเร็จแล้ว และจะต้องห้ามทุกขั้นตอนตั้งแต่รู้ ทั้งการเตรียมการ วางแผน ไม่ใช่ห้ามเฉพาะการลงมือกระทำความผิด
4.3.2 ทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาได้กระทำความผิดและไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสม ให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย
การกระทำความผิดตามมาตรา 5, 6, และ 7 นี้ไม่มีเหตุที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายได้ เช่นจะอ้างว่าจำเป็นเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาก็ไม่ได้ทั้งหมด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องศึกษาเรื่องกฎหมายฉบับนี้เพื่อ
1. ไม่ไปกระทำความผิดกับประชาชน ไปด่าประชาชน หรือเป็นครูที่กล้อนผมนักเรียน หรือไปซ้อมทรมานผู้ต้องหา
2. ไม่ไปกระทำความผิดกับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเพื่อนร่วมงน เช่นไปด่าลูกน้องว่าเป็นควาย โง่ จบจากที่ไหนมา
3. จะได้ทราบสิทธิของตนเองเมื่อถูกผู้บังคับบัญชากระทำไม่ถูกต้อง หรือสั่งให้ทำเรื่องที่ผิด
ช่วยกันทำให้ประเทศไทยไม่มีการทรมาน ไม่มีการอุ้มหาย และไม่มีการกระทำที่โหดร้ายฯ ย่ำยีศักดิ์ศรีกันครับ